โครักขะนาถ : มหาสิทธาแห่งฮินดู-พุทธ / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ภาพประกอบ : Gorakhnath Temple (Gorakhpur, India)

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

โครักขะนาถ

: มหาสิทธาแห่งฮินดู-พุทธ

 

“โยคีเอ๋ย ตายเสียเถิด! ตายเสียจากโลก ความตายเช่นนั้นช่างหวานล้ำ ดุจเดียวกับโครักขะผู้ซึ่งได้ตายไปแล้ว และมองเห็นสิ่งซึ่งมองไม่เห็น โครักษนาถกล่าว จงพูดอย่างไม่เร่งเร้า จงเดินอย่างไม่รีบร้อน ย่างทีละก้าวอย่างรอบคอบ อย่าปล่อยให้ความทะนงตนครอบงำ จงนำชีวิตไปสู่ความเรียบง่าย”

มิตรสหายชาวอินเดียหลายท่านที่ผมรู้จัก มีบ้านเดิมอยู่ที่เมืองโครักขปุระ (Gorakhpur) ในรัฐอุตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย ชื่อของเมืองนี้มาจากนามแห่งโยคีผู้หนึ่ง คือโครักขะนาถ

นอกจากนี้ หลายท่านคงเคยได้ยินการพูดถึงกลุ่มนักรบชาวเนปาล ซึ่งมาจากพื้นที่ที่คนไทยสะกดว่า “กูรข่า” ที่จริงควรเขียนว่า “คูรขา” คำนี้เป็นภาษาเนปาลีอันมาจากชื่อของมหาโยคีโครักขนาถนี่เอง

ท่านผู้นี้เป็นใครมาจากไหน สำคัญอย่างไรถึงขนาดมีการนำชื่อของท่านไปเป็นชื่อบ้านนามเมือง

 

“โครักขนาถ” (Gorakhanath) หรือ “โครักษะ” (Goraksha) (ษ จากสันสกฤตมักจะกลายเป็น ข ในภาษาพื้นเมือง เช่น ภิกษุ เป็นภิกขุ) แปลว่าผู้รักษาโค เป็นมหาสิทธาชาวอินเดีย เชื่อกันว่ามีชีวิตในคริสต์ศตวรรษที่สิบเอ็ด แต่ก็มีบ้างที่เสนอว่าท่านมีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่แปด

คำว่า มหาสิทธา หมายถึงผู้บรรลุ “สิทธิ” คืออำนาจทางจิต หากแต่เดิมหมายถึงพลังวิเศษต่างๆ เช่น การรู้อดีตหรืออนาคต ย่อขยายหายตัว ฯลฯ

ภายหลังมีการตีความจากลักษณะของบรรดาสิทธาทั้งหลายว่า การเข้าถึงสิทธิ คือการเข้าถึงสภาวะที่แท้จริงหรืออำนาจที่จะยืนยัน “ความเป็นตัวของตัวเอง” ซึ่งไม่ได้มาจากตัวความคิด ค่านิยม หรือระบบคุณค่าที่สังคมมอบให้

ด้วยเหตุนี้บรรดาสิทธาจึงมักมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม

สิทธาหลายท่านปรากฏทั้งในตำนานของฝ่ายพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ตัวท่านโครักขนาถเองก็เป็นเช่นนั้น เพราะขบวนการสิทธามักเป็นวิถีของชาวบ้าน ซึ่งไม่ได้ขีดเส้นแบ่งของความเชื่อว่าอันใดเป็นพุทธเป็นฮินดูอย่างที่ปราชญ์มักทำหรือที่ทำกันในภายหลัง เมื่อมีครูอาจารย์เหล่านี้ปรากฏในถิ่นตนก็รับนับถือท่านแล้วนำเข้ามาอยู่ในความเชื่อเดิมของตนเอง

เหล่าโยคีหรือสิทธาเหล่านี้เดินทางเร่ร่อนไปทั่วดินแดนอินเดียและใกล้เคียง ว่ากันว่าตัวโครักขนาถเดินทางตั้งเหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก

ตำนานของท่านจึงมีอยู่ในท้องที่ต่างๆ กัน เช่น อัสสัม พังคละ ทมิฬ มหาราษฎร์ ไปจนถึงเนปาล

 

เรามีข้อมูลเกี่ยวกับโครักษะน้อยมากและส่วนใหญ่อยู่ในรูปตำนานมากกว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จากตำนานเหล่านั้น โครักขนาถดูเหมือนโยคีลึกลับที่มีอิทธิปาฏิหาริย์มากกว่าจะเป็นบุคคลจริงๆ บางคนจึงเชื่อว่าโครักขนาถเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ

นักวิชาการหลายคนเสนอว่า โครักขนาถเป็นสิทธาในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานมาก่อน เพราะปรากฏชื่อของท่านในคัมภีร์ “จตุราศีติสิทฺธปรวฤตฺติ” หรือตำนาน 84 มหาสิทธาของพุทธศาสนา และถูกเปลี่ยนเป็นสิทธาของฮินดูโดยเชื่อมโยงเข้ากับพระศิวะในภายหลัง

คัมภีร์จตุราศีติสิทฺธปรวฤตฺตินี้ เดิมเขียนขึ้นเป็นภาษาสันสกฤตในราวต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบสองโดยคุรุอภัยทัต ท่านได้รวบรวมชีวประวัติสั้นๆ ของบรรดาสิทธาทั้งหลายซึ่งมาจากภูมิหลังที่ต่างกันเข้าไว้ที่เดียว

ชาวพุทธได้นำคัมภีร์นี้ไปสู่ทิเบตและแปลเป็นภาษาทิเบตในเวลาต่อมา ปัจจุบันเป็นคัมภีร์ที่ถูกแปลอย่างแพร่หลายและมีฉบับภาษาไทยที่พิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ.2547

ประวัติของมหาสิทธาโครักษะในตำนานฮินดูและพุทธมีความแตกต่างกันพอสมควร ในฝ่ายพุทธเล่าไว้ว่า มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งนามว่าเทวบาลถูกยุยงจากมเหสีองค์ใหม่ ให้ทำร้ายเจ้าชายเจารางคิซึ่งเป็นโอรสของมเหสีองค์เดิม โดยโจษว่าพระโอรสทำร้ายพระมเหสี

เจารางคิถูกตัดมือเท้าและนำไปทิ้งในป่า คุรุอจินตะผ่านมาจึงได้มอบคำสอนให้และขอให้เด็กเลี้ยงวัวคนหนึ่งช่วยดูแลชายแขนขาขาดคนนี้

วันหนึ่ง เจารางคิบรรลุสิทธิอำนาจ แขนขาก็งอกกลับมาดังเดิม ด้วยความรู้สึกขอบคุณ ท่านจึงต้องการมอบคำสอนให้แก่เด็กเลี้ยงวัวเป็นการตอบแทน ทว่า เด็กเลี้ยงวัวปฏิเสธเพราะถือว่าที่ตนดูแลเจารางคิมาหลายปีนั้นก็เพราะเป็นคำสั่งของคุรุ

คุรุอจินตะกลับมาทราบเรื่องราวทั้งหมด จึงรับเด็กเลี้ยงวัวไว้เป็นศิษย์ เด็กเลี้ยงวัวได้ปฏิบัติโยคะสมาธิจนบรรลุสิทธิอำนาจ ท่านได้มอบคำสอนและการอภิเษกแก่ทุกคน ทว่า พระศิวะมหาเทพ (ซึ่งเป็นพวกโยคีด้วยกัน) ได้แนะนำให้มอบแก่คนที่เหมาะสมเท่านั้น เด็กเลี้ยงวัวก็ปฏิบัติตาม

ด้วยเหตุที่ท่านเป็นเด็กเลี้ยงวัว จึงได้นามว่า มหาสิทธาโครักษะ

 

ส่วนตำนานฝ่ายฮินดูเป็นอีกแบบ โครักษะเป็นศิษย์ของมหาสิทธามัสเยนทรนาถหรือมีนนาถ และอยู่ในกลุ่มสิทธาสาย “นาถ” ซึ่งเป็นสายหนึ่งของนักบวชฮินดูโบราณ เน้นการปฏิบัติโยคะสมาธิ โดยถือว่าพระศิวะเป็น “อาทินาถ” คือนาถ (ที่พึ่ง) องค์แรก และมีคุรุรวมกันเก้าองค์ เรียกว่า “นวนาถ”

สิทธามัสเยนทรนาถ (เจ้าแห่งปลา) ท่านนี้ มีชื่ออยู่ในคัมภีร์จตุราศีติสิทฺธปรวฤตฺติ หรือตำนาน 84 มหาสิทธาของพุทธศาสนาเช่นกันในชื่อ “มีนปะ” และเรื่องราวชีวิตของท่านทั้งฝ่ายฮินดูและพุทธศาสนาคล้ายคลึงกันมาก

ท่านถูกปลายักษ์กลืนลงไปในท้อง ในระหว่างนั้นก็ได้ยินพระศิวะสั่งสอนโยคะแก่พระนางปรรพตี ซึ่งเผอิญพระองค์เลือกลงไปสอนที่ก้นมหาสมุทรพอดี มัสเยนทรนาถจึงได้ปฏิบัติภาวนาขณะอยู่ในท้องปลา และถือเป็นศิษย์ของพระมหาเทพ

เมื่อออกจากท้องปลาได้แล้ว ท่านได้พบกับโครักษะ และรับโครักษะเป็นศิษย์ โครักษะปฏิบัติโยคะสมาธิจนมีอำนาจวิเศษหลายประการ และถือเป็นคุรุคนสำคัญในสายนาถ ท่านได้เดินทางไปทั่วแผ่นดินเพื่อสั่งสอนจึงมีผู้คนนับถืออย่างมากมาย

บางฝ่ายของฮินดูถือว่า โครักษะนาถเป็นผู้พัฒนาระบบการฝึก “หัตถะโยคะ” หรือ โยคะที่เน้นท่วงท่า เพื่อความแข็งแรงของร่างกายและจิตใจ และยังคงใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้

ท่านไม่ได้แต่งกวีนิพนธ์แบบภักติ เพราะไม่ใช่แนวทางสำคัญของสายปฏิบัตินี้ และไม่ได้ก่อตั้งระบบปรัชญาใดขึ้นมาเป็นพิเศษ แต่เน้นการสอนเรื่องการปฏิบัติโยคะและสมาธิภาวนา

ผลงานของท่านที่ตกทอดลงมาจึงมีไม่มากนัก ชิ้นสำคัญคือ “สิทธา สิทธานตะ ปธติ” นำเสนอความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโยคะ มีการรวบรวมคำสอนในชื่อ “โครักษะ สัมหิตา” และ “โครักขะ พาณี” หรือคำพูดของท่านโครักขะ รวมถึงงานเบ็ดเตล็ดอื่นๆ อีกเล็กน้อย

โยคะของโครักษะเริ่มตั้งแต่เรื่องท่วงท่าดังที่เรารับรู้เกี่ยวกับหัตถะโยคะ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็เน้นการปฏิบัติทางจิตเป็นสำคัญ โดยถือว่าสมาธิภาวนาเป็นหนทางไปสู่การรู้แจ้งได้

สถานที่สำคัญของท่านโครักษะ คือ “โครักษะมัฐ” เป็นทั้งอาราม (มัฐ) และวิหารโครักษะมณเฑียร ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของเมืองโครัขปูระ

มัฐแห่งนี้ยังคงมีนักบวชสืบสายการปฏิบัติ หัวหน้าหรือเจ้าอารามจะเรียกว่า มหันต์

มีมหันต์ในสายนาถคนหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือโยคีอาทิตยนาถ ปัจจุบัน โยคีจากสายนาถผู้นี้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นถึงมุขมนตรีแห่งรัฐอุตรประเทศ ซึ่งไม่แน่ใจนักว่า หากท่านโครักษะยังมีชีวิตอยู่ท่านจะรู้สึกอย่างไร

 

ผมขอจบบทความด้วยบทกวีของท่านโครักษะดังนี้

“โครักษะกล่าว โอ้ ฟังเถิด อวธูตะ (โยคีผู้ไม่ไยดีสิ่งต่างๆ) เอย

จะพึงมีชีวิตในโลกนี้อย่างไร?

จงมองดูด้วยดวงตาและจงฟังด้วยหู

ทว่า อย่าได้เอื้อนเอ่ยคำ

จงเป็นผู้เฝ้ามองที่ปราศจากอารมณ์

ต่อทุกสิ่งที่รายรอบตัวเจ้า

ไม่พึงตอบสนองสิ่งใด” •