DECORATIVE DESPAIR ศิลปะแห่งการสร้างปฏิสัมพันธ์ ระหว่างตัวหนังสือสองภาษาบนผนัง / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

DECORATIVE DESPAIR

ศิลปะแห่งการสร้างปฏิสัมพันธ์

ระหว่างตัวหนังสือสองภาษาบนผนัง

 

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมนี้ เราได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสหยิบมาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า DECORATIVE DESPAIR โดย ลาร์ส บรอยเยอร์ (Lars Breuer) ศิลปินร่วมสมัยชาวเยอรมัน ผู้ทำงานศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่ ที่อ้างอิงถึงประวัติศาสตร์และงานวรรณกรรม ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างบทสนทนาระหว่างสุนทรียะของตัวอักษร กับสถาปัตยกรรม งานออกแบบ และงานศิลปะ

นิทรรศการครั้งนี้เป็นการทำงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกของบรอยเยอร์ โดยเป็นการจัดนิทรรศการคู่ขนานระหว่างหอศิลป์ Cartel Artspace ในกรุงเทพฯ และหอศิลป์ Meta House ในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างตัวหนังสือภาษาอังกฤษและตัวหนังสือท้องถิ่น (ภาษาไทยและเขมร) ที่ถูกออกแบบจัดวางคู่ขนานและสร้างปฏิสัมพันธ์กันระหว่างรูปทรงและความหมาย

โดยมีเป้าหมายในการเล่นกับความหมายของภาษา เพื่อท้าทายให้ผู้ชมได้ตีความจากการมอง อ่าน และสัมผัสกับเส้นแบ่งของความแตกต่างระหว่างภาษา และนัยยะทางวัฒนธรรมที่แฝงเร้นอยู่เบื้องหลังตัวหนังสือเหล่านั้น

ลาร์ส บรอยเยอร์ ศิลปินเจ้าของผลงาน กล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“นิทรรศการครั้งนี้เริ่มต้นจากตอนที่ผมมาท่องเที่ยวกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา พอดีมีคนแนะนำให้ผมรู้จักกับ ไบรอัน เคอร์ทิน (Brian Curtin) (นักวิจารณ์ศิลปะและภัณฑารักษ์อิสระชาวไอริช) หลังจากนั้นเขาก็บอกผมว่าอยากทำโครงการศิลปะด้วยกันกับผม”

“เราก็เลยเริ่มต้นวางแผนงานกัน แล้วเขาก็นำโครงการมาเสนอที่ Cartel Artspace แต่เราดันติดปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 จนต้องเลื่อนเวลาจากตอนแรกที่เราวางแผนไว้ว่าจะจัดนิทรรศการตอนช่วงต้นปี 2021 กลายเป็นย้ายมาจัดคราวนี้แทน เมื่อสถานการณ์เป็นปกติแล้ว”

“นิทรรศการครั้งนี้เป็นการแสดงที่ต่อเนื่องจากนิทรรศการที่ผมทำที่กรุงพนมเปญ โดยทำงานร่วมกับศิลปินเขมร ที่ทำงานเกี่ยวกับตัวหนังสือเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะมาทำนิทรรศการนี้ในกรุงเทพฯ”

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้เป็นศิลปะจัดวางในรูปของภาพวาดบนผนังที่เป็นการผสมผสานระหว่างตัวหนังสือภาษาไทยอย่าง “ความทะเยอทะยาน” และ “Decorative Despair” (ประดับประดาด้วยความสิ้นหวัง) ตัวหนังสือสีขาวดำสองภาษา วางซ้อนคู่ขนานกันเป็นลายพร้อยบนผนังห้องแสดงงานของ Cartel Artspace

“ความจริงงานชุดนี้ผมเปลี่ยนคำภาษาอังกฤษจากคำว่า Linguistic Stereotype เป็น Decorative Despair เพราะผมคิดว่าคงจะดี ถ้าคำภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีความหมายขัดแย้งกัน เพราะคำว่า ‘ความทะเยอทะยาน’ นั้นมีความหมายในแง่บวก มีความรู้สึกเชิงสร้างสรรค์ อย่างเช่น ถ้าคุณอยากทำบางอย่างให้สำเร็จ ส่วนคำว่า ‘Despair’ (ความสิ้นหวัง) แน่นอนว่ามีความหมายในแง่ลบ และอาจเป็นขั้วตรงข้ามของความทะเยอทะยาน ยกตัวอย่างเช่น ในตอนแรกคุณอาจมีความทะเยอทะยานมากๆ แต่หลังจากนั้นคุณก็ตระหนักว่ามีปัญหามากมายโน่นนี่นั่น จนทำให้คุณรู้สึกสิ้นหวัง”

“ผมใช้คำว่า Decorative เป็นเหมือนการจับคู่เปรียบที่ไม่ค่อยลงตัว เพราะไม่มีใครรู้ว่า Decorative Despair นั้นหมายถึงอะไร นี่คือคำถามหนึ่งที่ทุกคนสามารถตีความได้ตามใจชอบ ในทางกลับกัน ผมต้องการเชื่อมโยงกับโลกศิลปะอย่างชัดเจน ด้วยการใช้คำว่า Decorative ที่เปรียบถึงการสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป”

“การที่ผมใช้ภาษาไทยที่มีความขัดแย้งกับภาษาอังกฤษนั้นมีเหตุผลสำคัญอยู่ ความจริงผมอาจจะแปลคำว่า Decorative Despair เป็นภาษาไทย หรือแปลคำว่า ความทะเยอทะยาน เป็นภาษาอังกฤษ แล้วเอามาจับคู่กันก็ได้ แต่มันก็คงไม่เหมาะกับพื้นที่แสดงงานแห่งนี้เท่าไหร่ เพราะคำว่า Decorative Despair และความทะเยอทะยาน นั้นวางได้เหมาะเจาะพอดีกับห้องนี้กว่ามาก”

“เวลาทำงานผมไม่อาจเขียนคำอะไรตามใจชอบได้ แต่ผมต้องออกแบบให้คำสองคำนี้วางอยู่บนผนังห้องแสดงงานได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวพอดี การเลือกคำและการออกแบบค่อนข้างเป็นงานแบบ Site-specific (ศิลปะเฉพาะพื้นที่) เอามากๆ”

“สิ่งสำคัญสำหรับผมในการทำงานลักษณะนี้ คือการผสานตัวหนังสือและถ้อยคำภาษาอังกฤษกับถ้อยคำภาษาไทย และที่สำคัญที่สุดก็คือ ผมต้องเป็นคนออกแบบตัวอักษรละตินกับภาษาไทยที่วางอยู่บนแถวและพื้นหลังเดียวกันด้วยตัวเอง”

“ถ้าคุณเข้ามาในห้อง คุณอาจคิดว่าตัวหนังสือเหล่านี้เป็นแค่แพตเทิร์น หรือลวดลายตกแต่งบนกำแพง เมื่อคุณหยุดสังเกตคุณอาจพบว่ามันคือตัวหนังสือบางอย่างที่คุณอาจจะอ่านออกหรือไม่ก็ตาม แล้วคุณก็ถูกบังคับให้เคลื่อนไหวไปรอบๆ ห้อง เดินหมุนตัวจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งของห้อง เพื่อพยายามอ่านตัวหนังสือเหล่านี้ให้ออก”

“คุณไม่สามารถยืนนิ่งๆ มองมันเหมือนเวลาดูภาพวาดหรือภาพถ่ายได้ คุณต้องเคลื่อนไหวในพื้นที่นี้ เพราะตัวหนังสือเหล่านี้ถูกวาดอยู่บนผนังทั่วห้อง จากเกือบติดพื้นจนเกือบจรดเพดาน มันโอบอุ้มร่างกายคุณเอาไว้ทั้งตัว ในขณะเดียวกัน ตัวพื้นที่ ตัวห้อง และตัวสถาปัตยกรรมของหอศิลป์แห่งนี้ ท้ายที่สุดแล้วก็จะเป็นตัวนิยามถ้อยคำเหล่านี้อีกทีหนึ่ง”

ในขณะที่ดูงานของเขา บางครั้งเรารู้สึกเหมือนกับกำลังอ่านตัวหนังสือบนพาดหัวหนังสือพิมพ์หรือป้ายโฆษณา แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังดูงานศิลปะนามธรรม ลวดลายประดับตกแต่งบนผนัง หรือคิวอาร์โค้ดไปโน่นเลย

“สิ่งที่ผมต้องการก็คือการสร้างความไม่ชัดเจนว่าคุณกำลังดูลวดลายประดับตกแต่งบนผนังหรืออะไรกันแน่ ในตอนแรกที่เห็น คุณอาจจะรู้สึกมีความทะเยอทะยาน อยากอ่านตัวอักษร และตีความความหมายที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังผลงานชุดนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วคุณอาจรู้สึกสิ้นหวังอย่างสิ้นเชิง เพราะมันไม่มีความหมายอะไรให้ตีความเลยแม้แต่น้อยก็ได้”

บรอยเยอร์ยังเฉลยถึงเหตุผลที่เขาหันมาทำงานศิลปะจัดวางตัวหนังสือบนผนังเช่นนี้ว่า

“ก่อนหน้านี้ผมวาดรูปบนผ้าใบ และวาดชื่อของภาพวาดนั้นบนผ้าใบผืนที่สอง ต่อมาหลังจากนั้นผมก็แขวนภาพวาดบนผนัง แล้ววาดชื่อของภาพวาดบนผนังข้างๆ ภาพวาด หลังจากนั้นภาพวาดบนผ้าใบก็หายไป เหลือแต่ตัวหนังสือบนผนัง แล้วตัวหนังสือก็ใหญ่ขึ้นๆ เรื่อยๆ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ผมออกแบบตัวหนังสือในรูปแบบเฉพาะตัวขึ้นมา”

“ผมคิดว่าเป็นการทำงานที่ค่อนข้างสะดวก เพราะสิ่งที่ผมต้องการก็มีแค่แปรงวาดภาพ, มีด, เทปกาว, ไม้บรรทัด สีดำหนึ่งถัง ผมก็เริ่มต้นทำงานได้แล้ว ก่อนอื่นผมจะวัดขนาดของห้อง หลังจากนั้นผมก็จะออกแบบตัวหนังสือขึ้นมาในคอมพิวเตอร์ และลงมือทำงานโดยใช้ไม้บรรทัด, เทปกาว วัดขนาด, ตีเส้น, กั้นเทปกาว และวาดตัวหนังสือบนผนัง เรียกเป็นการทำงานแบบโอลด์สคูลมากๆ ก็ได้”

เมื่อได้ชมผลงานศิลปะตัวหนังสือสีขาวดำบนผนังกำแพงของลาร์ส บรอยเยอร์ ทำให้เราอดนึกไปถึงศิลปินคนสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยอย่าง โซล เลวิตต์ (Sol LeWitt) และ บาร์บารา ครูเกอร์ (Barbara Kruger) ผู้ทำจิตรกรรมขาวดำ หรือศิลปะจัดวางจากตัวหนังสือบนผนังอันลือลั่นไม่ได้

ซึ่งบรอยเยอร์เผยความเชื่อมโยงระหว่างเขากับศิลปินระดับตำนานเหล่านี้ว่า

“ผมศึกษางานของพวกเขามาเยอะนะ และตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้และชมงานของเขาอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น นิทรรศการของบาร์บารา ครูเกอร์ ที่ก่อนหน้านี้เคยจัดแสดงนิทรรศการครั้งใหญ่ที่ หอศิลป์แห่งชาติ (Neue Nationalgalerie) ในเบอร์ลิน ซึ่งเธอมักจะทำงานในลักษณะของตัวพิมพ์เหมือนกัน งานของเธอมักจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม วงการโฆษณา สื่อมวลชน และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ด้วยตัวหนังสือที่จะแจ้งชัดเจน สีสันฉูดฉาด”

“แต่งานของผมมักจะมีความเป็นนามธรรมหน่อยๆ มีความเป็นขาวดำหน่อยๆ มีความอ่านยากหน่อยๆ มีความเป็นการประดับตกแต่งหน่อยๆ และมักจะทำงานกับพื้นที่มากกว่าหน่อยๆ จะว่าไป หลายคนก็บอกว่างานผมก็ดูเหมือนบาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ดหน่อยๆ หรือเป็นเหมือนลวดลายประดับตกแต่งบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาจเพราะขนาดของตัวหนังสือและช่องไฟมักมีขนาดเท่าๆ กัน”

“นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมสามารถผสมผสานตัวอักษรละตินเข้ากับตัวอักษรไทยเอาไว้ด้วยกันได้ เพราะมันถูกออกแบบอยู่บนเส้นกริดเดียวกัน”

องค์ประกอบอันโดดเด่นน่าสนใจอีกประการในผลงานของเขาก็คือการออกแบบจัดวางตัวอักษรไทยและภาษาอังกฤษในลักษณะที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน โดยในขณะที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นสีขาวบนพื้นดำ แต่ตัวอักษรภาษาไทยกลับเป็นสีดำบนพื้นขาว ราวกับเป็นภาพสะท้อนของแสงกับเงายังไงยังงั้น

“ที่ทำแบบนี้เพราะผมอยากให้ผลงานมีความเป็นนามธรรมมากขึ้น เพราะในขณะที่คุณอ่านตัวหนังสือภาษาอังกฤษ ส่วนหนึ่งของมันกลับกลายเป็นพื้นหลังของตัวหนังสือภาษาไทย ในขณะเดียวกันที่คุณอ่านตัวหนังสือภาษาไทย ส่วนหนึ่งของมันก็กลายเป็นพื้นหลังของตัวหนังสือภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดความคลุมเครือจนดูไม่เหมือนตัวหนังสือ แต่เป็นเหมือนลวดลายประดับ ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนเป็นลวดลายนามธรรม เหมือนเป็นการกลับค่ากันระหว่างความเป็นนามธรรม กับการสื่อสารความหมายของถ้อยคำ”

“ผมอยากแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการสื่อสารความหมายและเนื้อหาของถ้อยคำ และคุณลักษณะของความเป็นนามธรรมที่คุณสามารถอ่านและตีความหมายได้สองทาง คุณสามารถอ่านตัวหนังสือและพยายามทำความเข้าใจกับความหมายและเนื้อหาของคำ และตั้งคำถามว่าทำไมผมถึงเขียนถ้อยคำเหล่านี้ขึ้นมา”

“ในทางกลับกันคุณก็สามารถมองเป็นภาพวาด เป็นงานจิตรกรรม คุณสามารถดูเส้นสายรายละเอียด จังหวะจะโคนของภาพ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมงานชุดนี้ทั้งหมดจึงต้องวาดด้วยมือโดยใช้แปรงอันใหญ่เหมือนการทำงานจิตรกรรม การที่ตัวหนังสือถูกออกแบบเป็นตัวเอียงก็ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวไปในตัวด้วย”

“ผมออกแบบตัวหนังสือทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยด้วยตัวเอง โดยมีนักออกแบบกราฟิกชาวไทยอย่างอนุทิน วงศ์สรรคกร ช่วยให้คำปรึกษาในส่วนของตัวหนังสือภาษาไทย เมื่อผมมาถึงเมืองไทย ผมร่างแบบตัวหนังสือภาษาไทยแล้วส่งให้เขาดูว่าใช้ได้ไหม ผมต้องหาใครสักคนที่ไว้ใจมาช่วยตรวจสอบ เพราะผมไม่รู้ว่าคำในภาษาไทยมีความหมายอย่างไร แต่การทำงานนี้ก็ทำให้ผมเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาไทยมากขึ้น น่าสนใจมากว่า เส้นสาย ช่องว่าง และจุดต่างๆ ในภาษาไทย มีส่วนทำให้การออกเสียงแตกต่างกัน ไม่ต่างอะไรจากดนตรีหรือบทเพลงเลย”

“โดยปกติ งานของผมไม่ได้มีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองอะไร แต่ทุกคนก็สามารถอ่านและตีความผลงานของผมได้อย่างอิสระ ตามแต่เขาหรือเธอจะต้องการ ไม่ว่าเขาจะทำอาชีพอะไร ถ้าคุณเป็นหมอ คุณอาจจะตีความคำว่า ‘ความทะเยอทะยาน’ ว่าเป็นตัวการที่ทำให้ผู้คนหรือสังคมป่วยไข้ แต่ถ้าคุณเป็นคุณครูในโรงเรียนอนุบาล, สื่อมวลชน หรือแม้แต่นักการเมือง ก็อาจตีความคำนี้แตกต่างกันไป ผมหวังว่าทุกคนจะสามารถดู อ่าน และตีความผลงานของผมได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ”

นิทรรศการ DECORATIVE DESPAIR โดยลาร์ส บรอยเยอร์ และภัณฑารักษ์ ไบรอัน เคอร์ทิน (Brian Curtin) จัดแสดงที่ Cartel Art Space ซอยนราธิวาส 22, ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม-3 ตุลาคม พ.ศ.2565

ภาพถ่ายนิทรรศการโดยยิ่งยศ เย็นอาคาร •