กระแสคริปโตเคอร์เรนซี ในประเทศไทย/ดาวพลูโตมองดูโลก ดาวพลูโต

ดาวพลูโตมองดูโลก

ดาวพลูโต

 

กระแสคริปโตเคอร์เรนซี

ในประเทศไทย

 

คําว่า “คริปโตเคอร์เรนซี” หรือ “คริปโต” หลายท่านคงเคยได้ยินคำนี้มาแล้วบ้าง โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ที่ราคาเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีต่างๆ ทะยานขึ้นแตะราคาสูงสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

คริปโตเคอร์เรนซี คืออะไร?

คริปโตเคอร์เรนซี คือ สกุลเงินในรูปแบบดิจิทัล ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2008 โดยบุคคลนิรนามผู้ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ได้เสนอบทความ Bitcoin Whitepaper อธิบายการทำงานของคริปโตเคอร์เรนซี ความยาวเพียง 9 หน้ากระดาษ ซึ่งบรรยายว่าสกุลเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่นำเสนอนี้ดีกว่าระบบการเงินดิจิทัลในอดีตสามารถแก้ไขปัญหาการโจมตีระบบได้เพราะการโจมตีระบบจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรในการโจมตีมากกว่าการประมวลผลเพื่อหาดิจิทัลโทเคนหรือเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีเหรียญใหม่ กล่าวสรุปคือหาเหรียญใหม่ง่ายกว่าโจมตีเพื่อปลอมแปลงเหรียญ

เรียกได้ว่าเป็น 9 หน้ากระดาษที่เปลี่ยนแปลงระบบการเงินของโลกเข้าสู่ยุคใหม่อย่างสิ้นเชิง ก่อกำเนิดสกุลเงินดิจิทัลบิตคอยน์ (Bitcoin หรือ BTC) ขึ้น ถือเป็นคริปโตเคอร์เรนซีในยุคใหม่เป็นสกุลเงินแรก

 

ด้วยความสวยงามของสมการทางคณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่สามารถแก้สมการที่ยากเพื่อหาชุดตัวเลขที่คุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของบิตคอยน์

หรือกล่าวให้สั้นกระชับ บิตคอยน์ก็คือ ชุดตัวเลขที่มีคุณสมบัติพิเศษ ได้มาจากการใช้คอมพิวเตอร์คำนวณ

เมื่อเราคำนวณหาชุดตัวเลขดังกล่าวได้ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการแจ้งต่อระบบเครือข่าย (Node) ว่าเราคำนวณหาชุดตัวเลขได้เพื่อให้ระบบเครือข่ายยืนยันว่าเราพบชุดตัวเลขดังกล่าวเป็นรายแรก และแสดงสิทธิให้เราเป็นเจ้าของตัวเลขชุดนั้น

หากมีคนอื่นพบตัวเลขชุดเดียวกันดังกล่าวก่อนเรา เราก็จะหมดสิทธิเป็นเจ้าของตัวเลขชุดนั้น

เพื่อให้บิตคอยน์มีคุณสมบัติเหมือนเงินสกุลต่างๆ ที่ใช้งานอยู่ในโลก จึงมีการจำกัดจำนวนเหรียญบิตคอยน์ไว้สูงสุดที่ไม่เกิน 21 ล้านบิตคอยน์ เพื่อให้มีปริมาณ Supply ที่ชัดเจน

สิ่งที่ใช้สำหรับการคำนวณหรือการประมวลผลก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ และการ์ดจอคอมพิวเตอร์ อ่านไม่ผิดครับ การ์ดจอในคอมพิวเตอร์ที่ลูกๆ ของเราไว้ใช้เล่นเกม อันเดียวกันครับ

สาเหตุที่การ์ดจอเป็นพระเอกในการคำนวณชุดตัวเลขเพราะการ์ดจอเป็นอุปกรณ์ในคอมพิวเตอร์สำหรับคำนวณการแสดงผลภาพกราฟิกได้อย่างรวดเร็ว ที่มีความสามารถในคำนวณคณิตศาสตร์แมทริกซ์ (Matrix) เพื่อแก้ปัญหาสมการคณิตศาสตร์อย่างดีเยี่ยมกว่าส่วนอื่นๆ ของคอมพิวเตอร์

คำนวณได้ดีจนการ์ดจอขาดตลาดมาแล้ว! ช่วงนี้ท่านใดเงินขาดมือก็ขอยืมการ์ดจอลูกหลานมาสร้างรายได้ก่อนได้นะครับ

เมื่อนำคอมพิวเตอร์และการ์ดจอหลายๆ เครื่องมารวมเข้าด้วยกัน ก็เกิดเป็น “เหมือง” ขึ้น เหมือนเหมืองที่เราขุดหาแร่หรือทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดิน เพียงแต่ผลลัพธ์ของเหมืองคือเหรียญคริปโต จึงเรียกการนำเครื่องคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องมาร่วมกันประมวลผลหาเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีว่า “การทำเหมืองคริปโต”

 

ในประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจเหมืองบิตคอยน์หลายเจ้าด้วยกัน ทั้งลงทุนเองฝ่ายเดียว และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมลงทุน อย่างเช่น ZMINE ที่เริ่มขุดคริปโตด้วยการลงทุนของตนเอง ต่อมาผู้สนใจอยากร่วมลงทุนด้วยจึงออกดิจิทัลโทเคนหรือเหรียญคริปโตของตนเองในสกุล ZMN ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากจนติดอันดับ TOP 500 เหรียญคริปโตเคอร์เรนซีระดับโลก และสร้างความฮือฮาด้วยการชนะประมูลบัตรสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป BNK 48 หมายเลข 048 นำไปประดับเหมืองได้สำเร็จจนเป็นที่โด่งดังในบรรดาแฟนคลับหรือโอตะของ BNK 48

คงไม่ต้องอธิบายว่าธุรกิจเหมืองคริปโตเคอร์เรนซีเป็นธุรกิจที่มาแรงขนาดไหน ดูได้จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายๆ บริษัทหันมาประกอบธุรกิจเหมืองกัน อย่างบริษัท JFIN ในเครือ Jaymart และบริษัท JTS ในเครือ JAS เป็นต้น

เมื่อขุดเหรียญขึ้นมาแล้ว มีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในมือแล้ว อีกธุรกิจหนึ่งที่ทำให้ผู้ต้องการซื้อและผู้ต้องการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเจอกัน

นั่นก็คือ “ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี” หรือ “ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล” (Cryptocurrency Exchange หรือ Digital Asset Exchange)

 

ช่วงแรกของคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทย เว็บกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแรกๆ ที่โด่งดังที่สุดในช่วงนั้นก็คือ เว็บไซต์ bx.in.th มูลค่าการซื้อขายช่วงนั้นประมาณหลายพันล้านบาทต่อปี และเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด

เติบโตมากจนกระทั่งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องเข้ามาควบคุมและดูแลประชาชนนักลงุทน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจ เข้าตามหลักที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” จึงออกกฎหมายเพื่อควบคุมการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

แน่นอนว่าช่วงนั้นยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีจึงกลายเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมาย ขึ้นอยู่ว่าดำเนินธุรกิจระมัดระวังแค่ไหน โชคร้ายอาจติดคุกติดตะรางได้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างต่อการกำกับของ ก.ล.ต.

เว็บไซต์ bx.in.th จึงประกาศปิดตัวลงในวันที่ 30 กันยายน 2562 โดยไม่ใส่ใจขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจจาก ก.ล.ต. แม้จะดำเนินธุรกิจให้บริการมาแล้วกว่า 5 ปีก็ตาม

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ปี 2561 บิตคับ ของคุณท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ได้เริ่มต้นขึ้น และประสบความสำเร็จขึ้นแท่นแทนที่แชมป์เก่าอย่าง bx ในเวลาต่อมา ก้าวขึ้นเป็นตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าซื้อขายกว่า 700 ล้านบาทต่อวัน และกลายเป็นธุรกิจยูนิคอร์นของไทยเมื่อ SCBX ประกาศซื้อหุ้นในสัดส่วน 51% ในราคาสูงถึง 17,850 ล้านบาท ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่าทั้งสิ้น 35,000 ล้านบาทหรือประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา กลายร่างเป็นยูนิคอร์นสายพันธุ์ไทยแท้ได้สำเร็จ

จุดประกายความหวังให้แก่วงการ Start-up ในไทยอีกครั้ง

แสงไฟทุกดวงทั่วประเทศส่องไปที่คุณท็อปแห่งบิตคับให้เจิดจรัส ป้ายโฆษณามีรูปบุรุษผู้นี้บนถนนทุกสาย จนไม่มีใครในประเทศไม่รู้จัก “ท็อป บิตคับ”

 

แต่เมื่อมีวันที่ท้องฟ้าสดใส ก็ย่อมมีวันที่ท้องฟ้าหม่นหมองเป็นธรรมดา

เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะซบเซา ตลาดคริปโตก็ซบเซาตาม บวกกับปัญหาภายในบริษัทที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษบิตคับว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากจดทะเบียนเหรียญบิตคับเข้าศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. (Listing Rule) และไม่คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) กติกานี้อาจดับฝันเหรียญคริปโตสัญชาติไทยเหรียญอื่นๆ ไม่ให้ถือกำเนิดได้ในอนาคต

SCBX จึงไม่สามารถเข้าลงทุนในบิตคับได้ ต้องแยกย้ายกันไปตามระเบียบโดยปริยาย

เมื่อดีลล้ม คำถามว่า “ทำไปบิตคอยน์ถึงมีมูลค่า” จึงดังขึ้นอีกครั้ง

 

คุณลักษณะประการหนึ่งที่สำคัญของคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งตรงกับแนวคิดของ Friedrich von Hayek เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้เสนอแนวคิดเรื่อง Denationalization of Money หรือการทำให้เงินตราไม่ขึ้นกับข้อกำหนดของรัฐบาลแต่ละประเทศ ได้เสนอไว้ตั้งแต่ปี 1976

เมื่อไม่ขึ้นกับรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่ง จะมีความอิสระ ไม่มีรัฐบาลใดสามารถแทรกแซงค่าเงินได้ เมื่อมีความอิสระก็ไม่มีเสถียรภาพ สามารถขึ้นหรือลงได้โดยไร้ขีดจำกัด เมื่อตลาดขาขึ้นนักลงทุนก็ร่ำรวยกันถ้วนหน้า เมื่อตลาดขาลงก็ต่างถามคำถามว่าทำไมคริปโตเคอร์เรนซีถึงมีมูลค่า เป็นวัฏจักรเช่นนี้ บางสกุลเงินดิจิทัลโชคร้ายอาจมูลค่าลดลงจะเป็นศูนย์และไม่มีการซื้อขายในช่วงข้ามคืนก็เป็นได้

คริปโตเคอร์เรนซีจึงมีความอ่อนไหวต่อข่าวสารและเหตุการณ์ต่างๆ รอบโลกมากกว่าตลาดหุ้นเป็นอย่างมาก

สุดท้ายแล้ว เมื่อมูลค่าเกิดจากการเก็งกำไร (Speculation) ของนักลงทุน ก็ต้องใคร่ครวญคำนึงถึงการใช้งานจริงของบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีว่ามีการใช้งานจริงมากน้อยเพียงใด

ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลหลายท่านให้ความเห็นเชิงลบแก่คริปโตเคอร์เรนซี เช่น Joseph Stiglitz กล่าวไว้เมื่อปี 2017 ว่าจะเกิดฟองสบู่คริปโต หรือ Paul Krugman ที่กล่าวว่าคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเสียงสะท้อนของวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 15 ปีก่อน

และท่านอื่นๆ ดีกรีรางวัลโนเบล อีก 6 ท่านกล่าวในทำนองเดียวกันให้เตรียมรับมือฟองสบู่คริปโต

สุดท้าย คริปโตจะเป็นเพียงลัทธิความเชื่อหรือเป็นนวัตกรรมการเงินสำหรับโลกอนาคต ราคาบิตคอยน์และบิตคับจะเป็นอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด