จัตวา กลิ่นสุนทร : รำลึกถึงอาจารย์ประหยัด (ท่านพี่) ถวัลย์ 2 ศิลปินอารมณ์ (ดี) สุนทรีย์

กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม) (ปี 2540) ซึ่งก็รู้จักกันในนาม “ศิลปินสองซีกโลก” เจ้าของ “111/1 หอศิลป์บ้านเกิด” ส่งไลน์มาบอกซ้ำย้ำเตือนว่า

เดือนกันยายน 2560 ครบรอบ 3 ปีการจากไปของอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ และ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี 2 ปราชญ์วาดรูป “ศิลปินแห่งชาติ” สุดยอดฝีมือผู้อุดมไปด้วยอารมณ์ขันอันเหลือเฟือ

เจ้าของผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงเฉพาะในบ้านเราเท่านั้น ในต่างประเทศก็เป็นที่ชื่นชมชอบพอ และนิยมสะสมผลงานของศิลปินร่วมสมัยของไทยทั้ง 2 ท่านนี้ ทั้งๆ ที่มีราคาสูงจนคนไทยทั่วๆ ไปยากที่จะจับต้อง โดยเฉพาะ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี จะมีตัวเลขถึง 7 หลักขึ้นไป

มีเรื่องเรียงลำดับเข้ามาค่อนข้างมากพอสมควร กระทั่งนำเสนอไม่ค่อยทัน เพียงเพราะได้เขียนเล่าขาน 7 วันครั้งหนึ่งตามเวลาของนิตยสารรายสัปดาห์ เพราะฉะนั้น วันครบ 3 ปี การจากลาโลกสู่ภพอื่นของท่าน อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ คือวันที่ 19 กันยายน 2557 จึงเลยมาแล้ว

เช่นเดียวกับ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี เจ้าของ “บ้านดำ นางแล” จังหวัดเชียงราย เสียชีวิตอย่างสงบวันที่ 3 กันยายน 2557 ก่อนอาจารย์ประหยัด 16 วัน

และคงไม่เป็นอะไรสำหรับการรำลึกถึงท่านทั้งสองดีไปกว่าบอกซ้ำย้ำเตือนให้ทายาทผู้สnบสานต่อของอาจารย์ประหยัด ทายาทคนเดียวของปราชญ์วาดรูปช่วยกันอนุรักษ์สิ่งที่ท่านทั้งสองสร้างไว้ให้ยาวนานเป็นประวัติศาสตร์

เนื่องจากผลงานการสร้างสรรค์ศิลปะ และการอุทิศตนด้วยความเสียสละเพื่อสังคม โดยเฉพาะในแวดวงการเรียนการสอนศิลปะของประเทศไทยของศิลปินพี่น้องสองท่านนี้คิดว่าคงไม่มีใครลืม

 

อันที่จริงได้พบเจอะเจอกับ กมล ทัศนาญชลี เป็นประจำแม้เขาจะมีคิวงานมากขนาดไหนก็ตาม ทุกครั้งที่เดินทางจากสหรัฐมาทำงานในประเทศไทย ดังที่ได้กล่าวเสมอๆ ว่าหลายสิบปีมาแล้วที่เขากลับมาอยู่ในเมืองไทยมากกว่าบ้านพักที่สหรัฐอเมริกา โดยคิดค้นโครงการต่างๆ ทุ่มเททำงานสร้างสรรค์ให้แก่กระทรวงวัฒนธรรม และวงการศิลปร่วมสมัยของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันก่อนเดินทางกลับสหรัฐ ตอนต้นเดือนตุลาคม 2560 ได้ร่วมประชุมกับกองทุนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และ “คณะศิลปินแห่งชาติ” ทุกสาขาเพื่อระดมความคิดเห็นมาหาแนวทางในการพัฒนาผลงานของศิลปินแห่งชาติ

นอกจากนั้น ยังได้เดินทางไปติดตามทวงถามผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติใน “หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยบูรพา” เพราะทราบว่าถูกละเลยปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น

พร้อมระดมความคิดเพื่อหาทางช่วยเหลือกอบกู้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ให้พลิกฟื้นคืนกลับมาสร้างประโยชน์ทางด้านศิลปวัฒนธรรม และวงการการศึกษาศิลปะร่วมสมัย

หอศิลป์วัฒนธรรม ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับการผลักดันจาก (ท่านพี่) ชวน หลีกภัย สมัยที่ท่านเป็น “นายกรัฐมนตรี” และกลุ่มผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี กระทั่งสามารถได้ก่อตั้งขึ้น สำหรับตัวอาคารใช้เงินงบประมาณจำนวนไม่น้อยกว่า 70 ล้านบาท

กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม) (2540) ได้เป็นแกนนำคนสำคัญในการเชิญกลุ่มศิลปินแห่งชาติ ศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ รวมทั้งศิลปินระดับนานาชาติร่วมสร้างผลงานมอบให้กับหอศิลป์วัฒนธรรม ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อใช้จัดนิทรรศการเผยแพร่สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนิสิตของมหาวิทยาลัยบูรพา รวมทั้งนักศึกษาทั่วๆ ไป และผู้ที่สนใจศิลปวัฒนธรรม ศิลปะร่วมสมัยในภาคตะวันออก

ผลงานซึ่งล้วนแล้วแต่มีมูลค่ามาก อย่างเช่นของ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ที่ได้มอบให้กับหอศิลป์แห่งนี้ ชิ้นเดียวราคาอาจถึง 10 ล้านบาท ของ กมล ทัศนาญชลี, ปรีชา เถาทอง, เดชา วราชุน, ประเทือง เอมเจริญ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินแห่งชาติทั้งนั้น

ไม่นับชิ้นงานจากศิลปินที่มีชื่อเสียงอีกเป็นจำนวนมาก

 

หอศิลป์แห่งนี้ได้ถูกปล่อยปละละเลยไม่มีการพัฒนา หยุดการบริหารจัดการ ไม่มีนิทรรศการ หรือเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษา รวมทั้งให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป กลับนำผลงานไปหมกดองเก็บไว้อย่างไม่เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญอย่างน่าเสียดาย

ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา มีคณะศิลปกรรม เปิดการเรียนการสอนศิลปะตั้งแต่ปริญญาตรี โท เอก แต่กลับทอดทิ้งหอศิลป์ ซึ่งมีผลงานที่มีคุณค่ามากมายไปอย่างน่าเสียดาย และประหลาดใจอย่างผิดปกติ

อาจสืบเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยถึงขนาดมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น กระทั่งไม่มีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย จนต้องใช้กฎหมายพิเศษเข้ามาดำเนินการ

แต่อาจารย์ผู้สอนศิลปะทั้งหลายก็ล้วนแล้วแต่เป็น “ศิลปินอาจารย์” ทั้งสิ้น ทำไมจึงปล่อยปละละเลยได้ถึงขนาดนี้ยังไม่หายสงสัย

 

เมื่อ 3 ศิลปิน คือ กมล ทัศนาญชลี (ท่านพี่ถวัลย์) ดัชนี และท่านอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ก็ทำงานทุกอย่างเพื่อวงการศิลปะของชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม โดย กมล ทัศนาญชลี ศิลปินที่มีลมหายใจเข้าออกมีแต่เรื่องการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ สนับสนุนวงการศิลปะทั้งสิ้นแบบไม่เคยหยุดนิ่ง

อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ก็ให้การสนับสนุน ไม่เฉพาะร่วมเดินทางเผยแพร่ไปในทุกถิ่นที่ทั่วประเทศ และในกลุ่มประเทศอาเซียนแต่เพียงเท่านั้น ยังให้การสนับสนุนทางด้านการเงินอีกด้วย โดยเฉพาะ (ท่านพี่) ถวัลย์ ปราชญ์วาดรูป ผลิตผลรุ่นใหญ่จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เมื่อทั้ง 2 ท่านจากไปจึงดูเหมือนวงการศิลปะร่วมสมัยจะมีอาการซบเซาลงพอสมควร

ไม่แปลกที่ใครๆ ต่างก็คิดถึง และต้องรำลึกถึงท่านทุกครั้งเมื่อวันสำคัญ หรือวันครบรอบการจากไป

แม้เวลาจะผ่านเลยไปนานสักแค่ไหน ผลงาน ชื่อเสียงเกียรติยศของศิลปินอารมณ์ดี 2 ท่าน ผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะร่วมสมัยของบ้านเราก็ยังไม่จางหาย

 

ว่าจะไม่แสดงความคิดเห็นแต่ก็อดไม่ได้สำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ โดยเฉพาะกับงาน “วันศิลป์ พีระศรี” (15 กันยายน) ซึ่งเปลี่ยนแปลงสถานที่ และเงียบเหงาเปลี่ยนแปลงไปบ้างใน 2 ปีที่ผ่าน สืบเนื่องมาจากอาคารสถานที่ไม่เอื้ออำนวย

มหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังมีปัญหาการปรับปรุงอาคาร เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างทิ้งงานประมาณนั้น ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร? คณะต่างๆ ต้องไปเช่าอาคารข้างนอกเพื่อให้นักศึกษาเรียน

ยังมีข่าวอื้อฉาวเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการต้อนรับน้องใหม่ของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ซึ่งถูกสื่อนำเสนอแบบติดลบ ว่ากันว่ามีลามกอนาจารเข้ามาสอดแทรก ก็ไม่แปลกใจอะไรกับภาพข่าวที่เผยแพร่ออกไป เพราะทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยน สังคมก็เติบโต จำนวนนักศึกษาของคณะจิตรกรรมฯ ก็เพิ่มมากขึ้น

ทุกวันนี้ ทุกคนเป็นผู้สื่อข่าว เป็นช่างภาพเพราะเทคโนโลยีก้าวไกล ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถจะทำได้ทุกอย่างในเวลาอันรวดเร็วเพียงแค่แตะปลายนิ้ว เกิดเหตุการณ์อะไรๆ ขึ้นที่ต้องการให้มันเป็นความลับ ก็ไม่สามารถที่จะเก็บเป็นความลับได้อีกต่อไป

 

ไม่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องระบบการรับน้องใหม่ จำได้แต่เพียงว่าสมัยก่อนๆ ใครที่ไม่ได้ถูก (รุ่นพี่) “ซ่อม” จะมีความรู้สึกว่าขาดอะไรไปสักอย่างหนึ่ง รุ่นพี่ๆ เขาไม่ชอบเรา รักเราหรือ? อาจเป็นคำถามประมาณนั้น ขณะเดียวกัน วันต้อนรับน้องใหม่นั้นมีจัดรวมกันวันเดียว (4 คณะ) ส่วนที่แยกไปรับกันเองทุกคณะนั้นก็เล่นกันด้วยไอเดียอันบรรเจิด เป้าหมายคือความรัก ความสามัคคี ไม่มีทารุณ ไม่บังคับข่มขู่ และสำคัญที่สุดคือน้องใหม่ต้อง “สมัครใจ” จะไม่เกิดเรื่องอะไรถ้าให้มันเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการจะเข้าร่วมหรือไม่?

ไม่แปลกใจอะไรกับการรับน้องใหม่ของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ โดยเฉพาะรุ่นเก่าๆ ที่ผ่านมา

แต่ไม่มีข้อมูลในช่วงหลังๆ เพราะไม่ค่อยจะได้สัมผัสจึงไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร?

ยังหยอกเย้ากระเซ้าเย้าแหย่แบบสนุกสนานมากกว่าอย่างอื่นหรือไม่?

น้องใหม่ยังปลาบปลื้มใจยินดี และรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญอยู่หรือไม่?

แต่ที่แปลกใจอยู่เรื่องหนึ่งคือ ทำไม “น้องใหม่” (คณะจิตรกรรมฯ) จึงต้อง “กล้อนผม” จนหัวเกรียนยังกับนักเรียนทหารอย่างนั้น