‘เซ็นทรัล’ ท่ามกลางสถานการณ์ / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

‘เซ็นทรัล’ ท่ามกลางสถานการณ์

 

ธุรกิจสำคัญกลุ่มเซ็นทรัล ในประเทศไทย เคลื่อนไหวและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทุกสถานการณ์

อันที่จริงภาพและเรื่องราวเครือข่ายธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล มีความหลากหลายและซับซ้อนกว่าที่คิด โดยเฉพาะธุรกิจสำคัญ ผ่านบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เรียกอย่างย่อ “เซ็นทรัล รีเทล” หรือ CRC

“เรามีร้านค้า 1,719 ร้านค้าใน 58 จังหวัดของประเทศไทย 123 ร้านค้าใน 41 จังหวัดของประเทศเวียดนาม และห้างสรรพสินค้า 9 สาขาใน 8 เมืองของประเทศอิตาลี ร้านค้าปลีกมีพื้นที่ขายรวม 3,205,590 ตารางเมตร และพลาซ่ามีพื้นที่ให้เช่ารวม 693,308 ตารางเมตร” ข้อมูลอย่างเป็นทางการ (https://www.centralretail.com/) ให้ภาพรวมๆ เซ็นทรัล รีเทลล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565)

อย่างที่ว่าไว้คราวที่แล้ว กลุ่มเซ็นทรัล ธุรกิจไทยรายใหญ่รายหนึ่ง มีเครือข่ายในต่างประเทศอย่างเป็นเรื่องเป็นราว อันที่จริงว่าด้วยจำนวนเครือข่ายโดยรวมในทางภูมิศาสตร์ ณ ฐานธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุด -ประเทศไทย ถือว่ามีไม่มาก เมื่อเทียบเคียงกับกลุ่มธุรกิจบางราย โดยเฉพาะกรณีเครือซีพี ซึ่งให้ความสำคัญเฉพาะเจาะจงโมเดลค้าปลีกบางอย่าง ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ และเครือข่ายค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่

ทั้งนี้ เซ็นทรัลมีความตั้งใจสร้างโมเดลธุรกิจลักษณะเฉพาะ ในฐานะ “ผู้นำ” ความหลากหลายโมเดล ตอบสนองวิถีชีวิตสังคมสมัยใหม่อย่างกว้างขวาง อย่างที่ผมพยายามติดตามความเคลื่อนไหวกลุ่มเซ็นทรัลอย่างไม่ลดละ ด้วยเชื่อว่าเป็นภาพสะท้อนหนึ่งถึงพลวัตสังคมไทย

โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวอันกระฉับกระเฉง ในการปรับตัวเข้ากับช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญๆ

 

จากบุกเบิกห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองหลวงยุคสงครามเวียดนาม ขยายเครือข่ายสู่ชานเมืองเมื่อชุมชนนั้นเติบโตขึ้น สร้างแรงปะทะครั้งแรก บุกเบิกในหัวเมืองที่มีธุรกิจท้องถิ่นยึดครอง จนเข้าสู่ระยะตื่นเต้นและหลากหลาย จากช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูที่มีผู้เล่นระดับโลกเข้ามา จนถึงช่วงฟุบจนต้องหลอมละลาย และกลับพลิกฟื้นขึ้นบางระดับ ในช่วงราวๆ 2ทศวรรษที่ผ่านมา (โปรดอ่านประกอบ “วิวัฒนาการสำคัญๆ ‘เซ็นทรัล’ ในประเทศไทย”)

ถ้อยแถลงของกลุ่มเซ็นทรัลในระยะหลังๆ (โดยเฉพาะล่าสุด กรณีเซ็นทรัล รีเทลรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เมื่อ 15 สิงหาคม 2565) สะท้อนพัฒนาการปรับตัวทางธุรกิจอีกขั้น มีรายละเอียดมากขึ้น ดูซับซ้อนยิ่งขึ้น เชื่อว่ามาจากบทวิเคราะห์อย่างจริงจังเจาะจง ด้วยการประมวลข้อมูลของ “เซ็นทรัล” เอง มากกว่าการปรับตัวตามกระแสอย่างที่ผ่านๆ มา

และน่าจะเกี่ยวกับ “The 1 (เดอะวัน)” ซึ่งให้ภาพเชื่อมโยงไว้อย่างตื่นเต้น

“The 1 เชื่อมโยงทุกไลฟ์สไตล์ ผ่านกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล และพันธมิตรทางธุรกิจ”

และนิยามเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า เป็น “ลอยัลตี้แพลตฟอร์มสำหรับสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนสมาชิกมากกว่า 17 ล้านราย ครอบคลุมมากกว่า 25% ของประชากรไทยทั้งประเทศ ที่กำลังเดินหน้าสู่การเป็นไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์มที่เข้าใจและรู้ใจผู้บริโภค ด้วยการเชื่อมโยงทุกไลฟ์สไตล์ ผ่านพันธมิตรใน Ecosystem ที่แข็งแกร่งกว่า 1,000 ราย และจุดใช้บริการกว่า 20,000 จุด (ข้อมูล ณ ปี 2562)” (https://www.the1.co.th/)

เรื่องราวกลายเป็นกรณีศึกษาทางธุรกิจที่น่าสนใจ โดยบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก (หากสนใจบทสรุปบางแง่มุมเพิ่มเติม หาอ่านในหัวข้อ Central Group makes it personal : Thai retailer uses data to create unique experiences for shoppers -https://www.accenture.com/)

กรณีนี้จะว่าเฉพาะโมเดลเครือข่ายเชิงภูมิศาสตร์ ด้วยมีแผนการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ ทั้งผ่อนคลาย และน่าวิตกกังวล “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมาจากการส่งออกที่เติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศ จากทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ด้านการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตดีขึ้นเนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron ที่ผ่อนคลายลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น…” มุมมองด้านบวก จากบทวิเคราะห์ของเซ็นทรัล รีเทล (คําอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ สําหรับงวดสามเดือนและหกเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 -เมื่อ15 สิงหาคม 2565)

ขณะอีกด้านหนึ่งมองว่า

“ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัย อาทิ ค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน และภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนจากความไม่แน่นอนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศเศรษฐกิจหลัก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน และอาหารตามการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคานํ้ามันขายปลีกในประเทศเป็นสําคัญ”

เซ็นทรัล รีเทลมีแผนการปรับตัวทางธุรกิจ ผ่านการออกแบบโมเดลเครือข่ายค้าปลีกใหม่อย่างจับต้องได้ ขอยกมา 2 กรณี

“เปิดตัว Tops CLUB โมเดลธุรกิจใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย อาณาจักรที่รวบรวมสินค้านำเข้า และสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟแบรนด์ดังจากทั่วโลกกว่า 3,500 รายการ จำหน่ายเฉพาะที่นี่ที่เดียว ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง …สำหรับสมาชิกเท่านั้น (Exclusive membership price)…” เป็นการสร้างแบรนด์ย่อยซูเปอร์มาร์เก็ต ในฐานะธุรกิจหลักของกลุ่มฟู้ดของเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งทำรายได้มีสัดส่วนมากที่สุด ราว 39% คาดว่าทั้งปีนี้โดยภาพใหญ่ เซ็นทรัล รีเทลจะมีรายได้รวมทะลุ 2 แสนล้านบาท เช่นเมื่อ 2 ปีก่อน (2561-2562)

เป็นแผนที่เชื่อว่า ผู้มีรายได้สูงในเมืองหลวงมีจำนวนไม่น้อย มีความสามารถในการจับจ่ายไม่ว่าในสถานการณ์ใด เป็นไปได้ว่า อาจเป็นความเชื่อชุดเดียวกันกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่บางราย ได้เปิดโครงบ้านเดี่ยว ราคาสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังละกว่า 100 ล้านบาท

อีกกรณีหนึ่งประหนึ่งด้านตรงข้าม มุ่งสู่หัวเมืองต่างจังหวัด

“เปิดตัว go! ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้งมอลล์ รูปแบบใหม่ในต่างจังหวัด ครั้งแรกในประเทศไทย เป็นศูนย์การค้าสำหรับทุกคนในครอบครัว และตอบโจทย์ลูกค้าทุกเพศทุกวัย…” เป็นโมเดล “แม่เหล็ก” จับกลุ่มลูกค้าฐานกว้างที่สุดในหัวเมือง ด้วยบริการและสิ่งจูงใจหลากหลาย เช่น “สนามเด็กเล่นในร่มที่ใหญ่ และมีเครื่องเล่นมากที่สุดในอำเภอ” ที่น่าสนใจใจกลางศูนย์การค้าแห่งใหม่ โมเดล “ไฮเปอร์มาร์เก็ต”

ว่าไปแล้ว ในประเทศไทย เซ็นทรัลแค่ชิมลางโมเดลค้าปลีกใหญ่ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ช่วงสั้นๆ การกลับมาอีกครั้ง อยู่ในจังหวะที่น่าสนใจ รวมทั้งอาจเชื่อว่า ผู้คนบางส่วนกำลังแสวงหาทางเลือก เมื่อมีกรณีหลอมรวมค้าปลีก-ค้าส่งใหญ่ มาอยู่ในมือเดียวกัน •