จรัญ มะลูลีม : การชนกันของสองยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน (จบ)

จรัญ มะลูลีม

ย้อนกลับสู่อดีต พบว่าความขัดแย้งของทั้งสองประเทศเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1925 และ 1930 เมื่อกษัตริย์ของทั้งสองประเทศต่างก็แสดงพลังการมีอำนาจนำในภูมิภาค

ปี 1925 ชาฮ์แห่งอิหร่านผนวกเมืองคูซิสถาน (Khuzistan) เข้ามาเป็นของเปอร์เซีย (ชื่อเดิมของอิหร่าน)

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ซาอุดีอาระเบียเซ็นสัญญากับอังกฤษในปี 1927 เพื่อตั้งรัฐบาลกันชนขึ้นในอ่าวเปอร์เซียพร้อมให้การยอมรับรัฐบาลของบาห์เรน คูเวตและโอมาน

นับจากปี 1943 เป็นต้นไป พบว่าอิหร่านมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับซาอุดีอาระเบีย แต่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นต้องมาหยุดลงเมื่อซาอุดีอาระเบียเข้าจับกุมผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ชาวอิหร่านในนครมักกะฮ์เมื่อปี 1955

เหตุการณ์เลวร้ายลงเมื่ออิหร่านเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศที่สังกัดอยู่กับสนธิสัญญาแบกแดด (Bangdad Pact) ซาอุดีอาระเบียหวาดกลัวว่าสนธิสัญญาดังกล่าวจะนำไปสู่การแบ่งแยกในภูมิภาคระหว่างรัฐที่นิยมตะวันตกกับรัฐที่ต่อต้านตะวันตก

 

ปี1964 ความสัมพันธ์ของสองประเทศมาเป็นปกติอีกครั้ง แม้ว่าจะมีความตึงเครียดในบาห์เรนก็ตาม

ปี 1965 ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านร่วมกันเซ็นสัญญาข้อตกลงว่าด้วยหมู่เกาะฟาร์ซี (Farsi) และอัลอะราเบีย (al Arabia) ซึ่งทั้งสองประเทศมีส่วนร่วมอยู่ด้วย สัญญาดังกล่าวครอบคลุมไปถึงดินแดนก้นสมุทรที่เป็นแหล่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย

หลังจากนั้นประเทศทั้งสองก็ดำรงความเป็นมิตรต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการถอนตัวออกไปของสหราชอาณาจักร จนถึงการปฏิวัติอิหร่านปี 1979

สิ่งที่อาจจะแสดงให้เห็นความเป็นปรปักษ์ต่อกันหลังการปฏิวัติ 1979 ก็ได้แก่สงครามตัวแทนที่ยืดเยื้อ รวมถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีต่อสหรัฐ การรุกรานอิรักของสหรัฐปี 2003 ตลอดไปจนถึงอาหรับสปริงและที่เป็นประเด็นล่าสุดคือการสังหารผู้นำ ชีอะฮ์ นิมร์ อัล-นิมร์ (Nimr al-Nimr) ที่อยู่ในซาอุดีอาระเบียโดยคำสั่งของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย

การสังหาร นิมร์ อัล-นิมร์ ผู้นำชีอะฮ์นำไปสู่จุดแตกหัก ในที่สุดเกิดการประท้วงซาอุดีอาระเบียอย่างรุนแรงในอิหร่าน ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ประกาศตัดความสัมพันธ์กับอิหร่านอีกครั้ง

 

สําหรับตะวันตกอิหร่านหลังการปฏิวัติถูกมองว่าเป็นประเทศสุดโต่ง นอกจากนี้ ตะวันตกยังมองอิมามโคมัยนีว่าเป็นพวกสุดขั้วอีกด้วย

ในขณะที่ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบียเป็นไปด้วยความราบรื่นท่ามกลางความแตกต่าง

ทั้งนี้ สหรัฐได้วางความแตกต่างเอาไว้ข้างๆ และไม่ได้มีปฏิกิริยาใดๆ กับขบวนการวาฮะบีที่สหรัฐเองมองว่าเป็นขบวนการทางศาสนาที่สุดโต่งเช่นกัน

เป็นที่รับทราบกันดีโดยทั่วไปว่าสหรัฐมุ่งหวังจะรักษาความเป็นมิตรทางยุทธศาสตร์กับซาอุดีอาระเบียเอาไว้ รวมทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมัน ความมั่นคงในภูมิภาคและการปิดกั้นอิทธิพลของโซเวียตในตะวันออกกลางและการต่อสู้กับการใช้อิสลามในทางการเมืองของกลุ่มที่ต้องการโค่นระบอบกษัตริย์

 

สําหรับซาอุดีอาระเบีย อิหร่านเป็นประเทศที่ไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากการออกแบบของการปกครองโดยอิมามโคมัยนี คือการเปลี่ยนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับอิหร่าน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนสู่รัฐอิสลามหลังการจากไปของรัฐคอร์รัปชั่นที่นำโดยชาฮ์ของอิหร่าน

โดยทั่วไปการปฏิวัติที่เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 จะมีความเชื่อมโยงกับตะวันตก และได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลตะวันตก

แต่สำหรับการปฏิวัติอิหร่านนั้นยากที่จะคาดหมายได้ มันเป็นผลที่มาจากปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยอันหลากหลาย ปัจจัยหนึ่งดูเหมือนจะเป็นไปตามความคิดของ Machiavelli ที่พูดถึงคุณภาพความเป็นผู้นำของบรรดาผู้นำในระหว่างที่มีวิกฤตการณ์ต่างๆ ซึ่งไม่มีทางประเมินได้อย่างถูกต้องก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์

อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบียในเวลาต่อมามีความใกล้ชิดกัน ปี 1950 สองประเทศได้ร่วมลงนามสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกับสหรัฐ ชาฮ์ได้กลายมาเป็นคนสนิทของสหรัฐในที่สุด

 

ความไม่พอใจต่อการเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐในเวลานั้นทำให้กลุ่มอุดมการณ์ที่มาจากอิสลาม (Islamic) มาร์กซิสต์ (Marxist) และชาตินิยมรวมตัวเข้าด้วยกันโดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต

ในสมัยการปกครองของโอบามา แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านการคุกคามอิหร่านที่มาจากผู้นำก่อนๆ ของสหรัฐ

กระนั้นอิหร่านก็ยังคงไม่เห็นด้วยกับปฏิกิริยาของประเทศต่างๆ ที่มีต่ออิหร่านในโครงการนิวเคลียร์และการเป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอล การให้การสนับสนุนขบวนการฮิสบุลลอฮ์ (Hizbollah) ของเลบานอนและการไม่เห็นด้วยกับความพยายามของผู้นำประเทศต่างๆ ที่จะนำเอาสันติภาพมาให้ชาวปาเลสไตน์ ซึ่งขัดแย้งกับอิสราเอล

สำหรับการเจรจาดังกล่าวอิหร่านมองว่าเป็นการเจรจาที่ดินแดนของชาวปาเลสไตน์ตกเป็นของอิสราเอล (Land for Israel) และชาวปาเลสไตน์ได้แต่คำว่าสันติภาพมาครอบครอง (Peace for the Palestine)

 

สําหรับอิหร่านการปฏิวัติมีพื้นฐานมาจากพื้นถิ่นและจากภายในประเทศ รัฐจึงมีความชอบธรรมทั้งในการใช้หลักการทางศาสนาและความยินยอมจากประชาชน

เมื่อเผชิญกับอุดมการณ์และผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศที่มั่งคั่งน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบีย จึงพยายามที่จะส่งออกแนวคิดวาฮะบีผ่านการศึกษาและการให้ทุน

การปฏิวัติอิหร่านสร้างปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนและทำให้อิหร่านมีจุดยืนที่เป็นลักษณะของตนเอง

อิหร่านและซาอุดีอาระเบียมีจุดยืนต่อสหรัฐแตกต่างกัน หลังจากเหตุการณ์ที่เรียกกันว่าการตื่นตัวของชาวอาหรับหรืออาหรับสปริงแล้วจะพบว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางล้วนเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง สับสนอันเนื่องมาจากการแข่งขันกันทางภูมิรัฐศาสตร์ อิหร่านเข้าไปมีบทบาททั้งในอิรัก เยเมนและซีเรีย

ในกรณีของเยเมน กบฏฮูษี (Houthi) ได้ขยายการครอบครองดินแดนของพวกเขาด้วยการเชื่อมโยงกับอิหร่าน ชาวอาหรับกล่าวหาอิหร่านว่าติดอาวุธให้กับกบฏฮูษี

ในเวลาเดียวกันอิหร่านได้วิจารณ์ซาอุดีอาระเบียอย่างหนักหน่วงว่าเป็นผู้แทรกแซงการลุกขึ้นต่อสู้ของฝ่ายฮูษี ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็วิพากษ์อิหร่านว่าเข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของเยเมน

 

ฮิชาม บินอับดุลลอฮ์ อัลอะลาอุย ชาวโมร็อกโกได้เขียนไว้ว่าการเผชิญหน้าระหว่างซุนนีและชีอะฮ์จะมีความสำคัญขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เชื่อกันว่ากรณีความขัดแย้งของสองสำนักคิดนั้นถูกจัดฉากมาจากภายนอก มันเป็นการปะทะกันซึ่งดูเหมือนจะทำให้เส้นแห่งความล้มเหลวมีความรุนแรงมากขึ้นและและทำให้เมฆหมอกของอาหรับสปริงก่อตัวขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น มุฮ์ซิน มีลานี (Mohsen Milani) นักเขียนชาวอาหรับก็ได้กล่าวเอาไว้เช่นกันว่าซาอุดีอาระเบียและอิหร่านไม่ลงรอยกันมาตั้งแต่การปฏิวัติในอิหร่านเมื่อปี 1979 และยิ่งมีความไม่ลงรอยกันมากขึ้นในช่วงของอาหรับสปริง ทั้งสองประเทศแข่งขันกันเพื่อมีอิทธิพลเหนือตลาดพลังงานของโลกและเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ รวมทั้งอิทธิพลทางการเมืองในอ่าวเปอร์เชียและในดินแดนที่ฝรั่งเศสเคยปกครอง (Levant)

ความขัดแย้งด้านสำนักคิดที่พุ่งสูงขึ้นนั้นมีพลังเพียงพอที่จะทำให้ศักยภาพของกลุ่มที่สนับสนุนปาเลสไตน์ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนืออ่อนตัวลง โดยไปเพิ่มพลังให้กับนักต่อสู้ที่ใช้อิสลามในทางการเมืองและดึงเอาสหรัฐเข้าสู่การแทรกแซงทางทหารมากขึ้น