คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระคเณศ (อีกหรือ?) : เหยียบพระคเณศ?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มีมิตรสหายนักศึกษาบางคนของผมแชร์ภาพจากเพจรณรงค์เกี่ยวกับการรับน้องสร้างสรรค์เพจหนึ่ง เป็นภาพตัดต่อมีเท้าใครไม่ทราบเหยียบอยู่ที่เทวรูปพระคเณศพร้อมก่นด่าด้วยความเจ็บแค้น

ผมลองเข้าไปดูพบว่า ภาพดังกล่าวผู้โพสต์โพสต์ในลักษณะวิจารณ์ความงมงายของคนที่นับถือเทพเจ้าองค์นี้ ซึ่งไม่ได้สร้างคุณประโยชน์อะไรได้ โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร

ผมเข้าใจว่าเขาต้องการจะวิจารณ์การรับน้องในมหาวิทยาลัยศิลปากร และโยงไปเรื่องนี้เพื่อกระตุ้นแรงๆ แต่ก็นั่นแหละครับ มีคนเดือดกันพอสมควร โดยเฉพาะจาก “รูปเท้าเหยียบพระคเณศ” อันนี้

มีผู้วิจารณ์ในทำนองว่า การกระตุ้นความสนใจด้วยวิธีการดังกล่าว อาจเสียแนวร่วมของคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงเรื่องรับน้อง

เพราะบางคนเขาก็นับถือเทพเจ้าองค์นี้ แถมการโจมตีแบบนี้ ไม่ได้ช่วยให้เพจดูดีมีเหตุผลมากขึ้น

บางคนวิจารณ์ในทำนองว่า นอกจากนักศึกษาและคนในศิลปากรแล้ว ยังมีศาสนิกชนของศาสนาฮินดูที่นับถือพระพิฆเนศวร์อีก ในฐานะเทพเจ้าหลักของศาสนาเขา เช่นนี้แล้วจึงเท่ากับไปลบหลู่ศาสนาของคนอื่นด้วย จะกลายเป็นเรื่องใหญ่

 

ผมลองไล่อ่านๆ ดู เหตุผลในการวิจารณ์ คล้ายๆ จะมาจากสองจุดยืน คือแอดมินวิจารณ์จากความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คล้ายๆ การนับถือเทพแบบนี้งมงาย แบบหาอะไรกินเองก็ไม่ได้ ต้องรอคนมาเซ่นไหว้ ประโยชน์ก็ไม่มี ไม่รู้จะกราบไหว้ไปทำไม

เรื่องวิจารณ์จากมุมวิทยาศาสตร์นี่ผมพูดไว้มากละครับ ไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ ย้อนไปอ่านกันได้ใน “ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?” รวมบทความเก่าๆ ของผมซึ่งวางแผงแล้วในกลียุคนี้

กับอีกจุดยืนคือจากมุมมองแบบพุทธศาสนา แอดมินถามในทำนองว่า ถ้ายังบอกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ ยังควรไหว้เทพเจ้าเช่นนี้ไหม

ผมคิดว่า คำตอบของเรื่องนี้มีได้หลายหลากนะครับ เช่นว่า ทำไมพุทธศาสนานอกเถรวาท เช่น ฝ่ายวัชรยานและมหายาน จึงยังรับเอาเทพเจ้าของศาสนาอื่นๆ และผีพื้นเมืองเข้าไปอยู่ร่วมชายคาพุทธศาสนาได้อย่างออกหน้า แต่แน่นอนว่าต้องมีสถานะไม่เท่า “พระรัตนตรัย”

ดังนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องกำจัดเทพเจ้าและผีเหล่านี้ออกไปโดยสิ้นเชิงเสียก็ได้ ทว่า มาจัดลำดับความสำคัญ หรือเซ็ตติ้งจักรวาลวิทยากันใหม่

 

คนนับถือพุทธศาสนาจึงอาจจะไหว้พระคเณศ หรือผีบรรพชนก็ได้ เสื้อวัดเสื้อบ้านก็ได้ แต่มิใช่ในฐานะ “สรณะสูงสุด” ทว่า อาจไปอยู่ในฐานะรอง เช่น ทวารบาล วิหารบาล (ผู้ปกปักวัดวาอาราม) หรือ ธรรมบาล (ผู้รักษาพระธรรม)

ลองไปเที่ยวเล่นวัดจีนดูครับ ท่านก็เกณฑ์เอาเทพเจ้าต่างๆ ของฮินดู เช่น พระคเณศ พระพรหมา พระแม่ลักษมี พระแม่สุรัสวดี ฯลฯ ไปเป็นธรรมบาลกัน บางองค์ซึ่งเป็นผีพื้นเมือง เช่น เจ้าพ่อกวนอู ท่านก็เกณฑ์ไปเป็น พระวิหารบาลโพธิสัตว์ (แคนั้มผ่อสัก) คือให้ผีเดิมซึ่งสังกัดหยูและเต๋า รับนับถือพุทธศาสนาเสีย และมีหน้าที่ปกปักพระอารามด้วย

แต่เนื่องจากเถรวาทนั้นมีประวัติศาสตร์เก่าแก่ก่อนการปฏิรูปศาสนาของฮินดู และยังไปเติบใหญ่ในลังกา พุทธศาสนาเถรวาทจึงอาจไม่ได้รับเอาเทพสมัยปุราณะ (คือเทพดังๆ สมัยนี้) ของแขกมามากเพราะเป็นเทพสมัยหลัง เท่ากับฝ่ายมหายานหรือวัชรยาน ซึ่งอุดมไปด้วยเทพฮินดูที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

ในชายคาเถรวาทบ้านเรา จึงคุ้นเคยกับผีพื้นเมืองมากกว่า ส่วนเทพฮินดูปัจจุบันเพิ่งไปโผล่ๆ ในสมัยหลังอย่างประดักประเดิด เพราะไม่ได้จัดจักรวาลวิทยาให้ชัด

ตัวอย่างในลังกา เรื่องโลกุตระเขายกให้เป็นส่วนของพระรัตนตรัย แต่ชาวบ้านซึ่งมีความต้องการอย่างโลกย์ๆ จะไปขอใครช่วย ก็ต้องอาศัยเทพเหล่านี้รับธุระแทน วัดจึงช่วยแบ่งเบาทั้งเรื่องโลกกุตระและโลกิยะ

ที่จริงตอนนี้ บ้านเรากำลังมีการประกาศให้เลิกพวกเทพเจ้าเหล่านี้ในวัดวาเสีย ก็น่าสงสัยนะครับว่า มีฐานคิดจากอะไร เพราะอย่าลืมว่าในวัดบ้านเราไม่ได้มีแต่ไสยหรือพราหมณ์และผีในรูปแบบอย่างพราหมณ์และผีเองเท่านั้น

แต่รูปเคารพและสัญลักษณ์ที่ดูเหมือน “เป็นพุทธ” อย่าง “พระพุทธรูป” นั้นก็ถูกใช้ในหน้าที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาผีด้วย เช่น หลวงพ่อที่เฮี้ยนต่างๆ ถ้าทางพระเถระอยากได้พุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง คงต้องออกประกาศยกเลิกการกราบไหว้พระพุทธรูปที่ชาวบ้านเคารพนับถือเหล่านี้ด้วย

ซึ่งคงยากส์

 

กลับมาที่เรื่องเหยียบพระคเณศ ที่จริงผมมีข้อมูลส่วนหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเหยียบพระคเณศ ซึ่งไม่ใช่ของใหม่แต่มีมานมนานเป็นร้อยๆ ปีแล้ว

แม้ทางพุทธศาสนาจะรับเอาเทพของฮินดูไปเป็นธรรมบาลอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ไม่ใช่ว่าพุทธศาสนาจะประนีประนอมไปซะทั้งหมด

ในศิลปะและประติมาของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน มักให้เทพเจ้า พระโพธิสัตว์ หรือพระธรรมบาลบางองค์เหยียบเทพเจ้าฮินดู โดยเฉพาะพระคเณศ เช่น พระมหากาลธรรมบาลเหยียบพระ “วินายก” (อีกนามหนึ่งของพระคเณศ) รวมทั้งพระโพธิสัตว์อื่นๆ เช่น พรรณศวรี และอปราชิตา เป็นต้น

รูปเคารพเหล่านี้มีมาตั้งแต่พุทธศาสนายังคงอยู่ในอินเดีย เช่น ปรากฏในประมาติมากรรมแบบปาละและเสนะ เมื่อพุทธศาสนาเคลื่อนไปสู่ทิเบตและดินแดนหิมาลัยแล้ว ก็ยังปรากฏในภาพวาด ภาพพระบถ (ทังกะ) จนถึงปัจจุบัน

พุทธศาสนาตีความเทพฮินดูว่าเป็นตัวแทนของกิเลสหรือความสุขทางโลก หรือ “อัตตา” อันแรงร้าย (คือตีความแก่นของฮินดูว่าเน้นอาตมัน ซึ่งผิดกับหลักศูนยตาของพุทธศาสนา) การที่พระโพธิสัตว์เหล่านี้ทรงเหยียบเทพของฮินดู คือการสยบอัตตาและความสุขทางโลกเหล่านั้นเสีย

ที่จริงการตีความเหล่านี้ก็ไม่ใช่ว่าจะผิดนะครับ เพราะเทพฮินดูหลายองค์มีนัยของความสุขทางโลกจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลักของพุทธศาสนา แต่กระนั้นการตีความและสร้างสัญลักษณ์แบบนี้ก็อยู่บนการให้เป็นพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางจักรวาล และต้องการจะสื่อสารกับชาวพุทธโดยเฉพาะ

ซึ่งในโลกสมัยใหม่ที่การสื่อสารเกิดขึ้นนอกกลุ่มความเชื่อตนเอง อาจต้องตั้งคำถามถึงวิธีการและการใช้สัญลักษณ์แบบนี้เสียแล้วกระมัง

นอกจากนัยยะเชิงหลักคำสอน ยังมีนัยยะเชิงเทวตำนาน กล่าวคือ ว่ากันว่าเทพเจ้าของฮินดูนั้นมักรบกวนเบียดเบียน นักบวชและคุรุอาจารย์ชาวพุทธอยู่เสมอ บรรดาพระธรรมบาลและพระโพธิสัตว์จึงต้องมาปราบปรามให้ราบคาบ

พระคเณศซึ่งเป็นเทพแห่ง “อุปสรรค” ในที่นี้จึงหมายถึงอุปสรรคต่อการปฏิบัติและแพร่ธรรมของชาวพุทธ มิใช่ในความหมาย เจ้าแห่ง (การขจัด) อุปสรรค อย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน

 

ที่เล่ามามิใช่เพื่อจะบอกว่า การทำรูปเหยียบพระคเณศของเพจนั้นชอบธรรมแล้วนะครับ แต่เพื่อจะบอกว่า มีการใช้สัญลักษณ์แบบนี้ในทางศาสนากันเสมอ และมีมาตั้งแต่โบราณจากฟากฝั่งของศาสนาด้วยกันเอง ซึ่งเรามักไม่ค่อยทราบ

ในปัจจุบัน ชาวพุทธและองค์กรในบ้านเรา หลายครั้งก็สร้างพระคเณศและเทพฮินดูให้มีพระพุทธอยู่บนเศียร เช่น หน่วยงานย่อยในมหาวิทยาลัยผมเองก็เคยสร้าง

บัณฑิตวิทยาธร สุกุลพราหมณ์ ประธานปุโรหิตฮินดูแห่งประเทศไทย เคยบอกกับผมเองว่าท่านได้ต่อว่าหลายหน่วยงานที่สร้างพระคเณศไปแบบนี้ แต่มักไม่ค่อยมีคนฟัง

ที่จริงคนสร้างอาจไม่ได้คิดอะไรมาก แค่อยากเลียนแบบพวกรูปพระโพธิสัตว์ที่มีธยานิพุทธอยู่บนเศียร แต่ลืมไปกระมังว่า พระคเณศไม่มีธยานิพุทธของพระองค์ จึงทำให้ชาวฮินดูรู้สึกอีกแบบไปเลย

ผมคิดว่า สุดท้ายเราคงต้องทบทวนอะไรทั้งหมดนี้จากทุกฝ่ายนะครับ