คุณแม่ ‘มีชัย’ / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

คุณแม่ ‘มีชัย’

 

เรื่องตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครบ 8 ปีเมื่อไร

เป็น “คำถาม” ที่มี “คำตอบ” มากมาย

แต่คนที่มีอำนาจในการตอบมีอยู่เพียงองค์กรเดียว

นั่นคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

“คำตอบ” ของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นข้อยุติทางกฎหมาย

แต่จะ “ยุติ” ความรู้สึกในใจคนได้หรือไม่

ไม่มีใครรู้

ตอนนี้มีการวิเคราะห์ออกมาได้ 3 ทาง

ทางหนึ่ง คือ ต้องนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็น “นายกรัฐมนตรี” หลังการรัฐประหาร

ครบ 8 ปี เที่ยงคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

ทางหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อไร ก็นับตั้งแต่วันนั้น

ครบ 8 ปี ในปี 2568

ทางหนึ่ง คือ ให้นับตั้งแต่รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2562

ครบ 8 ปี ในปี 2570

ทุกแนวทาง นักกฎหมายที่สนับสนุนแนวทางนั้นก็มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับทั้งสิ้น

เรื่องเดียวกัน ทุกคนเรียนนิติศาสตร์มาเหมือนกัน แต่คิดต่างกัน

เจอแบบนี้หลายครั้ง ทำให้ผมสรุปได้ว่า “ความยุติธรรม” ของกฎหมายขึ้นกับว่าใครมีอำนาจตัดสิน

…แค่นั้นเอง

 

ประเด็นปัญหาเรื่องอายุ 8 ปีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ มาจากมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560

ลองอ่านดูนะครับ

“มาตรา 158

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

ฝ่ายที่ตีความว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ

เพราะเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามมาตรา 158 วรรคสอง

“นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159”

มาตรา 159 คือ มาตราที่บอกว่าที่มาของ “นายกฯ” เป็นอย่างไร

ต้องตั้งจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และมีขั้นตอนในสภา ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ฝ่ายนี้จะสรุปว่าการตีความว่านายกฯ อยู่เกิน 8 ปีหรือไม่ ต้องพิจารณามาตรา 158 วรรคสอง ที่ระบุว่า นายกฯ ต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159

ซึ่งการเลือกนายกฯ ตามมาตราดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2562

การเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2562 มิได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสอง จึงนำเวลามารวมกันไม่ได้

“การอ่านและตีความกฎหมายในกรณีที่มีหลายวรรคนั้น ต้องพิจารณาประกอบกันทุกวรรค มิใช่นำมาพิจารณาใช้เพียงวรรคเดียวโดยมิได้นำวรรคอื่นมาพิจารณาประกอบด้วย”

เขาบอกว่า นี่คือหลักการอ่านและตีความกฎหมายทั่วไป

แต่เมื่อการตีความรัฐธรรมนูญของนักกฎหมายแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ผมจึงคิดแบบ “อริยสัจสี่” แบบที่ พล.อ.ประยุทธ์สอนนักข่าว

“สาเหตุแห่งทุกข์” อยู่ที่ไหน

ใครเป็นคนร่าง?

ตอบ…กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ

ใครเป็น “ประธาน”?

ตอบ…นายมีชัย ฤชุพันธุ์

เมื่อคุณมีชัยเป็นประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

เขาจึงน่าจะเป็นคนที่เข้าใจรัฐธรรมนูญฉบับนี้

และตีความรัฐธรรมนูญได้ดีที่สุด

 

ในบันทึกการประชุมของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561

หลังจากที่รัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติแล้ว

ตอนนั้นข้อความในมาตรา 158 เขียนเสร็จเรียบร้อย แก้ไขไม่ได้

การประชุมวันนั้น ต้องการพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบของรัฐธรรมนูญ ปี 2560

เขียนไว้แล้ว แต่มาดูให้รอบคอบอีกครั้ง

ที่ประชุมเริ่มพิจารณามาตรา 158 เป็นมาตราแรก

วิธีการประชุม จะเริ่มจาก 1. อ่านเนื้อหาในมาตรานี้-ความมุ่งหมาย และคำอธิบายประกอบที่เขียนไว้แล้วเมื่อครั้งก่อน

2. ประธานจะตั้งประเด็นพิจารณา

ถกเถียงกันเรียบร้อย ก็จะสรุปเป็นมติที่ประชุมว่าแก้ไขเรื่องไหนบ้าง

ขั้นตอนเป็นแบบนี้

วันนั้นพอผ่านขั้นตอนที่ 1

คุณมีชัยก็ตั้งประเด็นพิจารณาขึ้นมาว่า “ผู้ที่เป็นนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่”

เหมือนคุณมีชัยมีญาณวิเศษทำนายอนาคตล่วงหน้าได้ว่าในอนาคตจะมีคนตั้งคำถามเรื่องนี้อย่างแน่นอน

คนที่ร่างรัฐธรรมนูญก็ควรจะมีคำตอบให้กับคำถามในอนาคต

การตั้งประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาแสดงว่าถ้าหลักการอ่านและตีความกฎหมายเป็นไปแบบง่ายๆ คือ นายกฯ ที่นับอายุ 8 ปีตามวรรคสี่ ต้องเป็นนายกฯ แบบวรรค 2 เท่านั้น

คนอย่าง “มีชัย” ที่เขียนมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากับมือ

คงไม่ตั้งประเด็นที่ผิดหลักการตีความกฎหมายแบบนี้ขึ้นมา

แสดงว่า “มีชัย” ไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการตีความดังกล่าว

ไม่งั้นจะถามทำไม

พอตั้งประเด็นคำถามขึ้นมา คนที่ให้ความเห็นคนแรก คือ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคนที่ 1

ความเห็นของเขาชัดเจนมาก

“หากนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย”

จากนั้นคุณมีชัยก็ขยายความอธิบายว่า ทำไมเขาจึงตีความแบบนั้น โดยหยิบยกบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มาอ้างถึง

บทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่…”

คุณมีชัยบอกว่าการบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี

ประโยคนี้คือการมัดตราสัง พล.อ.ประยุทธ์อย่างแน่นหนาที่สุด

เพราะคนที่มัด คือ ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

เรื่องนี้สำคัญมาก

กรรมาธิการคนไหนจะอ้างว่าในที่ประชุมมีความเห็นแย้งคุณมีชัย แต่ไม่ได้บันทึกไว้

ประเด็นก็คือ หลังการประชุมและมีการเขียนบันทึกฉบับนี้แล้ว

เนื้อหาในบันทึกการประชุมทั้งหมด ได้ผ่านสายตากรรมาธิการชุดนี้อีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป

และทุกคนรับรองบันทึกนี้ในการประชุมครั้งต่อไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561

 

ผมไม่รู้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะใช้หลักการไหนในการตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ครบวาระ 8 ปีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อไร

แต่ผมรู้ว่าคนที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาคิดอย่างไรก่อนจะเขียนมาตรา 158

ไม่มีใครรู้จัก “ลูก” ดีเท่ากับ “คุณแม่” ที่คลอดมาหรอกครับ •