สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามไปดูครูเขมร… 5 เสาหลักการศึกษา (2)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

หลังประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ชี้แจงวัตถุประสงค์ การพาคณะเดินทางมาพบครูและผู้บริหารกระทรวงศึกษาการของกัมพูชา

ดร.นาท บุญเรือน ซึ่งดูแลด้านการผลิตและพัฒนาครูต่อเนื่องมาตลอดเล่าว่า กระทรวงเริ่มให้รางวัลครู ครูใหญ่ ผู้บริหารโรงเรียนดีเด่น ระดับชาติกลุ่มละ 5 คน มาตั้งแต่ปี 2547 นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบ

“เราจัดประชุมระดับชาติมีครูเข้าร่วมนับพันคน แบ่ง 7 กลุ่มตั้งแต่ เด็กเล็ก ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา การศึกษานอกระบบ อาชีวศึกษา และกีฬา ให้แต่ละกลุ่มรายงานความก้าวหน้าและอะไรควรพัฒนาต่อไป ขณะเดียวกัน ลูกศิษย์ได้โชว์ความสำเร็จ”

“คุณภาพการศึกษา ความสำเร็จอยู่ที่คุณภาพของครู สำคัญเป็นอันดับแรก ต้องยกระดับพัฒนาครู ทำอย่างไร เราพยายามศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสิงคโปร์ วิชาชีพครูได้รับยกย่องและยอมรับมาก”

“คุณภาพครู คุณภาพโรงเรียน คุณภาพผู้บริหาร ปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง แต่โรงเรียนบางแห่งยังอยู่ในศตวรรษที่ 20 ศตวรรษที่ 19 จะทำอย่างไรให้ครูปรับคุณภาพ เป็นครูศวรรษที่ 21”

“ปฏิรูปการศึกษาอยู่บนห้าเสาหลัก คือ เอาคนเก่งมาเป็นครู มีที่ปรึกษาทั้งก่อนสอน ระหว่างสอน พัฒนาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน นิเทศติดตาม การสอบและวัดผลระดับชาติ หลักสูตรการเรียนการสอน ระบบนิเวศโรงเรียน และอุดมศึกษา ขณะเดียวกัน ให้ความสำคัญกับผู้บริหารยุคใหม่ มีการฝึก มีการสอบ โรงเรียนยุคใหม่ต้องการครูและผู้บริหารยุคใหม่ การศึกษาต้องช่วยให้ประเทศขยับจากประเทศรายได้ต่ำเป็นรายได้ปานกลาง”

 

ผมมีจังหวะเล่าความเป็นไปในเมืองไทยมีคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เน้นเรื่องครู กองทุนพัฒนาครูเป็นการเฉพาะ แบ่งแนวทางปฏิรูปเป็น 6 ด้าน ด้านเด็กเล็ก ด้านครู ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านโครงสร้าง ด้านกองทุน ด้านการสื่อสารสาธารณะ มีโมเดลการศึกษาประชารัฐ ดึงทุกภาคส่วนมาร่วม ผู้ประกอบการภาคเอกชน 12 บริษัทระดับชาติเข้าไปช่วย

ดร.กฤษณพงศ์กล่าวตอบ การพระราชทานรางวัลครูครั้งที่ 2 ปี 2560 เชิญครูที่ได้รับคัดเลือกไปร่วมประชุม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ต่อไปเกิดเป็นชมรมครูแห่งเอเชียขยายผลเป็นชมรมการเรียนรู้ ช่วยเหลือร่วมมือกัน เพื่อพัฒนายกระดับวิชาพครู มี Online Lecture ถ่ายทอดให้นักเรียน ครูพัฒนา On the job training แชร์หลักการของโรงเรียน แผนพัฒนาโรงเรียน พัฒนาภาวะผู้นำ การจัดการด้านบุคลากร ด้านการเงิน สำหรับครูยุคใหม่

ก่อนจบการพูดคุย มีคำถามสุดท้าย การประเมินผลนักเรียนนาชาติหรือ PISA จัดสามปีครั้ง ล่าสุดปี 2015 ต่อไปปี 2018 มีข่าวว่ากัมพูชาจะเข้าทดสอบด้วย

“ยัง” ดร.นาท ยืนยัน แต่ขณะนี้เรามีโครงการพัฒนา Pisa Development to full Pisa รัฐบาลเกาหลีช่วยเหลือ (Korean Education Development Institute – KEDI)

 

คําตอบตรงกับภาพที่เราเห็นวันต่อมาที่คณะไปเยี่ยมครูที่โรงเรียน รูปคณะผู้บริหาร KEDI ทำโครงการพัฒนาโรงเรียนโชว์ไว้บนบอร์ด ร่วมกับภาพสมเด็จเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี มอบรางวัลครูดีเด่นระดับชาติ เป็นเกียรติประวัติแก่ครู โรงเรียน จังหวัดและชุมชนของเธออย่างยิ่ง

ครูท่านนี้เป็นใคร เธอจะมาพบคณะช่วงบ่าย และท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง

เธอเป็นหนึ่งในครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งหมด 11 ท่าน

 

กัมพูชา นางดี โสพอน ครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนประถมคุมร็อกร่อง (Kumroukrong) ครูผู้สร้างบรรยากาศการสอนให้เป็น “ห้องเรียนแห่งความสุข” พร้อมกับดึงครอบครัว โรงเรียน และชุมชนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยสร้างอนาคตของลูกศิษย์และประเทศ ผลสำเร็จจากเป็นครูมา 20 ปี จึงได้รับรางวัลสมเด็จเดโช ในปี 2560

บรูไน มาดามลิม ซง โงว ครูสอนวิชาเคมี ระดับ A-level ที่วิทยาลัยดูไลเพนกิรัน มูด้า อัล-มูตาดี บิลลา (Duli Pengiran Muda Al-Muhtadee Billah College) ครูผู้ดึงศักยภาพลูกศิษย์ทำให้ทุกคนมีตัวตนในชั้นเรียนและเปิดใจที่จะเรียนรู้จนมีคะแนนในระดับที่สูง และยังเป็นครูพี่เลี้ยงแก่ครูในระดับประเทศ ทำให้ได้รับรางวัลเกียรติยศจากสุลต่านแห่งบรูไนดารุสซาลาม

อินโดนีเซีย นายเอนชอน ระมัน ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา โรงเรียนประถมศึกษาเมกาวังงี (Mekarwangi Public Elementary School) นับเป็นครูนักพัฒนาการศึกษาของอินโดนีเซีย ในฐานะผู้ฝึกอบรมโรงเรียนระดับมาตรฐานของประเทศ เป็นผู้เขียนตำราเรียนระดับประถมศึกษา จนเป็นแรงบันดาลใจแก่ครูในชวาตะวันตก และได้รับรางวัลครูผู้สอนดีเด่นในระดับชาติ

ลาว นางคูนวิไล เคนกิติสัก ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาทองคัง (Thongkang school) กรุงเวียงจันทน์ นักบริหารจัดการโรงเรียนยอดเยี่ยม บริหารโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการหลอมรวมการมีส่วนร่วมของครูและชุมชน ส่งผลการพัฒนานักเรียนอย่างมีคุณภาพ

มาเลเซีย มาดามฮัจญะห์ ซารีปะ บินดี เอิมบง ครูสอนทักษะชีวิต คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ โรงเรียนมัธยมอิมเทียส ยายาซัน ทีแรงกานู (ImtiazYayasan Terengganu High School) นับเป็นครูผู้สร้างนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ ด้วยการดึงความรู้ในห้องเรียนสู่การออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน จนผลงานของลูกศิษย์ได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

เมียนมา นายทัน ทุม ครูสอนภาษาอังกฤษและหลักสูตรร่วมระดับมัธยมโรงเรียน เมืองยัวดายี แคว้นซาเกรง ได้รับรางวัลการสอนดีเยี่ยมในการส่งเสริมเด็กระดับ 9 สอบผ่านภาษาอังกฤษทั้งระดับรัฐและภูมิภาคเป็นประจำทุกปี ด้วยวิธีการสอนที่ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ควบคู่กับการปลูกฝังทักษะชีวิตและคุณธรรม

ฟิลิปปินส์ ดร.เฮซุส อินสิลาดา เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา โรงเรียนมัธยมแห่งชาติอัลคาเด กูสทีโล (Alcarde Gustilo Memorial National High School) ผู้สร้างการเรียนรู้แบบองค์รวมบนวิถีทางวัฒนธรรม และนักประพันธ์ภาษาถิ่น เพื่อปลุกความภูมิใจในความเป็นคนฟิลิปปินส์ท้องถิ่น

สิงคโปร์ มาดามสะรับจิต คอร์ บุตรี ฮาร์ดิปซิงห์ ครูสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนประถมแอนเดอร์สัน ผู้ปลดปล่อยศักยภาพเด็กหลังห้อง สู่การมีทัศนคติการเรียนรู้เชิงบวกความเป็นครูผู้อุทิศตน สนใจความต้องการของเด็กทั้งการเรียนและพฤติกรรม จึงเข้าถึงจิตใจเด็ก ผู้ปกครองและเพื่อนร่วมงาน และได้รับยกย่องในรางวัล Excellent Service Award ปี 2557

ติมอร์-เลสเต นางลีโอโปลดีนา โจอานา กูเตเรส ผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์กลางประถมศึกษาเซนโฮเซ (S.Jose Basic Education Central School) ซึ่งมีโรงเรียนสาขาอีก 7 แห่ง นับเป็นครูนักบริหารจัดการทรัพยากรเป็นเลิศ โดยการเชื่อมประสานการสนับสนุนจากภายนอก ทำให้ความห่างไกลไม่ใช่อุปสรรคของการพัฒนาโรงเรียน

เวียดนาม นางฟาน ถิ หนือ ครูสอนภาษาอังกฤษ และหัวหน้าหมวดประชาสัมพันธ์และความสัมพันธ์ต่างประเทศโรงเรียนมัธยมชั้นนำเลอกวิดง (Le Quy Don Gifted School) เมืองดานัง นับเป็นครูภาษาอังกฤษและนักเชื่อมความสัมพันธ์ต่างประเทศ ผู้สร้างโอกาสเปิดพรมแดนการเรียนรู้ของลูกศิษย์ในต่างแดน

ไทย นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูเชี่ยวชาญ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี จ.นนทบุรี ครูผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล บุกเบิกการสอนไอซีทีและนวัตกรรมหุ่นยนต์ในโรงเรียนมากว่า 32 ปี

และเป็นผู้ให้โอกาสแก่เด็กกลุ่มเสี่ยงด้วยใจรัก จนลูกศิษย์ประสบความสำเร็จทั้งในเวทีระดับชาติและนานาชาติ