เมื่อกองทัพ “อินทรี-มังกร” รุมจีบ “2 ป. บูรพาพยัคฆ์”

น่านน้ำทะเลจีนใต้คึกคัก ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมไทยก็หัวกระไดไม่แห้ง หลัง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้อนรับ พล.ร.ต.เสิ่น เฮ่า รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคตะวันออก กองทัพเรือสาธารณรัฐประชาชนจีน

พล.ร.ต.เสิ่น เฮ่า ระบุการเยือนไทยครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ให้ใช้กองเรือเป็นสะพานกระชับความสัมพันธ์ และสร้างความร่วมมือความไว้เนื้อเชื่อใจกับกองทัพประเทศต่างๆ ตามเส้นทางสายไหมทางทะเล

โดย พล.ร.ต.เสิ่น เฮ่า ได้นำลูกเรือกว่า 700 คน มาท่องเที่ยวที่พัทยา จ.ชลบุรี และกล่าวชื่นชมว่าเมืองไทยต้อนรับดี ลูกเรือจีนรู้สึกตื้นตัน-อบอุ่น

ว่ากันว่ารองผู้บัญชาการทัพเรือภาคตะวันออกของจีน เป็นผู้รอบรู้เรื่องเมืองไทยและภูมิภาคแถบนี้เป็นอย่างดี แถมคุยเก่งด้วย

พล.ร.ต.เสิ่น เฮ่า ได้ออกเดินเรือจากเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ตามเส้นทางสายไหมทางทะเล โดยได้เยือนประเทศต่างๆ และมาจบท้ายที่ไทยเมื่อวันที่ 4-7 ตุลาคม ก่อนล่องเรือกลับเซี่ยงไฮ้

พล.ร.ต.เสิ่น เฮ่า จะนำผลการเยือนประเทศต่างๆ รายงานต่อที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนช่วงปลายเดือนนี้

รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคตะวันออก กองทัพเรือจีน ย้ำว่าการเดินทางมาไทยเป็นประเทศสุดท้าย สะท้อนถึงความสำคัญสูงสุดและความใกล้ชิดที่สุด

มีรายงานว่าประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ได้โทร.สายตรงมาที่เรือตลอดระยะเวลาการเดินทางตามเส้นทางสายไหมทางทะเล

ทั้งนี้ การล่องเรือรบของจีนตามเส้นทางสายไหมทางทะเลครั้งนี้ สะท้อนถึงศักยภาพทางทหารของจีน เพราะเส้นทางดังกล่าวจะเป็นเส้นทางการค้าในอนาคต จึงต้องมีมาตรการคุ้มกันเรือสินค้าในน่านน้ำ

อีกทั้งการนำเรือรบ 3 ลำ ได้แก่ เรือพิฆาต DDG-150 Chang Chun (ฉางชุน) เรือฟริเกต FFG-532 Jing Zhou (จิงโจว) และเรือส่งกำลังบำรุง AOR -890 Chao HU (เจ้าหู) เป็นสัญลักษณ์ว่าจีนสามารถล่องเรือรบมาในภูมิภาคนี้ได้ อันเป็นการแสดงแสนยานุภาพทางทะเลของจีน เพราะเรือสามลำเป็นเรือผิวน้ำ

และที่ผ่านมาจีนจะใช้เรือดำน้ำในการเข้ามาเท่านั้น

มีรายงานว่า การเยือนไทยครั้งนี้ไม่ได้มีการหารือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ต่างแสดงความยินดีที่ไทยและจีนมีการพัฒนาด้านยุทโธปกรณ์ ผ่านการลงทุนร่วมกันในด้านการส่งกำลังบำรุง หลังไทยได้จัดซื้อยุทโธปกรณ์จากจีน เช่น รถถัง VT-4 ยานเกราะล้อยาง VN-1 และเรือดำน้ำชั้น Yuan Class S26T มาก่อนหน้านี้

พล.อ.ประวิตร ระบุว่าต้องการให้จีนดูความเหมาะสมด้านราคาด้วย เพราะไทยมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งโรงซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์จากจีนจะตั้งอยู่ที่กองโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก จ.นครราชสีมา

โดยรถถัง VT-4 ครม. ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อปี 2559 แล้ว 28 คัน มูลค่า 4,900 ล้านบาท และในปี 2560 เห็นชอบอีก 10 คัน มูลค่า 2,000 ล้านบาท รวมทั้งหมด 38 คัน โดยมีกำหนดจัดซื้อให้ครบ 48 คัน ในปี 2561

เพื่อทดแทนรถถังเบา รุ่น M-41 (Walker Bulldog) ของสหรัฐ ซึ่งมีอายุกว่า 50 ปี ประจำการตั้งแต่ปี 2505 รวม 272 คัน ที่จะต้องปลดประจำการ

อีกทั้ง ครม. ได้อนุมัติจัดซื้อยานเกราะล้อยาง รุ่น VN-1 สัญชาติจีน ในปี 2560 หลังผ่านการพิจารณาโดย ทบ. รวม 34 คัน มูลค่า 2,300 ล้านบาท งบประมาณผูกพันปี 2560-2563 เพื่อทดแทนรถยานเกราะ V-150 และรถสายพาน M113 A3 ที่ใช้งานมากว่า 40-50 ปี

ทั้งนี้ ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่อง “เรือดำน้ำ Yuan Class S26T” เพราะ พล.ร.ต.เสิ่น เฮ่า ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง แต่เคยต้อนรับคณะของ “บิ๊กตั้ม” พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ อดีต ผบ.ทร. ที่รื้อฟื้นแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำขึ้นมาอีกครั้งช่วงปี 2557-2558 และได้เดินทางไปดูงานที่จีนด้วย ก่อนจะถูกพับโครงการไป

แต่โปรเจ็กต์จัดซื้อเรือดำนี้ได้หวนกลับมาอีกครั้งในยุค “บิ๊กณะ” พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ อดีต ผบ.ทร. ช่วงปี 2558-2560 ที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. ให้จัดซื้อ 1 ลำ ราคา 13,500 ล้านบาท

ที่มา :เฟซบุ๊กกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

โดยแบ่งผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 7 ปี แบ่งจ่ายเป็น 17 งวด ตามความก้าวหน้าในการสร้างเรือ ชำระเงินในปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ถึง 2566 จะเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาต่อเรือราว 6 ปี ซึ่งราคาที่ไทยซื้อจากจีน จะรวมค่าอะไหล่ต่างๆ ค่าติดอาวุธตอร์ปิโด ค่าโรงซ่อมสร้าง และหลักสูตรการฝึกด้วย

เบื้องต้น มีแผนจัดสร้างโรงซ่อมบำรุงเรือดำน้ำ ที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ จ.ชลบุรี

“จะต้องขับเคลื่อนต่อไป ทั้งการเตรียมระบบการส่งกำลังบำรุง ท่าเรือ และบุคลากร ซึ่งใช้เวลาอีกหลายปี กว่าที่เรือดำน้ำจะเข้าประจำการ” พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผบ.ทร. คนปัจจุบัน กล่าวเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560

มีรายงานด้วยว่าทางผู้ผลิตจากจีนจะได้ลำเลียงรถถัง VT-4 ที่กองทัพบกไทยสั่งซื้อล็อตแรก 28 คัน วงเงิน 4,900 ล้านบาท ขึ้นเรือและเดินทางมาส่งให้ถึงไทยที่ท่าเรือทุ่งโปรง ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 8-15 ตุลาคมนี้ โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพบก (กมย.ทบ.) จะเป็นผู้ตรวจรับ

หากไม่มีปัญหาทางเทคนิค จะขนย้ายรถถัง VT-4 ไปยังกองพลทหารม้าที่ 3 (พล.ม.3) จ.ขอนแก่น

ส่วนเหตุผลที่ทำให้จีนสามารถจัดส่งยุทโธปกรณ์แก่ไทยได้รวดเร็ว เพราะจีนมีสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน ขณะที่ทางฝ่ายไทยล่าช้ากว่า เพราะมีหลายหน่วยงานที่ต้องประสาน และต้องผ่านขั้นตอนมากกว่า

ส่วนท่าทีของสหรัฐนับจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กลายเป็นผู้นำคณะรัฐประหารที่สามารถแหวกม่านประเพณี เดินทางไปเยือนอเมริกา และได้จับมือกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ

ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับสหรัฐก็กลับมากระชับแน่นขึ้น หลังมีระยะห่างกันตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

การเยือนสหรัฐตามคำเชิญของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เกิดขึ้นหลังผู้นำสองประเทศสายตรงหารือกันเมื่อวันที่ 30 เมษายน เป็นการเดินทางเยือนสหรัฐในยุค “ทรัมป์” ของผู้นำอาเซียนคนที่ 3 และเป็นการเดินทางเยือนสหรัฐระดับนายกรัฐมนตรีของไทย แบบ “Four-Eye Meeting” อย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 12 ปี

โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2548 ในรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร”

ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางกลับไทย ก็จะต้องนำข้อเสนอที่ตกผลึกในการหารือร่วมกันมาดำเนินการ คงต้องติดตามบัญชีการเงินของโครงการช่วยเหลือทางทหารระหว่างไทย-สหรัฐ (FMS) ว่าจะมากขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะการที่เงินเพิ่มมากขึ้น ก็ย่อมหมายถึงความร่วมมือที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย

เมื่อช่วงต้นปี 2560 ไทยได้มีการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ UH-60 Black Hawk อีก 4 เครื่อง เพื่อให้ครบ 1 ฝูง 16 เครื่อง หลังเข้าประจำการแล้ว 12 เครื่อง แต่มาหยุดชะงักช่วงที่ คสช. เข้ามาควบคุมอำนาจ

ล่าสุด สหรัฐได้อนุมัติผ่านสภาคองเกรสให้ดำเนินการขายเฮลิคอปเตอร์ 4 เครื่องแก่ไทยเรียบร้อยแล้ว เป็นการจัดหาตามโครงการช่วยเหลือทางทหารระหว่างไทย-สหรัฐ ซึ่ง ครม.ไทย ได้อนุมัติจัดซื้อ ฮ. Black Hawk 4 เครื่อง วงเงิน 3,000 ล้านบาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผูกพันงบประมาณปี 2560-2562

ล่าสุด รัฐบาลไทยยังหมายตาจะจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์โจมตีรุ่น Cobra จากสหรัฐ ซึ่งยังอยู่ใน “ขั้นตอนการพิจารณา” แต่มีรายงานว่า ปัจจุบันมีการเสนอขายเฮลิคอปเตอร์หลายรุ่นให้ไทยจากหลายประเทศ

ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์โจมตี AH-1Z ไวเบอร์ เฮลิคอปเตอร์โจมตี AH -64 อาปาเช่ ของสหรัฐ เฮลิคอปเตอร์โจมตี mi-28 จากรัสเซีย เฮลิคอปเตอร์โจมตี AW-129 จากอิตาลี เฮลิคอปเตอร์โจมตี Z-10 จากจีน

เบื้องต้นไทยสนใจยุทโธปกรณ์อเมริกัน เพราะสหรัฐกลับมาฟื้นความสัมพันธ์กับไทยด้านการทหารมากขึ้น และเสนอราคามิตรภาพให้แก่ไทยด้วย

หลังการเยือนสหรัฐของนายกรัฐมนตรี น่าจะมีการประสานงานระหว่างกระทรวงกลาโหมไทย-สหรัฐ และกระทรวงการต่างประเทศไทย-สหรัฐมากขึ้น ยุคนี้จึงถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการประสานประโยชน์ร่วมกัน

ซึ่งกระทรวงกลาโหมสองประเทศจะมีการหารือในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2560 เพื่อกำหนดแอคชั่นแพลน ในกรอบการลงทุนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศร่วมกัน และการฝึก Cobra Gold 2018

อย่างไรก็ดี ในการสร้างความร่วมมือทางทหาร ไทยต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าการกลับเข้ามาของสหรัฐจะสร้างความกังวลให้จีนและรัสเซียหรือไม่ เพราะไทยยึดนโยบายสมดุลกับหลายมหาอำนาจ

ในส่วนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐนั้นมีความแนบชิดกับทำเนียบขาว การหารือที่เกี่ยวข้องกับกองทัพไทย จึงจะไม่ยากลำบากเท่ากับความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของสองประเทศ เพราะ กต.สหรัฐ ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติเดิม คือยึดหลักประชาธิปไตยกับมิตรประเทศอยู่

แม้ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะยึดนโยบาย “America First” แต่ประชาธิปไตยยังเป็น “จุดขาย” ของสหรัฐ เพื่อใช้เดินเกมนโยบายระหว่างประเทศกับรัสเซียและจีน

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังคงมีความเป็นพ่อค้าในสายเลือด ที่ยึดผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ โดยต้องมีความชัดเจนในการลงทุนร่วมกันระหว่างสหรัฐกับคู่เจรจา

“ประเทศไทยในเวลานี้เปรียบเสมือนเจ้าสาวที่มีหนุ่มๆ ตามจีบเยอะ แต่ก็ต้องระวังตัวด้วย” ฝ่ายความมั่นคง ระบุ

เพราะไม่มีใครรักเราเท่าตัวเราเอง!!