บทวิเคราะห์ จุมพิตสีขาว/บทความพิเศษ วัลยา วิวัฒน์ศร

บทความพิเศษ

วัลยา วิวัฒน์ศร

 

บทวิเคราะห์ จุมพิตสีขาว

 

จุมพิตสีขาว เป็นนวนิยายเรื่องที่ 5 ของฟร็องซัวส์ โมริยัค แต่เป็นเรื่องแรกที่ทำให้เขาขึ้นเป็นนักประพันธ์สำคัญคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เป็นจุดเริ่มต้นของงานชิ้นเอกต่อๆ มา ซึ่งมีเรื่อง เตแรส เดสเกรูซ์ และ ปมอสรพิษ เป็นเรื่องที่โดดเด่นสูงสุด

โมริยัคอุทิศนวนิยายเรื่อง จุมพิตสีขาว ให้แก่ Louis Artus เขาผู้นี้เป็นใคร

หลุยส์ อาร์ตุส (ค.ศ.1870-1960) เป็นทั้งนักวิจารณ์วรรณกรรม นักเขียนบทละคร และนักเขียนนวนิยาย ตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 นวนิยายของอาร์ตุสเรื่อง La Maison du fou (บ้านคนบ้า) La Maison du sage (บ้านคนฉลาด) และ Vin de la vigne (เหล้าองุ่นจากไร่องุ่น) ได้ส่องทางให้โมริยัคเห็นว่านวนิยายคาทอลิกควรเป็นอย่างไร

หน้าที่ของคริสต์ศาสนิกชนที่จะต้องทำแต่ความดีนั้น ไม่ควรเป็นข้อบังคับให้นักประพันธ์ละเลยความเป็นจริงในชีวิตมนุษย์

 

ฌ็อง เปลูแอร์ ตัวละครเอกชายของเรื่องอยู่ในครอบครัวที่ฐานะการเงินดี แต่เขาอัปลักษณ์ทั้งรูปร่างและหน้าตา ทว่าด้วยเหตุผลนานาอันเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเงินทอง เขาได้แต่งงานกับโนเอมีสาวงามของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ (โมริยัคใช้คำว่า เมืองเล็กๆ (bourg) และหมู่บ้าน (village) สลับกันตลอดนวนิยาย) บิดาของฌ็องสนับสนุนการแต่งงาน เพราะไม่อยากให้สมบัติของตนตกไปเป็นของพี่สาวซึ่งแสดงอำนาจบาตรใหญ่เหนือตนเสมอมา

พี่สาวคนนี้แต่งงานไปกับคนในตระกูลกาเซอนาฟและมีบุตรชายหนึ่งคน (ทั้งสองเป็นตัวละครหลักในเรื่อง G?nitrix หรือ มาตา) ถ้าฌ็องมีทายาท ทรัพย์สินก็จะยังเป็นของตระกูลเปลูแอร์ ถ้าไม่มีทายาท ลูกสะใภ้ก็ยังเป็นคนของเปลูแอร์

ฌ็องหลงรักโนเอมี จึงยินดียิ่งที่จะได้แต่งงานกับเธอ บิดามารดาของโนเอมีซึ่งฐานะไม่ดีนักก็สนับสนุนการแต่งงาน เพราะ “คนเราย่อมไม่ปฏิเสธทายาทตระกูลเปลูแอร์” (หน้า 42) ยังมีเจ้าอาวาสซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีเสนอความคิดเรื่องการแต่งงานนี้แก่บิดาของฌ็อง เพราะไม่อยากให้สมบัติของตระกูลนี้ตกไปเป็นของพวกกาเซอนาฟ ซึ่งแสดงความชิงชังรังเกียจตนและเป็นปฏิปักษ์ต่อคริสต์ศาสนา

โนเอมีนั้นเล่า เธอเป็นหญิงที่เปี่ยมศรัทธาในศาสนา เชื่อฟังความคิดเห็นของเจ้าอาวาสในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ เชื่อฟังบิดามารดามาแต่ไหนแต่ไร เธอไม่เคยอ่านนวนิยาย ไม่รู้จักความคิดเพ้อฝัน ไม่รู้ชัดว่าการเข้าหอเป็นอย่างไร เธออ่านแต่หนังสือคำสอน เธอจึงไม่ปฏิเสธการแต่งงานแม้จะหวาดหวั่นพรั่นพรึง

คู่สามีภรรยาต่างเผชิญกับข้อขัดแย้งในใจตน ฌ็องรักภรรยา แต่ก็ตระหนักว่าความอัปลักษณ์ของตนทำร้ายเธอเพียงใด โนเอมีปรารถนาจะเป็นภรรยาที่ดีตามแบบของคริสตัง แต่เธอไม่อาจขจัดความรู้สึกขยะแขยงไปจากใจได้

 

ในการพบกันครั้งแรกที่ห้องรับรองในที่พำนักของสมภาร โมริยัคบอกสภาพจิตใจของโนเอมีผ่านลักษณะทางกายภาพว่า เมื่อเริ่มพบปะกันนั้น “กระโปรงของโนเอมีคลุมพ้นเก้าอี้เหมือนดอกแม็กโนเลียที่โผล่เหนือแจกัน” (หน้า 39) ทั้งสองอยู่ด้วยกันตามลำพังเพียงหนึ่งชั่วโมงโดยประมาณ และฌ็องเป็นผู้พูดจาอยู่ฝ่ายเดียว เมื่อสองแม่ลูกกลับออกไปก่อนเพื่อมิให้หญิงเพื่อนบ้านสงสัยนั้น ฌ็องมองลอดมู่ลี่ตามไป เขาเห็น “กระโปรงชุดด้านหลังของโนเอมีแฟบคล้ายเป็นด้านข้างเหมือนสุนัขที่เดินตัวลีบ กระโปรงชุดห่อเหี่ยวซึ่งไม่อาจฟูฟ่องเหมือนเดิม ต้นคอของเธอค้อม ดอกไม้ขาดชีวิตชีวา ดอกไม้ที่ถูกตัดหรือไร” (หน้า 43)

เพียงหนึ่งชั่วโมง ภาพดอกแม็กโนเลียสีชมพูอ่อนกลีบละมุนสลาย หลังแต่งงาน โนเอมีซีดเซียว ผิวพรรณขาดสีสันเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตสาวถูกขอดแห้งไป เมื่อฌ็องตัดสินใจไปปารีส เธอก็เริ่มกลับมามีชีวิตชีวา ฌ็องตระหนักว่าเขาต้องไป “เพื่อให้เธอแย้มบานอีกครั้ง” (หน้า 70)

โมริยัคใช้อุปมาและอุปลักษณ์โนเอมีกับดอกไม้ต่อเนื่อง

บิดาของฌ็องเขียนจดหมายถึงบุตรชายที่ปารีส มีข้อความตอนหนึ่งว่า โนเอมี “กลับมามีน้ำมีนวลเหมือนเดิม งามสะพรั่งทีเดียว” (หน้า 76)

เมื่อฌ็องกลับมาหลังจากไปเพียงเดือนกว่าๆ ที่สถานีรถไฟ เขาจำโนเอมีไม่ได้ “เธอได้ประโยชน์เต็มจากการที่เขาไม่อยู่ งามกระจ่างดั่งดอกไม้แย้มบาน งามยิ่งกว่าครั้งที่เขาพบในห้องรับรองของเจ้าอาวาส” (หน้า 92)

แม้ฌ็องจะหาข้ออ้างแยกเตียงเพื่อให้โนเอมีทนอยู่ใกล้ๆ เขาได้ เธอ “ก็สูญความงามกระจ่างไปแล้ว” (หน้า 99) เมื่อเวลาผ่านพ้นไปเพียงสองวัน ก่อนหน้านี้ในถิ่นเกิด ฌ็องเคยปรารถนาที่จะตายด้วยฝีมือธรรมชาติแคว้นล็องด์

“(…) ที่ขอบบ่อขึ้นรา คู่สามีภรรยาได้มาใกล้กันอีกครั้ง ฌ็องนึกถึงคนเลี้ยงแกะแก่ชราซึ่งป่วยด้วยโรคลึกลับของท้องถิ่น โรคหนังกระ มีผู้พบคนเป็นโรคนี้เสมอที่ก้นบ่อสักแห่ง หรือมิฉะนั้นก็ศีรษะจมโคลนในแอ่งน้ำสักแอ่ง เออ! เขาก็เช่นกัน เขาก็เช่นกัน เขาอยากจะกอดรัดผืนดินแสนตระหนี่ผืนนี้ ผืนที่ปั้นเขามาให้เหมือนกับมัน และอยากจะจบลงด้วยอาการขาดอากาศเพราะคว่ำหน้าจูบมัน” (หน้า 65)

ก่อนหน้านี้เช่นกันที่ปารีส การปรารถนาความตายของฌ็องมีแรงผลักดันจากศรัทธาในคริสต์ศาสนา เขามองหา “ใบหน้าเดียวที่เขาจะติดตามบุคคลผู้ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าได้เลือกแล้วผู้นี้ไป” (หน้า 81) เขายัง “ท่องถ้อยคำของปาสกาลให้ตนเองฟังว่าด้วยตอนจบของชีวิตที่งดงามที่สุดในโลกนี้” (หน้า 81) จะเห็นได้ว่า ฌ็องเชื่อมั่นและมีศรัทธาเต็มเปี่ยม เขาคิดว่าเขาอาจตาย “สักวันคงจะมีคนเก็บเขาขึ้นมาจากท่อระบายน้ำเหมือนเก็บแมวตายสักตัว โนเอมีก็จะได้รับการปลดปล่อย… เขานั่งครุ่นคิดเช่นนี้ (…)” (หน้า 82)

ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจ เขาใช้เวลาตลอดบ่ายทุกวันขลุกอยู่กับเพื่อนเก่าซึ่งเป็นวัณโรคระยะสุดท้าย ร่างกายอ่อนแอของเขาย่อมรับเชื้อโดยง่ายดาย นี่คือของขวัญแห่งชีวิต สละชีวิตเพื่อชีวิต

เมื่อฌ็องท่องกลอนจากบทละครเรื่อง โปลิเยอค ที่ว่า “โปลิเยอคของข้า ถึงวาระสุดท้ายของเขาแล้ว” ฌ็องไม่ได้คิดว่าเขาเป็นมรณสักขีเช่นเดียวกับโปลิเยอค (ดูเชิงอรรถ 15) โมริยัคบรรยายเพิ่มเติมว่า

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา ใครๆ ต่างพูดถึงเขาว่า ‘เขาเป็นคนน่าสงสาร’ และเขาก็เชื่อตามนั้นตลอดมา การย้อนมองน้ำสีเทาแห่งชีวิตของเขาหล่อเลี้ยงตัวเขาไว้ให้ดูถูกตนเอง น้ำช่างขุ่นอะไรเช่นนั้น! ทว่าใต้สายน้ำซึ่งหลับใหลอยู่นี้ กระแสน้ำอันมีชีวิตได้ก่อเกิดขึ้นมาเงียบๆ และนี่คือเหตุผลที่ว่า แม้เมื่อมีชีวิต เขามิต่างจากคนตาย แต่เขาจะตายเหมือนกับว่าได้เกิดใหม่” (หน้า 106-107)

จากการท่องกลอนที่คล้ายคำนึงถึงมรณสักขีผู้ตายเพื่อศาสนาคริสต์ จากความตายที่เป็นการเกิดใหม่ จากการที่ฌ็องเปลี่ยนชื่อโปลิเยอคเป็นเปลูแอร์ในบทกลอน “เปลูแอร์ของข้าถึงวาระสุดท้ายของเขาแล้ว…” (หน้า 106) โมริยัคกล่าวถึงสภาวะจิตใจของฌ็องในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตว่า

“อาจกล่าวได้ว่า ใครคนหนึ่งซึ่งได้รู้ว่าเด็กน่าสงสารคนนี้จะลาละโลกนี้ไปโดยยังเจ็บปวดไม่เพียงพอ ใครคนนั้นจึงรีบถักสานสายสัมพันธ์ซึ่งเด็กคนดังกล่าวมิอาจจะตัดทิ้งหากมิได้พยายามสุดกำลัง อย่างไรก็ตาม สายสัมพันธ์ขาดสะบั้นทีละเส้นจนถึงช่วงละลาห้วงสุดท้าย อารมณ์ทั้งปวงดับไปก่อนตัวเขา และก็มาถึงวันซึ่งเขาสามารถส่งยิ้มแบบเดียวกันให้แก่ทุกคน เป็นการขอบคุณโดยปราศจากนัยซ่อนเร้น เขามิได้พร่ำพึมพำบทกลอนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นวัจนะที่ว่า ‘นี่คือเราเอง อย่ากลัวเลย…'” (หน้า 118)

“ใครคนหนึ่ง” “ใครคนนั้น” กับ “วัจนะที่ว่า ‘นี่คือเราเอง อย่ากลัวเลย…'” ตามความเห็นของ Jean Touzot นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญงานประพันธ์ของฟร็องซัวส์ โมริยัค วัจนะนี้ดัดแปลงจากพระวัจนะของพระเยซูหลังฟื้นคืนชีพที่ตรัสแก่บรรดาสตรีเปี่ยมศรัทธา (มัทธิว 28, 10) และตรัสแก่สาวก (ลูกา 24, 36-39) รวมทั้งประโยคที่ฌ็องบอกแก่โนเอมีก่อนหน้านี้ในบทที่ 13 ว่า “ผมกระหายน้ำ” ซึ่งมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ไปถึงเมื่อครั้งที่ถูกตรึงกางเขน พระเยซูทรงกล่าวว่า “เรากระหาย”

ความตายอันงดงามของฌ็อง เปลูแอร์ในดินแดนล็องด์อันเป็นบ้านเกิด “แสงอรุณสุดท้ายของเขาทอทาบประตูกระจก” ทิวสนพัดลมหายใจของมันต้องร่างของเขา เขาลาจากโลกนี้ไปในฐานะ “ผู้มีจิตวิญญาณคริสต์” ดังปรากฏในคำขอประทานพระคุณของพระที่มาส่งวิญญาณ

 

โนเอมีนั้นเล่า แม้จะรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ฌ็องเพราะความอัปลักษณ์ ในการพบกันครั้งแรกที่ห้องรับรองในที่พำนักของเจ้าอาวาส เธอเห็นเขาเป็นตัวหนอน เป็นจิ้งหรีด (หน้า 41-42) อย่างไรก็ตาม การแต่งงานเกิดขึ้นเพราะ “คนเราย่อมไม่ปฏิเสธทายาทตระกูลเปลูแอร์” ดังกล่าวแล้ว เธอเจียนตายในคืนดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ เมื่อกลับมาบ้านก่อนกำหนด เธอปิดบังความรู้สึกมิให้คนภายนอกจับได้ ทำหน้าที่ลูกสะใภ้ดูแลบิดาสามีอย่างดีเลิศ หลายครั้งหลายหนที่เธอพยายามฝืนใจทำหน้าที่ภรรยา

“ในความมืด ฌ็อง เปลูแอร์ คาดเดาได้ว่าเรือนกายที่เขารักบูชาจะหดเกร็งอย่างไร จึงพยายามถอยห่างให้ไกลที่สุด บางครั้งโนเอมีก็ยื่นมือออกไปยังใบหน้าซึ่งอัปลักษณ์น้อยลงเพราะเธอมองไม่เห็น เธอสัมผัสน้ำตาอุ่นๆ เธอรู้สึกผิดและสงสารเต็มหัวใจ จึงหลับตาเม้มปากสวมกอดคนเปี่ยมทุกข์คนนี้ ดังหนึ่งพรหมจาริณีคริสตังซึ่งพุ่งเข้าหาสัตว์ร้ายบนลานอัฒจันทร์” (หน้า 57-58)

โมริยัคใช้คำว่า ‘คริสตัง’ เพื่อตอกย้ำการยึดมั่นในหน้าที่ภรรยาตามคำสอนในสมัยนั้น แต่เมื่อเธอจำต้อง “พุ่งเข้าหาสัตว์ร้าย” เธอต้อง ‘พุ่ง’ เพื่อมิให้ตัวเองมีเวลารีรอเปลี่ยนใจ และผู้อ่านคงจะพอจินตนาการต่อเองได้ว่า เธอจะย่อยยับเยี่ยงสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนวิวาห์ที่เมืองอาร์กาชงอย่างไร

หลังจากที่สามีกลับจากปารีส เธอ “ต้องสู้กับความรู้สึกรังเกียจอย่างผู้สิ้นหวัง และการต่อสู้นี้ทำให้เธออ่อนเปลี้ย บ่อยครั้งตอนกลางคืนที่เธอร้องเรียกให้เขามาหาเธอ เมื่อเขาแสร้งทำเป็นหลับ เธอก็ลุกขึ้นไปจูบเขา จูบซึ่งพวกนักบุญในครั้งกระโน้นประทับไว้บนพวกคนที่เป็นโรคเรื้อน” (หน้า 99)

ในหนังสือชื่อ Lettres d’une vie (จดหมายบอกเล่าชีวิตหนึ่ง) ตีพิมพ์ปี ค.ศ.1981 โมริยัคบันทึกว่า เขาเคยเขียนถึงบรรณาธิการสำนักพิมพ์ Grasset ซึ่งขอให้เขาเปลี่ยนชื่อนวนิยายที่ตั้งไว้ว่า P?loueyre เพราะชื่อชาวล็องด์นี้ออกเสียงยากสำหรับคนทั่วไป เขานึกถึงชีวิตช่วงหนึ่งของนักบุญฟรานซิสแห่งเมืองอัสซีซี (Saint Fran?ois d’Assise) ซึ่งดูแปลกประหลาด แต่เข้ากันได้ดีกับเนื้อหาของนวนิยาย จึงขอตั้งชื่อว่า Le Baiser au l?preux โมริยัคอ่านเรื่องของนักบุญจากหนังสือของ Johannes J?rgensen ชื่อ Saint Fran?ois d’Assise. Sa vie et son oeuvre (นักบุญฟรานซิสแห่งเมืองอัสซีซี ชีวิตและผลงาน) ตีพิมพ์ปี ค.ศ.1913 บทที่ชื่อ Le Baiser donn? au l?preux (จูบที่มอบให้คนขี้เรื้อน) กล่าวถึงเรื่องที่นักบวชมาร์ตีริอุส (ศตวรรษที่ 7) นักบุญฌูเลียง โลสปิตาลิเยร์ (ศตวรรษที่ 9) พระสันตะปาปาเล-องที่ 9 (ค.ศ.1002-1054) ว่าคนขี้เรื้อนที่ท่านเหล่านั้นได้ช่วยเหลือจะกลายเป็นพระเยซู เกิดเป็นความเชื่อว่า คนขี้เรื้อนบนโลกนี้คือสัญลักษณ์ที่มีชีวิตของพระผู้ไถ่ เมื่อมาถึงสมัยของนักบุญฟรานซิสแห่งเมืองอัสซีซี (ค.ศ.1182-1226) เจอเกนเซ่นเล่าว่า ครั้งแรกที่ฟรานซิสเห็นคนขี้เรื้อน เขารู้สึกขยะแขยงเพียงใด ทว่า ด้วยความรักบูชาในองค์พระคริสต์ เขาตกลงใจที่จะเอาชนะความรู้สึกของตนเองให้ได้ ต่อมาเมื่อเขาได้เจอคนขี้เรื้อนอีกคนที่ยื่นมือมาขอทาน แม้จะพรั่นพรึง เขาก็ก้มลงจูบนิ้วมือซึ่งเต็มไปด้วยแผลพุพอง

ในจดหมายถึงบรรณาธิการสำนักพิมพ์ Grasset โมริยัคเขียนต่อสั้นๆ แต่ชัดเจนว่า ตัวละครเอกหญิงของข้าพเจ้าพยายามอย่างยิ่งที่จะรักสามีของเธอทางกาย เธอจูบเขา “จูบซึ่งพวกนักบุญในครั้งกระโน้นประทับไว้บนพวกคนที่เป็นโรคเรื้อน”

ในนวนิยาย ฌ็อง เปลูแอร์ มิได้เป็นโรคเรื้อน แต่เป็นวัณโรคด้วยความจงใจ การตัดสินใจไปขลุกอยู่กับคนเป็นวัณโรคถึงขั้นสละชีวิต เอื้อให้โมริยัคสร้างภาพที่ทำให้นึกถึงพระเยซูคริสต์ในบทท้ายๆ ของนวนิยายได้ อาทิ การตกแต่งห้องนอนผู้ป่วย “ราวกับว่าอยู่ในงานสมโภชพระคริสตกายา” (หน้า 105) คำพูดของฌ็อง เปลูแอร์ ที่ว่า “ผมกระหายน้ำ” ดังกล่าวแล้ว

การเลือกเป็นวัณโรคทำให้ฌ็องได้เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่โรคเรื้อนแปลงเป็นความอัปลักษณ์ซึ่งผลักไสภรรยาให้ห่างไกลจากตัวเขา

อย่างไรก็ตาม เมื่อฌ็องลาลับ แม้จะมีหนุ่มรูปงามตามเกณฑ์ของชาวล็องด์มาเสนอตัวแต่แรก โนเอมีก็เลือกเส้นทางสายแม่หม้ายตลอดกาล “เธอตระหนักว่าการซื่อสัตย์ต่อผู้ตายจึงเป็นเกียรติยศเรียบง่ายของเธอ (…) เธอจำต้องโอบต้นโอ๊กแคระแกร็นต้นหนึ่งไว้ เสื้อคลุมของมันเป็นใบแห้ง ทว่า ยังพลิ้วไหวด้วยแรงลมอัคคี โอ๊กสีดำต้นหนึ่งซึ่งดูเหมือนฌ็อง เปลูแอร์” (หน้า 126)

 

คําว่า terroir ในภาษาฝรั่งเศสมีความหมายหลายนัย นัยแรกหมายถึงผืนดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก นัยที่สองหมายถึงผืนดินอันเหมาะแก่การทำไร่องุ่น

นัยที่สามหมายถึงท้องถิ่นซึ่งมีอิทธิพลต่อผู้คนในท้องถิ่นนั้น ความหมายทั้งสามนัยนี้ทำให้คำว่า terroir เหมาะที่จะใช้เป็นแก่นเรื่องพื้นฐานของนวนิยายของโมริยัค

แคว้นล็องด์นั้นอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าสน นี่คือความหมายนัยแรก ชาวล็องด์เจ้าของที่ดินป่าสนส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของไร่องุ่นในแคว้นชีรงด์ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับแคว้นล็องด์ด้วย นี่คือความหมายนัยที่สอง และชาวล็องด์นั้นซึมซับอิทธิพลจากแดนมาตุภูมิของตนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นความรักและหวงแหนในที่ดิน วิถีชีวิตในเรื่องการกิน การล่าสัตว์ ความคิดเรื่องการแต่งงานเพื่อการสืบทอดทรัพย์สมบัติของตระกูลหรือเพื่อการเพิ่มขยายอาณาเขตที่ดิน ความเชื่อในเทพเจ้าอีกทั้งเทพธิดาแห่งธรรมชาติเป็นอาทิ นี่คือความหมายนัยที่สาม

สำหรับโมริยัคแล้ว แคว้นล็องด์และแคว้นชีรงด์ทรงคุณค่าชัดเจนแก่เขาหลายประการ เป็นแผ่นดินแม่ที่เขารักและหวงแหน เป็นแหล่งกำเนิดศิลปะการประพันธ์ของเขาด้วย วิญญาณกวีของเขาอ่อนไหวไปตามธรรมชาติ เป็นความขัดแย้งในจิตใจของโมริยัคในฐานะคริสต์ศาสนิกชนเมื่อต้องเผชิญกับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและเทพธิดาแห่งธรรมชาติ

ฌ็อง เปลูแอร์ ตัวละครเอกในท้ายเรื่อง จุมพิตสีขาว มีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า แต่ก็อดไม่ได้ที่จะระลึกนึกถึงความสุขที่เขาพึงได้ในฐานะชาวล็องด์ ได้รับลมหายใจของป่าสน ได้ล่าสัตว์ ได้เก็บเห็ด ได้กำซาบรสและกลิ่นเหล้าองุ่นขาวและเหล้าองุ่นแดง ได้อ่านหนังสือ… (หน้า 117)

อย่างไรก็ตาม ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าอยู่เหนืออื่นใด ความตายของฌ็อง เปลูแอร์ เป็นความตายที่งดงาม แม้โนเอมีจะตระหนักเพียงรูปลักษณ์ของเขาในวาระสุดท้ายและบอกตนเองว่า “เขางามเหลือเกิน…” (หน้า 119)

ประโยคจบบทที่มีความว่า “ชาวบ้านไม่อาจแยกแยะเสียงระฆังมรณะกับเสียงระฆังบอกเวลายามเช้า” (หน้าเดียวกัน) ทำให้ตีความได้ว่า ความตายของเขาเป็นดั่งการเกิดใหม่เหมือนกับว่าเขาไม่ได้ตาย ตอกย้ำคำบรรยายของผู้ประพันธ์ก่อนหน้านี้ (หน้า 106-107) และได้ยกมาในบทความนี้ (หน้า 162) ที่ว่า “แม้เมื่อมีชีวิต เขามิต่างจากคนตาย แต่เขาจะตายเหมือนกับว่าได้เกิดใหม่”

อาจกล่าวได้ว่า ความเป็นนวนิยายคาทอลิกกับความเป็นจริงในชีวิตมนุษย์ประสานกันอย่างกระชับเข้มข้นในนวนิยายเรื่องนี้