ปอร์เช่ ‘911 GT3 RS’ แรงดีเดือด เร็วสูงสุด 296 กิโลเมตร/ชั่วโมง / ยานยนต์ สุดสัปดาห์ : สันติ จิรพรพนิต

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์

สันติ จิรพรพนิต

[email protected]

 

ปอร์เช่ ‘911 GT3 RS’ แรงดีเดือด

เร็วสูงสุด 296 กิโลเมตร/ชั่วโมง

 

สาวก “ปอร์เช่” กระเป๋าสั่นกันอีกคราเมื่อเห็นโฉมชัดๆ ของ “ปอร์เช่ 911 จีทีสาม อาร์เอส” (911 GT3 RS) สปอร์ตตัวแรงของค่าย

ที่น่าสนใจนำเอาเทคโนโลยีเด่นๆ จากรถแข่งร่วมสายพันธุ์ “ปอร์เช่ 911 GT3 R” มาใส่ไว้จำนวนมาก

รูปลักษณ์ภายนอกยังเอกลักษณ์ของรุ่น “911” คลาสสิคไม่เสื่อมคลาย แต่เพิ่มเข้ามาคือความทันสมัย และเน้นเรื่องอากาศพลศาสตร์เป็นพิเศษ

ไฟหน้าทรงกลมขนาดใหญ่ ฝากระโปรงเจาะรูอากาศขนาดใหญ่ 2 ช่อง

ด้านหน้าไม่มีชิ้นส่วนสปอยเลอร์ แต่ถูกแทนที่ด้วยลิ้นอากาศ front splitter ทำหน้าที่แบ่งแยกทิศทางการไหลของกระแสอากาศทั้งด้านบน และใต้ท้องรถ

ช่องระบายอากาศบริเวณซุ้มล้อหน้าเปิดปิดรับอากาศเข้าสู่ปีกหน้า ช่องลมด้านหลังล้อคู่หน้าช่วยลดแรงดันอากาศภายในซุ้มล้อ

ส่วนครีบอากาศบนหลังคาแยกอากาศให้ไหลเข้าสู่ระบบระบายความร้อนไอดี cooler intake

ปีกหลังทรงสูง ยึดด้วยฐานแบบ swan-neck ประกอบด้วยครีบรับอากาศหลัก และครีบรับอากาศตัวบน ควบคุมการปรับระดับด้วยระบบไฮโดรลิกส์

เป็นครั้งแรกของรถปอร์เช่ จากสายการผลิตปกติ ที่ขอบด้านบนสุดของครีบรับอากาศมีความสูงมากกว่าหลังคารถ

โครงสร้างตัวถังน้ำหนักเบา โดยนำเอา CFRP วัสดุน้ำหนักเบาแต่แกร่ง มาเป็นส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็นประตู ปีกหน้า หลังคา และฝากระโปรงหน้า ทำให้ปอร์เช่ 911 จีทีสาม อาร์เอส มีน้ำหนักเพียง 1,450 กิโลกรัม

ล้ออัลลอยด์ฟอร์จ เซ็นเตอร์ล็อก (forged light-alloy centre-lock wheels) หุ้มด้วยยางสปอร์ตคู่หน้าขนาด 275/35 R20 และคู่หลังขนาด 335/30 R21

ระบบเบรกจัดเต็มด้วยคาลิเปอร์หน้า Aluminium monobloc 6 ลูกสูบ และจานเบรกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 408 มิลลิเมตร

ส่วนระบบเบรกหลังติดตั้งจานเบรกขนาด 380 มิลลิเมตร ประกบด้วยคาลิเปอร์ 4 ลูกสูบ

ส่วนห้องโดยสารมาพร้อมด้วยหนังแท้สีดำ วัสดุ Racetex และชิ้นงานตกแต่ง carbon-weave ให้อารมณ์สปอร์ต

ทั้งสามารถติดตั้งชุดแต่ง Clubsport package เพิ่มเติมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ชุดแต่งประกอบด้วยโครงสร้างนิรภัยเหล็กกล้า steel rollover bar อุปกรณ์ดับเพลิงแบบพกพา และเข็มขัดนิรภัย 6 จุดสำหรับผู้ขับขี่

ส่วนของชุดแต่ง Weissach package มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการติดตั้ง โดยจะเพิ่มอุปกรณ์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฝากระโปรงหน้า หลังคา ส่วนประกอบของปีกหลัง และกรอบกระจกมองข้างด้านบน สร้างขึ้นจาก carbon-weave เหล็กกันโคลงหน้า และหลัง

ชิ้นส่วน coupling rods และ shear panel ผลิตจากวัสดุ CFRP

ขุมพลังเอกลักษณ์ 6 สูบนอนบ็อกเซอร์ 4.0 ลิตร เพิ่มพละกำลังสูงสุดถึง 525 แรงม้า ระบบเกียร์อัตโนมัติอัจฉริยะคลัตช์คู่ 7 จังหวะ Porsche Dop- pelkupplung (PDK)

อัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในระยะเวลา 3.2 วินาที

ความเร็วสูงสุดที่ 296 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เครื่องยนต์บล็อกนี้ไม่มีระบบอัดอากาศ พัฒนาขึ้นจากปอร์เช่ 911 GT3

ช่องรับอากาศระบายความร้อนบริเวณใต้ท้องรถ ช่วยให้ระบบเกียร์ทำงานได้เต็มสมรรถนะทุกช่วงการขับขี่

มาพร้อมโหมดการขับขี่ 3 รูปแบบ Normal, Sport และ Track

โหมด Track สามารถตั้งค่าพื้นฐานต่างๆ ได้ตามความต้องการ

สามารถปรับตั้งค่า rebound และ compression damping ของโช้กอัพหน้าและหลังได้อย่างอิสระ

ดิฟเฟอเรนเชียล (differential) หลังสามารถปรับตั้งการทำงานผ่านสวิตช์ rotary controls บนพวงมาลัย ทำงานร่วมกันกับหน้าจอแสดงผล

ผู้ขับขี่สามารถลดปริมาณข้อมูลที่แสดงบนหน้าจอขนาด 7 นิ้วทั้งสองลง ให้เหลือเพียงข้อมูลที่จำเป็นต่อการขับขี่เท่านั้น

ระบบช่วงล่างด้านหน้าปีกนกคู่ ออกแบบรูปทรง teardrop-shaped เพิ่มแรงกดให้แก่ล้อคู่หน้าได้ประมาณ 40 กิโลกรัมในการทำความเร็วสูง ได้แนวคิดมาจากกีฬาความเร็วระดับโลก

ช่วงล่างหลัง multi-link พร้อมเปลี่ยนแปลงค่าความแข็งของชุดสปริงให้เหมาะสมกับการขับขี่และความเร็ว

 

ส่งท้ายกันที่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นล่าสุดที่เปิดราคาอย่างเป็นทางการ นั่นคือ “เนต้า วี” (NETA V) ที่เพิ่งอวดโฉมไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ให้ลูกค้าเดาว่าราคาจะลงตัวที่เท่าไหร่

เปิดออกมาทำเอาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าฮือฮาพอสมควร เพราะเดิมราคาเต็มอยู่ที่ 760,000 บาท

แต่บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด ทำราคาอยู่ที่ 549,000 บาท

เป็นราคาที่ได้สิทธิ์ภาษีและอื่นๆ จากภาครัฐแล้ว

จากนั้นคงเดินหน้าทำตลาดจริงจังมากขึ้น จากเดิมสร้างกระแสได้น่าพอใจ เปิดตัวมาได้ไม่เท่าไหร่ กวาดยอดจองชุดแรกกว่า 3,000 คัน

เนต้า วี เข้ามาจำหน่ายทั้งคัน (ซีบียู) จากประเทศจีน จากนั้นจะเริ่มผลิตในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการรับสิทธิ์เงินอุดหนุนและส่วนลดต่างๆ ของรัฐบาล

ว่าจ้างให้บริษัท อรุณพลัส ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิต

เนต้า วี เป็นเก๋งรุ่นแรกของค่าย จากนั้นเริ่มทยอยตามออกมาอีกหลายรุ่น

รูปร่างหน้าตาถือว่าสวยเอาการ เส้นสายภายนอกตัวรถได้รับแรงบันดาลใจมาจากปลาโลมา

ไฟหน้าโปรเจ็กเตอร์ พร้อมระบบเปิดปิดอัตโนมัติ

มีไฟส่องสว่างเวลากลางวัน (Daytime Running Lights) แบบ LED

ไฟท้ายแบบ LED สปอยเลอร์หลังทรงสปอร์ต ไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED

 

ภายในเน้นความมินิมอล เรียบง่ายแต่ดูไฮเทค

ห้องโดยสารโทนสีดำตกแต่งด้วยสีเงินเมทัลลิก

พวงมาลัยแบบ 2 ก้านทรงไม่กลมดิ๊ก หน้าจอมาตรวัด ขนาด 12.0 นิ้ว

คันเกียร์ไฟฟ้า Electronic Shifter

ระบบปรับอากาศ ควบคุมด้วยหน้าจอกลาง ระบบกรองอากาศ PM 2.5

หน้าจอกลางระบบ Touchscreen ขนาด 14.6 นิ้ว ใหญ่เบิ้มออกทรงแนวตั้งคล้ายไอแพด รองรับภาษาไทย อังกฤษ และจีน ลำโพง 6 ตำแหน่ง

มีระบบเชื่อมต่อ Smart Phone iOS และ Android

ระบบเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth

ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ Lithium-ion ขนาด 38.5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง กำลังสูงสุด 95 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 150 นิวตัน-เมตร

อัตราเร่ง 0-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่ำกว่า 3.9 วินาที พร้อมระบบ regenerative Systems ชาร์จพลังงานกลับเข้าแบตเตอรี่เมื่อชะลอรถหรือเบรก

พิสัยทำการต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง 384 กิโลเมตร

การชาร์จไฟฟ้าแบบธรรมดาผ่าน NETA Wall Box ใช้เวลาชาร์จ 0-100% ประมาณ 8 ชั่วโมง

ชาร์จไฟฟ้าแบบเร็ว หรือ Quick Charge ความจุ 30-80% ประมาณ 30 นาที

ระบบความปลอดภัยมีมาให้เพียงพอ อาทิ ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ระบบควบคุมการทรงตัว ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน ฯลฯ

เรื่องดูแลหลังการขายเบื้องต้นมีศูนย์บริการแล้ว 24 แห่ง และจะเปิดครบ 30 แห่งภายในปีนี้

เห็นราคาที่เปิดออกมาแล้วต้องบอกว่าเขย่าทั้งตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และอีโคคาร์เมืองไทยก็ว่าได้ •