ภาพยนตร์ นพมาส แววหงส์ /VICTORIA AND ABDUL “เรื่องจริง…เป็นส่วนใหญ่”

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

VICTORIA AND ABDUL “เรื่องจริง…เป็นส่วนใหญ่”

กำกับการแสดง Stephen Frears

นำแสดง Judi Dench, Ali Fazal, Tim Pigott-Smith, Eddy Izzard, Michael Gambon, Paul Higgins, Olivia Williams

เพื่อกันความคลางแคลงและการถกเถียงไม่จบสิ้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ที่นำมาสร้างเป็นหนังเรื่องนี้ หนังเปิดเรื่องด้วยข้อความปฏิเสธความรับผิดชอบว่า “สร้างจากเหตุการณ์จริง…เป็นส่วนใหญ่”

แถมตอนท้ายก็จบด้วยการที่บอกว่าแหล่งข้อมูลหลักซึ่งเป็นที่มาของหนังได้มาจากอนุทินบันทึกของ อับดุล คารีม ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง

ดังนั้น จะจริงจะเท็จประการใดก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ชม

ทว่า เรื่องราวของมิตรภาพอันแปลกประหลาดของควีนวิกทอเรียกับมหาดเล็กชาวอินเดียที่ชื่อ อับดุล คารีม นี้ มีหลักฐานอื่นๆ ประกอบอีกมากมาย รวมทั้งภาพถ่ายกับควีน ภาพวาดของอับดุลฝีมือศิลปินราชสำนัก การมอบตำแหน่ง “มุนชี” หรือ “พระอาจารย์” ซึ่งมาจากภาษาอูร์ดู ที่ใช้เรียกครูบาอาจารย์ และการได้รับพระราชทานที่ดินให้ครอบครองในอินเดีย บ้านเกิดของเขา ฯลฯ

ขนาดที่ถ้าค้นในอินเตอร์เน็ต ก็จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับ อับดุล คารีม คนนี้ในวิกิพีเดีย ซึ่งนับเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่ใกล้มือที่สุดที่จะหาได้ ในแง่ความเป็นคนโปรดของควีนวิกทอเรียในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 81 พรรษา

นับเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดถึง 63 ปีในขณะนั้น ตราบจนใน ค.ศ.2015 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองของอังกฤษทรงครองราชย์ยาวนานกว่านั้น และรัชสมัยของพระองค์ยังไม่สิ้นสุดจนบัดนี้

ทว่า ถึงอย่างไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ก็ยังทรงครองสถิติในการครองราชย์อันยาวนานที่สุดอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากจะทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพแล้ว ควีนวิกทอเรียยังได้รับการสถาปนาเป็น “จักรพรรดินีแห่งอินเดีย” ใน ค.ศ.1877 ในช่วงที่อังกฤษปกครองอินเดีย

ดังนั้น ใน ค.ศ.1881 เมื่อมีพระราชพิธีกาญจนาภิเษกสมโภชการครองราชย์ห้าสิบปีของสมเด็จพระราชินีแห่งเครือจักรภพ อินเดียจึงทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญพิเศษแด่องค์จักรพรรดินี

ในการนี้ อับดุล คารีม (อาลี ฟาซาล) ชาวเมืองอัครา ซึ่งเป็นเสมียนที่เรือนจำ ได้รับการคัดเลือกตัวให้เดินทางไปอังกฤษเพื่อทำหน้าที่ทูลเกล้าฯ ถวาย พร้อมกับชาวอินเดียอีกคนซึ่งเป็นตัวเลือกสำรองที่เข้ามาแทนที่ตัวจริงในนาทีสุดท้าย

อับดุลได้รับการสอนต่างๆ นานาเรื่องมารยาทในราชสำนักในการเข้าเฝ้าถวายของ หนึ่งในนั้นคือ ห้ามสบตากับพระราชินี

แต่เขาอดไม่ได้ที่จะมอง จนทำให้เป็นที่สะดุดพระเนตรของพระราชินีผู้ทรงอ่อนล้าและเหนื่อยหน่ายจากพระราชภารกิจและระเบียบแบบแผนที่ไม่มีใครมองพระองค์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเลย

และเมื่อทรงเรียกตัวอับดุลให้กลับมาถวายการรับใช้ที่โต๊ะเสวยอีก อับดุลเดินประคองถาดที่มีเยลลีนุ่มๆ ตั้งสูงอย่างชวนหวาดเสียวเข้ามาถวาย และเขาทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคือ ก้มลงจูบพระบาทของพระราชินี

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่พระนางทรงเรียกใช้เขาใกล้ชิด และมีรับสั่งสนทนากับเขาในเรื่องโลกอีกโลกที่พระนางไม่เคยทรงรู้จัก แม้จะทรงดำรงตำแหน่ง “จักรพรรดินี” แห่งดินแดนนั้น

เริ่มจากผลไม้เมืองร้อน คือมะม่วง ซึ่งอับดุลเรียกว่าเป็น “ราชินีแห่งผลไม้” ตลอดไปจนถึงเครื่องเทศต่างๆ ความงดงามของทัชมาฮาลในเมืองอัครา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอับดุล

วิกตอเรียทรงเริ่มสนใจอยากเรียนภาษาที่ใช้กันอยู่ในอินเดีย ซึ่งอับดุลก็สอนภาษาอูร์ดูถวาย รวมทั้งสอนพระคัมภีร์กุรอานถวายด้วย

จนได้รับเลื่อนตำแหน่งจากมหาดเล็กเป็น “มุนชี” หรือพระอาจารย์

เป็นคนสนิทถึงขั้นที่ตามเสด็จไปในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังบัลมอรัลในชนบท หรือเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปอิตาลี เพื่อทอดพระเนตรโอเปราของปุชชินี

รวมทั้งมีบัญชาให้อับดุลพาภรรยาที่อินเดียมาอยู่ด้วยในอังกฤษ

อับดุลเป็นแขกมุสลิมโพกหัว และภรรยาของเขาต้องสวมชุดดำคลุมทั้งตัว รวมทั้งคลุมหน้าคลุมตาหมด ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงอังกฤษ ก็กลายเป็นหัวข้อครหาไปทั่ว

อับดุลเป็นคนโปรดที่ถวายการรับใช้ใกล้ชิดเสียจนพระราชวงศ์ชั้นสูง นายกรัฐมนตรี และราชสำนักอังกฤษ ไม่ชอบใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อสมเด็จพระราชินีมีพระราชดำริจะแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งอัศวิน

เสียงประท้วงรุนแรงมากถึงขั้นราชสำนักทั้งราชสำนักขู่จะลาออกยกทีม

นอกจากนายกรัฐมนตรีลอร์ดซาลิสเบอรี (ไมเคิล แกมบอน) แพทย์หลวง ดร.รี้ด (พอล ฮิกกินส์) และเลดี้เชอร์ชิลล์ (โอลิเวีย วิลเลียมส์) แล้ว คนที่ต่อต้านรุนแรงมากที่สุดคนหนึ่งคือ เจ้าชายเบอร์ตี้ เจ้าชายแห่งเวลส์ (เอ็ดดี้ อิซซาร์ด) ซึ่งเป็นรัชทายาท

บอกตรงนี้สักนิดแถมไว้เพื่อจะได้รู้ว่าใครเป็นใครในประวัติศาสตร์ ต่อมาเบอร์ตี้จะขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด และมีความสัมพันธ์อันอื้อฉาวกับผู้หญิงที่เขย่าราชบัลลังก์อังกฤษ มิสซิสวอลเลซ ซิมป์สัน จนต้องสละราชบัลลังก์ให้พระอนุชาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จ ผู้ทรงเป็นพระราชบิดาของควีนเอลิซาเบธ

จูดี้ เดนช์ ในวัยแปดสิบสองปี กลับมารับบทควีนวิกตอเรียอีกครั้ง หลังจากเมื่อราวยี่สิบปีก่อนที่เล่นเป็นควีนวิกตอเรียในช่วงที่ตกเป็นข้อครหาจากการที่ทรงสนิทสนมกับคนรับใช้ชายอีกคน ที่ชื่อ จอห์น บราวน์ หลังจากที่ทรงโศกเศร้าเสียพระทัยในการที่พระสวามี เจ้าชายอัลเบิร์ต สิ้นพระชนม์ไป และทรงทอดทิ้งพระราชภารกิจ ทรงประกาศจะไว้ทุกข์ยาวนานและทรงไม่ยอมกลับไปประทับที่พระราชวังบักกิ้งแฮมเลย

จอห์น บราวน์ ผู้จงรักภักดี เป็นคนที่ทำให้พระนางทรงกลับคืนสู่ชีวิตชีวาอีกครั้ง

ถึงขนาดที่ใครๆ พากันเรียกพระนางลับหลังว่า Mrs.Brown ซึ่งเป็นชื่อของหนังที่กำกับฯ โดย จอห์น แมดเดน

ดูเหมือนจะไม่มีใครเข้าถึงบทบาทของควีนอังกฤษพระองค์นี้ได้ดีเท่าคุณหญิงจูดี้ เดนช์ อีกแล้ว

เธอแสดงภาพขององค์ประมุขที่ทรงครองราชย์มายาวนานจนกลายเป็นเหมือนหุ่นยนต์ไร้ชีวิตที่ถูกสั่งให้ทำโน่นทำนี่อยู่ตลอด

ตราบจนได้พบกับคนที่ปฏิบัติต่อพระนางแตกต่างออกไป และดึงพระนางกลับเข้าสู่ความมีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยเรื่องแปลกๆ ของโลกที่อยู่ไกลตัว

แน่นอนว่าหลังจากที่พระราชินีสวรรคต อับดุลก็โดนอัปเปหิกลับไปอยู่อินเดียเหมือนเดิม

ข้าวของเอกสารต่างๆ โดนเผามอด เหลืออยู่เพียงความทรงจำในอนุทินที่เขาเขียนไว้

ซึ่งจุดประกายให้กลายมาเป็นหนังให้เราดูอยู่ในตอนนี้