ป่าชายเลนกลางเมืองระยอง หนึ่งเดียวในไทย เหรียญสองด้านที่มีดีไม่ดีปนกัน/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์

 

ป่าชายเลนกลางเมืองระยอง

หนึ่งเดียวในไทย

เหรียญสองด้านที่มีดีไม่ดีปนกัน

 

คนไทยหลายเจเนอเรชั่นไประยองทีไร มักจะนึกถึงทะเลอย่างแหลมแม่พิมพ์ เพราะหาดทรายขาว ทะเลใสปิ๊ง ยิ่งทรายเกาะเสม็ดนวลจนเคยถูกนำไปเป็นวัตถุดิบโรงงานแก้ว

แต่ปัจจุบันบางครั้งโสโครกด้วยคราบน้ำมันจากโรงกลั่น นักอนุรักษ์ยืนยันคราบที่ซึมใต้ทรายใช้เวลาสามปีจึงจะคืนสู่ปกติ ยังไม่นับรวมพฤติกรรมมนุษย์มักง่ายทิ้งขยะเกลื่อนหาด

อีกอย่างที่คนมักนึกถึงคือสวนผลไม้ทุเรียนราชาผลไม้ กินคู่ราชินีมังคุดป้องกันเรอใส่คนข้างๆ…และยุคนี้ภาพเก่าๆ แทบไม่เห็นชาวสวนหอบสินค้าไปขายพ่อค้าคนกลางที่กดราคาต่ำติดดิน จนชาวสวนตัดสินใจนำผลผลิตไปปิดถนนให้มันรู้แล้วรู้รอด

ทุกวันนี้พ่อค้าคนกลางสูญพันธุ์ มีแต่ “ล้ง” ต่างประเทศมาแทน ซื้อเหมาสวนจ่ายล่วงหน้าเก็บผลเอง ส่งขายจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไกลถึงเยอรมนี ฝรั่งเศส บ้านหลังที่สองของคนไทย

ชาวสวนเลยสบายขายผลไม้ที่เหลือให้ลูกค้าออนไลน์สายเดลิเวอรี่ แถมเอ็นจอยขายโต๊ะบุฟเฟ่ต์ผลไม้แบบกินไม่อั้น แต่เมนูนี้เล่นเอาชาวสวนน้ำตาตกเหมือนกัน เพราะ “ผู้ซื้อ” ถือคติจ่ายเงินแล้วต้องกินให้คุ้ม หมอนทองจิกได้เป็นจิกแล้วชิมว่าเนื้อกรอบตามต้องการแค่ไหน ถ้าไม่ใช่ก็ผ่องให้คนมาทีหลังรับทุเรียนมีตำหนิไปบริโภคแทน

นี่เป็นสถิติของคนทำสวน…ทุเรียนบนโต๊ะบุปเฟ่ต์กว่า 50% ถูกนักชิมบูลลี่ต้องเก็บไปแปรรูปเป็นทุเรียนกวน ไม่คุ้มกันเลยกับการเอาหมอนทองไปกวนได้ราคาเท่าทุเรียนปลาร้า

“ลุงบุญ” สมบุญ สุขอิน

มาว่าเรื่องทัวร์บ้าง ระยองเคยอยู่แถวหน้า วัชรพล สารสอน ผอ.ททท.สำนักงานระยอง บอกปี 2562 ก่อนโควิดเล่นงาน คนมาเยือน 7.76 ล้านคน สร้างรายได้ 37,693 ล้านบาท ขณะ 5 เดือนแรกปีนี้โควิดยังระบาด มาเที่ยวแล้ว 8.53 แสนคน สร้างรายได้ 3,071 ล้านบาท

ไม่เสียหน้าที่เป็น 1 ใน 3 นครแห่งระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ระดับภูมิภาค

แต่ต้องไม่ลืมนะว่าอำนาจการท่องเที่ยว พ.ศ.นี้ ถือเป็นเฟืองตัวแม่คอยขับเคลื่อนเศรษฐ กิจให้เกิดผลทันตาเห็น สิบมือคลำ ดังนั้น ต้องรีบเข็นโปรดักต์ท่องเที่ยวตัวใหม่ขึ้นบนเวทีแข่งขัน เพื่อปลุกกระแสออร่า

ล็อกเลยลงตัวที่ “ป่าชายเลน” 500 ไร่ภายในเขตเทศบาลนครระยอง

ป่าชายเลนบ้านเราขณะนี้มีทั้งสิ้น 2.86 ล้านไร่ อยู่แถบอันดามันตอนบนและล่าง กับภาคตะวันออก แต่สำหรับระยองพูดแล้วจะหาว่าขิงมั่ว ด้วยเด่นในเรื่องศักยภาพป่าหนึ่งเดียวในประเทศ หรือโปรโมตขึ้นชั้นหนึ่งเดียวในโลก ที่เป็น “ป่าชายเลนใจกลางเมือง” ครอบคลุมเขตเทศบาลนครในส่วน ต.เนินพระ ต.ประดู่ ต.ปากน้ำ ก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย

อยู่แค่ปลายจมูกศาลากลางจังหวัดกับสวนศรีเมือง และหน่วยราชการต่างๆ มากมาย

ที่น่าอะเมซิ่งยิ่งกว่านั้น ป่าแปลงนี้มิได้เกิดเองตามธรรมชาติ หากแต่มนุษย์สร้างขึ้นราว 50 ปีก่อน โดยทุ่งโล่งขณะนั้นมีร่องน้ำชื่อคลองใหญ่หรือแม่น้ำระยอง ไหลจากเทือกเขากองซองกับพนมศาสตร์ มาทาง อ.ปลวกแดง ผ่านตัวเมืองลงกระทะอ่าวไทย

ทุ่งดังกล่าวถูกชาวประมงชายฝั่งชื่อสมบุญ สุขอิน วัย 40 ปี นำเรือเข้ามาจอดพักหลับนอน ให้เกิดคิดเวลาต่อมาว่าน่าจะเก็บกิ่งและผลพันธุ์โกงกาง แสม ลำพูน ลำแพน มาปลูกเพราะโตเร็ว อีกทั้งเป็นพืชที่สามารถปรับตัวในน้ำเค็มเป็นน้ำจืดเลี้ยงลำต้นได้ดี ขณะพืชชนิดอื่นแทบไม่มี

ไม่นานต้นไม้ที่สมบุญลงแรงปลูกรายวัน เจริญพันธุ์เป็นบ้านน่าอยู่สำหรับสัตว์น้ำอนุบาลตัวอ่อน ด้วยใบไม้ร่วงหล่นเป็นอาหารปู โปรตัวซัวโคนรากผสมแบคทีเรียในน้ำเป็นอาหารกุ้ง กิ่งไม้หักทับถมในน้ำเป็นสาหร่ายให้ปลากิน

พอเติบโตพากันย้ายถิ่นสู่ทะเลกว้าง ให้มนุษย์ลงอวนล้อมจับมาปรุงเมนูชวนชิมสารพัด ส่วนสัตว์ปีกจำพวกนกอาศัยทำรังบนต้นไม้ มีหนอนกับแมลงให้จับกินเป็นวัฏจักรของสัตว์โลก

ต่อเมื่อป่าชายเลนขยายตัวมากขึ้น ถูกจัดเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้เยาวชนได้ศึกษา และมีส่วนร่วมในการปลูกป่าเสริม สมบุญถึงวัยเป็น “ลุงบุญ” ปราชญ์ท้องถิ่นด้านประมงกึ่งเกษตรกรรมคอยให้ความรู้เด็กๆ เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในป่า “ปูก้ามดาบมีกี่ก้าม อยู่ด้านขวาหรือซ้าย เถียงกันให้จบ” แล้วลุงบุญนั่งหัวร่อรอเฉลยให้เด็กฟัง

“มี 2 ก้ามซ้ายขวาใช้หาอาหารกับป้องกันตัวเอง”

 

ในที่สุดไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี…กรณีป่าชายเลน 500 ไร่ก็ถูกยกเป็นสมบัติแผ่นดิน บริหารจัดการร่วมกันหลายหน่วยงาน ทั้งทางตรงทางอ้อมจากส่วนกลางและท้องถิ่น ทำท่าว่าจะก้าวไกลไปได้สวยภายใต้ธีมภูธรไทยแลนด์ 4.0 สร้างจุดขายตามภูมิปัญญาส่วนราชการไทยในรูป “ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ อัญมณีหนึ่งเดียวระยอง”

มีการดีไซน์แบบสร้างสะพานครึ่งไม้ครึ่งปูนเป็นทางเดินรอบป่าระยะทาง 3 กิโลเมตร ดูไม่ทำลายภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวประเภทซอฟต์แอดเวนเจอร์ ให้คนมาเที่ยวใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์สไตล์ หรือออกกำลังกายให้สุขภาพปึ๋งปั๋งได้ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงเย็น 6 โมงครึ่งทุกวัน

นอกจากนี้ มีเรือบริการนำเที่ยวทางแม่น้ำระยอง แล่นรอบๆ ป่าชายเลน กับร้านอาหารเอกชนริมน้ำบริการอาหารบ้านๆ และแฟรนไชส์คาเฟ่ตะวันตกยุค 2022 ให้นั่งมองฉากป่ากับน้ำน่าอัศจรรย์ ผลักดันให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวตัวใหม่สามารถเดินต่อไปได้อย่างสุดปัง

ชื่มชมมานานให้นึกขึ้นได้…ลุงบุญคนปลูกป่าชายเลนเหมือนปอดฟอกอากาศให้คนระยองหลุดคิวไปไหน? ถามเจ้าหน้าที่คนไหนคนนั้นสั่นหัวบอก “ไม่รู้” มีคนที่รู้แต่ไม่รู้ “อยู่ไหน” ต้องไปถามชาวบ้านถึงรู้ว่าลุงบุญยังมีชีวิตอยู่ด้วยวัย 85 ปี อาศัยกระต๊อบย่านพระสมุทรเจดีย์กับลูกชายคนเดียวเป็นคนขนขยะเทศบาล

ลุงบุญข้อเข่าเสื่อมไม่มีเงินรักษา ค้างค่าไฟกำลังจะถูกตัดเพราะไม่มีคนเหลียวแล ข้าวสารได้ประมงมอญกับพม่าเอามาให้กิน “ไปถามโค-พ่อ โค-แม่ดูก็ได้ แต่ไม่เสียชาติเกิดที่ได้ทำประโยชน์ทิ้งไว้ ตายไปจะได้นอนตาหลับ”

ลุงบุญพ้อแล้วฟังใครไม่รู้พูดบ้าง “ผมเป็นข้าราชการมาดูแลป่าไม่ใช่คน ลุงบุญมีลูกหลานก็ดูแลกันไปเป็นเรื่องส่วนตัว…ไม่ใช่หน้าที่ผม”

เพิ่งรู้นะเนี่ย…ที่นี่เขาอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำประเภท “เต่าล้านปี” เอาไว้ด้วย