ไก่ประดับบารมี/ไก่กิน : การเลี้ยงไก่สมัยรัฐนิยมกับสามเกลอ (1)/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ไก่ประดับบารมี/ไก่กิน

: การเลี้ยงไก่สมัยรัฐนิยมกับสามเกลอ (1)

 

จากงานอดิเรกสู่การสร้างชาติ

เมื่อครั้งระบอบเก่า เจ้านายและเหล่าขุนนางต่างมีงานอดิเรกในการสะสมของแปลก หายาก สวยงาม รวมทั้งการเลี้ยงไก่พันธุ์ฝรั่งที่มีขนสวยงามเพื่ออวดประกวดประขันกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเพื่อประดับบารมีมากกว่าการบริโภคและเชิงพาณิชย์ (นิติศักดิ์ อัศวโชคอนันท์, 2556, 15)

แต่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 แล้ว ด้วยหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยเฉพาะเรื่องหลักเศรษฐกิจนำไปสู่ความชัดเจนในการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ รัฐบาลครั้งนั้นสั่งการให้หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจจัดทำโครงการส่งเสริมการเกษตร 10 ปี ตามคำสั่งของพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ รัฐมนตรีเกษตราธิการ (2479) เพื่อบำรุงกสิกรรมและบำรุงความสุขสมบูรณ์ของประชาชน

สามเกลอเลี้ยงไก่ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม

โดยโครงการมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงไก่เอาไว้ที่หลังบ้าน เพื่อให้คนไทยทุกครอบครัวมีแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ โดยรัฐบาลนำเข้าไก่พันธุ์จากต่างประเทศเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อการบริโภคเนื้อและไข่ดังเช่นที่มีในหลายประเทศ กระนั้นก็ดี รัฐบาลได้ส่งเสริมให้เลี้ยงไก่พื้นบ้าน เช่น ไก่ตะเภาให้กว้างขวางมากขึ้นด้วย

ด้วยสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ กลิ่นอายของสงครามโลกกำลังแพร่กระจายทั่วยุโรปและตั้งเค้าในขึ้นในเอเชีย เมื่อจอมพล ป.ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี (2481) รัฐบาลเขาได้สานต่อการดำเนินการตามหลัก 6 ประการ ด้วยการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมการทำสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ นำไปสู่การเลี้ยงไก่อย่างกว้างขวาง รัฐบาลสั่งการให้ข้าราชการทำสวนครัวและเลี้ยงไก่เป็นตัวอย่างให้ประชาชน อีกทั้งรัฐบาลแจกจ่ายพันธุ์ไก่ให้ประชาชน มีการประกวดการเลี้ยงไก่ ประกวดไก่พันธุ์ต่างๆ ด้วย (ชาติชาย มุกสง, 159-160)

ต่อมา รัฐบาลจอมพล ป.พยายามเพิ่มผลผลิตการเกษตร ด้วยการส่งเสริมการขยายพื้นที่การเพาะปลูก ขยายการใช้แรงงานและทรัพยากรธรรมชาติให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดความเพียงพอในการบริโภค รัฐบาลนำเสนอกฎหมายสู่สภาผู้แทนราษฎรหลายฉบับเพื่อบรรลุการพัฒนาการเกษตร เช่น พระราชบัญญัติการทำสวนครัว เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถพึ่งตนเองได้ทางอาหาร

รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ เร่งส่งเสริมการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ ให้มีคุณภาพ ส่งเสริมการประมง ส่งเสริมการชลประทาน และสนับเงินทุนกู้ยืมสำหรับประกอบการแก่เกษตรกร ด้วยการตรา พ.ร.บ.การกู้เงินในประเทศเพื่อเกษตรกรและเพื่อการอุตสาหกรรม พ.ศ.2481 ด้วยการระดมทุนจากคนไทย จำนวน 25 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนในการผลักดันการพัฒนาการเกษตรของไทย (ผาณิต รวมศิลป์, 2521, 205-206)

หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และตำราเลี้ยงไก่ของเขา (2476)

สมัยรัฐนิยมปี 2482 เกิดความนิยมการเลี้ยงไก่ในสังคมไทยเป็นอันมาก ป.อินทรปาลิตเล่าสะท้อนค่านิยมการเลี้ยงไก่ฝรั่งของขุนนางเก่าไว้ในพลนิกรฯ ตอน รัฐนิยม (2482) ว่า ในหมู่ขุนนางเก่า อย่างพระยาปัจจนึกพินาศนั้น เลี้ยงไก่ฝรั่งไว้ถึง 25 ตัวเพื่อประดับบารมี ต่อมา เมื่อเจ้าคุณซาบซึ้งในรัฐนิยมแล้ว ท่านถึงขายไก่ฝรั่งทั้งหมดให้กับท่านชายสุริศักดิ์แห่งวังดงกล้วยนางเลิ้งด้วยราคาเพียง 6 บาทสลึงท่านั้น พร้อมแถมอุปกรณ์ ยาและที่ฟักไข่ให้ด้วย (ป.อินทรปาลิต, 90)

หากหันมาพินิจตำราเลี้ยงไก่ฉบับของหลวงสุวรรณฯ ที่เผยแพร่ในช่วงเวลานั้น ในคู่มือบรรจุมีเรื่องราวเกี่ยวกับเรือนไก่ อาหารและการให้อาหาร การฟักไข่ การใช้เครื่องกกไข่และเลี้ยงลูกอ่อน วิธีการเลี้ยงลูกไก่ การตอนไก่ การเลี้ยงไก่ไข่ การผสมไก่ การเลี้ยงไก่พันธุ์ การเลี้ยงไก่หลังบ้าน การสอนวิชาเลี้ยงไก่ในโรงเรือน การขุน การฆ่า และการถอนขน การป้องกันโรคไก่ การรักษาโรคไก่และเบ็ดเตล็ดสำหรับคนไทย ผู้อยากจะเลี้ยงไก่ (สุวรรณวาจกสิกิจ, 2476)

นับแต่นั้น รัฐนิยมเป็นต้นมา มีการเขียนตำรา และพิมพ์ซ้ำตำราการเลี้ยงไก่ตามกระแสรัฐนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น สวนครัวและเลี้ยงไก่ (อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ ขุนนัยนเวช, 2482) เรื่องสวนครัวและเลี้ยงไก่ (อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นางแช่ม สอนรักษ์, 2483) ตำราเลี้ยงไก่ (สุวรรณวาจกสิกิจ, 2483) เป็นต้น ในช่วงเวลานั้น หลวงสุวรรณฯ นำวิธีการเลี้ยงไก่แบบใหม่เข้ามาเป็นการเลี้ยงแบบกรงขังหรือโรงแรมไก่ด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลสมัยจอมพล ป.ยังเผยแพร่ความรู้การเลี้ยงไก่ผ่านวิทยุกรมโฆษณาการ เช่น หลวงสุวรรณฯ ปาฐกถาเรื่อง การเลี้ยงไก่หลังบ้าน จำนวน 7 ตอน กรมเกษตรและประมง บรรยายเรื่อง กสิกรควรเลี้ยงไก่และตอนไก่ (สุวิมล พลจันทร์, 2531, 235) ความคึกคักเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงบรรยาการการเลี้ยงไก่แห่งยุคสมัยเป็นอันมาก

ความแพร่หลายของตำราการเลี้ยงไก่ของหลวงสุวรรณฯ (2483) และตำราอื่นๆ

ความอลเวงในการเลี้ยงไก่

ด้วยเหตุที่ค่านิยมการเลี้ยงไก่พันธุ์ฝรั่ง แต่เดิมเป็นงานอดิเรกและประดับบารมีของชนชั้นสูงและขุนนางในสังคมชั้นสูงสืบต่อมาจนถึงถึงภายหลังการปฏิวัติ ดังที่ ป.อินทรปาลิตบันทึกถึงค่านิยมที่ตกค้างไว้มาในพลนิกรฯ ตอนสามเกลอเลี้ยงไก่ว่า พระยาปัจจนึกพินาศ “ประมุขของบ้านศิริสวัสดิ์ มีไก่ฝรั่งอยู่หลายคู่ ตะละตัวล้วนราคาแพง ท่านเจ้าคุณแต่งกายลำลอง สวมกางแกงแพรหมุยอาลิ้น เสื้อกุ้ยเฮงสีขาว มีผ้าขาวม้าใหม่คาดพุง ปากคาบซิการ์มวนใหญ่ ยืนเท้าเอวอยู่ในเล้าไก่ของท่าน” พลางร้องสั่งงานคนรับใช้ของท่านให้ทำความสะอาดเล้าไก่ฝรั่ง (ป.อินทรปาลิต, 2535, 24)

จากร่องรอยของสมัยรัฐนิยมที่ปรากฏในหัสนิยายนี้ต่อไปว่า เมื่อพลนิกรกิมหงวนมาเยี่ยมเจ้าคุณปัจจนึกฯ พวกเขาต้องการอวดเล้าไก่และสวนครัวของพวกเขาและเหล่าภริยาที่ทำตามรัฐนิยมจึงเชิญเจ้าคุณฯ ไปเที่ยวบ้านพัชราภรณ์ของพวกเขาบ้างว่า “สวนดอกไม้หลังบ้านผมกลายเป็นสวนครัวไปหมดแล้ว…เห็นพวกเขาทำสวนครัว เหล่าภรรยาก็ทำกันบ้าง นี่ดำริว่าจะเลี้ยงไก่กันอีกครับ ไม่เป็นทำอะไรแล้ว วันยังค่ำยุ่งกับเรื่องสวนครัว”

เจ้าคุณจึงถามพลนิกรว่า สามเกลอเลี้ยงไก่ไทยตามนโยบายรัฐบาลหรือ พลตอบว่า พวกเขาเลี้ยงไก่ตะเภากับไก่อูตามนโยบาย เจ้าคุณเห็นว่า “พุทโธ่-เสียข้าวเปลือกเปล่าๆ อ้ายไก่สับปะรังเคพรรค์นั้น ตัวละสามสี่สิบสตางค์เลี้ยงทำไมกัน มันต้องอย่างนี้ คู่ละร้อยบาทขึ้นไป” ทั้งนี้ ไก่พันธุ์ที่เจ้าคุณหมายถึงคือไก่บัฟออปิงตัน บลูออบิงตัน และโร้ดไอแลนด์ เป็นต้น (ป.อินทรปาลิต, 2535, 34)

ต่อมา เมื่อเจ้าคุณเห็นคล้อยตามนโยบายรัฐนิยมแล้ว จึงจัดตั้งสมาคมรัฐนิยมแห่งบ้านพัชราภรณ์ขึ้น ให้สมาชิกทุกคนเลี้ยงไก่และทำสวนครัว เลี้ยงไก่แจ้ ไก่อู ไก่ตะเภา ตามนโยบายรัฐบาล ไม่ใช่ไก่ฝรั่ง พร้อมให้ทำสวนครัวประกอบไปด้วย (ป.อินทรปาลิต, 39)

แต่กิมหงวน ผู้มีความมั่งคั่งทักท้วงในที่ประชุมว่า เศรษฐีระดับเขาจะเลี้ยงไก่ทั้งทีต้องเลี้ยงไก่ฝรั่งเพื่อสมฐานะ แต่เจ้าคุณแย้งว่า รัฐบาลให้เลี้ยงไก่เพื่อกินไข่และเนื้อไก่

อย่างไรก็ตาม ในที่สุด สามเกลอก็ดื้อรั้นลงทุนเลี้ยงไก่พันธุ์ฝรั่ง ท่ามกลางการคัดค้านของเหล่าภริยา จนนำไปสู่การตั้งเล้าไก่สามเกลอที่เต็มไปด้วยความครื้นเครงและการแก้เผ็ดเอาคืนจากขุนนางเก่าอย่างเจ้าคุณปัจจนึกฯ อย่างตลกหรรษา อันสะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างค่านิยมเก่า-ใหม่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงนั้น

โรงเรือนเลี้ยงไก่ หรือโรงแรมไก่