ธงทอง จันทรางศุ | 1 ปีที่ญี่ปุ่น ‘เขา’ รู้ ‘เรา’

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อสามสิบปีมาแล้ว ผมได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลานานถึงหนึ่งปีเต็ม เต็มแบบบริบูรณ์ไม่มีขาดไม่มีเกิน เพราะเดินทางไปถึงเมืองเกียวโตในวันที่ 1 เมษายน 2534 และเดินทางถึงบ้านในวันที่ 31 มีนาคม 2535

ที่ต้องเป็นวันที่อย่างนี้เพราะเป็นปีงบประมาณของเมืองญี่ปุ่นเขาเริ่มต้นในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี ทำนองเดียวกับปีงบประมาณบ้านเราที่เริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคม

แล้วชีวิตผมไปเกี่ยวกับงบประมาณประเทศญี่ปุ่นได้อย่างไรเล่า

เรื่องนี้มีที่มาที่ไปครับ

Japanese businessmen walk

เรื่องคือว่ามหาวิทยาลัยเมืองญี่ปุ่นนั้นที่นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นเอกอุที่แข่งขันกันทั้งในทางวิชาการและด้านต่างๆ เช่น ศิษย์เก่าแข่งกันเป็นนายกรัฐมนตรีสลับกลับไปมามีอยู่สองมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสองแห่ง คือ มหาวิทยาลัยโตเกียวและมหาวิทยาลัยเกียวโต เรียกกันโดยย่อว่า โตได และ เกียวได

ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต มีหน่วยงานวิจัยทางวิชาการชื่อว่า ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หรือ Southeast Asian Studies Center มีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา

นอกจากนักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่ทำงานประจำอยู่ในศูนย์แห่งนี้แล้ว แต่ละปีศูนย์หนึ่งจัดให้มีงบประมาณเพื่อเชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต่างประเทศไปนั่งทำงานประจำอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้ มีกำหนดเวลาหกเดือนหรือหนึ่งปีแล้วแต่สัญญาของแต่ละคน

ที่ให้ประจำอยู่ที่ศูนย์นั้นใช่ว่าจะให้นั่งเฉยๆ นะครับ แต่นักวิชาการอาคันตุกะเหล่านี้มีพันธกรณีต้องทำงานวิจัยของตัวเองหนึ่งเรื่อง จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

พร้อมกันนั้นก็ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อให้นักวิชาการของญี่ปุ่นได้พูดคุยหรือซักถาม ในเรื่องที่เขาสนใจ

ตัวอย่างเช่น เมื่อผมได้รับเชิญไปอยู่ที่นั่นหนึ่งปี ผมทำวิจัยเรื่องการปฏิรูปภาษากฎหมายไทยในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้อมูลสำหรับทำการวิจัยนั้นผมเอาติดตัวไปจากเมืองไทยบ้าง ไปใช้ห้องสมุดที่นั่นบ้าง

ใช่แล้วครับท่านทั้งหลายตาไม่ฝาด ไม่ต้องขยี้ตาซ้ำ

ศูนย์ที่ว่าในมหาวิทยาลัยเกียวโตมีห้องสมุดภาษาไทยที่มีความจุหนังสือประมาณ 30,000 ถึง 40,000 เล่ม มีบรรณารักษ์ชาวไทยประจำทำการ และเขาก็ทำอย่างนี้กับห้องสมุดภาษาอื่นในศูนย์เช่นเดียวกัน

การมีหนังสือภาษาไทยสี่หมื่นเล่มในห้องสมุดให้เลือกอ่านอย่างนี้ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนเป็นเทวดาขึ้นสวรรค์เลยทีเดียว

หน้าที่ส่วนที่สอง การเป็นเพื่อนคุยหรือเป็นแหล่งข้อมูลของนักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่เป็นคู่ศึกษากับผม ตอนนั้นอาจารย์ท่านนี้เป็นเพียงผู้ช่วยศาสตราจารย์ แต่มาถึงวันนี้ท่านเป็นศาสตราจารย์เต็มภาคภูมิไปแล้วครับ

งานของท่านส่วนใหญ่เป็นการวิจัยการเมืองการปกครองของไทย อันอยู่ในขอบเขตของวิชารัฐศาสตร์ที่ท่านเป็นอาจารย์ผู้สอน

ช่วงเวลาที่ผมอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นคราวนั้น เมืองไทยเพิ่งมีรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ก่อนผมเดินทางไปญี่ปุ่นเพียงไม่กี่เดือน และแม้เมื่อผมกลับมาเมืองไทยในเดือนเมษายน 2535 แล้ว อีกหนึ่งเดือนต่อมาก็มีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเกิดขึ้น

เห็นเส้นเวลาอย่างนี้แล้วคงพอนึกออกนะครับว่ามื้ออาหารกลางวันสัปดาห์ละสองหรือสามมื้อระหว่างผมกับอาจารย์ทามาดะ จะออกรสออกชาติสักแค่ไหน

บางทีเราก็คุยย้อนขึ้นไปถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร โน่น หรือถ้าจะเอาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 ผมก็ทันยุคทันสมัยทุกเหตุการณ์

การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องบ้านเมืองกับอาจารย์ทามาดะ และบางทีก็มีอาจารย์คนอื่นทั้งไทยและญี่ปุ่นผสมโรงไปด้วย ทำให้วิธีคิดหรือมุมมองของผมเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตและกำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันขณะนั้นแตกดอกออกช่อออกไปได้อีกมาก

ในยุคสมัยนั้น ศูนย์หรือหน่วยงานแห่งนี้เขามีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ห้องทำงานที่ผมได้รับจัดสรรให้เป็นห้องทำงานส่วนตัวของผม ก็เคยเป็นห้องทำงานของอ่อง ซาน ซูจี ผู้มีชื่อเสียงอย่างประเทศพม่าเมื่อก่อน

อาจารย์ชาวญี่ปุ่นอีกท่านหนึ่งที่อยู่ในศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน ในห้อง lab ของอาจารย์คนนี้ มีตัวอย่างดินจากทุกภูมิภาคหรือจากทุกจังหวัดของประเทศไทยก็ว่าได้

ดินที่ว่านี้ไม่ได้เก็บไว้ทำมวลสารสำหรับทำพระเครื่อง หากแต่เก็บไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าว่าดินตรงไหนปลูกอะไรดี ปลูกอะไรไม่ดีและควรจะปรับปรุงคุณภาพดินได้อย่างไร

ระหว่างที่ผมไปทำวิจัยอยู่ที่นั่นหนึ่งปี ผมได้พบนักศึกษาคนไทยที่ไปเรียนระดับปริญญาโทและเอกโดยมีอาจารย์เจ้าของดินเหล่านั้นเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

เวลาเขาคุยกัน ถึงแม้จะฟังไม่ออก แต่ดูหน้าตาทั้งครูทั้งศิษย์แล้วผมก็พลอยมีความสุขไปกับเขาด้วยทุกที

เห็นตัวอย่างนี้ไหมครับว่า ถึงแม้ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยจะอยู่ห่างไกลกันพอสมควร จะบินไปมาหาสู่กันก็ต้องใช้เวลาในราว 6 ชั่วโมง แต่มหาวิทยาลัยของรัฐบาลญี่ปุ่นกลับให้ความสนใจกับเรื่องของเมืองไทย ถึงขนาดนี้อาจารย์ในมหาลัยระดับท็อปจำนวนหนึ่งทำการศึกษาค้นคว้าในเรื่องเมืองไทย แถมยังเสริมนักวิชาการจากเมืองไทย ไป “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” กับเขาด้วย

ผมนึกว่าถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นอยากจะสอบถามความเห็นทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจดำเนินนโยบายอะไรก็แล้วแต่ ข้อมูลและข้อวิเคราะห์ที่มีอยู่ในคลังของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาก็จะไม่สูญเปล่า แต่จะสามารถหยิบมาใช้ประโยชน์ได้ทันท่วงที

และศูนย์ที่ว่านี้ก็ใช่จะให้บริการแต่เฉพาะกับรัฐบาลอย่างเดียวเสียเมื่อไหร่ บริษัทการค้าของญี่ปุ่น หรือเอกชนคนใดก็ตาม อยากรู้เรื่องเมืองไทย เรื่องพม่า เรื่องอินโดนีเซีย หรือเรื่องเวียดนาม อยากจะลงทุนลงร้อนอย่างไร มาพูดคุยกันได้ที่นี่ครับ

เห็นศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกียวโตอย่างนี้แล้ว อดถามใจตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมบ้านเราไม่มีอะไรทำนองนี้กับเขาบ้าง

ยกตัวอย่าง เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่โดยภูมิศาสตร์ภูมิศาสตร์ที่มีระยะทางไม่ห่างไกลจากประเทศพม่ามากนัก ในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก็เคยอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรพม่าแต่ดั้งเดิมเป็นเวลาหลายร้อยปี

ความเข้มแข็งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเองก็ไม่เป็นรองใคร ยิ่งเวลานี้สถานการณ์ในพม่ายังอลหม่านไม่รู้ทิศทางกันอยู่ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะมีนักวิชาการอาคันตุกะที่รับเชิญโดยตรงจากประเทศพม่ามานั่งทำงานวิชาการกับเรา ถ้าบ้านเมืองเขากลับคืนดีเป็นปกติเมื่อไหร่ ความสัมพันธ์ทางผู้จัดงานก็จะได้ยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นไปอีก

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะมีนักวิชาการชาวไทยของเราเองที่ศึกษางานแบบลุ่มลึกเกี่ยวกับประเทศพม่าในมิติต่างๆ โดยทำงานเป็นทีม มีนักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมอยู่ในทีมด้วย

เป็นไปได้หรือไม่ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะลงทุนในเรื่องห้องสมุดเกี่ยวกับพม่าศึกษา ทำให้โลกรู้และจดจำว่า ถ้าอยากจะเรียนรู้เรื่อง ประเทศพม่าในแง่มุมอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องมาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทำนองเดียวกันกับที่ถ้าอยากรู้เรื่องเมืองไทยขึ้นมาในบางเรื่อง ต้องลองไปค้นดูที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์แนล รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในชื่อเสียงว่าเป็นห้องสมุดไทยด้านสังคมศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง

เขียนหนังสือมาถึงตรงนี้ก็เกิดความกังวลซับซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ลงทุนอย่างนั้นแล้ว จะมีใครใช้ประโยชน์หรือไม่ นอกจากประโยชน์ทางด้านวิชาการพอเห็นกันได้อยู่แล้ว

การกำหนดนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศพม่าอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลหรือเหตุผลทางวิชาการมากน้อยเพียงใด หรือเป็นแต่เพียงอารมณ์ความรู้สึกของผู้กำหนดนโยบายเหล่านั้นจำนวนน้อยเพียงไม่กี่คน ที่บอกกับตัวเองแล้วบอกคนไทยว่า

“ทำรัฐประหารเก่งเหมือนกันก็ต้องดีไง”

ถ้าความคิดเป็นแบบนี้ จะมีศูนย์ศึกษาอะไรก็ตามเกิดขึ้นสักร้อยศูนย์ ทุกอย่างก็สูญเปล่า

เหมือนกับอะไรอีกหลายอย่างที่สูญเปล่าไปมากแล้วในชั่วชีวิตของผมที่ได้เคยพบเห็นมา