วันที่ปูตินคุยเรื่องการล่มสลาย ของสหภาพโซเวียตกับคิสซิงเจอร์/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

วันที่ปูตินคุยเรื่องการล่มสลาย

ของสหภาพโซเวียตกับคิสซิงเจอร์

 

คําถามสำคัญที่วลาดิมีร์ ปูติน ตอบคณะผู้สัมภาษณ์สำหรับหนังสือ First Person คือ

“คุณเห็นกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย…มันมีผลกระทบต่อความรู้สึกของคุณไหม?”

เป็นคำถามที่มีความหมายมากเพราะบทวิเคราะห์ต่างๆ ว่าด้วยทัศนคติของปูตินที่ผ่านมาบอกว่านโยบายเชิงรุกของมอสโกภายใต้การนำของเขาอยู่บนพื้นฐานของความผิดหวังอย่างรุนแรงในฐานะเป็นสักขีพยานของการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

ขณะที่ปูตินคือเจ้าหน้าที่สืบราชการลับของ KGB ที่เมืองเดรสเดน, เยอรมนีตะวันออก

ปี 1989 คือปีที่คนเยอรมันตะวันออกลุกขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพ ปลดแอกจากความเป็นคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต

และปูตินอยู่ในเหตุการณ์นั้น…อย่างที่เขาเล่าในตอนที่แล้ว

ปูตินเปิดใจตอนหลังว่า

“จริงๆ แล้วผมคิดว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดตามความสัตย์จริงแล้ว ผมเพียงแค่เสียใจที่สหภาพโซเวียตได้สูญเสียสถานภาพในยุโรป…แม้ว่าในแง่ของความคิดด้วยสติปัญญาแล้ว ผมเข้าใจดีว่าอะไรที่ปิดกั้นด้วยกำแพงและอะไรที่แบ่งแยกผู้คนนั้นไม่อาจจะอยู่ยั่งยืนได้…”

ปูตินบอกว่าเขาต้องการเห็นอะไรบางอย่างที่แตกต่างจากของเดิมที่จะเกิดขึ้นมาทดแทนสิ่งที่หายไป

“แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีใครเสนออะไรที่จะมาแทนที่…นั่นคือสิ่งที่มีผลกระทบต่อความคิดความอ่านของผม พวกเขาทิ้งทุกอย่างแล้วก็หนีหายไปเลย…”

ปูตินไม่ได้บอกว่าใครเป็นคนทิ้งทุกอย่าง และใครหนีหายไป

แต่ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเขามองเห็นการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเป็นการล้มครืนของสหภาพโซเวียต

กลายเป็นการแยกตัวของ 15 ประเทศที่ต่อมาเลือกที่จะใช้ระบบการปกครองแบบที่ตรงกันข้ามกับสหภาพโซเวียตและยังเข้าร่วมกับกลไกของตะวันตกมากกว่าที่จะคงความสัมพันธ์ดั้งเดิมกับมอสโก

มักเป็นที่กล่าวกันเสมอว่าปูตินยังหวนหาความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโซเวียตในอดีตโดยเฉพาะในยุคของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช Peter the Great

และยังเชื่อว่าแม้สหภาพโซเวียตจะแตกฉานซ่านเซ็น วันนี้เหลือเพียงรัสเซียเท่านั้น แต่ลึกๆ แล้วเขาถือเป็นภารกิจที่จะสร้างให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่แบบเดิมอีก

ไม่ว่ารูปแบบที่ว่านั้นรูปที่จะประกอบขึ้นมาใหม่นั้นจะใช้วิธีการใดที่จะทำให้เกิดขึ้นมาก็ตาม

ปูตินเล่าในหนังสือต่อว่า หลังจากกลับจากภารกิจ KGB ที่เยอรมนีตะวันออกแล้ว วันหนึ่งเขาพบกับ Henry Kissinger ซึ่งมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐ

ทั้งในฐานะที่ปรึกษาความมั่นคงและรัฐมนตรีต่างประเทศให้กับประธานาธิบดีสหรัฐหลายคน

ปูตินบอกว่าบทสนทนาของเขากับคิสซิงเจอร์น่าสนใจมาก

“เพราะสิ่งที่ท่านบอกผมนั้นยืนยันสิ่งที่ผมเชื่อมาก่อน…”

ปูตินบอกว่าตอนนั้นคิสซิงเจอร์มาร่วมเป็นกรรมการใน Kissinger-Sobchak Commission หรือคณะกรรมการร่วมระหว่างคิสซิงเจอร์กับ Anatoly Sobchak

ศาสตราจารย์อนาโตลี โสบจัก เป็นนักกฎหมายและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงของรัสเซีย

เขาเคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กคนแรกและคนเดียว

อนาโตลี โสบจัก เคยโด่งดังไม่แพ้อดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน

เป็นหนึ่งในนักการเมืองกลุ่มแรกๆ ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยในรัสเซียหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเลนินกราด ชนชั้นสูงทางการเมืองรุ่นใหม่ของรัสเซียส่วนใหญ่ได้ผ่านการดูแลของเขา

และนั่นรวมถึงปูติน และดมิทรี เมดเวเดฟ ที่เคยเป็นประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรัสเซีย

คณะกรรมการร่วม Kissinger-Sobchak Commission ถูกตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์กและชักชวนให้มีการลงทุนต่างชาติสำหรับเมืองชั้นนำแห่งนี้

ปูตินเล่าว่า คิสซิงเจอร์ไปเมืองนี้บ่อย ครั้งหนึ่ง ปูตินไปรับอาคันตุกะคนนี้ที่สนามบิน ขึ้นรถคันเดียวกันเพื่อไปส่งเขา ณ ที่พัก

ขณะนั่งอยู่ในรถ คิสซิงเจอร์ถามหนุ่มรัสเซียคนนี้ว่าเขาคือใครและกำลังทำอะไรอยู่

“เขาเป็นผู้อาวุโสที่ช่างซักช่างถาม ดูเผินๆ เหมือนเขาจะกำลังงีบหลับบนรถ แต่เขารับรู้ทุกอย่าง และเราคุยผ่านล่าม…”

ตามคำบอกเล่าของปูติน คิสซิงเจอร์ถามเขาว่า “คุณทำงานที่นี่นานหรือยัง?”

ปูตินตอบว่าทำงานได้ประมาณ 1 ปีแล้ว

คิสซิงเจอร์ถามต่อว่า ก่อนนั้นทำงานที่ไหน

“ก่อนนี้ผมทำงานที่เทศบาลนครเลนินกราดครับ”

“แล้วก่อนหน้านั้นล่ะ”

“ที่มหาวิทยาลัยครับ”

“แล้วก่อนมหาวิทยาลัยล่ะ”

“อยู่ในกองทัพครับ”

“อยู่หน่วยไหนของกองทัพหรือ?”

“ผมคิดในใจว่า คำตอบของผมจะทำให้เขาผิดหวังแน่ แต่ผมก็ตอบ…ผมบอกว่าผมเคยทำงานด้านข่าวกรองครับ”

คิสซิงเจอร์ตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

“คุณทำงานต่างประเทศหรือเปล่า”

“ครับ…ที่เยอรมนี”

“ตะวันตกหรือตะวันออก?”

“ตะวันออกครับ”

“คนดีๆ ทั้งหลายมักจะเริ่มทำงานทางด้านข่าวกรอง ผมก็เหมือนกัน….” คิสซิงเจอร์บอกปูติน

นั่นคือนาทีที่ปูตินมีความรู้สึกสนิทสนมกับคิสซิงเจอร์ทันที

 

ปูตินเล่าว่า สิ่งที่คิสซิงเจอร์บอกเขาหลังจากนั้นน่าสนใจมาก…เพราะเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้คาดคิดมาก่อน

คิสซิงเจอร์บอกปูตินว่า

“แต่ก่อน ผมถูกวิจารณ์หนักมากเกี่ยวกับจุดยืนของผมเรื่องสหภาพโซเวียต ผมเชื่อตอนนั้นว่าสหภาพโซเวียตไม่ควรจะทิ้งยุโรปตะวันออกเร็วอย่างนั้น…

“เรากำลังเปลี่ยนดุลอำนาจของโลกอย่างรวดเร็วมาก และผมเชื่อว่าจะนำไปสู่ผลตามมาอันไม่พึงปรารถนา และตอนนี้ผมก็ถูกวิพากษ์ว่ามีจุดยืนอย่างนั้น

“มีคนบอกว่า เห็นว่าพวกโซเวียตไม่อยู่แล้ว และทุกอย่างก็ยังเป็นปกติ คุณคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม”

ปูตินบอกว่าคิสซิงเตอร์นิ่งไปสักพักแล้วก็พูดต่อว่า

“พูดตรงๆ นะ ถึงวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่ากอร์บาชอฟตัดสินใจทำอย่างนั้นทำไม…”

ปูตินบอกว่าเขาไม่เคยคิดว่าจะได้ฟังแนวคิดอย่างนี้จากคนชื่อคิสซิงเจอร์เลย

ปูตินจึงเปิดใจบอกคิสซิงเจอร์ว่าเขาเองคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น

“และผมจะพูดซ้ำให้คุณได้ฟังอีกทีวันนี้ คิสซิงเจอร์พูดถูก ถ้าโซเวียตไม่ได้ตัดสินใจถอยหนีจากยุโรปตะวันออกอย่างรีบร้อนขนาดนั้น เราก็สามารถจะหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ได้มากมายเลยทีเดียว…”

 

และนี่เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่สะท้อนถึงความคิดอ่านลึกๆ ของคนชื่อปูติน

ปูตินที่สั่งให้ทหารรัสเซียบุกเข้ายูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีนี้เพื่อที่จะ “ปกป้อง” คนยูเคนที่มีเชื้อชาติรัสเซีย

ปูตินที่บอกว่าเขาจะช่วย “ปลดแอก” ดินแดนบางส่วนของยูเครนเพราะยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียและไม่เคยมีความเป็นรัฐของตนเองอยู่แต่ไหนแต่ไรแล้ว

ปูตินที่ยืนตระหง่านต้านตะวันตกอย่างแข็งกร้าวมาจนถึงวันนี้