จิตต์สุภา ฉิน : ล่าม-นักแปล จะแพ้เทคโนโลยีหรือไม่ ?

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
ที่มาภาพ : https://iamili.com/

สําหรับคนกลุ่มหนึ่ง การเรียนภาษาใหม่สักภาษาอาจจะเป็นเรื่องท้าทาย ง่ายดาย ยิ่งเรียนยิ่งสนุก ยิ่งเรียนยิ่งเป็นธรรมชาติ

คนกลุ่มนี้ก็จะกระตือรือร้นกับการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ตลอดเวลาและทลายกำแพงภาษาจนเป็นงานอดิเรกไปแล้ว

แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อยทั่วโลก การต้องเรียนภาษาใหม่ที่ไม่คุ้นเคยนับเป็นหนามยอกอกอย่างแท้จริง ลำพังพูดภาษาแม่ตัวเองให้สละสลวยได้ก็ยากเย็นแสนเข็นอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงการจะเรียนภาษาใหม่ตั้งแต่ศูนย์เลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น ใครหรืออะไรก็ตามที่สามารถให้คำมั่นสัญญาได้ว่าต่อไปมนุษยชาติเราจะไม่ต้องมานั่งเรียนภาษาให้เมื่อยตุ้มจึงเรียกเสียงฮือฮาได้เสมอ

เหมือนกับที่การ์ตูนโดราเอมอนได้เคยฝันให้เรามาแล้วว่าสักวันหนึ่งเราจะมีสิ่งประดิษฐ์อย่างวุ้นแปลภาษานั่นแหละค่ะ

ที่ผ่านมามีบริษัทจำนวนไม่น้อยพยายามคิดค้นพัฒนาเครื่องแปลภาษาขนาดพกพาของตัวเองออกมา

อย่างเช่น ili (อิลลี่) เครื่องแปลภาษาขนาดเล็กกะทัดรัดที่เราห้อยไว้รอบคอ ซึ่งจะทำหน้าที่ส่งเสียงแปลภาษาออกมาให้ ก็เป็นที่สนอกสนใจอย่างล้นหลาม แม้ว่าในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยเลย

แต่สิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยยังไม่ตระหนักสักเท่าไหร่คือ การฟังภาษาต่างประเทศ แล้วพูดแปลออกมาให้เป็นภาษาที่เราคุ้นเคยนั้นทำได้ตั้งนานแล้ว และไม่ต้องไปเปลืองเงินซื้ออุปกรณ์ชิ้นใหม่มาเพิ่ม

มันเป็นฟีเจอร์ที่อยู่ในแอพพลิเคชั่น Google Translate ในสมาร์ตโฟนของเรานี่แหละค่ะ

แต่ในเมื่อทำมาตั้งนานแล้วก็ยังไม่ได้รับความสนใจเท่ากับเครื่องแปลภาษาเหล่านั้นเสียที ล่าสุดกูเกิลก็เลยขอชิงสปอตไลต์คืนมา ด้วยการเผยโฉมหูฟัง Pixel Buds ที่เปิดตัวมาพร้อมๆ กับ Pixel 2 และ Pixel 2 XL สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ของบริษัทนั่นเอง

 

ที่มาภาพ : https://9to5google.com/2017/10/04/google-earphones-assistant-headphones/

หูฟังรุ่นนี้ใช้งานควบคู่กับโทรศัพท์ Pixel ของกูเกิล

เป็นหูฟังแรกที่ใส่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ลงไปด้วย คือนอกจากจะมีฟีเจอร์เจ๋งๆ ที่ให้ใช้การสั่งการด้วยนิ้วมือ อย่างการกดหรือปาดไปบนตัวหูฟังเพื่อสั่งเปิด ปิด เปลี่ยนเพลง หรือรับสายแล้ว

ก็ยังมาพร้อมผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะของกูเกิล

และจุดสำคัญที่พลาดไม่ได้คือ มันใช้เป็นเครื่องแปลภาษาได้ถึง 40 ภาษาเลยทีเดียว

การจะใช้หูฟัง Pixel Buds แปลภาษานั้นจะต้องใช้คู่กับโทรศัพท์ Pixel ค่ะ

หากเรายืนคุยอยู่กับคนต่างชาติ ให้เขาพูดภาษาของเขาใส่โทรศัพท์ของเรา หูฟังจะแปลสิ่งที่พูดให้กลายเป็นภาษาที่เราเลือก

จากนั้นเราก็สามารถพูดโต้ตอบกลับไปได้ ซึ่งโทรศัพท์ก็จะแปลภาษาของเราให้กลายเป็นภาษาคู่สนทนา แล้วส่งเสียงออกมาทางลำโพงให้เขาได้ยิน

กูเกิลสาธิตวิธีการใช้งานให้ดูบนเวที ก็ออกมาไหลลื่นเป็นธรรมชาติเลยทีเดียว

น่าเสียดายที่ยังต้องพึ่งพาสมาร์ตโฟนอยู่ ก็เลยทำให้รู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นเราก็พูดผ่านแอพพ์บนโทรศัพท์กันล้วนๆ แบบไม่ต้องมีหูฟังเลยก็ได้นี่นา

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็เป็นกิมมิคที่น่าสนใจไม่น้อยเลยค่ะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ซู่ชิงจะมาชวนคุยเพิ่มเติมก็คือ เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีช่วยแปลภาษาต่างประเทศให้เราเข้าใจได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมชาติขึ้นเรื่อยๆ

ในที่สุดแล้วอาชีพที่ต้องใช้การแปลภาษา อย่างการเป็นล่ามหรือนักแปลนั้น จะตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงของการตกงานหรือไม่

 

เรื่องนี้ Business Insider เขาไปลองถามจากคนทำอาชีพล่ามมาหลายคน บางคนก็มองโลกในแง่บวกว่าไม่มีทางที่อาชีพล่ามจะถูกคุกคามโดยเทคโนโลยี

ในขณะที่บางคนก็มองในแง่ลบว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแปลภาษาอาจจะทำให้อาชีพนี้สูญหายไปเลยก็ได้

กลุ่มที่มองว่าอาชีพล่ามและนักแปลจะยังคงอยู่ต่อไปนั้นให้เหตุผลว่าภาษาเป็นเรื่องของการตีความ การจะแปลโต้งๆ ตรงๆ ทุกตัวอักษรนั้นไม่สามารถทำได้

บ่อยครั้งการแปลจะต้องอาศัยความรอบรู้ของนักแปลร่วมด้วยเพื่อทำให้ออกมาสละสลวยและไม่เสียความหมาย ซึ่งเทคโนโลยีแปลภาษาตอนนี้ยังถือว่าห่างชั้นอยู่มาก

หากจะตอบโจทย์การใช้งานได้ ก็อาจจะเป็นการใช้งานแปลภาษาสำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้ในชีวิตประจำวันเสียมากกว่า

ถ้าจะให้แปลเรื่องสำคัญๆ อย่างเอกสารราชการหรืองานทางด้านเทคนิคก็คงก่อให้เกิดความเสียหายได้

แต่กลุ่มที่มองว่าเทคโนโลยีจะมาแย่งอาชีพนักแปลให้เหตุผลว่า จริงอยู่ว่าตอนนี้มันยังมาทดแทนไม่ได้ แต่ในที่สุดแล้ววันหนึ่งมันจะพัฒนาไปถึงขั้นนั้นอยู่ดีนั่นแหละ

ซึ่งก็ฟังดูมีเหตุมีผลนะคะ เมื่อไม่กี่ปีที่แล้วเรายังคิดกันว่ารถยนต์ไร้คนขับเป็นเรื่องที่บ้าสุดและเพ้อฝันอยู่เลย

แต่นี่ผ่านมาไม่เท่าไหร่มันเริ่มจะกลายเป็นสิ่งที่เราได้ยินได้เห็นกันจนคุ้นเคยไปแล้ว และมันก็เก่งขึ้นเร็วมากๆ เลยด้วย

 

ในฐานะคนที่ต้องใช้ทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศและการแปลภาษาในการทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างซู่ชิงนั้น ก็มองว่ามันมีความจริงอยู่ทั้งสองมุมมองค่ะ

คือในตอนนี้มันยังไม่ได้คุกคามอะไรเราสักเท่าไหร่ เอาไว้ใช้ให้สื่อสารกันได้อย่างงูๆ ปลาๆ เสียมากกว่า

แต่ในขณะเดียวกันซู่ชิงก็เชื่อว่ามันจะฉลาดขึ้นเร็วมากๆ ซึ่งแทนที่เราจะนั่งงอมืองอเท้ารอวันนั้นให้มาถึง

จะดีกว่าไหมถ้าหากว่าเราศึกษามันอย่างใกล้ชิดไปเรื่อยๆ แล้วดูว่าเราจะเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยทำงานอะไรให้เราได้บ้าง

บางทีมันอาจจะแบ่งเบาภาระงานง่ายๆ ของเรา และทำให้เรามีเวลาไปทุ่มเทกับการแปลภาษาที่สลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

เหมือนกับที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้มาแทนที่อาชีพนักข่าว

แต่มาช่วยแบ่งเบาการเขียนข่าวง่ายๆ ให้เรามีเวลาไปเจาะลึกกับงานข่าวชิ้นอื่นที่สำคัญกว่าได้มากขึ้น

หรือมองโลกในแง่ร้ายที่สุด หากการแปลภาษาปิดประตูของการเป็นล่ามลง การทลายกำแพงภาษาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก็น่าจะเป็นประตูบานใหม่ที่เปิดโอกาสมหาศาลให้เราทุกคนได้เหมือนกันนะคะ