พฤษภารำลึก (16) ชนชั้นกลางกับระบอบทหาร/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (16)

ชนชั้นกลางกับระบอบทหาร

 

“กระบวนการการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจะช่วยทำให้เกิดประกาศิตสำหรับการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่รวมถึงการลดอภิสิทธิ์ของกองทัพอย่างมีนัยสำคัญด้วย”

Alfred Stepan (1988)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

ชนชั้นกลางในประวัติศาสตร์มีอาการ “สะวิง” หลายครั้ง…

เมื่อใดที่พวกเขาถูกประกอบสร้างให้เกิดความกลัวทางการเมือง ชนชั้นกลางก็พร้อมที่จะเข้าไปหาระบอบอำนาจนิยม หรือที่ในละตินอเมริกาเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า ชนชั้นกลางเป็นผู้ที่เดิน “ไปเคาะประตูหน้าค่ายทหาร” เพื่อเรียกให้กองทัพออกมาทำรัฐประหาร

แต่เมื่อใดที่เขาลดความกลัวทางการเมืองลง และมองไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องอิงอยู่กับระบอบเผด็จการ เมื่อนั้นพวกเขาพร้อมเดินไปบนถนนสายประชาธิปไตย และต่อต้านระบอบทหาร

ดังนั้น สาขาเปลี่ยนผ่านวิทยาจึงสอนเสมอว่า กระบวนการสร้างประชาธิปไตยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยชนชั้นกลาง กล่าวคือ มีชนชั้นกลางมากพอที่จะเป็นพลังที่คอยถ่วงดุลกับ “เผด็จการฝ่ายซ้าย” จากชนชั้นล่าง และคานกับ “เผด็จการฝ่ายขวา” จากชนชั้นบน ซึ่งบทบาทเช่นนี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ

นักเรียนรัฐศาสตร์ทุกคนถูกสอนเช่นนี้มาโดยตลอด

 

อารมณ์ชนชั้นกลาง!

หากย้อนกลับไปสู่บทบาททางการเมืองของชนชั้นกลางในการเมืองไทยจากยุคปี 2500 แล้ว เราจะเห็นได้ว่าการผลักดันนโยบายสร้างอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ตั้งแต่สมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีส่วนอย่างมากในการสร้างให้เกิดชนชั้นกลางในสังคมไทย

เพราะแต่เดิมเราจะเห็นกำลังคนส่วนสำคัญของไทยอยู่ในภาคเกษตร แต่การขยายอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดชนชั้นกลางในสังคมไทย อีกด้านก็เป็นการดึงเอากำลังของชนชั้นล่างในชนบทที่เป็นเกษตรกร เพื่อแปลงให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นชนชั้นล่างในเมืองที่เป็นกรรมกร

การสร้างอุตสาหกรรมของรัฐบาลทหารของจอมพลสฤษดิ์จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างระบบทุนนิยมของรัฐไทยสมัยใหม่ อันนำไปสู่การสร้างชนชั้นนายทุนครั้งใหญ่ของสังคมไทย และตามมาด้วยการขยายฐานของชนชั้นกลาง

ในขณะนั้นชนชั้นกลางอาจจำเป็นต้องพึ่งพาระบอบทหารในทางการเมือง แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงเริ่มมีมากขึ้นในช่วงทศวรรษของปี 2513 (ทศวรรษ 1970) ชนชั้นกลางเองก็เริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อระบอบทหาร

การเปลี่ยนมุมมองของชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นในภาวะที่ระบอบทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร มีปัญหาภายใน และมีปัญหาประสิทธิภาพ ตลอดรวมถึงปัญหาการสร้างอำนาจของกลุ่มผู้นำทหารที่กลายเป็นฐานอำนาจใหญ่ของระบบอุปถัมภ์ จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

“รัฐราชการทหาร” จึงกลายเป็นเชื้ออย่างดีให้แก่การกำเนิดของขบวนนิสิตนักศึกษาในการเรียกร้องประชาธิปไตย จนนำไปสู่จุดจบของรัฐบาลจอมพลถนอม ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

ซึ่งเราอาจตั้งข้อสังเกตในมุมหนึ่งได้ว่า 14 ตุลาฯ คือ “ชัยชนะของชนชั้นกลาง” เพราะนักศึกษาในทางสังคมคือ ลูกหลานของชนชั้นกลางนั่นเอง

การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในปี 2516 อยู่ภายใต้เงื่อนไขความเปราะบางของสงคราม การพังทลายของรัฐบาลนิยมตะวันตกในอินโดจีน ซึ่งเป็นดัง “โดมิโนล้ม” ในปี 2518

ส่งผลให้ชนชั้นกลางที่เคยต่อต้านทหาร หันกลับมากลัวคอมมิวนิสต์อย่างมาก

และขยับตัวเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย จนกลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การ “ล้อมปราบใหญ่” ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

หรืออาจเรียกได้ว่า รัฐประหาร 2519 เป็น “รัฐประหารของชนชั้นกลาง” ที่เกิดจากความกลัวคอมมิวนิสต์

อาการ “สะวิงทางการเมือง” ของชนชั้นกลางจากปี 2516-2519 เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และในอีกด้านสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของชนชั้นกลางที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

การขยับทัศนะของชนชั้นกลางไทยจึงไม่แตกต่างจากชนชั้นกลางยุโรปที่กลัวการปฏิวัติบอลเชวิก และหันไปสนับสนุนการขึ้นสู่อำนาจของ “ประชานิยมปีกขวา” ในแบบฮิตเลอร์และมุสโสลินี

หรือในละตินอเมริกาในยุคสงครามเย็น ความกลัวการปฏิวัติคิวบา ก็นำไปสู่ปรากฏการณ์เดียวกัน

อารมณ์แห่งความกลัวของชนชั้นกลางจึงเป็นประเด็นที่ละเลยไม่ได้ เพราะปัจจัยนี้พร้อมที่กลายเป็นตัวแปรที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เสมอ

 

ความชื่นชอบใหม่

หลังจากการตัดสินใจของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มการเมืองสาย “ขวาจัด” โดยมีชนชั้นกลางเป็นผู้สนับสนุนรายสำคัญ ที่จะยุติการเมืองในระบบเปิดด้วยการ “ล้อมปราบใหญ่” อย่างที่ไม่เคยเกิดในการเมืองไทยมาก่อน

การปราบปรามในเมืองเช่นนี้เป็นความหวังว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดภัยคุกคามจากความกลัวคอมมิวนิสต์ลง

แต่ผลที่เกิดขึ้นดูจะพลิกไปอีกด้าน เพราะการใช้กำลังเข้าล้อมปราบทำให้คนหนุ่มสาวที่เป็นนิสิตนักศึกษาตัดสินใจเดินทางเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สงครามคอมมิวนิสต์ในชนบทไทยหลังจากปี 2519-2520 จึงขยับตัวขึ้นสู่กระแสสูงไปโดยปริยาย

จนทำให้เกิดการประเมินว่า หลังจากการล้มลงของสามโดมิโนในอินโดจีนในปี 2518 แล้ว ไทยน่าจะเป็นโดมิโนตัวที่ 4

ความกลัวของชนชั้นกลางกลับถูกท้าทายอีกวาระหนึ่ง

การปราบปรามพลังประชาธิปไตยในตุลาคม 2519 นำไปสู่การจัดตั้งระบอบอำนาจนิยมขึ้นที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง

แต่ผลสืบเนื่องอย่างไม่คาดคิดของการขยายสงครามของคอมมิวนิสต์ ทำให้ “ผู้นำทหารสายปฏิรูป” ตัดสินใจทำรัฐประหารใหม่เพื่อล้ม “รัฐบาลเผด็จการขวาจัด” ซึ่งได้ดำเนินนโยบายจนกลายเป็นเงื่อนไขของการขยายสงคราม หลังรัฐประหาร 2520 แล้ว ผู้นำทหารเริ่มต้องแสวงหา “แนวทางการเมืองใหม่” ที่จะดำรงความเป็นเผด็จการเต็มรูปเช่นในแบบรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2519 ไม่ได้

ดังนั้น การเมืองใหม่จะต้องเปิดเสรีในระดับหนึ่ง แต่จะไม่เปิดเสรีเต็มรูป และอำนาจที่สำคัญยังอยู่ในมือของผู้นำทหารเพื่อการควบคุมทางการเมือง สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ให้ความมั่นใจกับชนชั้นกลางว่า การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นจะไม่สร้างความกลัวให้แก่บรรดาชนชั้นกลาง เพราะยังคงมีสงครามคอมมิวนิสต์ในชนบท

การเมืองใหม่เช่นนี้นำไปสู่การก่อให้เกิด “ระบอบพันทาง” ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์-พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในยุคหลังปี 2521

เราคงต้องยอมรับว่าระบอบใหม่นี้แม้จะต้องอาศัยการสร้างอำนาจของ “รัฐราชการ” ให้เข้มแข็งในการเป็นฐานของการขับเคลื่อนตัวนโยบาย แต่ก็เป็นสิ่งที่สอดรับกับอารมณ์ชนชั้นกลางไทยในขณะนั้น เพราะเป็นการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีประสิทธิภาพในการผลักดันนโยบาย

อีกทั้งยังเป็นระบอบที่ใช้ในการต่อสู้กับภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังจะเห็นถึงการสิ้นสุดของสงครามภายในในปี 2525-2526 จนกล่าวได้ว่า พล.อ.เปรมคือ “แชมเปี้ยน” ของชนชั้นกลางเลยก็ว่าได้

อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวเสถียรภาพของรัฐบาลยังถูกพิสูจน์ด้วยความล้มเหลวของการรัฐประหารถึงสองครั้งในปี 2524 และ 2528 และเศรษฐกิจในช่วงนี้ ก็ถูกเรียกว่าเป็น “ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ชัชวาล” อันส่งผลให้ผู้คนมีความหวังกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอย่างมาก

นอกจากระบอบพันทางในยุคดังกล่าวกลายเป็นความชื่นชอบของชนชั้นกลางไปแล้ว ระบอบนี้ก็กลายเป็น “ตัวแบบ” ให้บรรดาผู้นำทหารที่ก้าวสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารว่า หลังจากการเปลี่ยนผ่านเกิดในแบบจำกัดคือ ยอมให้การเมืองไทยกลับสู่การเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งนั้น คณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับกำหนดกติกาทางการเมืองต่างๆ

แน่นอนว่าการดำเนินการเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เพื่อเตรียมเดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด

แต่เพื่อพาการเมืองกลับสู่ระบอบพันทางของผู้นำทหาร เพราะผู้นำรัฐประหารจะอาศัยเส้นทางเช่นนี้เป็นหนทางของการสืบทอดอำนาจ

แต่คำถามสำคัญคือ ถ้าผู้นำทหารตัดสินใจทำรัฐประหารและพาการเมืองไปในทิศทางเช่นนั้นแล้ว ชนชั้นกลางจะยอมรับพวกเขาได้ไหม

คำถามนี้ท้าทายอย่างยิ่งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ แต่ผู้นำรัฐประหารไทยปฏิบัติตนเป็น “ลูกศิษย์คนเก่ง” ของประธานเหมาเจ๋อตง ที่น้อมรับคำชี้แนะมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด บนหลักการว่า “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน”…

อำนาจรัฐของคณะรัฐประหารคือ “อำนาจปืน” ที่แท้จริง

 

เมื่อชนชั้นกลางเป็นเสือ!

ในท่ามกลางพลวัตของเศรษฐกิจการเมืองไทย ชนชั้นกลางในสังคมไทยเติบโตมากขึ้นจากเศรษฐกิจในยุคแห่ง “ความโชติช่วงชัชวาล” และเติบโตต่ออีกจากยุค “เปิดสนามรบเป็นสนามการค้า” ที่เป็นสัญญาณของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างชัดเจน จากช่วงปลายสงครามคอมมิวนิสต์สู่ช่วงยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ไทย ชนชั้นกลางจะแสดงบทบาทอย่างไรถ้า “ลูกศิษย์ประธานเหมา” ใตัดสินใจยึดอำนาจรัฐ

คำถามนี้ถูกตอบจากปรากฏการณ์ของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม 2535 แม้ผู้นำทหารจะมั่นใจด้วยความสำเร็จในการยึดอำนาจได้อย่างง่ายดายในการจับตัวนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะเดินทางไปราชการที่เชียงใหม่ ด้วยการใช้เครื่องบินซี-130 ของกองทัพอากาศ และถ้ายึดอำนาจได้แล้ว ที่เหลือก็ไม่น่าจะต้องมีอะไรให้กังวล เพราะประวัติศาสตร์เป็นมาเช่นนั้นเสมอ

แต่แล้วการสืบทอดอำนาจด้วยการเตรียมจัดตั้งรัฐบาลพันทางที่มีผู้นำรัฐประหารขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับการตอบรับเช่นในยุค พล.อ.เปรม กลับนำไปสู่การต่อต้านขนาดใหญ่ ตามมาด้วยการปราบปราม แต่พลิกมุมจบด้วยการที่ทหารเป็นฝ่ายแพ้

ถ้าใช้สำนวนของการต่อสู้ในเกาหลีใต้คือ “ชนชั้นกลางชนะแก๊สน้ำตา” และนำไปสู่ “ฤดูใบไม้ผลิครั้งที่ 2” ที่กรุงเทพฯ

เราอาจกล่าวจากประสบการณ์ในหลายประเทศ เช่น การเรืองอำนาจของรัฐบาลทหารในละตินอเมริกานั้น ชนชั้นกลางเป็นฐานสนับสนุนหลัก ในไทยเองรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ ก็มักมีชนชั้นกลางเป็นฐานเสียงหลักไม่แตกต่างกัน จึงอาจกล่าวเป็นสมมุติฐานในทางรัฐศาสตร์ได้ว่า ชนชั้นกลางคือกลุ่มที่พา “ทหารเข้าทำเนียบรัฐบาล” แต่ในละตินอเมริกาในยุคของการเอาทหารลงจากอำนาจ และพวกเขาก็ทำหน้าที่อย่างสำคัญในการพา “ทหารกลับกรมกอง” ส่วนชนชั้นกลางไทยในปี 2535 ได้แสดงบทในการล้มระบอบทหาร แต่การจะพากองทัพกลับเข้ากรมกองยังเป็นปัญหาที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า “ชนชั้นกลางทำให้ทหารมีอำนาจได้เช่นไร ชนชั้นกลางก็ทำให้ทหารหมดอำนาจได้เช่นนั้น” จนอยากเปรียบเทียบว่า ชนชั้นกลางที่พึงพอใจระบอบอำนาจนิยมคือ “เสือเชื่อง” ที่ให้ผู้นำทหารขี่ทะยานโลดแล่นไป แต่เมื่อชนชั้นกลางไม่พอใจรัฐบาลเช่นนี้ ชนชั้นกลางก็พร้อมที่จะแปลงร่างเป็น “เสือดุ” สะบัดผู้นำทหารให้ตกหลังเสือและถูกขบกัดได้

การเมืองของชนชั้นกลางกับทหารจึงเป็นเงื่อนไขของ “เวลาและสถานที่” มากกว่าจะเป็นคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จ เพราะในอีกหลายปีถัดมา ชนชั้นกลางไทยหันกลับไปเล่นบทอนุรักษนิยมอีก!