2 พันโรงงาน 5 นิคม ‘อยุธยา’ ระทึก ตั้งวอร์รูมรับมือมวลน้ำก้อนใหญ่/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

2 พันโรงงาน 5 นิคม ‘อยุธยา’ ระทึก

ตั้งวอร์รูมรับมือมวลน้ำก้อนใหญ่

 

สถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องทั่วทุกภาคของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้พื้นที่หลายจังหวัดเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

ขณะเดียวกันทำให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานเริ่มมีปริมาณน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยหลายแห่งมีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่าง

ดังนั้น กรมชลประทานจึงบริหารจัดการ โดยเร่งระบายน้ำออกมา ซึ่งได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และเกษตรกร

ยิ่งมีนักวิชาการออกมาเตือนว่า ช่วงปลายปี 2565 มีโอกาสที่น้ำจะท่วมใหญ่เทียบเท่ากับเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ยิ่งทำให้เกิดความกังวล โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในภาคกลาง

 

สําหรับพื้นที่ภาคกลางที่นอกจากจะเป็นพื้นที่ปลูกข้าวขนาดใหญ่แล้ว ยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่มีโรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีโรงงานตั้งอยู่มากกว่า 2,134 โรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานของนักลงทุนต่างชาติประมาณ 60% ซึ่งมีทั้งญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และประเทศโซนยุโรป

ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าสภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงวันที่ 24-29 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 17.00-20.30 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง

ประกอบกับมีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก จะทำให้มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) และเขื่อนพระรามหกมีน้ำไหลผ่านในเกณฑ์ 400-500 ลบ.ม./วินาที

ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการหลายคนต่างจับตามวลน้ำก้อนใหญ่ดังกล่าวอย่างไม่ไว้วางใจ

ล่าสุด นายวุฒิชัย ด่านชัยวิจิตร นายกเทศมนตรีเมืองอโยธยา ได้สั่งการให้เร่งปิดประตูระบายน้ำกระมัง ประตูระบายน้ำวัดป่าโค และประตูระบายน้ำวัดเกาะแก้ว เขตเทศบาลเมืองอโยธยา เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจและป้องกันน้ำเข้าท่วมพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ

โดยทางเทศบาลเมืองอโยธยา ร่วมกับชลประทาน ตรวจสอบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและภาคอุตสาหกรรม จึงดำเนินการปิดประตูน้ำทั้ง 3 จุด โดยจะรักษาระดับน้ำหน้าบานประตูที่ 2.75 เมตร และหลังประตูระบายน้ำที่ 2.30 เมตร

 

น.ส.บงกช แจ่มทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัด กังวลในช่วงวันที่ 23-25 สิงหาคม 2566 กรมชลประทานจะปรับการระบายน้ำเพิ่ม โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,500-1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที

เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาถือเป็นพื้นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดหลัก 5 แห่ง ประกอบด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 3 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) 3.นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง (เดิมคือ นิคมสหรัตนนคร)

ส่วนของเอกชนมี 2 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และ 2.นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ 2,134 โรงงาน

น.ส.บงกชให้ข้อมูลอีกว่า ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เรียกประชุมและมีการจัดตั้งวอร์รูมร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุ รวมถึงมีการแจ้งข้อมูลให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทราบทุกวัน ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดได้ประชาสัมพันธ์ต่อไปยังนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติต้องการรับทราบข้อมูลปริมาณระดับน้ำ สถานีสูบน้ำ เพื่อนำไปประเมินว่าเขื่อนของนิคมอุตฯ ต่างๆ สามารถรับน้ำได้ในระดับใด

และหวังว่าการประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนไม่ต้องตื่นตระหนัก

ตอนนี้ตัวสถานประกอบการหรือโรงงานไม่กังวลเรื่องจะถูกน้ำท่วมเข้าโรงงานเหมือนปี 2554 เพราะแต่ละนิคมอุตสาหกรรมมีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมอย่างแข็งแรงตั้งแต่บทเรียนปี 2554 ทำให้แต่ละโรงงานมั่นใจความสูงของเขื่อนประมาณ 6 เมตร และระบบการบริหารจัดการระบายของทางหน่วยราชการ

น.ส.บงกชกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการโรงงานกังวลคือ ผู้ใช้แรงงาน พนักงานที่ทำงานในโรงงานที่กระจายอยู่ทั่วจังหวัดประมาณ 302,151 คน โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมเป็นประจำซ้ำซาก บริเวณ อ.ผักไห่ อ.บางบาล และ อ.เสนา จะเดินทางมาทำงานลำบาก ดังนั้น แต่ละสถานประกอบการจึงได้วางแนวปฏิบัติให้แรงงานมาทำงานได้ เพื่อไม่ให้กระทบกระบวนการผลิตภายในโรงงาน รวมถึงเตรียมแผนการช่วยเหลือ และเยียวยา

“สถานประกอบการไม่ค่อยกังวลเรื่องน้ำท่วมโรงงาน เพราะมีเขื่อนป้องกันไว้แล้ว แต่ห่วงเรื่องการวางแผนดูแลพนักงานกันอย่างไร จะเอาคนมาทำงานอย่างไร เพราะบ้านพนักงานบางคนน้ำท่วม เดินทางมาทำงานไม่สะดวก นอกจากนี้ หากมีน้ำท่วมบางเส้นทางทำให้การคมนาคมขนส่งไม่สะดวกทั้งการส่งวัตถุดิบเข้าโรงงาน หรือขนส่งสินค้าออกจากโรงงานไปท่าเรือแหลมฉบังไม่สะดวก”

อย่างไรก็ตาม เรื่องระบบโลจิสติกส์เหล่านี้แต่ละโรงงานได้มีการจัดทำแผนรองรับไว้แล้ว โดยประชุมร่วมกับกับซัพพลายเออร์ และฝ่ายยานพาหนะของโรงงานเองไว้หมดแล้ว หลังจากเคยผ่านวิกฤตในปี 2554 หากสถานการณ์แค่ระดับนี้จะทำอย่างไร หากน้ำเพิ่มมากขึ้นจะส่งต่อสินค้ากันอย่างไร จะเก็บสินค้าไว้ล่วงหน้าอย่างไร มีการบูรณาการในเรื่องของคลังสินค้า และระบบการเตือนภัยเป็นขั้นตอน

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้กรมได้เตรียมพร้อมรับน้ำฝนที่อาจจะตกเพิ่มอีกช่วงเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน โดยเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนให้มากขึ้น ประมาณ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อให้มีช่องว่างในการรับปริมาณน้ำ และแม้จะมีทุ่งรับน้ำ 13 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา

แต่การระบายน้ำจะพยายามไม่ให้กระทบพื้นที่เพาะปลูกนาข้าวลุ่มเจ้าพระยา พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 30,000 ไร่ โดยช่วงหลังเกี่ยวข้าวแล้วการพิจารณาในเรื่องผันน้ำเข้าทุ่งจะเป็นลำดับสุดท้าย ขณะเดียวกันเขื่อนเจ้าพระยาจะระบายน้ำมากว่า 1,300 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อให้กระทบน้อยที่สุด หลังเก็บเกี่ยวแล้วจึงจะเพิ่มการระบายมากขึ้นได้ เพื่อให้มีพื้นที่เหนือเขื่อนรองรับน้ำได้

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ กรมชลประทานได้ประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยทุกวันจันทร์ โดยมีการหารือถึงสถานการณ์ และวางมาตรการเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ การระบายน้ำพื้นที่รอบกรุงเทพฯ ลงอ่าวไทย ผ่านคลองระพีพัฒน์ ระบายลงแม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง ถ้าลงมาถึงคลองแสนแสบ มีสถานีบางขนาด สูบออกไปลงแม่น้ำบางปะกง ลงคลองชายทะเล หลายพื้นที่ได้มีการติดตั้งเครื่องมือไว้ค่อนข้างพร้อม จึงมั่นใจได้ว่าปริมาณน้ำที่มารอบนอกกรุงเทพฯ จะระบายออกได้เร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มหาอุทกภัยปี 2554 ส่วนหนึ่งของวิกฤตเกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของหน่วยงานภาครัฐ ถึงวันนี้ผ่านมา 10 ปี หวังว่าจะไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น