‘สหรัฐ-จีน’ ชิงสู้ ‘โลกร้อน’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
clean energy /Flickr

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

‘สหรัฐ-จีน’ ชิงสู้ ‘โลกร้อน’

กฎหมายว่าด้วยการปรับลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act ) ที่รัฐสภาสหรัฐให้ความเห็นชอบ และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐลงนามไปเมื่อไม่กี่วันก่อน จะเป็นเครื่องมือสำคัญของสหรัฐในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและพลิกบทบาทกลับมาเป็นผู้นำในเวทีโลกได้หรือไม่หลังจากปล่อยให้จีนโชว์การนำมาตั้งแต่ยุคนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

ประเด็นสำคัญของฉบับดังกล่าวนี้ มุ่งเน้นมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจการพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานจากชีวมวล ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรืออีวี (electric vehicle) รถยนต์พลังงานไฮโดรเยนภายในประเทศให้มากขึ้น และจูงใจชาวอเมริกันหันมาใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด

ผู้ก่อมลพิษ อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ ด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีจูงใจให้หันมาปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีมาเป็นพลังงานสะอาด

ชาวอเมริกันที่ซื้อรถอีวีใหม่จะได้รับเครดิตภาษี 7,500 เหรียญ หรือซื้ออีวีมือสอง จะได้ลดหย่อน 4,000 เหรียญ

ใครสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน จะได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 30 เปอร์เซ็นต์ หรือเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะได้เงินอุดหนุน 8,000 เหรียญ

บริษัทที่ผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองกับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น โรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถอีวี โรงงานแปรรูปแร่ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ จะได้รับการลดหย่อนภาษี เช่นเดียวกับชุมชนผู้ด้อยโอกาส จะได้เงินช่วยเหลือในการปรับปรุงบ้านพักให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น

เมื่อกฎหมายฉบับนี้นำมาใช้บังคับแล้ว คาดว่าชาวอเมริกันจะประหยัดเงินค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ราว 1,800 เหรียญต่อครัวเรือน จะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดครั้งใหญ่ส่งผลต่อการสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ มากกว่า 1.5 ล้านอาชีพ

 

ในกฎหมาย Inflation Reduction ยังจัดแบ่งงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในการป้องกันไฟป่า การป้องกันแนวชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะโดยคลื่นยักษ์ซัดกระหน่ำ การพัฒนาเทคโนโลยีพยากรณ์อากาศ การวิจัยพัฒนาเครื่องบินตามล่าพายุเฮอร์ริเคน (hurricane hunter aircraft) เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งทวีความรุนแรงสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตคนอเมริกันอย่างมหาศาล

งบประมาณที่ใช้ในมาตรการเหล่านี้รวมเบ็ดเสร็จเฉียดๆ 370,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นกฎหมายออกมาเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐ

“ไบเดน” หวังว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยให้สหรัฐลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกลง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548 ภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า และกลับมาเป็นผู้นำโลกในการต่อสู้โลกร้อนอีกครั้ง

ย้อนกลับไปในยุคนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี บรรดาชาวโลกพากันดูหมิ่นดูแคลนสหรัฐในเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นอย่างมาก เพราะนายทรัมป์ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน อ้างเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง กล่าวหาว่าจีนเป็นคนกุเรื่อง มิหนำซ้ำยังสนับสนุนการใช้พลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซพิษ

นอกจากนี้แล้ว นายทรัมป์ยังประกาศให้สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐตกต่ำ ขณะที่นายสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ชูธงขอเป็นผู้นำโลกแทน

 

ทั้งจีนและสหรัฐปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกรวมๆ กันแล้วราว 38 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซพิษทั้งหมดที่ทั่วโลกปล่อยออกมา

เมื่อจีนพลิกบทหวังเป็นผู้นำโลก ก็พยายามสร้างภาพลักษณ์ในการลดการปล่อยก๊าซพิษอย่างจริงจังมาตลอด เมื่อปีที่แล้วนายสี จิ้นผิง ประกาศช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ใช้งบประมาณกว่า 380,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนปล่อยกู้ระยะยาวอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับบริษัทที่ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ โรงงานสร้างกังหันลม มานานกว่า 10 ปี ทำให้สินค้าเหล่านี้มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับตลาดโลก

ในปัจจุบันกล่าวได้ว่าสินค้าจีนยึดตลาดสินค้าพลังงานสะอาดไปเรียบร้อยแล้ว แม้กระทั่งตลาดแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐก็ยังถูกจีนยึดครองเช่นกัน

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างจีนกับสหรัฐในเรื่องของพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน จะเห็นว่าจีนก้าวกระโดดไปไกลกว่าสหรัฐ

ปี 2564 จีนผลิตกระแสไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาด 28% สหรัฐแค่ 20% เท่านั้น

ด้านรถอีวี รัฐบาลจีนอุดหนุนอุตสาหกรรมชนิดนี้อย่างเต็มพิกัด ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จีนทุ่มงบฯ มากกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนารถอีวีทั้งรถที่ใช้ไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์และรถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งจีนถือว่าเป็นพลังงานใหม่

ปีที่แล้วจีนผลิตรถอีวีขายในประเทศตัวเองมากถึง 3.3 ล้านคัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 16% ของยอดขายรถยนต์ในจีน ส่วนสหรัฐขายอีวีในประเทศได้เพียง 5%

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ รัฐบาลจีนเพิ่งอนุญาตให้บริษัทไป่ตู้ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนนำรถแท็กซี่อัจฉริยะ ไร้คนขับมาให้บริการชาวเมืองเซินเจิ้น เมืองฉงซิ่ง และอู่ฮั่น

รถแท็กซี่ดังกล่าวใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อินเตอร์เน็ต ควบคุมสั่งการรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เป็นการโชว์ให้เห็นว่าจีนพัฒนารถยนต์ไร้คนขับไปไกลมาก

รถไร้คนขับจะเก็บข้อมูลระหว่างการเดินทางมีระบบเซ็นเซอร์แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่เมื่อผู้โดยสารพกพาระเบิด ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุจะแจ้งทางศูนย์ภายในเวลา 30 วินาที

ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจน รัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างมากเช่นกันเพราะเชื่อว่าเป็นพลังงานของอนาคต

ถ้าจีนคิดค้นเพื่อนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมต่อเรือ หรือรถไฟได้สำเร็จ ในราคาที่ถูกและปลอดภัย จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกลายเป็นผู้นำเทคโนโลยีไฮโดรเจนของโลก

การออกกฎหมายกำหนดนโยบายและลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนทิศทางการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งของจีนและสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจโลก หากมองในแง่ดีน่าจะเป็นประโยชน์กับชาวโลกทั้งมวล เพราะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาโลกร้อน •