ตึกพระเจ้าเหา ที่วังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี คือปราสาทพระเทพบิดรของสมเด็จพระนารายณ์ / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ตึกพระเจ้าเหา

ที่วังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี

คือปราสาทพระเทพบิดร

ของสมเด็จพระนารายณ์

 

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว อดีตนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งปัญญาชนชั้นนำฝ่ายขวาอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยเขียนตอบคำถามทางบ้านของคุณรักษ์ม้า ที่เขียนถามคุณชายว่า “พระเจ้าเหาคือใคร?” มาอย่างท้าทายว่า “ถ้าหม่อมตอบคำถามเหล่านี้อย่างครบถ้วน ผมขอยกให้หม่อมเป็นขงเบ้งบวกบังทองแห่งประเทศไทย” ในคอลัมน์ “ตอบปัญหาประจำวัน” ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐเอาไว้ว่า

“คำว่า ‘พระเจ้าเหา’ นี้มาจากตึกหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้มีพระราชวิจารณ์ว่า คำว่าเหานี้ สันนิษฐานว่าเป็นภาษาเขมร แปลว่า เรียก หมายความว่ารับสั่งให้เข้าหา หรือเข้ามาประชุม นึกสงสัยต่อไปว่า จะมีศาลพระเจ้าเหาหรืออย่างไรทำนองเดียวกันมาแต่โบราณแล้ว เป็นแต่เอาชื่อเดิมมาเรียก มิใช่คิดขนานใหม่ สำหรับตึกที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงสร้างที่ในพระราชวังเมืองลพบุรี

ตึกพระเจ้าเหาจึงแปลได้ว่า ‘ตึกพระเจ้าเรียก’ เป็นที่สำหรับขุนนางประชุมปรึกษาราชการ ถ้าจะแปลเป็นฝรั่งก็แปลได้ตรงๆ ตัวว่า ‘Convocation hall’ คือตึกเรียกประชุม Con = มารวมกัน Vocare = เรียก Convocare = เรียกให้มารวมกัน”

โดยเฉพาะเมื่อคุณชายคึกฤทธิ์ยังได้นำเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงตามประวัติศาสตร์ มาอ้างต่อไว้ด้วยว่า

“ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ได้ทำการรัฐประหารในตึกนี้ กล่าวคือ ในขณะที่ขุนนางทั้งปวงประชุมกันอยู่พร้อมเพรียง ก็ให้ทหารเอาหอกดาบและปืนสอดเข้าไปตามช่องหน้าต่างประตูโดยรอบ แล้วพระเพทราชาก็ประกาศตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินให้ขุนนางทั้งหลายกระทำสัตย์สาบาน ณ ที่นั้น หลังจากรัฐประหารครั้งนี้แล้วเหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาและระเบียบวิธีปฏิบัติราชการคงจะเปลี่ยนไปมาก ของอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ ถ้ามีคนถามว่าเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ตอบกันว่า ‘แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา’ ราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้นก็เกิดขึ้น ‘แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา’ ต่อมาคำว่า ‘ตึก’ เห็นจะหายไป คงเหลือแต่คำว่า ‘ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าเหา’ แปลว่า ‘ตั้งแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง’ หรือ ‘ตั้งแต่ครั้งรัฐประหาร’ อย่างไรเล่า”

ฟังดูก็เข้าทีดีนะครับ ติดอยู่ก็เพียงแต่ว่า ในอะไรที่เรียกว่า ‘ตึกพระเจ้าเหา’ มีฐานชุกชี ซึ่งย่อมต้องใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปแน่ ดังนั้น จึงออกจะฟังดูน่าพิลึกทีเดียว ถ้าตึกที่ใช้ประชุมขุนนางของสมเด็จพระนารายณ์นั้น จะมีพระพุทธรูปองค์โตตั้งอยู่เป็นประธาน

 

ในเอกสารของกรมศิลปากรที่ชื่อว่า “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จ.ลพบุรี” (ตีพิมพ์ พ.ศ.2542) ก็อธิบายว่า “ตึกพระเจ้าเหา อาจจะเป็นหอพระประจำพระราชวัง” ดังนั้น ถ้าพิจารณาในแง่การแปลความหลักฐานทางโบราณคดีนั้น ตึกพระเจ้าเหาไม่น่าจะใช้สำหรับการประชุมขุนนางแน่ แต่เป็นอาคารที่ใช้ในเชิงพิธีกรรมทางศาสนา เพราะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่อย่างชัดเจน แถมยังเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่โตอีกต่างหาก

น่าสนใจด้วยว่า ผู้เรียบเรียงเอกสารชิ้นนี้ให้กับกรมศิลปากรนั้น ก็คงจะไม่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานของคุณชายคึกฤทธิ์ที่ว่า “เหา” มาจากภาษาเขมร ที่แปลว่า “เรียก” โดยเป็นตึกที่ใช้ประชุมขุนนาง เพราะในหนังสือเล่มเดียวกันนี้เอง ก็ยังสันนิษฐานถึงความหมายชื่อ “พระเจ้าเหา” ของตึกต่อไปอีกด้วยว่า

“เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปชื่อว่า พระเจ้าเหา หรือพระเจ้าหาว (หาว เป็นภาษาไทยโบราณแปลว่า ท้องฟ้า)”

แต่อันที่จริงแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานหรอกนะครับว่า พระพุทธรูปที่เคยประดิษฐานอยู่ภายในตึกพระเจ้าเหาแห่งนี้ มีชื่อว่าอะไร? เพราะแม้แต่ตัวพระพุทธรูปที่เคยประดิษฐานอยู่ในตึกเองก็สูญหายไปแล้วด้วยซ้ำ

ที่สำคัญก็คือ ถ้าพระพุทธรูปองค์ที่ว่านี้ชื่อพระเจ้าหาว ที่แปลว่าพระเจ้าท้องฟ้า แล้วค่อยเรียกเพี้ยนมาเป็นพระเจ้าเหาจริงอย่างคำสันนิษฐานที่ว่านี้ ทำไมภายหลังคำว่า “พระเจ้าเหา” จึงมีความหมายเกี่ยวข้องกับความเก่าแก่ระดับบรมปฐมกัปป์ แต่ไม่มีความหมายเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันว่าเป็น “พระเจ้าท้องฟ้า”?

 

ยังข้อสันนิษฐานที่นิยมใช้ในการอธิบายกันอีกอย่างหนึ่งคือ คำว่า “เหา” นั้น มาจากคำว่า “house” ที่แปลว่า “บ้าน” ในภาษาอังกฤษ เพราะในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์นั้น มีฝรั่งมารับราชการอยู่มาก ฝรั่งเหล่านี้อาจจะเรียก “หอพระ” ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์แห่งนี้ว่า “God’s House” หรือ “เรือนของพระพุทธเจ้า”

แต่นี่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนเช่นกันอีกเหมือนเดิม และก็ไม่มีที่มาที่ไปเช่นกันอีกด้วยว่า ทำไมคำว่า “เหา” ที่กลายมาจาก “house” ซึ่งแปลตรงตัวเป็นภาษาไทยว่า “บ้าน” นั้น จึงกลายมาเป็นเรื่องของความเก่าแก่ และไม่มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับบ้านของพระเจ้าเหลืออยู่ในปัจจุบันเลยสักนิด?

ดังนั้น ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจมากกว่าจึงมาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านจีนศึกษาระดับปรมาจารย์อย่าง อ.ถาวร สิกขโกศล ที่ได้เคยอธิบายถึงคำว่า “พระเจ้าเหา” เอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ “ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่” (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559) เอาไว้ว่า คำว่า “เหา” น่าจะมาจากคำว่า “เฮ่า” ในภาษาจีน ซึ่งหมายถึง “พระเทพบิดร” ซึ่งก็หมายถึงบูรพกษัตริย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว

ที่สำคัญก็คือ ในจีนยังมีคำว่า “เมี่ยวเฮ่า” ที่หมายถึง “ศาลบูรพกษัตริย์” และถ้าจะแปลแบบไทยๆ ก็คือ “ปราสาทพระเทพบิดร” นั่นแหละครับ

นักหนังสือพิมพ์ ควบตำแหน่งนักโบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงอธิบายว่า “ตึกพระเจ้าเหา” ควรจะเป็น “ปราสาทพระเทพบิดร” มากกว่าจะเป็นอย่างอื่น โดยมีพระพุทธรูปในตัวตึก (ซึ่งสูญหาย หรือปรักหักพังไปแล้ว) นั่นแหละที่เป็นสัญลักษณ์ของตัวพระเทพบิดร

ในกรุงรัตนโกสินทร์เองก็มี “ปราสาทพระเทพบิดร” ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2398 โดยรัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่ข้างอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วมรกต ภายในปราสาทแห่งนี้ก็ใช้สำหรับประดิษฐานประติมากรรมรูปบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

แต่ก็ต้องระลึกไว้ด้วยว่า เดิมเมื่อรัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างปราสาทพระเทพบิดรขึ้นมานั้น ปราสาทองค์นี้มีชื่อว่า “พระพุทธปรางค์ปราสาท” โดยมีประวัติเล่าว่า รัชกาลที่ 4 ทรงหมายใจที่จะสร้างสำหรับใช้ประดิษฐานพระแก้วมรกต แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เกิดขึ้น

จนกระทั่งมีการบูรณะซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ.2446 ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงค่อยเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ปราสาทพระเทพบิดร และค่อยมีการอัญเชิญพระบรมรูปพระบูรพกษัตริย์มาไว้ที่ปราสาทองค์นี้ ในสมัยรัชกาลที่ 6 พร้อมๆ กับที่กำหนดให้วันที่ 6 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันจักรี” ตั้งแต่ พ.ศ.2461 เป็นต้นมา โดยจะจัดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปในวันจักรีของทุกปี

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปในปราสาทพระเทพบิดรขึ้นอีกในวันฉัตรมงคล (คือวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์) รวมถึงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และวันสำคัญอื่นๆ ในบางโอกาส แต่พระบรมรูปในปราสาทพระเทพบิดรก็ไม่ใช่ร่องรอยเพียงหนึ่งเดียวของความเชื่อทำนองนี้ ในยุครัตนโกสินทร์

หลักฐานที่สำคัญก็คือพระนามของรัชกาลที่ 1 คือ “สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และ “สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ของรัชกาลที่ 2 นั้น ไม่ได้เป็นชื่อพระนามในสมัยของพระองค์เองเลยสักนิด แต่เป็นพระนามที่รัชกาลที่ 3 ทรงถวายให้กับพระพุทธรูปทรงเครื่อง 2 องค์ในอุโบสถวัดพระแก้วมรกตนี่แหละ ในทำนองที่ว่า เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ให้กับรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2

(เมื่อแรกสถาปนาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นี้ แต่เดิมองค์หนึ่งมีชื่อว่า “สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุราลัย” แต่รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนเป็น “สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” และใช้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน)

ดังนั้น เมื่อเป็นคำว่า “เหา” มาจาก “เฮ่า” คือ “พระเทพบิดร” หรือปฐมกษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์แล้ว ก็ย่อมหมายถึงอะไรที่เก่าแก่ดึกดำบรรพ์ตามไปด้วยนั่นแหละ ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าอะไรสักอย่างนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาแล้ว ก็ย่อมหมายถึงว่ามีมาเนิ่นนานแล้วเลยทีเดียว

แถมยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า “เฮ่า” และคติการสร้าง “เมี่ยวเฮ่า” ในจีนเองก็เก่าแก่ระดับบรมปฐมกัปป์ จนถ้าจะนำมาใช้เป็นคำเปรียบเปรยถึงความเก่าแก่แล้ว ก็เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ตึกพระเจ้า ที่วังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี จึงเป็น “ปราสาทพระเทพบิดร” ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์เอง โดยมีที่มาผสมผสานอยู่กับคติการสร้าง “ศาลเมี่ยวเฮ่า” ของจีน แล้วค่อยมีการเรียกเพี้ยนด้วยสำเนียงแบบไทยๆ มาจนกลายเป็น “ตึกพระเจ้าเหา” นั่นเอง •