เสฐียรพงษ์ วรรณปก : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (10) เหตุผลที่ทรงเลือกภาษาปรากฤตประกาศพระศาสนา

เคยตั้งคำถามเล่นๆ ว่าทำไมพระพุทธเจ้าทรงเลือกใช้ภาษาตระกูลปรากฤตสั่งสอนพระพุทธศาสนา ไม่ทรงใช้ภาษาพระเวท (เวทิกะ-ไวทิกะ) ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นภาษาสันสฤต

และเคยตั้งคำถาม (เล่นๆ อีกเช่นกันว่า) การที่เจ้าชายสิทธัตถะอภิเษกสมรส และมีโอรสก่อนเสด็จออกผนวชก็ดี

การที่พระองค์ประสูติในวรรณะกษัตริย์ก็ดี เอื้อต่อการประกาศคำสอนต่างๆ ให้แพร่หลายเร็วขึ้นหรือไม่

ผมก็ตอบในใจเงียบๆ มานานแล้ว วันนี้จึงขอนำคำตอบเงียบๆ ของผมมาตอบดังๆ ให้อ่านกันเพลิน (อ่านธรรมะก็เพลินได้) ก่อน

ต่อคำถามแรก ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเลือก ภาษาปรากฤต ประกาศพระศาสนาแทน ภาษาเวทิกะ ต้องเท้าความเล็กน้อย

สมัยพุทธกาลมีภาษาที่สื่อกันอยู่ 2 ตระกูลใหญ่ คือ ภาษาเวทิกะ (ไวทิกะ) หรือที่คนไทยเรียกว่าภาษาพระเวท ซึ่งต่อมากลายเป็นภาษาสันสกฤต กับ ภาษาตระกูลปรากฤต (ภาษาตามปกติ ภาษาตลาด ซึ่งมีหลายภาษาถิ่น หรือหลาย Dialect)

ความจริงทั้งสองภาษานี้ก็ ภาษาตระกูล อินโดยุโรป ด้วยกัน นับเป็นตระกูลเดียว แต่เพื่อเข้าใจง่าย จึงแบ่งว่าเป็นตระกูลเวทิกะ กับตระกูลปรากฤต

พระไตรปิฎก (พระสูตร) เล่าเหตุการณ์ครั้งหนึ่งว่า สามเณรสองรูปเป็นบุตรพราหมณ์ มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงรับสั่งถามว่า สบายดีหรือ ที่เธอทั้งสองมาบวชเป็นสาวกเรา ถูกพวกพราหมณ์ต่อว่าเอาไหม

ทั้งสองกราบทูลว่า ถูกพวกเขาต่อว่าหนัก หาว่าเกิดในวรรณะพราหมณ์สูงส่งอยู่แล้ว ไปเป็นศิษย์พระสมณโคดม วรรณะต่ำ วรรณะไม่บริสุทธิ์ทำไม

พระพุทธองค์จึงตรัสความเป็นมาของวรรณะทั้งหลายว่า เกิดขึ้นเพราะอาชีพที่มนุษย์ประกอบแตกต่างกันออกไป มิใช่เกิดจากอวัยวะส่วนต่างๆ ของพรหมอย่างที่พวกพรหมณ์เข้าใจ

และท้ายสุดตรัสว่า คนเราจะเกิดจากวรรณะไหนก็ตาม มีความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกัน วรรณะมิได้เป็นตัวกำหนดดีชั่ว การกระทำของคนนั้นที่เป็นตัวแบ่งว่า ใครเป็นคนดี ใครเป็นคนชั่ว

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งในพระวินัยปิฎกเล่าว่า สาวกสองรูปซึ่งเป็นบุตรพราหมณ์เหมือนกัน กราบทูลขอให้พระพุทธองค์อนุญาตให้เรียนพระพุทธวจนะ ด้วยภาษาฉันท์ (ฉันทสะ) (สองรูปนี้จะเป็นอดีตสามเณรทั้งสองข้างต้นหรือไม่ ไม่แน่ใจ)

พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายเราไม่อนุญาตให้ยกพุทธวจนะ ขึ้นสู่ภาษาฉันท์ ภิกษุรูปใดขืนทำ ปรับอาบัติทุกกฎแก่ภิกษุนั้น ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้เรียนพุทธวจนะด้วย “สกานิรุตติ”

ภาษาฉันท์ในที่นี้ท่านว่า ได้แก่ ภาษาพระเวท ซึ่งต่อมา คือ สักกฏภาษา (ภาษาสันสกฤต)

ส่วน สกานิรุต แปลว่า ภาษาของตน (ของพระพุทธเจ้า อันได้แก่ภาษามคธ ที่ทรงใช้สอนพระศาสนา พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งอรรถกถาท่านอธิบายไว้อย่างนั้น)

แต่ปราชญ์หลายท่านแปลว่า ภาษาของตน (ของผู้เรียน) สกานิรุต นี้เข้าใจตรงกันเป็นส่วนมากว่า ได้แก่ ภาษาตระกูลปรากฤต คือภาษามาคธี (มคธ) ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นภาษาบาลี (ตันติภาษา) ดังที่ทราบอยู่ในปัจจุบัน

พูดให้รวบรัดก็ว่า สกานิรุตติที่ทรงอนุญาตให้ใช้เรียนพุทธวจนะนั้น ได้แก่ภาษาบาลีในปัจจุบันนั้นแล

ถามต่อว่า ทำไมพระพุทธองค์ทรงเลือกภาษาปรากฤต (คือบาลี ในปัจจุบัน) ไม่เลือกภาษาเวทิกะ (ภาษาสันสกฤต)

คำตอบน่าจะเป็นดังต่อไปนี้

1.ภาษาพระเวทใช้กันอยู่ในวงแคบ และเป็นภาษาที่ยาก

ดังที่ทราบกันแล้ว ภาษาพระเวทนั้นเล่าเรียนกันอยู่ในหมู่พราหมณ์ชั้นนำ ไม่อนุญาตให้คนวรรณะอื่นได้ศึกษา แม้วรรณะพราหมณ์ที่เป็นสตรีก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษาพระเวท อีกทั้งเป็นภาษาชั้นสูง ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ถ้าพระพุทธองค์ทรงใช้ภาษานี้สั่งสอนพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาของพระองค์คงจะอยู่ในวงแคบ ไม่แพร่หลายเป็นประโยชน์แก่ “พหูชน” ดังที่ทรงพระประสงค์ นี้เป็นมุมมองหนึ่ง

อีกมุมมองหนึ่งก็คือ คำสอนของพระพุทธองค์คัดค้านความคิดความเชื่อของพวกพราหมณ์ ชนิดที่เรียกว่า หน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวรรณะ เรื่องแนวทางเข้าถึงพรหมัน ค่านิยมเรื่องดีชั่ว ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ ที่พวกพราหมณ์ยึดถือปฏิบัติอยู่ พระพุทธองค์ทรงคัดค้าน บางเรื่องทรงตำหนิอย่างรุนแรงอีกด้วย

ก็ในเมื่อทรงคัดค้านความคิดความเชื่อของพวกเขาแล้ว จะเอาภาษาคำสอนของพวกเขามาสอนคำสอนของพระองค์ก็ดูกระไรอยู่ เดี๋ยวจะถูกหาว่าไม่มีอะไรเป็นของตน ไม่มีอะไรใหม่ แล้วยังประกาศว่าพระองค์มีแนวทางใหม่ อะไรทำนองนั้น

2.เหตุที่สองคล้ายข้อแรก คือ ภาษาตระกูลปรากฤตเป็นภาษาที่พูดกันทั่วไป อันเรียกว่า ภาษาชาวบ้าน ภาษาตลาด ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา

พระพุทธองค์ทรงมีพุทธปณิธานว่า จะประกาศ “พรหมจรรย์” (วิถีดำเนินชีวิตอันประเสริฐ) ให้แพร่หลาย ดังพระพุทธดำรัสตรัสตอนสั่งพระสาวกอรหันต์ 60 รูป ไปประกาศพระศาสนาครั้งแรกว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มากเพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อสงเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จงประกาศพรหมจรรย์อันงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ”

พระปณิธานนี้จะสำเร็จก็ต้องเข้าถึงคนหมู่มากด้วยภาษาที่คนหมู่มากใช้กันอยู่และเข้าใจได้ง่าย

และภาษาตระกูลปรากฤตโดยเฉพาะแขนงมาคธิกโวหาร (มาคธี มคธ หรือต่อมาคือบาลี) ใช้กันมากในถิ่นที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนาในระยะต้นๆ พระพุทธองค์จึงทรงเลือกใช้ภาษานี้

แน่นอนพระองค์คงทรงใช้ภาษาถิ่น แขนงอื่นด้วยตามผู้ฟัง คือ ถ้าผู้ฟังใช้ภาษาใด ก็ทรงใช้ภาษานั้นสื่อสารธรรม แต่ภาษาถิ่นต่างๆ ที่ทรงใช้ก็อยู่ในตระกูลปรากฤตทั้งนั้น เพราะเหตุนี้เองคำสอนของพระพุทธองค์จึงแพร่หลายในหมู่ประชาชน ชั่วระยะไม่นานที่ออกประกาศพระศาสนา ดังที่ทราบกันแล้ว

ทั้งหมดเป็นการเดาการหาคำตอบ ฟังดูก็เป็นคำตอบแบบขยะๆ ไม่แหลมคม ไม่ประเทืองปัญญามากนัก แต่ก็คงไม่ไร้สาระจนเกินไปกระมังครับ