สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประเพณี 12 เดือน สาวพรหมจารี กวนข้าวทิพย์

ข้าวทิพย์ (มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า ข้าวกระยาทิพย์) เป็นชื่อของกินศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมทางศาสนาในอินเดีย

ไทยเลียนแบบมาทำในวันสารท เดือนสิบ โดยเลือกของดีๆ มากวนเข้าด้วยกันตามที่คิดว่าอร่อยอย่าง “นึกเอาเอง”

ดังพระราชนิพนธ์หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ของ ร.5 ตอนหนึ่งว่า

“ข้าวทิพย์ที่เรากวนอยู่ในการพระราชพิธีทุกวันนี้ เห็นจะเกิดขึ้นด้วยนึกเอาเอง ดูตั้งใจจะให้มีถั่ว งา นม เนย และผลไม้ต่างๆ ให้พร้อมทุกอย่าง เป็นอันรวบรวมรสต่างๆ มาลงเป็นอันหนึ่งอันเดียว จนเรียกกันในคำประกาศว่าอเนกรสปายาส”

 

ข้าวทิพย์อย่างไทย

ร.5 ทรงบอกต่อไปว่าข้าวทิพย์อย่างไทย มีเครื่องกินต่างๆ อย่าง “นึกเอาเอง” จนบางคนกินไม่ลงก็มี

“บางคนกินไม่ได้เลยร้องว่าเหม็นเนย ลางคนก็ทักว่าปีนี้เหม็นเนยไป มีบ่นกันแทบทุกปี แต่ที่แท้นั้นเหม็นชื่อเนยจริงๆ ไม่มีตัวเนยสำหรับพอจะให้เหม็นได้เลย นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นความเกลียดเนยของไทยได้

ถ้ากวนอย่างแบบอินเดียจริงๆ แล้ว เป็นต้องเหลือทั้งแปดกะทะ ถึงจะปั้นลูกกลอนกลืนตามแบบคนที่เกลียดเนยที่มีเป็นอันมาก ก็คงถึงกระท้อนกลับเป็นแน่

การกวนข้าวทิพย์ ถึงว่าไม่ได้ออกชื่อในหนังสือเก่าๆ ชัดเจนก็คงจะได้กวนมาแต่ครั้งกรุงเก่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้มีการกวนข้าวทิพย์ในรัชกาลที่ 1 นั้นตลอดมา ใช้พระเจ้าลูกเธอฝ่ายในทรงกวนทั้งสิ้น”

001

สาวพรหมจารี
มีข้อกำหนดว่าคนกวนข้าวทิพย์ต้องเป็น “สาวพรหมจารี” ซึ่งเข้าใจหลายอย่างต่างๆ กัน มีอธิบายอยู่ในพระราชนิพนธ์ ร.5 ดังนี้

“ตามที่ถือกันว่า ผู้ซึ่งสำหรับกวนข้าวทิพย์นั้น ต้องเป็นสาวพรหมจารี คือที่ยังไม่มีสามีนั้นประการหนึ่ง อีกนัยหนึ่งคือหญิงซึ่งยังไม่มีระดูกล่าวว่าเป็นพรหมจารีแท้

แต่การที่ถืออย่างหลังนี้ อยู่ข้างจะมาจากซึมซาบ

ก็ถ้าจะคิดตามคำที่ว่าพรหมจารี ซึ่งตามสำนวนในพุทธศาสนา คือผู้ที่ประพฤติอย่างพรหม ไม่บริโภคกามคุณ ผู้ซึ่งยังไม่มีระดูปราศจากเดียงสา จะถือว่าประพฤติอย่างพรหมอย่างไรได้ เพราะไม่ได้คิดจะละเว้น เป็นแต่ยังไม่ถึงกำหนด

ถ้าจะใช้พรหมจารีให้แท้แล้วดูเหมือนจะต้องใช้ผู้ที่บริโภคกามคุณได้ แต่หากมาละเว้นเสียเพื่อจะประพฤติให้เหมือนพรหม”

[ซึมซาบ เป็นศัพท์แผลงที่นิยมพูดกันสมัย ร.5 หมายถึง “ความนิยมในคติอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นคติที่ผิดและควรจะคิดเห็นได้ แต่หลงเชื่อว่าถูกต้อง ถ้าว่าใครซึมซาบก็หมายว่าเป็นผู้เชื่อถือคติเช่นนั้น อุปมาเหมือนคติอันนั้นซึมซาบอยู่ในสันดานเสียแล้ว ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ถอนออกได้”]

ร.5 ทรงอธิบายเรื่อง “สาวพรหมจารี” เป็นลูกสาวเจ้านาย ดังนี้

“การกวนข้าวทิพย์จึงได้ยกเป็นหน้าที่ของลูกเจ้านายกวน แต่เลือกเอาลูกเจ้านายเป็นพรหมจารี คือที่ไม่มีสามีเป็นพรหมจารีตามอย่างพระพุทธศาสนา ที่ทรงพระเยาว์ให้ได้ขนาดกับนางพราหมณีซึ่งยังไม่มีสามีที่เคยกวนมาแต่ก่อนนั้นด้วย จึงได้เรียกสาวพรหมจารี และวิธีเลือกเด็กอายุอ่อนที่กลายเป็นซึมซาบไป จึงได้ยังเหลือซึมซาบอยู่จนบัดนี้”

“ภาพสาวพรหมจารีกวนข้าวทิพย์ที่เห็นนี้บันทึกไว้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พุทธศักราช 2473 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานที่ถ่ายภาพเข้าใจว่าจะเป็นที่ในพระบรมมหาราชวัง สาวพรหมจารีทั้งสี่จะเป็นท่านพระองค์ใดหรือผู้ใดบ้างนั้น ผู้เขียนเองมีสติปัญญาน้อย ยังค้นไม่พบ ถ้าท่านผู้ใดทราบจะกรุณาบอกให้ฟังก็จะเป็นพระคุณยิ่งนัก

การแต่งกายของสาวพรหมจารีทั้งสี่นุ่งผ้าเยียรบับ ห่มตาด มีมงคลสวมศีรษะตามกติกาครบทุกประการ”

[ภาพและคำอธิบาย คัดจากหนังสือภาพงามของความหลัง โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ พิมพ์ครั้งที่สอง 2558]

002

003

002