ธุรกิจพอดีคำ : “ต้นแบบของชีวิต”

“พี่ต้องมี role model มั้ย”

คำถามที่น้องๆ ที่จุฬาฯ หลายคนถาม ช่วงเดือนที่ผ่านมา

ทำให้ผม “ฉุกคิด” ในหลายๆ สิ่งที่กำลังทำอยู่

ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว มาจนถึงตอนนี้

ผมเองเป็นคนที่ค่อนข้าง “ดื้อ” มาตั้งแต่เด็กๆ

ป๊า ม้า บอกอะไร แนะนำอะไร ก็ฟังไว้ ประมาณหนึ่ง

แต่จำได้ว่า จะ “ตัดสินใจ” เองเสมอ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงเรียน คณะที่เรียน ที่ทำงาน

เชื่อมั้ยว่า สมัครเข้าโรงเรียน ป.1

ผมสอบติดอัสสัมชัญ และกรุงเทพคริสเตียน

ตอนนั้นพี่ชายเรียนอยู่กรุงเทพคริสเตียน

ผมเลยบอกป๊า ม้า ว่า จะเข้า “อัสสัม”

ไม่อยากเรียนกับ “พี่ชาย”

ป๊า ม้า ก็นะ ไม่รู้ทำไม ตามใจเราขนาดนั้น

ได้อยู่คนละโรงเรียนกับพี่ชาย สมใจจนถึง ม.3

ย้ายมาเข้าเตรียมฯ ต่อด้วยวิดวะที่จุฬาฯ

ไปทำงานที่แท่นน้ำมันกลางทะเล ลำบาก

ลาออก ลดเงินเดือนตัวเองหลายเท่า กลับมาทำที่บริษัทพลังงานไทย

ไปเรียนต่อ ย้ายแผนก ย้ายบริษัท ตามหัวหน้า

ทำให้ “อนาคต” ตัวเองที่ดูเหมือนจะแน่นอน

ต้องกลับ “ไม่แน่นอน” ขึ้นมาอีก

หลายครั้งหลายคราของเหตุการณ์ในชีวิต

จะปรึกษาคนที่บ้าน หรือคนรอบข้างมากสักเท่าไร

สุดท้ายจะ “ตัดสินใจ” เองเสมอ ไม่ค่อยเชื่อใคร

ทำให้เมื่อมีคนถามถึง “ต้นแบบ” ของผม

ในเรื่องของชีวิตการทำงาน แบบคนยุคนี้

ผมเองก็พูดได้ไม่เต็มปากว่ามี “role model” ในการทำงาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน​ลง​จาก​อาคาร​เฉลิม​พระ​เกียรติ โรง​พยาบาล​ศิริราช ไป​ยัง​ท่า​น้ำ​สมาคม​ศิษย์​เก่า​แพทย์​ศิริราชฯ เพื่อ​ทอดพระเนตร​ระดับ​น้ำ​และ​ทิวทัศน์​แม่น้ำ​เจ้าพระยา​เป็น​เวลา 2 ชั่วโมง เมื่อ​วัน​ที่ 24 พฤษภาคม

ตั้งแต่เดือน “ตุลาคม” ปีที่แล้ว

วันแห่งความโศกเศร้า “ในหลวง รัชกาลที่ 9” สวรรคต

ผมเองที่ช่วงนั้นยอมรับว่า “เครียด” หลายๆ เรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นงานที่บริษัท ที่ภาระค่อนข้างใหญ่หลวง

รับผิดชอบด้าน “นวัตกรรมทางธุรกิจ” หลายเรื่อง

มีคนเตือนเราอยู่บ่อยๆ

อย่าทำอะไรให้มัน “เกินไป” คนอื่นเขาตามไม่ทัน

มันจะไม่ “ยั่งยืน” ต่างๆ นานา

หรืออีกเรื่อง ก็คืองานที่จะเข้าไปช่วยที่ “จุฬาฯ”

อยากจะสร้างโรงเรียนนวัตกรรม แบบที่เราได้ไปเรียนมาให้เกิดที่เมืองไทย

พอเจอวิธีการทำงานของ “ราชการ” ที่เราไม่คุ้นเคย

เหมือนเราเองที่ “วิ่ง” อยู่ อยากจะทำหลายๆ อย่างให้เกิด

แต่ก็มีคนคอย “ยืนดู” เรา ว่าจะทำได้สักเท่าไร

เสาร์ อาทิตย์ ที่เอาเวลาของที่บ้านไปทำงาน

โดยที่ไม่รู้ว่ามันจะ “สำเร็จ” รึเปล่า

จะ “ฝืน” ไปได้สักแค่ไหน

ช่วงเวลานั้นเอง ที่ได้มีโอกาส “อ่านหนังสือ” เกี่ยวกับ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” หลายเล่ม

ได้เรียนรู้แนวคิด การทำงาน การใช้ชีวิต

รวมถึงอุปสรรคต่างๆ สำหรับการสร้างการ “เปลี่ยนแปลง”

ทำไมคนคนหนึ่งถึงมีแรงทำอะไรมากมายขนาดนี้

ทำไมต้องอดทนถึงเพียงนี้

ทำไมทำดีมากขนาดนี้ ยังต้องมีคนใส่ร้ายป้ายสี

ทำไมไม่หยุด ทำไมยังทำ

ทำมาตลอด 70 ปี…

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ​จาก​อาคาร​เฉลิม​พระ​เกียรติ โรง​พยาบาล​ศิริราช ทรง​ถวาย​ราช​สักการะ​พระ​บรม​ราชา​นุ​สาว​รี​ย์ พระบาท​สมเด็จ​พระ​จุลจอมเกล้า​เจ้า​อยู่​หัว และ​สมเด็จเจ้าฟ้าศิริ​รา​ชก​กุ​ธภัณฑ์ ซึ่ง​ประดิษฐาน​ที่​พลับพลา​ริม​แม่น้ำ​เจ้าพระยา หน้า​โรง​พยาบาล​ศิริราช ปิ​ยม​หา​ราช​การุณย์ วัน​ที่ 18 ตุลาคม 2555

คำตอบเบลอๆ ที่คิดว่าน่าจะใช่

ก็คงจะเหมือนอยางที่หลายๆ คนอาจจะรู้กันดี

พระองค์ท่าน ทรงเคยตรัสไว้

“ความจริงมันก็น่าท้อถอยหรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย

แต่ฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน

เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง

คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ”

การมอง “ประโยชน์ส่วนรวม” เป็นที่ตั้ง มาก่อนประโยชน์ส่วนตน

ผลักดันให้คนหนึ่งคนก้าวข้ามอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

น่าจะเป็นสิ่งนี้แหละที่ผมเริ่มจะ “เรียนรู้”

ในขณะที่คนรอบข้างหลายๆ คนเตือนผมอยู่ตลอดว่า

“อย่าทำอะไรมากเกินไป ยังต้องอยู่ที่นี่อีกนาน ค่อยๆ ก็ได้”

สิ่งเหล่านี้ หลายครั้งก็ทำให้ “เครียด”

แต่ถ้ามองลึกลงไป ปัญหาก็อยู่ที่เราเองแหละ

เรา “กลัว” ว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร

แล้วมันจะมี “ผล” ต่อตัวเราอย่างไร

สังคมรอบข้าง หล่อหลอมให้เราตั้งคำถามแบบนี้โดยไม่รู้ตัว

มันก็ทำให้ “เป็นกังวล” ทำงานได้ไม่เต็มที่

แต่พอเราเอา “ตัวเอง” ออกไปจากภาพความ “สำเร็จ”

เอา “องค์กร” หรือสิ่งที่คิดว่าจะดีกับองค์กร มาตั้งไว้ก่อน

เราก็พบว่า “งานสนุกขึ้น” ทันที

เรื่องที่คนอื่นจะคิดยังไงกับเรา หรืออนาคตฉันจะเป็นอย่างไร

ก็ “บรรเทา” ลงมาก

ผลลัพธ์ก็คือ หนึ่งปีที่ผ่านมา

ได้ทำอะไรหลายๆ อย่างที่บริษัทยังไม่มี ให้มัน “มี” ขึ้นมา

จะสำเร็จหรือไม่ ก็คงต้องน้อมรับ “คำติชม” กันต่อไป

ที่จุฬาฯ ตอนนี้ ก็ได้สอนคลาส design thinking แบบเต็มเทอมแล้ว

น้อง 35 คน จาก 11 คณะ ทุกชั้นปีที่เราเลือกเองกับมือ

ได้เริ่มโครงการ CU d.school กับ CU Innovation Hub แล้ว

สอนประชาชนทั่วไป ให้เข้าใจเรื่อง “นวัตกรรม” มากขึ้น

ปีนี้กะว่า น่าจะได้สัก 100 คน เป็น “จุดเริ่มต้น”

หนึ่งปีที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้กับตัวเองแล้วว่า

ถ้าเราเอา “ตัวเอง” ออกไปจากภาพความ “สำเร็จ”

คิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับ “คนอื่น” ก่อน

น้องๆ นักเรียนจะได้อะไรจากที่เราสอน

องค์กรเรา จะได้มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง

หากได้มีโอกาส “ลงมือทำ” แล้ว

ก็จงก้มหน้าก้มตาทำเถิด

ส่วนเรื่องที่ “สิ่งดีๆ” จะเกิดขึ้นกับเราหรือไม่นั้น

ก็หวังว่า “มันคงจะเกิดขึ้น” ตามเรื่องตามราวที่มันควรจะเป็นละกัน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการใช้ชีวิตตนเอง เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น

ผมเองก็คิดว่า ในฐานะ “คนไทย” คนหนึ่ง

จะขอ “น้อมนำ” แนวคิดนี้ มาไว้ที่ “ตรงกลาง” ของชีวิตต่อจากนี้

“ใครคือ role model ของพี่ต้อง”

ผมเองก็อยากจะ “เขกกะโหลก” ตัวเองสักร้อยครั้ง

“ในหลวง” ไงล่ะ

พระองค์ท่าน คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราควรจะเป็นเลย

เดือนสุดท้ายแห่งการถวายความอาลัย

เขียนไว้เตือนใจตัวเอง แบ่งปันนักอ่านทุกท่าน