มหากาพย์ ‘อควาเรียมหอยสังข์’ 14 ปี ละลายงบฯ 1.4 พันล้าน!! / การศึกษา

การศึกษา

 

มหากาพย์ ‘อควาเรียมหอยสังข์’

14 ปี ละลายงบฯ 1.4 พันล้าน!!

 

โครงการก่อสร้าง “ศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา” หรือ “อควาเรียมหอยสังข์” ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง

หลังเครือข่ายภาคประชาชนใน จ.สงขลา ออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากตัวอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ถูก “ทิ้งร้าง” เอาไว้นานถึง 14 ปี

อควาเรียมหอยสังข์แห่งนี้ ได้เริ่มลงเสาเข็มมาตั้งแต่ปี 2551 และมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2554 โดยใช้วงเงินก่อสร้างประมาณ 800 ล้านบาท

แต่จนถึงปัจจุบัน การก่อสร้างก็ยังคงค้างคาอยู่ แถมยังใช้งบฯ ไปไม่น้อยกว่า 1.4 พันล้านบาท

โดยเครือข่ายพลเมืองสงขลา นำโดยนายปรีชา สุขเกษม ได้ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อผลักดันให้อควาเรียมหอยสังข์เปิดใช้งานได้ภายใน 2 ปี โดยเตรียมยกระดับการเคลื่อนไหว หลังถูกทิ้งร้าง 14 ปี และใช้งบฯ ก่อสร้างไปจำนวนมหาศาล

พร้อมทั้งขีดเส้นตายให้ตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องมาชี้แจงถึงแนวทางที่จะใช้ประโยชน์จากอควาเรียมหอยสังข์ต่อไป

แต่หาก ศธ.ไม่มีความชัดเจน ก็จะยกระดับการเคลื่อนไหว และพร้อมเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย

เพื่อไม่ให้งบฯ กว่า 1.4 พันล้านบาท ต้องเกิดการ “สูญเปล่า” และกลายเป็น “อนุสรณ์สถาน” ที่บ่งบอกถึงความล้มเหลว และส่อถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายเจษฎา จิตรัตน์ ได้ประกาศความพร้อมที่จะ “รับโอน” อควาเรียมหอยสังข์ หาก สอศ.ไม่พร้อมจะจัดสรรงบฯ เพื่อเดินหน้าโครงการต่อ!!

 

ประเด็นร้อนแรงนี้ ทำให้นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ต้องยกทีมงานลงพื้นที่ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาและทางออกของโครงการก่อสร้างอควาเรียมหอยสังข์ ต่อหน้าเครือข่ายพลเมืองสงขลา ส.ส.สงขลา ทั้ง 8 เขต และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ทุกพรรค ทุกเขต ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา

รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเสนอแนะทางออก เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากอควาเรียมหอยสังข์ได้คุ้มค่าคุ้มราคางบฯ ก่อสร้างกว่า 1.4 พันล้านบาท หลังประชาชนในพื้นที่ต้องสูญเสียโอกาสมานานกว่า 10 ปี

ในการพบปะพูดคุยระหว่างทีมผู้บริหาร สอศ.และประชาคมชาวสงขลา นายสุเทพมีข้อเสนอ 6 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางให้พิจารณา ได้แก่

1. ให้ดำเนินการสร้างอควาเรียมเหมือนเดิม

2. สร้างอควาเรียม แต่บูรณาการเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้าไปด้วย

3. จัดทำเป็นศูนย์ศึกษาพันธุ์พืช และป่าชายเลน

4. จัดทำเป็นศูนย์อบรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

5. โอนให้จังหวัดดำเนินการ เพื่อจัดแสดงสินค้า แสดงศิลปวัฒนธรรมภาคใต้

และ 6. จัดทำเป็นศูนย์แสดงสินค้า และการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยสร้างท่าเรือ

ซึ่งข้อเสนอทั้ง 6 ข้อดังกล่าว เลขาธิการ กอศ.จะต้องไปศึกษาข้อดี ข้อเสีย ให้รอบด้าน โดยเตรียมจัดตั้งคณะทำงานที่มีนายรอยล จิตรดอน เป็นประธาน พิจารณา ก่อนเสนอ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตัดสินใจอีกครั้ง ว่าจะใช้แนวทางไหนเพื่อเดินหน้าต่อไป

เพราะแต่ละแนวทางอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และถ้าต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของอาคาร จะต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

แต่ไม่ว่าจะดำเนินการในแนวทางใดก็ตาม โครงการก่อสร้างอควาเรียมหอยสังข์ จะยังอยู่ในความรับผิดชอบของ ศธ.

ขณะที่ประชาคมชาวสงขลา มองว่าการตรวจสอบทุจริตที่ดำเนินการมา ก็ต้องดำเนินการต่อไป ส่วนคำชี้แจงของเลขาธิการ กอศ.ก็ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของไทม์ไลน์ และระยะเวลาในการนำทางเลือกเข้าสู่ที่ประชุม ครม. พร้อมทั้งกดดันให้ ศธ.กำหนดไทม์ไลน์ให้ชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ

โดยเครือข่ายพลเมืองสงขลา ยังประกาศเสียงดังฟังชัดว่า ถ้า ศธ.ไม่สามารถระบุไทม์ไลน์ได้ชัดเจน จะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ “ปลด” น.ส.ตรีนุช เทียนทอง จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ด้วย

รวมถึงเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่ จ.สงขลา ในวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ยืนยันว่าจะทำอย่างไรกับอควาเรียมหอยสังข์กันแน่!!

 

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.ระบุว่า ได้รายงานให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับทราบปัญหาในภาพรวมแล้ว ว่าในส่วนโครงสร้างมีปัญหาอะไรบ้าง หากเลือกดำเนินการในแต่ละแบบ จะต้องมีค่าใช่จ่ายเพิ่มเท่าไหร่ และต้องเสนอ ครม.ถ้าเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์อาคารตามแนวทางที่ 3-6 ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาภายหลัง

แต่เมื่อดูแนวโน้มแล้ว รัฐมนตรีว่าการ ศธ.อยากให้ดำเนินการตามแนวทางที่ 5 และ 6 โดยแนวทางที่ 5 ให้จัดทำเป็นศูนย์แสดงสินค้าท้องถิ่น ซึ่งต้องดูความเหมาะสมรอบด้าน หรือหากเลือกแนวทางที่ 6 คือให้จังหวัดดูแล จัดทำเป็นศูนย์แสดงสินค้า และการท่องเที่ยวทางเรือ โดยจะต้องดูผลกระทบต่อพื้นที่การศึกษา จะต้องออกแบบให้ดี เพราะอาจมีคนเข้ามาท่องเที่ยว รวมถึงดูในเรื่องประโยชน์ที่จะเกิดกับการศึกษาด้วย ไม่ใช่ให้จังหวัดดูแลขาด

ทั้งนี้ หากเลือกแนวทางที่ 3-6 ถือเป็นแนวทางที่ลงทุนน้อยที่สุด แต่ผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้น เลขาธิการ กอศ.จึงได้เตรียมจัดตั้งคณะทำงานเพิ่มเติม เพื่อเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้คณะกรรมการ กอศ.พิจารณา ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และ ครม.

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากกลับไปเลือกสร้างอควาเรียมหอยสังข์ตามเจตนารมณ์เดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอ ครม.และเดินหน้าออกแบบเพิ่มเติมได้เลย เพียงแต่ต้องใช้งบฯ เพิ่มอีกจำนวนมาก

เบื้องต้นน่าจะต้องใช้งบฯ เพิ่ม 800-1,200 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างอาคาร โรงพยาบาลสัตว์น้ำ ทั้งน้ำจืด และน้ำเค็ม ซึ่งยังไม่รวมงบฯ จ้างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.อยู่ระหว่างหารือเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง เนื่องจากมีข้อเสนอหลากหลายแนวทางถ้าจะเดินหน้าโครงการก่อสร้างอควาเรียมหอยสังข์ต่อ

อีกทั้งต้องใช้งบฯ จำนวนมหาศาล…

จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา “ซ้ำรอย” แบบเดียวกับที่ผ่านๆ มา…

ต้องติดตามว่า มหากาพย์ “อควาเรียมหอยสังข์” จะลงเอยอย่างไร!! •