นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เก่งกับดี

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ความคิดว่าความดีกับความเก่งเป็นสองขั้วที่ไม่สัมพันธ์กันเลย เป็นความคิดที่ “ไม่พุทธ” อย่างยิ่ง

ในพระพุทธศาสนานั้น ทำอะไรโดยปราศจากปัญญา จะถือว่าดีได้ยาก อย่างมากก็ไม่มีโทษอะไร อย่างเลวก็อาจมีโทษทำให้ตัวเป็นทุกข์มากขึ้น เช่น ตักบาตรด้วยความโลภว่าจะทำให้ถูกลอตเตอรี่ หากไม่ถูก (ซึ่งมีโอกาสมากกว่าถูกหลายเท่านัก) ก็จะเกิดความทุกข์ หรือไปยึดติดลุ่มหลงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แน่นขึ้นไปอีกก็ได้ จะเรียกการตักบาตรที่ไม่กอปรด้วยปัญญาเช่นนี้ว่าทำดีไม่ได้

ที่ชาวพุทธชอบยกย่องว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ก็ต้องมีความหมายอย่างนี้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องมีปัญญากำกับ เพื่อวางใจและวาจาให้เป็นไปในทางกุศล (แปลว่าดี) ทำสักแต่เพราะเขาว่าใครทำอย่างนี้ถือว่าทำดี ไม่เรียกว่าเป็นการทำดีตามหลักพระพุทธศาสนา ยิ่งทำด้วยความโลภ, โกรธ, หลง แม้แต่การกระทำที่เขายกย่องกันว่าดี ก็กลายเป็นไม่ดี หรือถึงชั่วไปเลยได้

กล่าวโดยสรุปก็คือ ในพระพุทธศาสนานั้น เก่งกับดีแยกกันไม่ได้ จะทำดีต้องมีความเก่งอยู่ด้วย

บางคนอาจท้วงว่า ที่ผมพูดอย่างนี้เป็นพระพุทธศาสนาของคนมีการศึกษาเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปย่อมแยกระหว่างความดีและความเก่งออกจากกันทั้งนั้น

ผมก็อยากเตือนว่าข้อนี้ไม่จริงนะครับ คนไทยแต่ก่อนเชื่อว่าพระที่ได้ฌานสมาบัติ (ซึ่งแปลว่าต้องดีแน่ ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้) ย่อมเก่งด้วย นับตั้งแต่อาจรู้ใจคนอื่น หรือระลึกชาติได้ หรือใบ้หวยแม่น อะไรก็ตามที่ถือว่าเก่งทั้งนั้น

ชาวบ้านไทยโบราณมองความดีเป็นขั้นๆ ดีขั้นนี้ก็มีคุณสมบัติ (หรือเก่ง) เท่านี้ ดีขั้นสูงกว่านั้นก็มีคุณสมบัติสูงกว่านั้นขึ้นไปเรื่อยๆ อาจกล่าวได้ว่าเก่งนั้นเป็นผลจากความดีโดยแท้

พุทธศาสนาของไทยแต่ก่อนถือว่าปัญญาสูงสุดย่อมได้มาจากการบำเพ็ญความดีอย่างยิ่งยวด ไม่อย่างนั้นจะฟังเทศน์มหาชาติไปทำไม

ผมไม่อยากให้เข้าใจว่านี่เป็นลักษณะเฉพาะของไทย ผมเข้าใจว่าการเชื่อมโยงความดีกับความเก่งเข้าหากันคือหลักการของการศึกษาโบราณในทุกสังคม การศึกษาตามแนวของลัทธิขงจื๊อ คือเรียนที่จะเป็นคนให้ดีขึ้นได้อย่างไร สอบจอหงวนได้ ไม่ได้แสดงว่าเก่งอย่างเดียว แต่ดีด้วย ฮ่องเต้จึงตั้งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่

ในทางตรงกันข้ามกับทำดีได้ต้องเก่งด้วย พุทธศาสนาก็ไม่ปฏิเสธว่าเก่งแล้วก็อาจชั่วได้ด้วย เช่น พระองคุลิมาล ก็เคยชั่วอย่างเหลือร้ายมาก่อน เพราะไปฟังคำแนะนำที่ผิด เถรเทวทัตก็เก่งนะครับ แต่รู้ไม่เท่าทันตนเอง แม้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากพระพุทธเจ้า ก็ยังใช้ความเก่งไปทำความชั่วได้

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คนไม่เก่งย่อมไม่ทำชั่วนะครับ เก่งหรือไม่เก่งก็ทำชั่วได้เท่ากัน ดังนั้น คนที่พยายามประกาศตัวว่าฉันไม่ได้เป็นด๊อกเตอร์นะ จึงไม่ได้ให้หลักประกันอะไรว่าทำชั่วไม่เป็น

ผมอยากให้สังเกตสองเรื่องในคำสอนเรื่องคนชั่วในพระพุทธศาสนา

ข้อแรกก็คือ ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของคนบางกลุ่มในประเทศไทยปัจจุบัน สิ่งที่จะช่วยป้องกันมิให้คนตกลงสู่อบายได้ดีที่สุดในพุทธศาสนาคือ “การศึกษา” ในทุกความหมาย ไม่ใช่เรียนมากก็จะชั่วมาก อย่างที่พูดกันในเมืองไทย

ข้อที่สองก็คือ คัมภีร์พุทธศาสนานั้นแต่งได้ดีกว่านวนิยายไทยส่วนใหญ่เสียอีก กล่าวคือ ไม่ค่อยพูดถึงความชั่วโดยสันดาน หรือเกิดมาก็ชั่วเลย แต่มักจะอธิบายเงื่อนไขที่ทำให้คนบางคนเลือกจะทำชั่วด้วย กรณีองคุลิมาลนั้นเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่ใฝ่ดี แต่ไปฟังคำสอนที่ผิด เทวทัตละวางอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นตัวเองไม่ได้ แม้แต่เจ้าสำนักครูที่เป็นอริกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เพราะเขาไม่ได้มีแต่หน้าของตัวเองที่ต้องรักษา แต่มีหน้าของลูกศิษย์อีกจำนวนมากที่ต้องช่วยรักษาด้วย จึงกลายเป็นทิฐิมานะ ฯลฯ

เรื่องนี้สำคัญ เพราะหากคนเราทำชั่วเพราะมีเงื่อนไข เราก็อาจทำให้คนทำชั่วน้อยลงด้วยการลดหรือเปลี่ยนเงื่อนไข ไม่ใช่การก่นประณามเขาอย่างเมามัน ซึ่งไม่ช่วยอะไรได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม ความคิดว่าความดีกับความเก่งเป็นสองขั้วที่อาจขัดแย้งกันได้นี้ ก็ไม่เชิงเป็นความคิดใหม่เอี่ยมเสียทีเดียว คนไทยบางคนเริ่มคิดอย่างนี้มาตั้งแต่ ร.5

ในต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเห็นความจำเป็นต้องเรียนรู้จากตะวันตก เพื่อจะทำให้รัฐไทย “เก่ง” ขึ้น ทรงส่งเจ้านายไปศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน-มหาวิทยาลัยฝรั่ง ตั้งแต่สิงคโปร์ไปจนถึงยุโรป ทั้งยังลอกเลียนแบบธรรมเนียมของตะวันตกมาใช้หลายอย่าง นับตั้งแต่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, ราชประเพณี, แบบธรรมเนียมการปกครอง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค, การควบคุมและการให้บริการของรัฐอีกหลายอย่าง และแบบธรรมเนียมการจัดการศึกษาสาธารณะด้วย

แต่ในช่วงครึ่งหลังของรัชกาล เมื่อทรงประสบความสำเร็จในการนำสยามเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่มากขึ้นแล้ว ก็ทรงพบว่ากระบวนการทำให้เป็นตะวันตกหรือทำให้ทันสมัย (Westernization-Modernization) เป็นกระบวนการที่รัฐไม่อาจควบคุมได้ฝ่ายเดียวอีกต่อไป ความคิดและจินตนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในหมู่ผู้ที่ได้ผ่านการศึกษาแผนใหม่ โดยรัฐไม่สามารถกำกับควบคุมได้อีกแล้ว จึงทรงมีพระราชดำริว่า การศึกษาแบบตะวันตกซึ่งทรงริเริ่มขึ้นนั้นอาจทำให้คนเก่ง แต่ไม่ได้สอนให้เป็นคนดีไปพร้อมกัน อาจเอาความเก่งไปทำชั่วได้อย่างร้ายแรงเสียยิ่งกว่าคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่เก่งเสียอีก

นี่เป็นครั้งแรกที่ชนชั้นนำไทยแยกขั้วระหว่างความเก่งกับความดีออกจากกัน และที่น่าสนใจก็คือ หากดูความหมายในบริบทแล้ว เก่งคือตะวันตก ดีคือไทย

อันที่จริง ความหวาดระแวงต่อการศึกษาในเชิงฆราวาสวิสัย (secularized education) เกิดขึ้นแก่นักคิดทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองฝรั่งเอง ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและเผยแพร่การศึกษาแบบนี้ และยังมีสืบมาจนปัจจุบัน ในที่นี้จะขอพูดกรณีไทย

อย่างไรเสีย ไทยก็ต้องการคนเก่ง (ตะวันตก) เพราะเราไม่อาจกลับไปอยู่เหมือนครั้งอยุธยาได้อีกแล้ว ในสมัยหนึ่ง ความเก่งของคนไทยจะช่วยให้บ้านเมืองมีความเข้มแข็งจนไม่ตกเป็นอาณานิคมฝรั่ง ในปัจจุบันก็เชื่อว่าความเก่งจะช่วยให้เรารวยเหมือนฝรั่ง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ยังต้องการรักษาความเป็นไทย เพราะความเป็นไทยคือความดี ทำอย่างไรจึงสามารถครอบครองความเก่งของฝรั่ง โดยไม่สูญเสียความดีแบบไทยไปได้

จึงเกิดความปรารถนาและใฝ่ฝันที่ขัดแย้งเป็นตรงกันข้าม เช่น อยากให้ทุกคนรักชาติ แต่ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าทุกคนเป็นเจ้าของชาติเท่าเทียมกัน (เพราะนั่นเป็นฝรั่ง) อยากเป็นทุนนิยม แต่ไม่อยากปลดปล่อยปัจเจกออกจากพันธะต่างๆ เพื่อให้เขาพัฒนาศักยภาพของเขาให้เต็มที่ (ฝรั่ง) อยากเป็นประชาธิปไตย แต่ก็อยากรักษาสังคมที่มีหัวมีก้อยจากกำเนิดและตระกูลเอาไว้ อยากมีมหาวิทยาลัยติดอันดับโลก แต่ไม่อยากให้มหาวิทยาลัยค้นหาความจริงอย่างไม่มีขีดจำกัด ฯลฯ

นี่คืออาการของจิตเภท เดี๋ยวมีฤทธิ์เหมือนปีศาจร้าย เดี๋ยวสงบเสงี่ยมเรียบร้อยเหมือนนักบุญ

ที่น่าสังเกตไว้ด้วยก็คือ ที่คิดว่าเป็นความดีแบบไทยๆ นั้น ก็คือระบบความสัมพันธ์ทางสังคมตามประเพณีนั่นเอง (เช่น หมอบกราบ) ดังนั้น นอกจาก “ดี” จะหมายถึงไทยแล้ว ยังหมายถึงสถานะเดิมหรือ status quo ด้วย ในขณะที่ “เก่ง” ย่อมหมายถึงเปลี่ยนหรือปรับให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว

ยังมีที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับดีชั่วในพุทธศาสนาแบบไทยโบราณ นั่นคือดีหรือชั่วล้วนมีเงื่อนไข ภาษาพระท่านว่าล้วนเป็นสังขตธรรม คือสภาวะที่มีเงื่อนไข คือไม่ absolute หรือสัมบูรณ์เด็ดขาด คนทำดีหรือทำชั่วนอกจากเกิดจากการตัดสินใจโดยอิสระของเขาแล้ว ยังมีเงื่อนไขบางอย่างที่ช่วยผลักให้คนทำดีหรือชั่วด้วย ในสังคมที่ไม่เคยมีการแยกระหว่างทรัพย์สินส่วนบุคคลออกจากทรัพย์สินสาธารณะ โดยเฉพาะในหมู่คนมีอำนาจ จะให้นักการเมือง, ข้าราชการ, นักรัฐประหาร ไม่ล้วงลงไปในกระเป๋าของสาธารณะย่อมเป็นไปได้ยาก (จนกว่าจะทำให้ผู้มีอำนาจในสังคมไทยไม่มีวันได้อำนาจไปอย่างเด็ดขาด โดยไม่ถูกใครตรวจสอบเลย)

นี่คือเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและสังคมที่มีส่วนกำหนดให้คนทำดีหรือทำชั่ว (ไม่ถึงกับกำหนดนิยมหรือ deterministic ทั้ง 100% นะครับ การตัดสินใจโดยอิสระของคนก็ยังมีอยู่ แต่มีอยู่แค่ไหนอย่างไร ความรู้ทางพุทธศาสนาของผมไม่พอจะตอบได้) ตรงกับที่พูดในตอนต้นว่า ทำดีในพุทธศาสนาแบบไทยโบราณ ต้องมีปัญญากำกับอยู่เสมอ การละเว้นจากการถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ไม่ได้มีความหมายเพียงไม่หยิบฉวยเอาของคนอื่นมาเป็นของตนเท่านั้น แม้แต่รับเงินเดือนที่เขามอบให้ โดยรู้อยู่เต็มอกว่าเขาไม่ได้ต้องการซื้อบริการอะไรจากเรา นอกจากขอชื่อไปใช้ในทางที่ไม่ซื่อตรงในกิจการของเขาเท่านั้น อย่างนี้จะจัดเป็นอทินนาทานหรือไม่ หรือซื้อหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่บ้านเมืองปล่อยให้เรียกภาษีเงินกู้ห่างจากภาษีเงินฝากลิบลับเช่นที่เป็นอยู่ในเมืองไทยปัจจุบัน คือการส่งเสริมการปล้นอย่างหนึ่งหรือไม่

ในมงคลสูตรท่านบอกว่า การอยู่ในถิ่นประเทศอันเหมาะสม (จะทำความดี) ถือเป็นมงคลอย่างหนึ่ง ชาวบ้านไทยสมัยก่อนถือว่าหากฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดฉาตกภัยร้ายแรง หรือเกิดโรคระบาดอย่างใหญ่ ล้วนเป็นสัญญาณส่อว่าผู้ปกครองไม่อยู่ในศีลในธรรม

โดยสรุปก็คือ สังคมเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการกำกับความดีความชั่วของคนในสังคม

แต่ชนชั้นนำไทยในปัจจุบันพูดถึงความดีความชั่วโดยไม่มีสังคมเอาเลย เหมือนมีแต่ปัจเจกบุคคลซึ่งสามารถเลือกได้อย่างอิสระทั้ง 100% ว่าจะทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ ด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่คิดว่าจะจัดสังคมอย่างไร ที่จะเอื้อให้คนไม่ต้องเลือกทำชั่ว สถาปนาระบอบเผด็จการขึ้นด้วยข้ออ้างว่าจะปราบคนโกง เผด็จการที่ไหนๆ รวมทั้งในเมืองไทยเองด้วย ล้วนส่งเสริมให้เกิดการโกงทั้งนั้น

ความไม่เห็นแก่ตัวนั้น เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นอย่างมาก หากทุกคนมีข่ายความปลอดภัยในชีวิตที่มั่นคงรองรับ เช่น รัฐดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโครงข่ายดูแลคนสูงอายุให้อยู่ได้อย่างปลอดภัยพอสมควร มีหลักประกันว่าคนที่อยากเรียนรู้อะไรก็จะได้เรียน ด้วยทุนทรัพย์ที่ทุกคนพอจะเข้าถึงบริการทางการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ฯลฯ

คนดีที่เก่งด้วยก็เป็นไปได้ เท่ากับคนเก่งที่ดีด้วย ก็เป็นไปได้เหมือนกัน เก่งกับดีไม่ใช่คุณสมบัติสองอย่างที่เข้ากันไม่ได้เลย อันที่จริงเก่งก็มีเงื่อนไขไม่ต่างจากดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ นั้นเป็นพระมหากษัตริย์ที่เก่งแน่ แต่เก่งในเงื่อนไขของยุคสมัยของท่าน และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีด้วย แต่ก็ดีในเงื่อนไขของยุคสมัยของท่านเหมือนกัน

ไม่ยุติธรรมที่จะเอาเงื่อนไขของเราในปัจจุบันไปตัดสินความเก่งความดีของท่าน และไม่ยุติธรรมที่จะเอาความเก่งความดีของท่านมาบัญญัติให้ดำรงอยู่สถาพรในยุคสมัยของเรา โดยไม่มองเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปแล้วเลย