‘ประตู’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ประตู’

 

ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่คนใช้บนโลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้กับการศึกษาเรียนรู้ “โลก” ธรรมชาติ คล้ายจะเป็นการเปิดพรมแดนแห่งความรู้ของคน ให้เห็นถึงความเป็นไปของธรรมชาติอย่างแท้จริง เกินกว่าที่เราเคยจินตนาการ

ทั้งเหล่าพืช รวมทั้งสัตว์ พวกมันได้รับการออกแบบมาอย่างแยบยล และสอดคล้อง มีความเกี่ยวข้องกันในทางใดทางหนึ่ง

สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เริ่มรู้ ในสิ่งที่พืชและสัตว์ทำด้วยความฉลาดลึกซึ้งนั้นเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนานแล้ว การกระทำต่างๆ ที่คนเคยไม่เข้าใจ ล้วนมีเหตุผล เทคโนโลยีต่างๆ เผยให้เห็นถึงเรื่องราวชัดเจนขึ้น

สำหรับคน ธรรมชาติเปรียบเสมือนโรงเรียน ไม่ใช่โรงเรียนที่เปิดโล่ง โรงเรียนนี้มีประตู เป็นประตูซึ่งไร้กุญแจ เพียงแต่ผู้เรียนต้อง “เปิด” ใจ ก่อนที่จะเปิดประตู

โรงเรียนนี้ใช่ว่าจะสอน จะมีเฉพาะบทเรียนเพื่อให้คนเป็นนักธรรมชาติ แต่มีทุกสาขาวิชาที่คนสนใจ รวมทั้งวิชาเพื่อการเติบโต “ด้านใน”

 

ความโชคดีของผมคือ ได้รับโอกาสให้รับบทเรียนในโรงเรียนนี้ อีกทั้งช่วงเวลาหนึ่งได้เรียนกับ “ครู” ผู้ซึ่งมีสถานภาพอยู่บนตำแหน่งบนสุดของผู้ล่า

งานศึกษาวิจัยเรื่องสัตว์ผู้ล่าผู้อยู่บนสุด อย่างเสือโคร่ง เมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอันก้าวหน้าทำให้มีข้อมูลมากมาย นักวิจัยเข้าใจถึงวิถีของเสือมากขึ้นกว่าในยุคเริ่มต้น

ในยุคนั้น พวกเขาใช้วิธีการต่างๆ มากมาย กรง คือ เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง หลายครั้งที่พวกเขาต้องแบกกรงเหล็กหนักๆ ไปตามด่าน หรือบนสันเขาสูง เพราะในนาทีที่สัตว์ป่ารับรู้ถึงการหมดอิสรภาพ พวกมันจะมีพละกำลังมหาศาล จึงต้องใช้กรงอันแข็งแรง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของสัตว์ซึ่งดิ้นรน

งานที่นักวิจัยทำไม่ง่ายเลย ไม่ว่าจะพรางกรงให้กลมกลืนอย่างไร เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือ เสือ มันเรียนรู้วิธีการให้ไม่จนมุม เช่นเดียวกับนักวิจัย ต่างฝ่ายก็เรียนรู้กัน

ถึงวันนี้ การศึกษาก้าวหน้าไปมาก นับวันข้อมูลต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งบนสุดของผู้ล่านั้น เหมาะสมกับเสืออย่างไร

แม้ว่าในงานวิจัยตอนนี้จะไม่ได้ใช้กรงเป็นเครื่องมือแล้ว แต่คำว่า “เปิดกรง” ยังคงถูกใช้ เมื่อพวกเขาทำงานกับเสือ

อีกสิ่งที่คล้ายจะไม่เปลี่ยนไม่ว่าเครื่องมือจะเปลี่ยนไป คือ คน ต้องเป็นฝ่ายเฝ้ารอ

เสือโคร่ง – ลายเหลืองดำที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี ช่วยให้เสือกลมกลืนกับบริเวณที่มันอยู่

ครั้งหนึ่ง ผมอยู่ร่วมกับทีมผู้ช่วยนักวิจัยเป็นเวลากว่าเดือน เพื่อรอให้เสือตัวเมียตัวหนึ่ง ซึ่งครอบครองพื้นที่ในบริเวณนี้พลาด นักวิจัยมีสมมุติฐานว่าเสือตัวนี้จะเป็นลูกของเสือที่ครองถิ่นอยู่เดิม

มีข้อมูลว่าเมื่อลูกอายุครบสองปี เติบโตพอ และต้องแยกออกไปเพื่อหาพื้นที่ของตัวเอง แม่อาจแบ่งพื้นที่ให้ลูกอยู่ และตัวเองออกไปหาพื้นที่ใหม่

ข้อมูลนี้จะยืนยันได้มีหลักฐาน หากนักวิจัยพบกับเสือตัวนี้ และมันพลาด

เป็นเวลากว่าเดือนในป่า ที่ต้องออกไปตรวจสอบ “กรง” ทุกเช้ามืด และตอนค่ำ พบกับความว่างเปล่า กระทั่งคุ้นชิน

 

แคมป์พัก รายล้อมด้วยป่าเบญจพรรณอันเขียวชอุ่มรกทึบอยู่ในระดับความสูง 600 เมตร ฝนตกทุกๆ บ่าย สายน้ำในลำห้วยเล็กข้างๆ แคมป์เพิ่มระดับ ทิวเขาเลือนรางอยู่ในสายหมอก ชะนีส่งเสียง นกกกกลุ่มหนึ่งบินข้ามหุบ เสียงปีกแหวกอากาศดังราวพายุ

ทุกเช้า ออกจากแคมป์ด้วยความหวังที่จางหายไป เมื่อพบกับความว่างเปล่า

ว่าตามจริง เสือที่กำลังรอนี้ เราไม่ “แปลกหน้า” กันหรอก มีภาพของมันหลายภาพที่บันทึกได้จากกล้องดักถ่าย อาจเพราะความไม่แปลกหน้ากันนี่แหละ ทำให้มันรู้ว่าจะหลีกเลี่ยงเราอย่างไร

เมื่อ “เปิดกรง” สภาพการไปไหนมาไหนไม่ได้เป็นเรื่องปกติ ทุกๆ เช้าชะนีส่งเสียง อากาศสดชื่น สายหมอกคลอเคลียทิวเขา ผมเข้าใจในบทเรียน ขณะเสือเดินไปมาอย่างอิสระในป่า

ดูคล้ายกับว่า เราเองนี่แหละกำลังติดอยู่ในกรง

 

ไม่เพียงเทคโนโลยีต่างๆ จะเจริญก้าวหน้าและนำมาใช้ในการศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตสัตว์ป่าอย่างได้ผล

เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ก็พัฒนา ช่วยให้การใช้ชีวิตใน “โรงเรียน” ง่ายดายขึ้น

ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ นั้นคือ เครื่องมือ

เครื่องมือ อันช่วยให้เข้าถึง รวมทั้งรู้มากยิ่งขึ้นว่า ธรรมชาตินั้น “ฉลาด” เกินกว่าที่เคยจินตนาการ

หากชื่นชมอยู่กับเพียงเครื่องมือ อาจเป็นเรื่องน่าเสียดายที่จะเข้าไม่ถึงบทเรียนที่ธรรมชาติตั้งใจสอน

“เข้าไม่ถึง” ทั้งที่ “ประตู” ซึ่งปิดอยู่ ไม่ได้ล็อกกุญแจ… •