‘แซนด์แมน’ คือใคร ในเทพปกรณัมของชาวยุโรป? / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

‘แซนด์แมน’ คือใคร

ในเทพปกรณัมของชาวยุโรป?

 

“The Sandman” ซึ่งเป็นซีรีส์ที่กำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้ มีเค้าโครงของเรื่องที่ดัดแปลงมาจากตัวละครที่ชื่อ “มอเฟียส” (Mopheus) ในจักรวาลของ DC Comic โดยมีนักเขียนการ์ตูนและเรื่องสั้นระดับปรมาจารย์อย่างนีล ไกแมน (Neil Gaiman) เป็นคนเขียน

และถึงจะเป็นเพียงแค่ตัวการ์ตูน แต่ด้วยฝีมือระดับไกแมนแล้ว ที่มาของตัวละครก็ผ่านกระบวนการออกแบบมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในแง่ของการนำปกรณัม หรือนิทานพื้นบ้านต่างๆ ของพวกฝรั่งเขามาประกอบขึ้นเป็นตัวตนของพระเอกในท้องเรื่อง ซึ่งก็คือ มอเฟียส นั่นเอง

“มอเฟียส” ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ดรีม” (Dream) แปลเป็นภาษาไทยได้ตรงตัวว่า “ความฝัน” และตามท้องเรื่องของทั้งซีรีส์ และการ์ตูนที่เป็นต้นฉบับนั้น มอเฟียสก็คือ “เทพเจ้าผู้สร้างและปกครองอาณาจักรแห่งความฝัน” โดยไกแมนได้ใช้ปกรณัมปรัมปราต่างๆ ในโลกตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับความฝันผูกเข้าหากันจนกลายเป็นเทพเจ้าแห่งความฝัน ในจักรวาลของ The Sandman ขึ้นมา

(อันที่จริงแล้วไกแมนไม่เรียกตัวละครที่เขาสร้างว่า เทพเจ้า ดังที่ไกแมนบอกกับเราผ่านตัวละครบางคนในซีรีส์ว่า มอเฟียส และบรรดาอะไรที่ดูคล้ายๆ กันเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าแห่งความตาย, เจ้าแห่งนรก และอีกสารพัดเจ้า เป็นอะไรที่อยู่เหนือเทพเจ้าขึ้นไปเสียอีก โดยเขาเรียกอะไรเหล่านี้ว่า “The Endless” หรือ “ผู้นิรันดร์”)

และ “มอเฟียส” นั้นเป็นชื่อของเทพเจ้าองค์หนึ่ง ของพวกโรมันนะครับ

แน่นอนแหละว่าต้องเป็น “เทพเจ้าผู้ครองความฝัน” ไม่อย่างนั้นไกแมนจะนำชื่อเทพองค์นี้มาใช้เป็นพระราชาแห่งอาณาจักรแห่งความฝันตามท้องเรื่องทำไมกัน?

เป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักวิชาการตะวันตกที่ศึกษาเกี่ยวกับปกรณัมคลาสสิคของกรีก-โรมันว่า ชื่อของ “มอเฟียส” นั้น ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในเอกสารภาษาละตินของปูบิลุส โอวิดิอุส นาโซ่ (Pūblius Ovidius Nāsō) หรือที่ในโลกภาษาอังกฤษรู้จักเขาในชื่อว่า “โอวิด” (Ovid, มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่าง 43 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ.17 หรือ 18) ที่ชื่อ “Metamorph?se?n libr?” หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Metamorphoses” ที่มีความหมายแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวได้ว่า “หนังสือที่ว่าด้วยการกลายร่าง”

ในหนังสือเก่าแก่อายุราว 2,000 ปีเล่มนี้ อ้างว่า มอเฟียสเป็นเทพเจ้าแห่งความฝัน ที่มีปีกอยู่กลางหลัง (เช่นเดียวกับที่โอวิดพรรณนาถึงเทพเจ้าที่เกี่ยวกับการหลับใหลองค์อื่นๆ ในหนังสือเล่มนี้) และถึงจะเป็นหนังสือที่ประพันธ์ขึ้นด้วยภาษาละติน ตามอย่างที่นิยมกันในวรรณกรรมของพวกโรมัน แต่ชื่อของมอเฟียสนั้นมีรากมาจากภาษากรีกคือ “morphai” ที่แปลว่า “รูปร่าง”

ดังนั้น ไท้เธอผู้นี้จึงสามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์คนไหนก็ได้ดังใจนึก (และนี่ก็ย่อมเป็นเหตุผลว่าทำไมมอเฟียสจึงไปปรากฏกายอยู่ในหนังสือที่ว่าด้วยการกลายร่างเล่มนี้?) โดยโอวิดได้พรรณนาถึงมอเฟียสไว้ว่า

“…ไม่มีใครจะมีฝีมือในการ (เลียนแบบ) ลักษณะท่าทางยิ่งไปกว่าเขา ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย หรือคำพูดที่ติดปากของคนที่เขาปลอมแปลงเป็นผู้นั้น…”

โอวิดยังอ้างต่อไปด้วยว่า มอเฟียสเป็นบุตรแห่งเทพเจ้าที่ชาวโรมันเรียกว่า “ซอมนุส” (Somnus) ผู้เป็น “เทพเจ้าแห่งการหลับใหล” ซึ่งมีลูกมากมายถึงพันองค์ แต่มีเพียงมอเฟียส และบุตรอีกสององค์เท่านั้นที่โอวิดกล่าวถึง ได้แก่ “ฟีบีตอร์” (Phoebetor, หมายถึงความน่าสะพรึงกลัว แต่ชื่อนี้เป็นชื่อที่มนุษย์เรียก เหล่าทวยเทพจะเรียกเขาว่า “อิเครุส” [Icelus] หมายถึงความพึงใจ) ที่จะปรากฏกายเป็นสัตว์ร้ายในฝันของผู้คน กับอีกองค์คือ “แฟนตาซุส” (Phantasus, รากศัพท์ของคำว่า แฟนตาซี ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งจะปรากฏรูปเป็นสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ดิน, น้ำ, ก้อนหิน ฯลฯ ในฝันของผู้คน

มีนักวิชาการชาวตะวันตกเสนอว่า มอเฟียส และพี่น้องอีกสองคนของไท้เธอนั้น เป็นสิ่งที่โอวิดประดิษฐ์ขึ้น และมีลักษณะเป็น “วรรณกรรม” มากกว่าที่จะเป็นแนวคิดที่ปรากฏอยู่ใน “เทพปกรณัม” อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันดีว่า ในช่วงยุคกลางของยุโรป (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 5-15) “มอเฟียส” นั้นก็กลายเป็นชื่อสามัญของเทพเจ้าแห่งความฝัน และการนอนหลับไปเรียบร้อยแล้ว

จากที่ผมเล่ามาทั้งหมดจะเห็นได้ว่ากรีกไม่มีเทพเจ้าที่ชื่อว่า “มอเฟียส” นะครับ แถมพวกกรีกยังมีเทพเจ้าแห่งความฝันเป็นของตัวเอง โดยมีชื่อว่า “โอเนรอส” (Oneiros) ต่างหาก

ในหนังสือของมหากวีเฮสิออด (Hesiod) ที่ชื่อ “Theogonia” หรือ “Theogony” ในโลกภาษาอังกฤษ อันเป็นตำราว่าด้วยกำเนิดและสาแหรกของเทพเจ้ากรีก ที่ประพันธ์ขึ้นราว 730-700 ปีก่อนคริสตกาลนั้นระบุว่า “โอเนรอส” เป็นบุตรของ “นิกซ์” (Nyx) เทพีผู้ครองรัตติกาล และเป็นพี่น้องกันกับเทพเจ้าแห่งการหลับใหลอย่าง “ฮิปนอส” (Hypnos) อีกต่างหาก เรียกได้ว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันกับ “มอเฟียส” ของชาวโรมันเลย

แต่ไกแมนก็จับเอา “มอเฟียส” ผสานเข้ากับ “โอเนรอส” จนเป็นเนื้อเดียวกัน ด้วยการให้ตัวละครบางตัว ที่เป็นเทพเจ้าในปรัมปราคติของกรีกเอง เรียกมอเฟียสด้วยชื่อ โอเนรอส นัยว่าสำหรับชาวกรีกแล้ว ก็รู้จักมอเฟียสในชื่อโอเนรอสนั่นเอง

แต่ในจักรวาลของ The Sandman นั้น มอเฟียสไม่ได้มีชื่อเรียกว่า ดรีม และโอเนรอสเท่านั้นนะครับ เพราะเขายังถูกเรียกว่า “แซนด์แมน” (Sandman) ตามที่ตั้งเป็นชื่อของซีรีส์ชุดนี้อีกด้วย

แถมหนึ่งในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิด ของเขานั้น ยังมีชิ้นหนึ่งที่เป็นถุงใส่ “ทรายวิเศษ” ที่เขาใช้ในการเสกเป่ามนตราคาถาต่างๆ อีกด้วย

นักรวบรวมนิทานพื้นบ้านยุโรปชื่อดังอย่าง ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน (Hans Christian Anderson) ได้จดบันทึกนิทานเรื่องแซนด์แมนเอาไว้เมื่อ ค.ศ.1841 ว่า แซนด์แมนเป็นสิ่งเหนือมนุษย์ที่จะเอา “ทราย” มาหยอดตาเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาหลับฝันดี (ดังนั้น จึงไม่ต้องสืบเลยว่า ทำไมจึงเรียกแซนด์แมน) โดยแอนเดอร์สันยังระบุด้วยว่า แซนด์แมนนั้นมีชื่อว่า “โอเล่ ลูโกเย่” (Ole Lukoje)

โอเล่นั้นเป็นชื่อโหลๆ ของชาวเดนมาร์ก ส่วนชื่อ “ลูโกเย่” นั้น แอนเดอร์สันอธิบายว่าคำนี้แปลว่า “หลับตา” ซึ่งก็เป็นคำแปลที่สอดคล้องกับสิ่งที่แซนด์แมนกระทำให้กับเด็กๆ อย่างเห็นได้ชัด

แต่นิทานเรื่องแซนด์แมน ก็ไม่ได้มีเฉพาะสำนวนโลกสวย เหมือนที่เล่ากันอยู่ภูมิภาคสแกนดิเนเวียนเท่านั้น

อีกสำนวนที่เก่าแก่กว่าอยู่ในหนังสือของนักเขียนชาวเยอรมันที่ชื่อ อี. ที. อา. ฮอฟฟ์มัน (E. T. A, Hoffman) ที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1811 ซึ่งเล่าเอาไว้ว่า แซนด์แมนมีจิตใจที่โหดเหี้ยม เขาจะคอยโปรยทรายใส่ในดวงตาเด็กดื้อที่ไม่ยอมเข้านอน จนลูกตาของพวกเขาถลนหลุดออกมาจากเบ้า แล้วแซนด์แมนก็จะเก็บเอาลูกตาเหล่านั้นไปให้ลูกของเขากินเล่นแบบกรุบกริบ

(สำหรับคนที่ดูซีรีส์เรื่องนี้แล้ว คงจะนึกถึงตัวร้ายคนหนึ่งในเรื่องคือ โครินเธียน [Corinthain] ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มอเฟียส หรือแซนด์แมน เป็นคนสร้างขึ้นมาจากอะไรบางอย่างในตัวของเขาเองแน่)

กว่าที่จะเป็นตัวละครที่ชื่อมอเฟียส ในจักรวาลของ The Sandman นั้น ไกแมนได้ผสมผสานเอาทั้งนิทานและเทพปกรณ์เกี่ยวกับอะไรที่เกี่ยวข้องกับ “ความฝัน” หลายเรื่องในโลกตะวันตกเข้าด้วยกัน และนี่ผมเพียงเล่าให้ฟังถึงภูมิหลังของพระเอกของเรื่องเพียงคนเดียวเท่านั้นนะครับ ที่จริงแล้วตัวละครอื่นๆ ก็มีการนำเอาปรัมปราคติในโลกตะวันตกมาใช้อย่างน่าสนใจอีกด้วยเหมือนกัน •

https://www.youtube.com/watch?v=khOKYgfTPas&t=1s