วงค์ ตาวัน : ทำไมต้องเลือกตั้ง

วงค์ ตาวัน
พล.อ.​ประยุทธ์ จันทร์​โอชา ผบ.ทบ.​ลง​คะแนนเสียง​เลือกตั้ง​ผู้​ว่าฯ​กทม. เมื่อ​วัน​ที่ 3 มีนาคม 2556

นอกจากบรรยากาศอันยิ่งใหญ่ที่ปกคลุมไปทั่วทั้งสังคมไทยตลอดช่วงเดือนตุลาคมนี้ อันเป็นห้วงเวลาที่คนไทยทั้งแผ่นดินหลอมลวมดวงใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และเพื่อส่งเสด็จสู่สรวงสวรรค์

บรรยากาศเช่นนี้ ทำให้อารมณ์ความรู้สึกของคนไทยทั้งมวล เต็มไปด้วยความรักความสามัคคี ลดละปมปัญหาความขัดแย้งต่างๆ นานาลงไปได้

อีกทั้งเชื่อว่า แนวทางที่ประชาชนคนไทยจะรำลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 อยู่ในหัวใจทุกดวงตราบชั่วนิจนิรันดร์ ด้วยการยึดมั่นคำสั่งสอนของพระองค์ที่มีอยู่มากมายนำไปปรับใช้ได้ในทุกๆ เรื่อง จะส่งผลให้คนไทยมีจิตใจที่มั่นคง สุขุม อยู่กับหลักพอเพียง ซึ่งจะทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ตามความเป็นจริงของแต่ละคน

อันจะส่งผลในระยะยาวให้สังคมไทยเราเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นเรื่อยๆ

“นี่คือบรรยากาศอันพิเศษและน่าปลื้มปีติในเดือนตุลาคมปีนี้”

ขณะเดียวกัน คำแถลงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันอย่างชัดเจนถึงวันเวลาการเลือกตั้ง หลังจากเกิดความสับสนอลหม่านมากมาย

โดยเน้นย้ำว่า จะประกาศวันเลือกตั้งในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งวันเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561

เท่านี้แหละ หุ้นพุ่งทะยานขานรับการคลี่คลายทางการเมืองอย่างทันที

“เป็นคำแถลงที่ส่งผลบวกต่อสังคมไทยอย่างมาก”

บรรดาแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ แสดงความขอบคุณที่นายกฯ สร้างความชัดเจนในเรื่องนี้เสียที แม้จะอดไม่ได้ ขอมีหมายเหตุทิ้งท้ายว่า หวังว่าคงจะไม่เลื่อนอีก

“รวมๆ แล้ว ได้ทำให้คนไทยทั้งประเทศ ได้รู้สึกผ่อนคลายไปอีกเปลาะใหญ่”

เพราะการเลือกตั้ง หมายถึงการคืนประชาธิปไตยที่เป็นปกติ สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่กลับมาสู่ความเป็นปกติ

เป็นการคืนอำนาจกลับมาอยู่ในมือประชาชน ทำให้มีส่วนร่วมในการตัดสินชะตากรรมบ้านเมือง ไม่ใช่ปล่อยให้ไปอยู่ในมือคนกลุ่มเดียวดังที่เป็นมาในช่วงหลายปีนี้

ที่สำคัญ เหมือนการปลดล็อกเศรษฐกิจการค้า นานาชาติจะเลิกตั้งข้อรังเกียจ การปิดกั้นทางธุรกิจก็จะหมดไป

ส่งผลให้ภาวะการเงินฝืดเคืองในบ้านเราที่เป็นมาอย่างหนักในช่วง 3-4 ปีมานี้ จะได้ผ่อนคลายเสียที

เป็นอีกเรื่องที่สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับประชาชนคนไทยในเดือนตุลาคมนี้

ปัญหาวันเวลาเลือกตั้งที่สร้างความสับสนในหมู่ประชาชน นอกจากจะมาจากการขยับโรดแม็ปเป็นระยะๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว ที่สำคัญคือคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ในการเดินทางไปพบปะผู้นำสหรัฐเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าได้หยิบยกเรื่องการเลือกตั้งมาชี้แจงกับประธานาธิบดีทรัมป์ ยืนยันว่าในปี 2561 “จะประกาศวันเลือกตั้ง” แน่นอน

จากนั้นมีการขยายความต่อไปว่า กฎหมายลูกจะเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2561 ถัดจากนั้นบวกไปอีก 150 วัน ก็จะเป็นวันเลือกตั้ง

แปลชัดเจนว่า ปี 2561 แค่จะเป็นการประกาศวันเลือกตั้ง แล้ววันเลือกตั้งจริงๆ จากพฤศจิกายน บวกไปอีก 5 เดือน ก็คือเมษายน 2562

นี่คือการขยับโรดแม็ปอีกครั้ง เป็นปี 2562 โน่น

“ผลที่ตามมาสร้างแรงกดดันต่อ คสช. อย่างมหาศาล เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการรักษาคำมั่นสัญญาเป็นไปอย่างอื้ออึง จนทำให้แกนนำ คสช. ต้องออกมาโต้ว่า ไม่มีการยื้ออำนาจแต่อย่างใด!?!”

จุดสำคัญคือ พรรคเพื่อไทยได้หยิบยกรายละเอียดของคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับสหรัฐ ถึงผลการไปเยือนของนายกฯ ประยุทธ์ ซึ่งในคำแถลงการณ์นั้น ตามความเข้าใจของสหรัฐ ก็คือ ไทยจะมีเลือกตั้งในปี 2561

เหล่านี้สร้างผลสะเทือนต่อสถานะของรัฐบาลอย่างไม่ธรรมดา

ยิ่งประเด็นการรักษาคำมั่นสัญญานี้

“เคยทำให้รัฐบาลทหารรุ่นพี่ล้มคว่ำมาแล้ว เพราะไม่รักษาสัตย์!”

จนมาล่าสุด เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาพูดจาอย่างชัดเจนอีกครั้ง แต่เปลี่ยนแปลงใหม่ ไม่เป็นตามที่พูดในสหรัฐ

คราวนี้บอกว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 และการเลือกตั้งมีในเดือนพฤศจิกายน 2561 แน่นอน

คือการย้อนกลับมาสู่คำสัญญาเดิม

“นี่จึงเป็นการผ่อนคลายบรรยากาศที่สำคัญ”

แต่ในขณะเดียวกัน มีการวิเคราะห์ว่า ต่อจากนี้แรงกดดันจะย้ายไปอยู่ที่ สนช. แทน เพราะจะต้องพิจารณากฎหมายลูกให้เสร็จในเดือนมิถุนายน 2561

ถ้าไม่เสร็จ หรือใครจะเล่นแท็กติก เพื่อดึงเวลาเลือกตั้งออกไปอีก

“นั่นจะทำให้ สนช. ต้องตกเป็นเป้าแทน”

แต่เอาเป็นว่า คำแถลงล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมนั้น มีลักษณะเป็นสัญญาอันมั่นเหมาะชัดแจ้งแล้วว่า จะยึดโรดแม็ป เลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

อย่างไม่มีเป็นอื่น

หากมีเป็นอื่นขึ้นมา ก็ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น!?!

จะว่าไปแล้ว รัฐบาล คสช. ชุดนี้ เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารซึ่งบริหารบ้านเมืองมายาวนาน มากกว่ารัฐบาลจากการรัฐประหารอื่นๆ ในอดีตที่ผ่านมา โดยในยุคก่อนนี้ เมื่อเข้ามายึดอำนาจ ล้มรัฐบาลเลือกตั้ง ในทันทีจะมีคำยืนยันจากผู้นำปฏิวัติทุกครั้งว่า จะเข้ามาสะสางปัญหาไม่ยาวนานนัก แล้วจะรีบกลับกรมกอง เพื่อให้ประชาชนได้เลือกตั้งตามปกติ

แล้วส่วนใหญ่รัฐบาลจากการรัฐประการก็จะอยู่ในอำนาจเพียงปีเดียว เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็จัดให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนดังเดิม

เพราะรัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้งย่อมรู้ดีว่า จะไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างรอบด้าน เหมือนรัฐบาลปกติทั่วไป

“โดยเฉพาะเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้าน จะเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลรัฐประหารทุกชุด ขืนอยู่ยาวเกินไป จะสร้างความไม่พึงพอใจให้กับชาวบ้านในเรื่องเงินทองฝืดเคืองอย่างมาก!”

แต่รัฐบาล คสช. ชุดนี้ มาเพราะการปูทางของม็อบนกหวีด ที่นำโดยแกนนำพรรคการเมืองหนึ่ง พร้อมกับชูวาทกรรม ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งแปลว่าจะไม่ให้มีเลือกตั้งยาวนานที่สุด

การสร้างประเด็นต้องปฏิรูปก่อนนั้น เสมือนสร้างกระแสเพื่อให้รัฐบาล คสช. อยู่ได้ยาวนานกว่ารัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้งชุดอื่นๆ

แล้วภารกิจเรื่องนี้ ก็เป็นข้ออ้างที่ใช้ได้จริง ผสมกับการสร้างกระแสที่ว่าจะต้องร่างกฎกติกาเพื่อป้องกันนักการเมืองที่จะกลับมาไม่ให้โกงกินได้อีกต่อไป จะต้องไม่มีนโยบายประชานิยมที่ผลาญงบประมาณแผ่นดินได้อีกต่อไป

“แต่ผ่านมา 3-4 ปีนี้ ประชาชนเริ่มมองว่า การปฏิรูปการเมือง กับการเขียนกติกาการเมืองเพื่อมุ่งจัดการกับพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม ต่างกันหรือไม่!?”

การไม่ให้มีเลือกตั้งเร็ววัน ด้วยเหตุผลเพื่อไม่ให้นักการเมืองที่ยังไม่ได้ปฏิรูปตัวเอง ไม่ควรกลับมาสู่อำนาจเร็วไป ไม่เช่นนั้นจะเละเทะอีก กับประเด็นที่มองลึกลงไปว่า เนื้อแท้แล้วเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนกลุ่มยึดครองอำนาจ จากนักการเมือง มาเป็นกลุ่มขุนนางขุนศึก

“ต่างกันหรือไม่?!?”

หลายคนเริ่มสงสัยว่า การรังเกียจรัฐบาลนักการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยม แต่ผลประโยชน์ในยุคนั้น สอดคล้องกับประโยชน์ของประชาชนระดับล่างในวงกว้างมากกว่า

กับรัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลคนดีมีคุณธรรม ไม่เอาประชานนิยม แต่ผลประโยชน์ในช่วงนี้ตกกับชนชั้นไหน ทำไมเป็นยุคที่กองทัพได้เสริมเขี้ยวเล็บมากมายที่สุด

“อย่างนี้เแล้วประชาชนวงกว้าง จะรังเกียจนักการเมืองและประชานิยม แล้วไปชื่นชมรัฐบาลคนดี แต่ทหารนิยมอย่างนั้น มันถูกต้องแล้วหรือ”

ผ่านมา 3-4 ปีที่ไม่ประชานิยม ทำให้ประชาชนเลยไม่ได้อะไร จึงทำให้ทุกคนเริ่มนึกถึงการเลือกตั้ง เพราะเป็นวันที่อำนาจการเมืองกลับคืนสู่มือประชาชน

แม้ว่านักการเมืองจะยังต้องพัฒนา แต่เราจะยอมให้คนกลุ่มหนึ่ง มาทำหน้าที่ปฏิรูปนักการเมือง โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างนี้หรือ

เอาอำนาจกลับคืนมาให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แล้วช่วยการสร้างการเมืองให้พัฒนาก้าวหน้า โดยการเรียนรู้ของประชาชนเอง และด้วยอำนาจในมือประชาชนเอง

ย่อมดีกว่าและยั่งยืนกว่า!