ราคาสินค้าอาหารโลก มีแนวโน้มพุ่งสูงอีกครั้ง/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

ราคาสินค้าอาหารโลก

มีแนวโน้มพุ่งสูงอีกครั้ง

 

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ประจำเดือนกรกฎาคม ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาข้าวสาลีและน้ำมันพืช

แม็กซิโม โตเรโร หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำเอฟเอโอบอกว่า การลดลงมาจาก “ระดับที่สูงมาก” ดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็เตือนไว้พร้อมๆ กันว่า แนวโน้มที่ว่านี้อาจอยู่ได้ไม่นาน

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ลดลง 8.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน และเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากในเดือนมิถุนายนลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่ 2.3 เปอร์เซ็นต์

แม้จะลดลงมาก แต่ถ้าเทียบราคาในเดือนกรกฎาคมปีนี้กับปีที่แล้ว ราคาในเดือนกรกฎาคมยังคงสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 13.1 เปอร์เซ็นต์

นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า ในระยะสั้น ราคาสินค้าอาหารของโลก อย่างข้าวสาลี, ถั่วเหลือง, น้ำตาล และข้าวโพด อาจลดลงต่อไปอีก โดยอาจจะลงไปอยู่ในระดับที่เคยตกลงซื้อขายกันเมื่อต้นปีนี้ โดยให้เหตุผลทั้งด้านซัพพลายและดีมานด์ผสมผสานกันเป็นแรงกดดันต่อราคาดังกล่าว

 

ร็อบ วอส ผู้อำนวยการด้านตลาดและการค้าของสถาบันวิจัยนโยบายสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ ชี้ว่า ปัจจัยที่ช่วยให้ราคาสินค้าเกษตรโลกลดลง มีตั้งแต่เรื่องความตกลงระหว่างยูเครนกับรัสเซียเพื่อเปิดทางให้มีการส่งสินค้าออกผ่านทะเลดำได้อีกครั้ง เรื่อยไปจนถึงฤดูกาลเพาะปลูกที่ให้ผลผลิตดีกว่าที่คาด, แนวโน้มชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้ดีมานด์ลดลง หรือแม้แต่การที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมากก็เป็นเหตุให้ราคาสินค้าอาหารลดลงเช่นเดียวกัน

สินค้าอาหารซื้อขายกันด้วยเงินสกุลดอลลาร์ และผู้ซื้อมักร้องขอให้ลดราคาลงเมื่อค่าเงินดอลลาร์แข็งผิดปกติ เพื่อชดเชยกับอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไป เหมือนเช่นในเวลานี้

การส่งออกข้าวโพดจากยูเครนเที่ยวแรกหลังจากเกิดสงคราม ปริมาณ 26,000 ตัน ผ่านท่าเรือโอเดสซา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ช่วยทำให้ตลาดสินค้าเกษตรโลกเย็นลงได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งโลกก็ยังเคลือบแคลงอยู่ดีว่า รัสเซียจะรักษาคำสัญญาของตัวเองอยู่ได้นานเพียงใด

วอสเชื่อว่า ภายใต้ความระแวงสงสัยดังกล่าวอาจทำให้บริษัทขนส่งสินค้าและบริษัทประกัน คิดว่าอาจยังคงเป็นเรื่องเสี่ยงมากเกินไปที่จะส่งเรือไปรับสินค้าจากท่าเรือในเขตสงครามเช่นนั้น ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าอาหารจะยังคงผันผวนได้โดยง่าย มีอะไรกระตุกเพียงเล็กน้อย ราคาสามารถพุ่งสูงได้ใหม่ในทันที

วอสระบุว่า การที่ยูเครนสามารถส่งออกได้เป็นเรื่องดี แต่การส่งออกเพียงไม่กี่เที่ยวไม่ทำให้ราคามีเสถียรภาพมากนัก หากจะให้ราคามีเสถียรภาพจริงๆ ยูเครนควรต้องส่งออกได้ระหว่าง 30-40 เที่ยวต่อเดือนจึงจะสามารถระบายสต๊อกที่มีอยู่ในยูเครนออกไปได้หมดในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เดิมทียูเครนเคยส่งออกธัญพืชได้มากที่สุด

ดังนั้น รัสเซียต้องยึดมั่นในคำสัญญาไว้ต่อเนื่องตลอดครึ่งหลังของปีนี้

 

จอห์น ริช ผู้บริหารบริษัทเอ็มเอชพี ยักษ์ใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของยูเครน ระบุว่า การส่งออกธัญพืชจากยูเครนต้องไม่เพียงแค่ทำได้เฉยๆ เพียงไม่กี่เที่ยวเท่านั้น หากยังมีแรงกดดันว่าจะต้องส่งออกให้ได้มากพอ และต้องเร็วเพียงพออีกด้วย จึงสามารถระงับความผันผวนของตลาดได้

ปริมาณส่งออกที่ควรเป็นคือระหว่าง 2-5 ล้านตันต่อเดือน ซึ่งจนถึงบัดนี้ ริชยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้อย่างไร

คาร์ลอส เมรา หัวหน้าทีมวิจัยแผนกสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตรของโรโบแบงก์ชี้ว่า ตราบเท่าที่ยังคงมีสงคราม ความเสี่ยงเรื่องราคาพุ่งสูงก็ยังจะคงอยู่ เพราะพื้นที่เพาะปลูกในยูเครนก็จะยังคงถูกทำลายต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่า การสู้รบจะส่งผลโดยตรงทำให้ผลผลิตในฤดูกาลหน้าลดน้อยลง และเป็นปัจจัยให้ราคาสินค้าเกษตรโลกในฤดูกาลต่อไปปรับสูงขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าความตกลงให้ยูเครนส่งออกได้จะยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ต่อไปก็ตาม

นักวิเคราะห์ของฟิตช์ เรตติ้ง บ่งชี้เอาไว้เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ว่า เป็นไปได้ที่ราคาปุ๋ย ซึ่งแม้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ก็ยังอยู่ที่ระดับสูงกว่าเมื่อปี 2020 ถึงเท่าตัว อาจถีบตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพืชอาหารแพงขึ้นแบบก้าวกระโดดอีกรอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เหตุผลก็คือ รัสเซียเข้มงวดกับการส่งก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรป ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปสูงขึ้นอย่างพรวดพราด ก๊าซธรรมชาติเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตปุ๋ยเคมีที่มีไนโตรเจนเป็นเบส ดังนั้น ราคาปุ๋ยจึงสูงตามไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้

นอกจากนั้น ฟิตช์ยังระบุว่า ภาวะอากาศแบบลานินญา ก็อาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง เพราะจะส่งผลก่อกวนกระบวนการผลิตทางการเกษตรจนได้ผลผลิตน้อยลงมากนั่นเอง

แม็กซิโม โตเรโร แห่งเอฟเอโอเองยอมรับว่า แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในอนาคตยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นปัจจัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลกด้วยกันทั้งสิ้น

และไม่ยากที่จะก่อให้เกิดวิกฤตอาหารขึ้นในประเทศยากจนและกำลังพัฒนาทั้งหลายอีกคำรบ