สืบประวัติพันธุกรรม ค้นต้นตอกระต่ายต่างด้าว/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

สืบประวัติพันธุกรรม

ค้นต้นตอกระต่ายต่างด้าว

 

เห็นโดดหย็องแหย็ง แข่งกับจิงโจ้ แถมมีเยอะแยะมากมายจะมองไปที่ไหนก็เจอ จนผมเองยังนึกว่าเป็นสัตว์พื้นถิ่นดินแดนออสซี่ แต่ที่ไหนได้ กลับกลายเป็นพวกต่างด้าวซะงั้น!

ใครจะไปนึกว่าผู้รุกรานทางชีวภาพเบอร์ 1 ของออสเตรเลีย ที่สร้างปัญหาทางระบบนิเวศอย่างมากมายมหาศาล คุกคามสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของออสเตรเลียจนล้มหายตายจากจวนเจียนจะสูญพันธุ์ไปกว่า 300 ชนิด จะเป็นสัตว์น้อยนุ่มนิ่ม ขนฟูปุกปุย หน้าตาตะมุตะมิ อย่างน้อง “กระต่าย”

แม้ภาพลักษณ์ภายนอกอาจดูไร้พิษสง แต่อิทธิฤทธิ์กลับไม่ธรรมดา จากการประมาณการล่าสุด ในดินแดนดาวน์อันเดอร์นั้น น่าจะมีประชากรกระต่ายอยู่มากมายถึงราวสองร้อยล้านตัว

พวกมันกระจายไปทั่วทุกหัวระแหง ปรับตัวได้เก่งอย่างหาตัวจับยาก ยึดหัวหาดได้ทุกบริเวณ ตั้งแต่พื้นที่เพาะปลูกที่แสนอุดม ไปจนถึงดินแดนรกร้างสุดแสนทุรกันดารที่ร้อนระอุในแถบตอนกลางประเทศ

จนหลายภาคส่วนต้องออกมารณรงค์หาวิธีควบคุมประชากรกระต่ายไม่ให้มีเยอะมากจนเกินไป

ในเวลานี้ จากการประมาณการค่าความเสียหายที่เกิดในภาคการเกษตรต่อปี ถ้าคิดเป็นตัวเงิน ก็อาจมากถึง 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราวๆ ห้าพันล้านบาทเลยทีเดียว

ปัญหานี้ถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของออสเตรเลีย… แต่คำถามที่แท้จริงคือ “แล้วมันอิมพอร์ตเข้ามายังไงแต่แรก?”

โจเอล แอลฟ์ส (Joel Alves) นักพันธุศาสตร์วิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (The University of Oxford) และทีมนักวิจัยจากหลายสถาบันจึงเริ่มศึกษาบันทึกประวัติศาสตร์ของการรุกรานของกระต่ายในออสเตรเลียและแถบใกล้เคียง แล้วเทียบกับรหัสพันธุกรรมของตัวอย่างกระต่ายที่เขาและทีมพอจะหาได้ที่จับจากที่ต่างๆ ในออสเตรเลียเทียบกับในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ทาสมาเนียและนิวซีแลนด์ในช่วงปี 1865 ถึง 2018

ปรากฏว่ากระต่ายส่วนใหญ่ที่เจอในออสเตรเลียนั้นมีรหัสพันธุกรรมแบบเดียวกันหมด และไปเหมือนกับพันธุกรรมของกระต่ายที่ได้มาจากแถวใกล้ๆ หมู่บ้านบาลตันส์โบโรจ์ (Baltonsborough) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ

ซึ่งบ่งชี้ว่ากระต่ายจากทั้งสองที่น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน โจเอลก็เลยคิดว่ากระต่ายออสเตรเลียนั้นน่าจะอิมพอร์ตมาจากแถวๆ บาลตันส์โบโรจ์นั่นแหละ

และถ้าวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมเพิ่มเติมจะพบว่าอัตราส่วนของยีนหายากที่เจอในกระต่ายออสเตรเลียจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าใกล้เขตบาร์วอนพาร์ก (Barwon Park) แถวๆ ตะวันตกเฉียงใต้ของเมลเบิร์นในปัจจุบัน ซึ่งตีความได้ว่ากลุ่มบรรพบุรุษกระต่ายตั้งต้นน่าจะมาจากแถวๆ นี้แล้วค่อยๆ ทวีจำนวนแพร่กระจายขยายถิ่นฐานออกไปเรื่อยๆ

แต่ก็มีกระต่ายอีกกลุ่มในแดนจิงโจ้ที่มีรหัสพันธุกรรมที่เฉพาะน่าจะมาจากบรรพบุรุษคนละสาย อย่างเช่นฝูงที่เจอที่ซิดนีย์ และที่อุทยานแห่งชาติแคททาอิ (Cattai National Park) พวกนี้ไม่แพร่กระจายไปไหนไกล

และเมื่อวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมที่ได้จากมารดาที่เจอในไมโตคอนเดรียของตัวอย่างกระต่ายที่เจอในดินแดนดาวน์อันเดอร์ ก็พบว่าสามารถย้อนรอยกลับไปหาบรรพบุรุษฝั่งแม่ได้แค่เพียงราวๆ 5 ตัวเท่านั้น

นั่นหมายความว่ากระต่ายที่กระจายตัวสร้างวิกฤตส่วนใหญ่ น่าจะมาจากกระต่ายแค่ไม่กี่ตัว อิมพอร์ตมาจากแถวบาลตันส์โบโรจ์ ในประเทศอังกฤษ และมีจุดเริ่มแพร่กระจายอยู่ไม่ไกลนักจากบาร์วอนพาร์ก

และถ้าย้อนดูบันทึกประวัติศาสตร์ ทางทีมของโจเอลก็เจอแจ๊กพ็อต

ปี 1859 วันคริสต์มาส คหบดีและหนึ่งในผู้บุกเบิกอาณานิคมชื่อดัง โทมัส ออสติน (Thomas Austin) ที่มีเคหสถานอยู่ที่บาร์วอนพาร์ก ได้รับของขวัญเป็นกระต่ายป่า 24 ตัว ที่น้องชายของเขาดักมาได้ที่บ้านของครอบครัวของเขาในบาลตันส์โบโรจ์ในทางแถบตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ

ถ้ามองข้อมูล ทุกจุดตรงหมด กับที่ข้อมูลทางพันธุกรรมบ่งชี้ ทีมของโจเอลมองว่ามีความเป็นไปได้สูงมากว่ากองทัพหูยาวที่กระจายไปทั่วออสเตรเลียในปัจจุบันนั้น ก็น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากที่นี่แหละ

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดก็คือ โทมัสไม่ใช่คนแรกที่อิมพอร์ตกระต่ายเข้ามาที่ออสเตรเลีย แล้วทำไมล็อตก่อนหน้าถึงไม่แพร่หนักหนาสาหัสจนสร้างความเสียหายเละเทะได้เหมือนล็อตนี้

ที่จริง กระต่ายล็อตแรกที่เข้ามาที่ออสเตรเลียเลยนั้น ถูกส่งมาถึงซิดนีย์ (Sydney) ตั้งแต่ปี 1788 โดยพวกผู้ล่าอาณานิคมกลุ่มแรกๆ แต่กระต่ายล็อตนั้นเป็นกระต่ายบ้านที่ไม่มีทีท่าที่จะกระจายพันธุ์ออกนอกพื้นที่ และแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะอิมพอร์ตกระต่ายเข้ามาอีกเกือบร้อยเที่ยวในหลายปีต่อๆ มา แต่ส่วนใหญ่กระต่ายสายพันธุ์ที่เอาเข้ามาก็มักจะเป็นกระต่ายบ้านเกือบหมด ซึ่งก็เช่นกัน ไม่มีทีท่าที่จะกระจายพันธุ์ไปที่อื่น

แต่กระต่าย 24 ตัวของโทมัสนั้น เป็นกระต่ายป่าทั้งล็อต

 

“กระต่ายป่าที่ถูกนำเข้ามาที่บาร์วอนพาร์กอาจจะมีลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้พวกมันมีโอกาสอยู่รอดได้ดีกว่าในสภาพแวดล้อมที่ทารุณของออสเตรเลียก็เป็นได้” ไมก์ เลตนิก (Mike Letnic) นักนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ (The University of New South Wales) ในซิดนีย์กล่าว

กระต่ายจากบาลตันส์โบโรจ์น่าจะเผอิญเจอที่ชอบพอดี เพราะสภาพแวดล้อมในออสเตรเลีย ทำให้พวกมันกระจายได้อย่างรวดเร็วมาก

“เหมือนมรสุมในอุดมคติ” โจเอลกล่าว “คุณมีกระต่ายถูกตัว ที่อยู่ถูกที่ ถูกเวลา และตรงกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมพอดี”

กระต่ายบาลตันส์โบโรจ์แพร่ขยายเผ่าพันธุ์ของพวกมันอย่างรวดเร็ว เรียกว่าไม่เสียชื่อกระต่าย แค่ไม่กี่ปี ก็ขยายจำนวนประชากรกระต่ายเพิ่มได้เป็นหลายร้อยเท่า และจากบันทึกประวัติศาสตร์ โทมัสได้ให้สัมภาษณ์ในปี 1865 กับสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่าเขาได้สังหารกระต่ายไปแล้วกว่าสองหมื่นตัวในที่ของเขา

เข้าใจเลยกับสำนวนอุปมาอุปไมย “ลูกดกยังกับกระต่าย”

 

และเมื่อกระต่ายป่าอังกฤษมาแผลงฤทธิ์อย่างเต็มภาคภูมิได้สำเร็จที่เมลเบิร์น จำนวนประชากรพวกมันค่อยๆ แผ่กว้างขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยก็ปีละราวๆ 100 กิโลเมตร ด้วยอัตราเร็วเท่านี้ เพียงไม่ถึง 50 ปี พวกมันก็กระจายสร้างปัญหาไปทั่วทั้งทวีปออสเตรเลียได้แล้ว โจเอลเน้นต่อว่า “งานของเราชี้ให้เห็นชัดเลยว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องระวังมากๆ ก็คือการเอาสัตว์ป่าเข้ามาในประเทศ และปล่อยให้มันหลุดออกไป”

“แค่เหตุการณ์ครั้งเดียวก็ทำให้เกิดหายนะครั้งยิ่งใหญ่ได้แล้วในออสเตรเลีย ทั้งในทางเศรษฐศาสตร์ และในเชิงนิเวศวิทยา” ฟรานซิส จิกกินส์ นักพันธุศาสตร์วิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (The University of Cambridge) เสริม

อย่างไรก็ตาม เดวิด พีคอค (David Peacock) นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาเอดีเลด (The University of Adelaide ) ก็ยังเชื่อว่าครั้งเดียวไม่น่าจะสร้างวิกฤตได้อย่างที่เป็นอยู่ เดวิดเชื่อว่าที่จริงแล้ว แหล่งกระจายพันธุ์กระต่ายต่างด้าวที่เล่นเอาปั่นป่วนไปทั้งทวีปน่าจะมีมากกว่าหนึ่งที่ และไม่แน่อาจจะปล่อยออกมาพร้อมๆ กับของโทมัสก็เป็นได้

บางทีการที่จะไปโทษใครคนใดคนหนึ่งในทันทีก็อาจจะไม่แฟร์เท่าไร แต่เขาก็ยอมรับว่างานวิจัยของทีมโจเอลนั้นทำออกมาได้ดี และน่าจะเป็นอะไรที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการจัดการกับพวกผู้รุกรานทางชีวภาพที่ไม่พึงประสงค์ได้ต่อไป

เอมี ไอแอนเนลลา (Amy Iannella) นักวิชาการจากเอดีเลด เสริมว่าปกติกระต่ายจะเน้นการอยู่รอดโดยการหาที่กำบัง และแม้แต่กระต่ายวัยรุ่นก็แทบจะไม่เห็นเดินทางไปไหนไกลกว่า 1 กิโลเมตร “แนวคิดที่ว่ากระต่ายจะเคลื่อนที่ไปไวพอที่จะครอบคลุมออสเตรเลียทั้งหมดได้ในการปลดปล่อยออกมาแค่ครั้งเดียว ยังไงก็ยังฟังดูหลุดอยู่ดี ถ้ามองในมุมนิเวศวิทยาของกระต่ายนะ” เอมีแย้ง

แต่สำหรับผม จะปล่อยกี่ครั้ง ยังไงก็ยังน่ากลัว เพราะถ้า “ปล่อยแบบไม่ระวัง แล้วกระจายจนระบบนิเวศรับไม่ไหว แม้ขอย้อนเวลากลับไปก็คงจะเป็นไปไม่ได้”