วิกฤติศตวรรษที่21 : การสร้างข่าว การไหลเวียนข่าวสาร สังคมหลังความจริงและสังคมสอดส่อง

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (38)

การสร้างข่าว การไหลเวียนข่าวสาร สังคมหลังความจริงและสังคมสอดส่อง

 

ข่าวสารและการไหลเวียนของข่าวสารเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสังคมมนุษย์เพื่อการดำรงอยู่ ปรับตัวและขับเคลื่อนต่อไป

ขณะเดียวกันก็เป็นความขัดแย้งใหญ่ระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นบนด้วย

โดยทั่วไปชนชั้นปกครองเป็นผู้สร้างข่าวหลักและควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารสำคัญเกือบทั้งหมด เพื่อกำหนดความหมาย คุณค่า ค่านิยม จิตสำนึก กับทั้งคัดกรองและอธิบายเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ ว่า อะไรเกิดขึ้น อย่างไร ทำไม และควรทำตัวอย่างไร

ข่าวสารและการไหลเวียนของข่าวสารจึงเกี่ยวข้องกับอำนาจความรุนแรงอย่างแยกกันไม่ออก

ความรู้ได้เป็นเครื่องมือของอำนาจและความรุนแรง

ดังนั้น เสรีภาพทางการพูดแสดงออกจึงไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่ายๆ หรือได้มาแล้ว ก็ไม่ใช่จะดำรงต่อไปเรื่อยๆ

A young woman speaks to the crowd as she takes part, with youths, cyber-dissidents, and Islamists, in a demonstration called by opposition group “The 20th of February Movement”, which called for “widescale political reforms” in the country, in Rabat, on October 23, 2011. AFP PHOTO/ ABDELHAK SENNA / AFP PHOTO / ABDELHAK SENNA

เสรีภาพนี้ผันแปรไปตามความสัมพันธ์ทางอำนาจทั้งภายในสังคม และระหว่างประเทศ

ช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 เทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

เกิดยุคข่าวสาร และยุคความรู้ขึ้น

มีการมองด้านดีว่า

1) สังคมในอนาคตจะตั้งอยู่บนฐานของความรู้และความเป็นจริง ความรู้จะขึ้นมาเป็นใหญ่

2) เนื่องจากสาธารณชนสามารถสร้าง ประมวล เก็บรักษา และเผยแพร่ข่าวสารได้ง่ายและราคาถูกลงกว่าเดิมมาก จะทำให้ประชาธิปไตยเบ่งบาน ระบบเผด็จการรวบอำนาจยากที่จะดำรงอยู่ได้

ความหวังด้านดีนี้ก็มีส่วนเป็นจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

มีด้านอื่นที่ขึ้นเป็นด้านหลักได้ ทั้งนี้เนื่องจาก

(1) ความจำกัดของข่าวสารความรู้เอง คือ

(ก) ข่าวสารต้องการพลังงานในการสร้าง เก็บรักษาและเผยแพร่ซึ่งแม้มีราคาถูกลงมากแต่ก็ยังมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น โดยทั่วไป คนยากจนย่อมสร้างข่าวได้น้อยกว่าคนมั่งมี และคนมั่งมีก็จะสามารถเข้าถึงคลังข้อมูลข่าวสารและการกระจายข่าวได้ดีกว่า ขณะนี้มีแต่บรรษัทข้ามชาติหรือรัฐวิสาหกิจที่สามารถสร้างเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ ให้บริการ “ก้อนเมฆข้อมูล” ได้

(ข) ข่าวสารและข้อมูลต้องการพลังงานในการประมวลผล การมีข่าวสารมากเกินกว่าระบบจะประมวลผลได้ทัน ทำให้ผู้คนหมดความสามารถในการตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่หรือกลายเป็นผู้ยืนดูอยู่เฉยๆ นักจิตวิทยาบางคนชี้ว่าบุคคลทั่วไปมีความสามารถในการประมวลข่าวสารในคราวเดียวไม่เกินเจ็ดข่าว ถ้าหากมากเกินนั้น ทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดได้ แทนที่จะเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของข่าวสาร

(ค) ของเสียและมลพิษข่าวสาร การมีข้อมูลข่าวสารมากเกินไป ก่อของเสียและมูลพิษด้านนี้ได้มาก บางคนเรียกว่า “ข่าวสารติดขัด” หรือ “หมอกควันข้อมูล” นี้เป็นธรรมชาติของมัน เกิดการต่อสู้แข่งขันในการผลิตและแพร่ข่าวสาร ซึ่งเร่งให้เกิดของเสียและมลพิษข่าวสารมากขึ้น

A Thai woman walks pass the local weekly magazines featuring of Thai Prime Minister Thaksin Shinawatra at sidestreet in Bangkok, 11 March 2002. The Thai government 11 March refused to sack top officials at the anti-money laundering office who are accused of launching a probe into assets of prominent media figures critical of the govenment and Prime Minister Thaksin. AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL / AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

(2) ความขัดแย้งใหญ่ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ชนชั้นผู้ปกครองทั่วโลกต้องการรักษาสถานะเดิม ได้แก่ อำนาจและการบริโภคแบบหรูของตนไว้ มีการเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด ส่วนชนชั้นผู้ถูกปกครองต้องการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม เพื่อให้ตนมีส่วนแห่งอำนาจและความมั่งคั่งมากขึ้น

ความขัดแย้งในทางข้อมูลข่าวสารดังกล่าว โดยทั่วไปชนชั้นนำมีความเหนือกว่า เนื่องจากเป็นผู้ครอบครองและควบคุมสื่อต่างๆ

และที่สำคัญคือเทคโนโลยีที่ต้องมีการลงทุนสูง นอกจากนี้ ยังควบคุมอำนาจรัฐ สามารถขีดเส้น ตีกรอบการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกของสาธารณชน คอยกำกับตรวจตรา

สร้างกองกำลังมีตำรวจไซเบอร์ และผู้ปฏิบัติการไซเบอร์เพื่อการปล่อยข่าว แฮ็กข้อมูล เป็นต้น จนถึงมีอำนาจในการจับกุม

An elderly Kashmiri read a newspaper near a cybercafe in Jammu, 20 January 2002. Most cybercafe and internet parlour owners have closed their shops after a government decision of barring long distance calls and internet access in the state begining this year due to security concerns. AFP PHOTO/Indranil MUKHERJEE / AFP PHOTO / INDRANIL MUKHERJEE

สำหรับชนชั้นล่างที่สามารถรับรู้ สร้างและแพร่ข่าวได้ง่าย ตอบโต้ได้หลายทาง เช่น

(ก) การสร้างสื่อและข่าวสารทางเลือกของตน

(ข) การเปิดเผยความลับของชนชั้นนำ ทำให้ผู้ปกครองเหมือนยืนเปลือยอยู่บนเวที เกิดวิกฤติการนำ

(ค) ไม่ให้ความเชื่อถือแก่ข่าวกระแสหลักหรือที่เป็นทางการ หรือเชื่อเฉพาะที่ต้องการเชื่อ

การต่อสู้ที่แหลมคมนั้น ทำให้แทนที่จะเกิดสังคมความรู้ ที่ผู้คนพิจารณข้อเท็จจริงและตัดสินด้วยความมีเหตุผล กลับเกิดสังคมหลังความจริง สังคมสอดส่องขึ้นมาสะท้อนความเสื่อมโทรมของสังคม เป็นการก้าวเดินสู่หุบเหวของความตกต่ำ

กระนั้นเราทั้งหลายควรหวังด้านดีว่า การต่อสู้ครั้งนี้จะสิ้นสุดด้วยการทำให้ความรู้เป็นอิสระจากการเป็นเครื่องมือของอำนาจและความรุนแรง สู่เครื่องมือแห่งสันติภาพและความเป็นธรรม

An Iraqi man shows a friend how to surf the internet at a cyber cafe in Baghdad 31 December 2003. Iraqi Police have taken strict security measures with the approach of the New Year and have put in place plans to confront possible terrorist attacks against Iraqis and foreigners. Baghdad police chief General Hassan Ali Ubeid told AFP that more than 11,000 officers have been deployed. AFP PHOTO/Mauricio LIMA / AFP PHOTO / MAURICIO LIMA

สังคมหลังความจริง

ศัพท์ “หลังความจริง” เป็นคำที่ฝ่ายชนชั้นนำทำให้แพร่หลายในปี 2016

หมายถึงพฤติกรรมที่ข้อเท็จจริงทางภววิสัย มีความสำคัญน้อยในการสร้างประชามติ โดยปล่อยให้อารมณ์และความเชื่อส่วนตัวขึ้นมาครอบงำ

ยกตัวอย่างในสองกรณี ได้แก่ การลงประชามติในอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป และการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐ

การสร้างคำศัพท์นี้วิเคราะห์กันว่า มีเป้าหมายเพื่อโจมตีสาธารณชนรากหญ้าว่ามีความสับสน ไร้เหตุผล ไม่เชื่อสื่อหรือนักการเมืองกระแสหลัก รวมทั้งนักวิชาการ ตัดสินใจโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง (ดูบทความของ Tracey Brown ชื่อ The idea of a “post-truth society” is elitist and obnoxious ใน theguardian.com 19.09.2016)

เรื่องสังคมหลังความจริงนี้ มีนักเขียนชาวสหรัฐผู้สนใจเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนอเมริกัน และด้านการเขียน คือ ราล์ฟ คียส์ (เกิด 1945) ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้มากว่าสิบปีแล้ว ชื่อว่า “ยุคหลังความจริง” (The Post-Truth Era – Dishonesty and Deception in Contemporary Life เผยแพร่ครั้งแรกปี 2004 ดู ralphkeyes)

แต่ได้รับความสนใจน้อยมาก เพิ่งมาโด่งดังเหมือนพลุหลังจากที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง

คียส์ชี้ว่า ในสังคมอเมริกา เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับการโกหก ความสัตย์ซื่อกับการหลอกลวงได้เลือนรางลงทุกที

ในปลายทศวรรษที่ 70 คนอเมริกันแสดงความโกรธเกรี้ยวต่ออดีตประธานาธิบดีนิกสันที่โกหกหลายครั้ง จิมมี่ คาร์เตอร์ ได้รับการเลือกตั้ง (ปลายปี 1976) ส่วนหนึ่งเพราะเขาสัญญาว่าจะไม่โกหกประชาชน

แต่หลังจากนั้นสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก ประธานาธิบดีเรแกนพูดพลิ้วไปมาสร้างเรื่องเท็จไม่เคยยอมรับผิด จนมีผู้ให้สมญาว่า “ประธานาธิบดีเทฟลอน” (คล้ายสำนวน “ปลาไหลใส่สเก๊ต” ในไทย)

สมัยประธานาธิบดีคลินตัน เกิดกรณีอื้อฉาวลูวินสกี (1995-1996)

สมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก มีการโกหกคำโตเรื่องอาวุธทำลายล้างสูงในอิรัก (2002)

อารมณ์ทางสังคมของคนอเมริกันได้เปลี่ยนไป เกิดทัศนคติใหม่ในทำนองว่า “ทุกคนโกหก โดยเฉพาะผู้นำของเรา” ความไม่ซื่อสัตย์ที่เคยเป็นบาปที่ควรประณาม กลายเป็นสิ่งปกติไป

คียส์ได้อธิบายยุคหลังความจริง สรุปได้ดังนี้คือ

1) ยุคหลังความจริง คนพูดโกหกแล้วไม่ได้รู้สึกละอายตนเองที่ทำเช่นนั้น และโกหกเรื่อยเปื่อยเพราะว่าไม่ถูกลงโทษ กระทำกันจนกระทั่งกลายเป็นชีวิตประจำวัน

2) ยุคหลังความจริงเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยบางอย่าง ได้แก่

ก) การพัฒนาทางเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร เกิดสื่ออย่างเช่นโทรทัศน์ที่เป็นแบบอศีลธรรม ไม่เน้นกฎระเบียบทางศีลธรรม ข้อความเสียงที่ฝากส่งก็ดูไม่จริงจัง เท่ากับเสียงพูดสด การสื่อสารในอินเตอร์เน็ตอำพรางตัวตนของผู้สื่อสารได้ง่าย

ข) การขยายตัวของสังคมสมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนย้ายถิ่นอย่างขนานใหญ่และรวดเร็ว จำนวนผู้แปลกหน้าและคนคุ้นเคยในชีวิตเราเพิ่มขึ้น เปิดช่องให้แก่การหลอกลวง

และ ค) ที่สำคัญเกิดจากผู้นำทางความคิดหรือเป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นายทหาร-ตำรวจชั้นสูง นักธุรกิจ ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้นำทางศาสนา ดารา ผู้ทำงานด้านสื่อ มีท่าทีที่ยืดหยุ่นมากต่อความจริงและความซื่อสัตย์

กล่าวโดยรวมก็คือความไม่สัตย์ซื่อเกิดจากความเสื่อมถอยทางจริยธรรม “เข็มทิศแห่งศีลธรรมพังลง” เส้นแบ่งระหว่างความถูก-ผิดเลือนราง “มโนธรรมถูกเห็นว่าเป็นสิ่งล้าสมัย”

3) พฤติกรรมแบบหลังความจริงหรือความไม่ซื่อสัตย์ มีผลกระทบด้านลบอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและชุมชนท้องถิ่น ทำให้ชุมชนสลายตัว ความไว้วางใจระหว่างผู้คนลดลง ความหวาดระแวงสูงขึ้น ความเหนียวแน่นจางคลาย ซึ่งทำให้การโกหกยิ่งง่ายขึ้น กลายเป็นวงจรชั่วร้าย สร้างสังคมแห่งการปิดบังความจริงและความไม่น่านับถือ เกิดการเสพติดการโกหกหรือบ้าโกหก และการกระหายความจริง

4) มีการแก้ไขเพื่อให้พ้นบ่วงทางจริยธรรมอย่างไร ไม่ว่าจะมีการโกหกหลอกลวงมากจนเป็นสิ่งธรรมดาอย่างไร คนเรารู้ได้ด้วยตนเองว่ามันเป็นสิ่งไม่ดี ดังนั้น จึงต้องสร้างเครื่องมือเพื่อให้พ้นบ่วงแห่งความรู้สึกผิด

Peruvian newspapers depict on their frontpages the country´s mood after the national football team defeated Ecuador by 2-1 in their 2018 World Cup Russia 2018 football qualifier played in Quito, on September 5, bringing renewed hopes to be eligible for the tournament, on September 6, 2017 in Lima. / AFP PHOTO / CRIS BOURONCLE

ที่สำคัญอย่างหนึ่งได้แก่ การใช้ภาษาที่นุ่มนวลหรือการเกลื่อนคำ (Euphemism) หรือการสร้าง “จริยธรรมทางเลือก” ขึ้น ตัวอย่างการใช้ภาษานุ่มนวล เช่น จะไม่มีใครยอมรับว่าตนโกหก แต่จะพูดอย่างอื่น ได้แก่ “พูดผิดไป” “เกินเลยไป” “คิดพลาดไป” คียส์ได้ยกตัวอย่างการเกลื่อนคำให้ดูนุ่มนวล ฟังแล้วสับสน จะว่าจริงก็ไม่ใช่ จะว่าเท็จก็ไม่เชิง ได้แก่

ก) คำพูดโกหก ใช้ถ้อยคำอื่นแทน เช่น ความจริงเชิงกวี ความจริงคู่ขนาน ความจริงเสมือน ความเป็นจริงทางเลือก (ทำเนียบขาวสมัยทรัมป์เรียกว่าข้อเท็จจริงทางเลือก) การเปิดเผยอย่างเลือกสรรข่าวสารที่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง

ข) การโกหก ใช้ถ้อยคำแทนว่า การเสริมความจริง การกล่าวมากกว่าความเป็นจริง การทำให้ความจริงละมุนละไม การกล่าวถึงความจริงที่ปรับปรุงแล้ว การทำให้สิ่งกระจ่างชัดกว่าความจริง เป็นต้น

การใช้ภาษานุ่มนวลดังกล่าวหาพบได้ทั่วโลก เช่น น้ำท่วม เรียก “น้ำรอการระบาย” การทิ้งระเบิด ใช้คำว่า “การให้บริการแก่เป้า”

หลังจากผลงานของคียส์เป็นที่สนใจมากขึ้น มีผู้สัมภาษณ์ถึงทัศนะของเขาต่อทรัมป์

คียส์เห็นว่าทรัมป์เป็นกรณีพิเศษ นั่นคือสามารถพูดโกหกได้โดยไม่รู้สึกว่าตนเองไม่ซื่อสัตย์ กระทั่งคิดว่าตนเองกำลัง “กล่าวสิ่งเกินจริงที่เป็นจริง”

ถ้าการไม่พูดความจริงทำให้เขาเป็นผู้ชนะ เรื่องอื่นก็ไม่สำคัญ

และการที่คนพูดโกหกมากขึ้นทั้งที่ถูกจับได้ง่าย ก็เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญ ประชาชนอเมริกันเองก็สนใจนักการเมืองว่ามีท่าทีหรือนโยบายต่อการทำแท้งหรือระบบประกันสุขภาพของโอบามา มากกว่าที่จะสนใจว่าคนคนนี้โกหกเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาหรือไม่

การโกหกจำนวนมากของทรัมป์และพวก สามารถแก้ตัวได้ว่าเป็นการ “ทำให้ขอบมนขึ้น” หรือ “การสร้างความจริงที่สูงขึ้น” หรือ “เข้าใกล้ความจริงยิ่งกว่า” ซึ่งเป็นการโต้แย้งแนวความคิดหลังสมัยใหม่ที่เห็นว่าความจริงเป็นเพียงสิ่งที่สร้างขึ้นในสังคม

ทั้งยังมีความคิดว่า “ถ้าคนของคุณโกหก นั่นเป็นสิ่งที่น่าประณาม แต่ถ้าคนของผมโกหก นั่นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้”

ผู้สนับสนุนทรัมป์เห็นว่าการที่ทรัมป์โกหกไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะว่าทรัมป์กำลังล้มระบบอำนาจเดิม

อย่างไรก็ตาม คียส์เห็นว่าการโกหกของทรัมป์และพวก มีด้านดีอยู่ประการหนึ่ง ได้แก่ ทำให้ผู้คนสนใจและอภิปรายในปัญหานี้มากขึ้น และหวังว่าจากหายนะที่ทรัมป์ก่อขึ้นขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะทำให้ประชาชนอเมริกันกล่าวว่า “พอกันที เราจะไม่ปล่อยให้คนที่ไม่ซื่อสัตย์ขึ้นมาเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกอีก” (ดูบทสนทนาระหว่าง Ralph Keyes กับ Lukasz Pawlowski ชื่อ Donald Trump and the post-truth era ใน liberalculture.org 20.01.2017)

แต่การคาดหวังของคียส์อาจไม่เป็นจริง เมื่อการล่มสลายทางวัฒนธรรมและความเสื่อมทางจริยธรรมในสหรัฐยังคงขยายตัวต่อไป

ยุคหลังความจริงสะท้อนความล่มสลายทางวัฒนธรรมขั้นต้น ค่านิยมที่ยึดถือความจริงและข้อเท็จจริงหายไป

French soldiers work at the French army cyber defence operational command center CALID headquarters in Paris on January 16, 2015. Almost 20,000 websites in France have come under attack from hackers in the aftermath of attacks by jihadist gunmen that killed 17 people last week, the defence ministry said today. AFP PHOTO / JOEL SAGET / AFP PHOTO / JOEL SAGET

เกิดการสร้างข่าวปลอมแพร่หลายทั้งในสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย

ที่มากไปกว่านั้นมีการสร้างสถานการณ์เพื่อก่อให้เกิดความสับสนเข้าใจผิด (False Flag) ทำให้ผู้คนตัดสินใจได้ยากลำบาก ซึ่งที่สำคัญมาจากปฏิบัติการของชนชั้นผู้ปกครองเพื่อลิดรอนสิทธิประชาธิปไตยของสาธารณชน สร้างความไม่ไว้วางใจและดูหมิ่นการตัดสินใจของมวลชน นำไปสู่การปกครองแบบรวบอำนาจในที่สุด

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสังคมสอดส่อง