กองทัพไทยกับการเมือง | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

กองทัพไทยกับการเมือง (1)

 

ในเดือนพฤษภาคม 2557 หลายคนพูดว่า การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพด้วยการรัฐประหารนั้น แทบจะไม่เหลือประเทศไหนทำกันอีกแล้ว นอกจากประเทศไทย แม้แต่บูร์กินาฟาโซ ประเทศเล็กๆ ในแอฟริกา กองทัพได้ทำรัฐประหารหลัง คสช.ไม่นาน แต่ถูกประชาชนออกมาต่อต้านอย่างกว้างขวาง ในที่สุดกองทัพก็ต้องถอยกลับเข้ากรมกอง (ก่อน)

บางคนอาจพูดว่า กองทัพไทยยัง “เชย” อยู่ คือตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลง แต่ผมคิดว่าเหตุผลสำคัญกว่านั้นน่าจะอยู่ที่ว่า กองทัพไม่มีทางเลือกอื่นมากกว่า

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า การทำรัฐประหารของกองทัพนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ผมต้องการให้เข้าใจว่า ขึ้นชื่อว่ากองทัพประจำการแบบใหม่แล้ว จะไม่ให้แทรกแซงทางการเมืองเลยนั้นไม่มี เพราะกองทัพเป็นองค์กรสมัยใหม่ที่ถูกควบคุมในทางปฏิบัติจริงๆ ได้ค่อนข้างยาก กองทัพจึงต้องแทรกแซงทางการเมืองเป็นครั้งคราว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของกองทัพ นับตั้งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวไปจนถึงผลประโยชน์เชิงนโยบาย, เชิงอำนาจ, เชิงยุทธศาสตร์ ฯลฯ เอาไว้

แต่การแทรกแซงของกองทัพในประเทศมหาอำนาจ (ทั้งตะวันตกและตะวันออก) ทั้งหลายนั้น เรามองไม่เห็นถนัด ในประเทศประชาธิปไตย กองทัพทำให้ผลประโยชน์นานาชนิดของตนเป็นทางเลือกของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ในประเทศที่ไม่ประชาธิปไตย การครองอำนาจเด็ดขาดของใครย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจเหนือกองทัพปลดปล่อย จะคุมคนเดียวหรือคุมเป็นทีมก็ตาม

แต่การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพที่ไม่ให้เป็น “ที่รู้สึก” ได้อย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้ จะทำได้ก็ต่อเมื่อกองทัพเข้มแข็งเป็นปึกแผ่น จึงจะสามารถดำเนินนโยบาย (กดดันบ้าง, ผ่อนปรนบ้าง, นำความคิดมวลชนบ้าง ฯลฯ) เพื่อเป้าหมายของกองทัพอย่างสืบเนื่องจนบรรลุผล ได้สิ่งที่ต้องการมา โดยไม่ต้องออกมารับผิดชอบเองโดยตรงด้วย

ผมไม่คิดว่ากองทัพไทยเข้มแข็งในความหมายนี้เพียงพอที่จะแทรกแซงทางการเมืองอย่างนุ่มนวลและได้ผล เหลือทางเลือกอยู่อย่างเดียวคือรุนแรงและได้ผลน้อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่คอยแทรกแซงควบคุมไว้

ผมจึงคิดว่า จะเข้าใจบทบาทของกองทัพไทยในแง่ของความอ่อนแอเช่นนี้ได้ จะต้องหันกลับไปดูประวัติศาสตร์ของกองทัพไทยใหม่ และเลิกคิดถึงประวัติศาสตร์กองทัพอย่างที่มักจะพยายามเสนอกันมา

 

เรื่องแรกที่ผมอยากตราไว้ก่อน เป็นเรื่องที่เริ่มตระหนักกันในวงกว้างมากขึ้นแล้ว แต่หลายครั้งก็อาจเผลอลืมไปในการวิเคราะห์การเมืองในอดีต

ประเทศไทยไม่เคยมีกองทัพประจำการสมัยใหม่ในอดีตมาก่อนที่ ร.5 จะริเริ่มสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์ไทยไม่เคยมี “ไพร่” ส่วนพระองค์หรือที่เรียกว่า “ไพร่หลวง” สำหรับทำหน้าที่สู้รบปรบมือกับข้าศึกหรือรักษาความปลอดภัยให้พระองค์ และที่ต้องสู้รบปรบมือนั้นก็ไม่ได้วางแผนให้เผชิญกับข้าศึกท้าวต่างแดนที่ไหน แต่ต้องเผชิญกับคนภายใน เช่น พระญาติ, ขุนนาง, พ่อค้าต่างชาติ หรือไพร่อาจก่อกบฏแย่งราชสมบัติได้

ผมขอยกตัวอย่างนะครับ ไพร่ล้อมพระราชวัง ดูเหมือนเป็น “กรม” ที่มีคนในสังกัดมากที่สุดกระมัง แต่เท่าที่พบหลักฐานอาจมีความสามารถน้อยกว่าแขกยามเสียอีก เพราะไม่ได้มีการฝึกอะไร ถึงเวลาก็เข้าเวร จุดไฟไล่ยุง นั่งๆ นอนๆ กันอยู่ริมกำแพงวัง คอยระวังมิให้มีคนลักลอบเข้าไปเท่านั้น

ไพร่ที่ถืออาวุธพร้อมเพรียงกว่านั้น เพื่อป้องกันพระองค์หรือรับคำสั่งให้ปฏิบัติการเชิงที่อาจต้องใช้ความรุนแรง นับตั้งแต่ตำรวจไปจนถึงกรมอาทมาต กรมทหารปืนใหญ่ กรมฝรั่งแม่นปืน ฯลฯ ก็มีอยู่ด้วย แต่จำนวนไม่สู้จะมากนัก ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติที่ได้ว่าจ้างเข้ามาหรือถูกจับเป็นเชลยศึก ไม่ใช่ว่ามอญที่อพยพเข้าไทยทั้งหมดจะอยู่ในกรมอาทมาตทั้งหมดนะครับ เขาเลือกสรรเอาคนพอมีฝีมือไว้หยิบมือเดียว

ผมอยากเตือนอะไรไว้ด้วยว่า ไพร่ที่ทำหน้าที่ทหารและเข้าถึงอาวุธเหล่านี้ มีอันตรายนะครับ ส่งให้ขุนนางดูแลควบคุมก็ต้องระวังว่ามันจะไม่เอาไปใช้ก่อกบฏ รักษาไว้ใกล้พระองค์เกินไปก็อาจถูกทำร้ายได้ จะวางระยะห่างอย่างไร จะให้บำเหน็จเท่าไรและอย่างไรก็ต้องคิดให้ดี เพราะความภักดีนั้น “ซื้อ” กันได้เสมอ และนั่นคือเหตุผลที่กรมกองเหล่านี้จะใหญ่มีกำลังคนมากไม่ได้

 

การจัดองค์กรกองกำลังเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดองค์กรทางสังคมและการเมืองทั้งหมด คือไพร่สังกัดอยู่กับกรมตามพ่อ แต่ละกรมมีคนที่ได้รับความไว้วางใจจากราชสำนักให้มาเป็น “มูลนาย” ของกรมนั้น ทหารไม่ได้ถูกจัดองค์กรเป็นอิสระหรือต่างหากจากข้าราษฎรทั่วไป แตกต่างจากระบอบราชาธิปไตยนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ เช่น ราชวงศ์โมกุลในอินเดีย, ราชวงศ์ซาฟาวิดในอิหร่าน, ราชวงศ์ออตโตมัน หรือภายใต้ระบบไดเมียวของญี่ปุ่น

กองทัพไทยที่สามารถรบกับไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนเป็นทัพใหญ่ได้ ไม่นับตัวนายซึ่งเป็นขุนนางต้องทำหน้าที่ตามรับสั่งแล้ว คือไพร่ที่ถูก “เกณฑ์” ครับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ พูดถึงไพร่ (ซึ่งเขาใช้คำว่าประชาชน … ถ้าแยกไพร่ไม่ออกจากประชาชน ก็ยากที่จะจินตกรรมถึง “ชาติ” ได้) ว่าเข้ามาร่วมรบและรักษาพระองค์กษัตริย์ในสงครามประหนึ่งว่าเกิดจากความรักชาติและความจงรักภักดี ทั้งหมดนี้เป็นจินตนาการที่ปราศจากหลักฐานรองรับทั้งนั้น ตรงกันข้าม มีหลักฐานชัดเจนในเกือบทุกครั้งที่เกิดสงครามว่า ไพร่จะหนีการเกณฑ์ อาจหลบเข้าป่าดงหรือหนีไปอยู่เมืองอื่นให้ทันก่อนที่เจ้าพนักงานเกณฑ์จะเริ่มลงมือ หนีได้มากบ้าง น้อยบ้างแล้วแต่กรณี ความสามารถของกษัตริย์แต่ละพระองค์ในการทำสงครามนั้นต้องเริ่มจากการจัดการด้านบริหารภายในที่ทำให้เกณฑ์ไพร่ได้จำนวนมากก่อนที่พวกเขาจะหลบหนีไปเสียก่อน

ถ้าเราไม่สอนประวัติศาสตร์ตามความเป็นจริงให้ทหาร มัวแต่สอนประวัติศาสตร์หลอกๆ เพื่อสร้างความภักดีแก่ชนชั้นนำจำนวนน้อย เมื่อไรเราจะมีกองทัพที่ฉลาดเสียทีล่ะครับ

กองทัพที่ไม่ฉลาดนั้นไม่ได้มีอันตรายต่อการป้องกันภัยจากภายนอกเท่านั้นนะครับ เพราะกองทัพในประเทศไทยนั้นมีพลังอำนาจทางการเมืองสูงมาก หน่วยงานอื่นๆ ทั้งหมดของรัฐจึงต้องไม่ฉลาดคล้อยตามไปด้วย เช่น นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็คอยแต่เอาใจกองทัพ ด้วยหวังว่าจะไม่ถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ข้าราชการในหน่วยงานทั่วไปไม่กล้าขัดขืนความต้องการของกองทัพ เพราะเกรงจะเป็นผลร้ายต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตน แม้แต่มหาวิทยาลัยที่เคยอวดว่าฉลาดนักหนายังโง่ไปถนัดใจเลยครับ

แต่เรื่องไม่มีกองทัพประจำการสมัยใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน และมักจะทำสงครามกับเราก็ไม่มีเหมือนกันครับ ใช่แต่เท่านั้น ยุโรปก็ไม่มี ญี่ปุ่นก็ไม่มี และอีกหลายดินแดนก็ไม่มีทั้งนั้น

 

พูดเรื่องยุโรปและญี่ปุ่นแล้วสมควรอธิบายเพิ่มเติม เพราะจะทำให้เข้าใจกองทัพประจำการสมัยใหม่ได้ดีขึ้น

กองกำลังของนักรบเพื่อเป็นองครักษ์ให้นาย หรือทำภารกิจด้านความรุนแรงให้นาย ไม่ว่าจะมีการแบ่งลำดับขั้นเพื่อคุมกันเป็นทอดๆ อย่างไร ก็ไม่ใช่องค์กรสมัยใหม่ในความหมายของแมกซ์ เวเบอร์ จะเห็นได้ว่าอัศวินของลอร์ด หรือซามูไรของไดเมียว ก็อาจรบกันเอง ทั้งๆ ที่ลอร์ดทั้งสองหรือไดเมียวทั้งสอง ต่างก็เป็นข้าผู้ภักดีของกษัตริย์หรือโชกุนคนเดียวกัน ในญี่ปุ่น การก่อความรุนแรงบางอย่างต้องจ้างมืออาชีพจาก “ซุ้มนินจา” ที่ไม่ได้เป็นซามูไรของตนด้วยซ้ำ

ไม่มีกองทัพไว้ช่วยผูกขาดความรุนแรงให้รัฐ กองกำลังไม่ถูกจัดองค์กรอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อภารกิจอันใดอันหนึ่งร่วมกัน ต่างทำหน้าที่ให้แก่ “นาย” ของตน ไม่ใช่รัฐและแน่นอนไม่ใช่ “ชาติ” ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น

ผมควรกล่าวด้วยว่า กองกำลังแบบอัศวินและซามูไรนั้น อาศัยกำลังพลเฉพาะที่ถูกเลือกสรรมาเท่านั้น ไม่ใช่ชายฉกรรจ์คนไหนก็ได้ เพราะเกณฑ์สำคัญที่สุดในการเป็นอัศวินหรือซามูไรคือความจงรักภักดีต่อ “นาย” ในฐานะบุคคล เกณฑ์นั้นต้องส่อไปในทางที่พอจะประกันได้ว่าเขาน่าจะจงรักภักดีจริง เช่น มาจากชนชั้นหรือตระกูลที่สืบทอดความเป็นอัศวิน-ซามูไรประจำตระกูลนายมานานแล้ว ดังนั้น การคัดเลือกนักรบจึงมีแนวโน้มจะจำกัดลงในกลุ่มคนที่ไว้ใจได้ไม่กี่ตระกูล (แม้พระเอกในหนังบางเรื่องอาจเป็นอัศวินหรือซามูไรเร่ร่อน แต่ก็ได้พิสูจน์ฝีมือและความภักดีให้ “นาย” เห็นแล้ว)

ชัดเจนนะครับ นี่ไม่ใช่ “กองทัพแห่งชาติ”

 

โดยสรุปก็คือ ในหลายรัฐทั้งในยุโรปและเอเชีย กองกำลังของกษัตริย์หรือเจ้าครองแคว้น ค่อนข้างจะคาบเกี่ยวกับความเป็นชนชั้น คือสืบตระกูลในสายผู้ชาย (แหะๆ “ตระกูล” ตามความหมายนี้ยังไม่มีในสังคมไทยโบราณเลยครับ) มีการแยกหน้าที่ของ “ทหาร” ออกจาก “พลเรือน” อย่างชัดเจน และด้วยเหตุดังนั้น “ทหาร” จึงได้รับการฝึกปรือด้านอาวุธบ้าง หรืออย่างเชี่ยวชาญทีเดียวในสังคมที่นักรบคาบเกี่ยวกับความเป็น “ชนชั้น” เช่น อัศวินในสมัยกลางยุโรปหรือซามูไรญี่ปุ่น

ผมควรกล่าวด้วยว่า กองกำลังในรัฐโบราณบางแห่งก็มีลักษณะเป็นกองทัพประจำการ แต่ก็แตกต่างจากกองทัพประจำการสมัยใหม่ ผมจะกล่าวถึงกองกำลังของบางรัฐเพื่อชี้ให้เห็น

จีนเป็นรัฐรวมศูนย์ (ทางทฤษฎี) แห่งแรกของโลก และเป็นหลักการที่รัฐบาลจีนยึดถืออย่างเหนียวแน่นมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์มาจนปัจจุบัน จีนน่าจะมีกองทัพประจำการของรัฐบาลกลาง ซึ่งก็มีจริง แต่ในทางปฏิบัติ ข้าราชการส่วนกลางมีจำนวนนิดเดียว กองทัพก็เหมือนกับระบบราชการพลเรือนของจีน กล่าวคือ มีจำนวนน้อย กำลังของกองทัพเพื่อรบกับคนอื่นหรือเพื่อปราบปรามภายใน ล้วนเป็นการเรียกเกณฑ์และจัดการของอำนาจท้องถิ่น ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้ว่าฯ มณฑลที่ถูกส่งมาจากส่วนกลางเท่านั้นนะครับ แต่ต้องมีเจ้าที่ดินรายใหญ่, พ่อค้าในเมืองใหญ่, กำนันผู้ใหญ่บ้าน และชนชั้นนำท้องถิ่นอีกมากสนับสนุน จึงสามารถประกอบกำลังกันเป็นกองทัพได้

กองกำลังท้องถิ่นเหล่านี้คือส่วนใหญ่ของกองทัพฮ่องเต้ครับ รบเพื่อป้องกันบ้านเกิดและผลประโยชน์ในท้องถิ่นของตนมากกว่าเพื่อฮ่องเต้ แม้ว่าจะต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาของแม่ทัพใหญ่ที่ฮ่องเต้ส่งลงมา แต่ความภักดีที่แท้จริงของทหารอยู่กับแม่ทัพท้องถิ่นของตน หรืออำนาจท้องถิ่นของตน

กองทัพจีนจึงพร้อมจะแตกแยกและรบกันเอง หรือไปเข้าร่วมกับศัตรูผู้รุกราน จะเรียกกองทัพอย่างนี้ว่าเป็นกลไกของรัฐยังแทบจะไม่ได้ด้วยซ้ำ

(ระบบ “ขุนศึก” นั้นฝังตัวอยู่ในวิธีจัดการด้านกองทัพของจีนมาแต่โบราณ และไม่ล่มสลายไปง่ายๆ เพราะยังอยู่แม้ในสมัยก๊กมินตั๋งภายใต้เจียงไคเช็ก – ซึ่งเป็นขุนศึกที่ใหญ่สุด – ก็ยังอยู่ หายไปหรือสงบไปในสมัยพรรคคอมมิวนิสต์จีนนี่เอง)

 

ในอาณาจักรออตโตมัน เมื่อปราบปรามรัฐคริสเตียนได้แล้ว แม้ฆ่าฟันผู้คนไปมาก แต่รัฐบาลเติร์กมักรวบรวมเด็กชายที่เหลือรอดชีวิตมาให้การเลี้ยงดู นอกจากเปลี่ยนศาสนากลายเป็นมุสลิมไปแล้ว เด็กเหล่านี้ยังถูกฝึกด้านการใช้อาวุธและการรบอย่างหนักมาตั้งแต่เล็ก เรียกกองกำลังนี้ว่า Janissaries เป็นกองกำลังหัวหอกของกองทัพเติร์ก มีชื่อเสียงด้านการรบจนเป็นที่เกรงขามโดยทั่วไป และแน่นอนย่อมสืบตระกูลด้วย ในที่สุดหน่วยกำลังนี้ก็เข้ามาแทรกแซงการเมืองภายใน ขนาดสังหารกาหลิบที่ต้องการยกเลิกกองกำลังก็มี กว่าจะปราบปรามจนยกเลิกกองกำลัง Janissaries ในตุรกีได้ ก็ตกถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อสร้างกองทัพประจำการสมัยใหม่ขึ้นได้สำเร็จ

ในรัฐอิสลามอีกหลายแห่ง มีกองกำลังของพวกทาส (หรือเรียกในภาษาอาหรับว่า Mamluk) ซึ่งประกอบด้วยหลายชนชาติเท่าที่พวกอาหรับไปปราบปรามได้ ที่โด่งดังมากคืออียิปต์ซึ่งพวกทาสสามารถตั้งราชวงศ์ของตนสืบเนื่องมาได้หลายศตวรรษ

ขึ้นชื่อว่ากองทัพประจำการ แม้ไม่ใช่กองทัพสมัยใหม่ ก็เป็นองค์กรทางการเมืองหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้ ยิ่งกรณีของ Janissaries และ Mamluk ซึ่งเป็นต่างชาติและสืบตระกูล ก็ยิ่งมีแนวโน้มเป็นองค์กรแปลกหน้าในสังคม ในขณะที่อัศวินและซามูไร แม้สืบตระกูลเหมือนกัน แต่ก็เป็นชนชาติเดียวกับคนส่วนใหญ่ในสังคม และยังเป็นกองกำลังที่แบ่งแยกกันเอง จึงเท่ากับถูกจำกัดอำนาจทางการเมืองไปในตัวอยู่แล้ว

 

โดยสรุปก็คือ กองทัพประจำการเป็นองค์กรทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในฐานะองค์กรทางการเมือง ย่อมต้องมีบทบาทในการแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ในสังคมร่วมกับองค์กรอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

ในรัฐส่วนใหญ่ เสร็จสงคราม ก็ปลดปล่อยทหารกลับไปทำนาตามเดิม ผมให้สงสัยอย่างมากว่า ที่ทำเช่นนี้ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มีเหตุผลทางการเมืองอยู่ด้วย คือทำให้ไม่มีใครมีกำลังอำนาจทางทหารในมือมากเกินไป ยกเว้นพระเจ้าแผ่นดินแต่ผู้เดียว