ย้ายใหญ่มหาดไทย จัดทัพรอบสุดท้าย นับถอยหลัง ก่อนเลือกตั้งใหญ่/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ย้ายใหญ่มหาดไทย

จัดทัพรอบสุดท้าย

นับถอยหลัง ก่อนเลือกตั้งใหญ่

 

ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 23 สิงหาคม ได้พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงทั้งกรณีเกษียณอายุราชการและโยกย้ายสลับ รวม 37 ตำแหน่ง

ซึ่งถือว่าเป็นการโยกย้ายครั้งใหญ่ ก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 และเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ ตามกติกาการเลือกตั้งใหม่ที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ คือ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

ไปดูกันที่ตำแหน่งสำคัญ ก็จะพบว่าการแต่งตั้งครั้งนี้เป็นการโยกย้ายครั้งสำคัญ เพราะเป็นการโยกย้ายอธิบดีใหม่แทบทุกกรม เช่น อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

เหลือเพียงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเท่านั้นที่ไม่มีการโยกย้าย

 

ในส่วนตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีการย้ายตัวพ่อเมืองในจังหวัดสำคัญหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยภูมิ ชุมพร เชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พังงา พิษณุโลก ร้อยเอ็ด ระยอง ลพบุรี ลำปาง ลำพูน สตูล สระบุรี สิงห์บุรี สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี

การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย กว่า 37 ตำแหน่ง นอกจากเป็นการปรับหมุนเวียนตำแหน่งในหมู่ข้าราชการสายสิงห์ดำ (จบรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ยังคาดว่าเป็นการจัดทัพข้าราชการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับศึกเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงในปี 2566

โดยมีการปรับทัพในจังหวัดยุทธศาสตร์ทางการเมือง ทั้งเหนือ-อีสาน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งปรับเก้าอี้อธิบดีกรมสำคัญๆ

 

ถ้าไปดูที่กรมการปกครอง คราวนี้เป็นคิวของ แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ที่ถูกโยกมาจากการเป็นผู้ว่าฯ สระบุรี สู่อธิบดีกรมการปกครองซึ่งคุมกลไกบริหารนักปกครองทั้งประเทศ แมนรัตน์ถือว่าเป็นรุ่นพี่สิงห์ดำคนหนึ่งของสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีความใกล้ชิดกับอดีตปลัดกระทรวงหลายคน เช่น นายวิชัย ศรีขวัญ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ถือว่าเป็นคนที่เติบโตมาจากสายสำนักงานปลัดกระทรวง ชื่อเสียงของแมนรัตน์ในแวดวงข้าราชการกระทรวงมหาดไทยจะเข้าใจว่าเป็นคนที่ค่อนข้างบู๊คนหนึ่ง

นายวันชัย คงเกษม ที่พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ สมุทรปราการ ไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ อุดรธานี เมืองหลวงภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย ก็เป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของนายแมนรัตน์ และเป็นรุ่นพี่สถาบันเดียวกับนายสุทธิพงษ์ สลับกับนายสยาม ศิริมงคล พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ อุดรธานี ที่เตรียมไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในมือทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และยังเป็น “สิงห์ดำ” ด้วยกัน

ขณะที่อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ จากรองปลัดกระทรวง ถูกแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน สลับกับนายสมคิด จันทมฤก มาเป็นรองปลัดกระทรวงอีกครั้ง ซึ่งนายสมคิดก็เป็นหนึ่งในมือทำงาน “สายบุ๋น” ที่ พล.อ.อนุพงษ์ไว้ใจ

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวง “สิงห์ดำ” ย้ายไปเป็นผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เคยเป็นทั้งผู้ว่าฯ อุดรธานี ผู้ว่าฯ บึงกาฬ มีดีกรีเป็นผู้ว่าฯ อายุน้อยลำดับต้นๆ เพราะครองเก้าอี้ผู้ว่าฯ ตั้งแต่อายุ 47 ปี แต่บัดนี้ถูกย้ายไปดูจังหวัดใหญ่อย่างเชียงใหม่ด้วยวัย 50 ปี

 

กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ขยับนายพรพจน์ เพ็ญพาส จากอธิบดีมาเป็นรองปลัดกระทรวง โดยเปิดทางนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ จากผู้ว่าฯ อุบลราชธานี แต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็น “สิงห์ไร้สี” เพราะจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ม.สงขลานครินทร์ แต่ก็เป็น “ลูกหม้อ” กรมโยธาฯ เช่นกัน

ขณะที่ตำแหน่งอื่นๆ นอกเหนือจากไลน์โยกย้ายของข้าราชการสาย “สิงห์ดำ” เช่น ทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ ที่กำลังไปเป็นผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด น่าจับตาตรงที่เป็น “สิงห์แดง” รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เติบโตในชีวิตข้าราชการสายปกครองที่ จ.บุรีรัมย์ มีคอนเน็กชั่น นักการเมืองสายพรรคภูมิใจไทยเป็นอย่างดี ในยุคที่พรรคภูมิใจไทยคุมกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยได้นั่งเลขานุการกรมการปกครอง เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ รองผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ รองผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด รองผู้ว่าฯ สิงห์บุรี

อีกจังหวัดที่น่าสนใจและทำให้การแต่งตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างล่าช้าคือ ผู้ว่าฯ ชลบุรี ที่มีการแข่งขันกันระหว่างบ้านใหญ่ชลบุรี ซึ่งในที่สุด นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯ ชลบุรี จบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือสิงห์ทอง

มีความใกล้ชิดกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่อาจทำให้กลุ่มนายสนธยา คุณปลื้ม บ้านใหญ่ชลบุรีตัดสินใจย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐ

 

เป็นที่น่าจับตาว่า การโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งใหญ่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งขึ้นในช่วงต้นปี 2566 ในมิติของการจัดการทรัพยากรก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกลไกการปกครอง โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ได้รับการพิสูจน์มาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงการเมืองยุคประชาธิปไตยหรือการเมืองแบบกึ่งประชาธิปไตยก็ตาม กลไกเหล่านี้มีประโยชน์ในการจัดการเชิงพื้นที่ เมื่อหมายถึงการเลือกตั้ง ก็คือเรื่องคะแนนเสียงนั่นเอง

การย้ายผู้ว่าฯ หรือนักปกครองที่สนิทกับนักการเมืองในท้องที่ หรือเป็นแขนขาของนักการเมือง เมื่อบริบททางการเมืองเปลี่ยน นักการเมืองมีการย้ายค่าย หรือเปลี่ยนขั้วอุดมการณ์ความคิด ก็จำเป็นต้องจัดทัพข้าราชการฝ่ายปกครองใหม่

สำคัญที่สุดคือภารกิจการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้านี้นั่นเอง

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา ฝ่ายกิจการประธานกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในการเลือกตั้งปี 2566 โดยคำนวณจากจำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 รวม 66,171,439 คน โดยตามกฎหมาย กำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน 400 เขตเลือกตั้ง จากเดิม 350 คน 350 เขตเลือกตั้ง

เมื่อตรวจสอบจำนวนที่นั่ง ส.ส. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นใหม่ ในจำนวน 400 เขต จะพบว่าในส่วนของภาคเหนือมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น จากเดิม 33 คน เพิ่มเป็น 39 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเดิม 116 คน เพิ่มเป็น 132 คน และภาคกลาง จากเดิม 106 คน เพิ่มเป็น 122 คน ภาคตะวันออก ส.ส.รวม 29 คน เดิม 26 คน ภาคตะวันตก ส.ส.รวม 20 คน เดิม 19 คน และภาคใต้ ส.ส.รวม 58 คน เดิม 50 คน

มีจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. บวกเพิ่มขึ้น 3 คน 1 จังหวัด 2 คน 5 จังหวัด 1 คน 37 จังหวัด ขณะที่จำนวน ส.ส.เท่าเดิมไม่ปรับเพิ่มมีจำนวน 35 จังหวัด

จำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดแบ่งเป็น ส.ส. 1 คน 4 จังหวัด ส.ส. 2 คน 10 จังหวัด ส.ส. 3 คน 19 จังหวัด ส.ส. 4 คน 12 จังหวัด ส.ส. 5 คน 7 จังหวัด ส.ส. 6 คน 5 จังหวัด ส.ส. 7 คน 4 จังหวัด ส.ส. 8 คน 5 จังหวัด ส.ส. 9 คน 4 จังหวัด ส.ส. 10 คน 2 จังหวัด ส.ส. 11 คน 3 จังหวัด ส.ส. 16 คน 1 จังหวัด ส.ส. 33 คน 1 จังหวัด

เมื่อสแกนดูที่จำนวน ส.ส.ในส่วนของจังหวัดใหญ่ที่เพิ่มขึ้น อาทิ จ.นครราชสีมา มี ส.ส.เพิ่มเป็น 16 คน จ.ขอนแก่น จ.อุบลราชธานี จ.เชียงใหม่ มี ส.ส.เพิ่มเป็น 11 คน จ.ชลบุรี มี ส.ส.เพิ่มเป็น 10 คน จ.อุดรธานี มี ส.ส.เพิ่มเป็น 9 คน ซึ่งพื้นที่ในส่วนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พรรคเพื่อไทย (พท.) มีจำนวน ส.ส. รวมทั้งฐานเสียงและคะแนนนิยม ครองพื้นที่เป็นอันดับหนึ่ง

 

อีกเรื่องที่น่าจับตามากคือนโยบายลดแลกแจกแถมก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งเคยทำมาแล้วในช่วงปลายปี 2561 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 2562 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแจกเงิน โครงการช้อปช่วยชาติ การคืนแวตจากการช้อปปิ้งช่วงตรุษจีน ว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ช่วงปลายปีนี้ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 2566 ต่อจากโครงการคนละครึ่งเฟส 5 คนละ 800 บาท

เพราะถ้าดูจากการออกแบบงบประมาณปี 2566 ก็ถือว่าเปิดโอกาสให้มีการใช้งบฯ ในลักษณะนี้จนถูกฝ่ายค้านวิจารณ์ในสภาว่าเป็นการจัดงบฯ แบบเทกระจาด คล้ายจะเล็งเห็นผลไปสู่การเลือกตั้งและการสืบทอดอำนาจ

ทิศทางการเมืองหลังจากนี้จึงน่าจับตา เพราะการเมืองไทยพลิกเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญหาการตีความเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จะเป็นชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปจนถึงเลือกตั้งครั้งหน้าเลยหรือไม่ หลังจากถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักจากการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่ได้ชื่อประยุทธ์ เกมการเมืองก็ต้องเปลี่ยนอีกเยอะ