แมลงวันในไร่ส้ม/คสช.-รัฐบาล “โชว์” ทัวร์มะกันจับมือ “ทรัมป์” ไอเคโอปลด “ธงแดง”

แมลงวันในไร่ส้ม

คสช.-รัฐบาล “โชว์” ทัวร์มะกันจับมือ “ทรัมป์” ไอเคโอปลด “ธงแดง”

การเดินทางไปพบปะ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือนตุลาคม ถือเป็นข่าวใหญ่ที่ทุกสื่อให้ความสำคัญ

นอกเหนือจากการตั้งโต๊ะเจรจาการค้าการลงทุนของ 2 ประเทศแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ยังได้แจ้งสหรัฐว่า จะประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 นี้

ทำให้เกิดการถกเถียงกันพักใหญ่ว่า การประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 หมายถึงจะเลือกตั้งในปี 2561 หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ต่อมา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย งัดเอาต้นฉบับแถลงการณ์ร่วมภาษาอังกฤษ มาเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ระบุระหว่างการเข้าพบ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะมีการเลือกตั้งปี 2018 หรือปี 2561

ต่อมาอ้างว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 แต่จะมีการเลือกตั้งจริงในปี 2562

ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงคำแถลงการณ์ร่วมของรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐที่ทำเนียบขาว ซึ่งในข้อที่ 8 ระบุชัดเจนว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งที่มีอิสระและยุติธรรมในปี 2561 แน่นอน

อีกทั้งผู้นำทั้งสองประเทศเห็นความสำคัญในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน กระทรวงการต่างประเทศของไทยควรจะนำบันทึกการสนทนาระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับประธานาธิบดีสหรัฐออกมาชี้แจงว่าพูดกันว่าอย่างไร หากไม่ตรงกันก็แจ้งให้ทางทำเนียบขาวทราบว่าเขาเข้าใจผิด

สำหรับการเดินทางเยือนสหรัฐทริปนี้ คสช. ถือเป็นภาพที่ดีที่สะท้อนถึงสถานะของรัฐบาลที่ได้รับความยอมรับมากขึ้น

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ว่า ภาพรวมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และประเทศไทยและสหรัฐเองก็มีความร่วมมือในทุกๆ เรื่องทั้งการค้าการต่างประเทศ

นับว่าเป็นความสำเร็จเพราะประเทศของเรามีรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร แต่ทางสหรัฐได้เชิญไปพูดคุย

พร้อมทั้งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน ส่วนการเจรจา การลงทุนการค้ากับสหรัฐนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ ก็ยังคงต้องดำเนินการต่อ

ไม่กี่วันหลังกลับจากสหรัฐ ไอเคโอ หรือองค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้ปลดธงแดง อันเป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า ไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ตามมาตรฐานการบินสากลได้

พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ภายหลังตัวแทนไอเคโอเข้าแจ้งอย่างเป็นทางการ โดยกล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันเกียรติยศ ที่อยากจะอ่านแถลงการณ์นี้ด้วยตัวเอง

ขอแถลงความก้าวหน้าในการทำงานของพวกเรา ในโอกาสที่ไอเคโอถอดรายชื่อประเทศไทยออกจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่อภัยด้านการบินพลเรือน หรือเรียกว่าการปลดธงแดง

ซึ่งข้อบกพร่องที่เป็นนัยสำคัญถึง 33 ข้อ ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2558 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ โดยถือเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ทำให้การตรวจสอบทั้ง 33 ข้อมีการเปลี่ยนแปลงนัยสำคัญอยู่ตลอดเวลา

มีการทบทวนประเมินออกใบรับรองแก่ผู้ดำเนินการการเดินอากาศใหม่ทั้งหมด 28 สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ แก้ไขกฎหมายการเดินอากาศใหม่ และพัฒนาบุคลากรที่มีความขาดแคลน

เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประเทศไทยได้ตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับไอเคโอ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมทั้งได้ยื่นขอตรวจประเมินใหม่ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560

ทางไอเคโอได้ส่งคณะผู้ตรวจประเมินมาตรวจประเมินด้านปฏิบัติการการบิน และความเหมาะสม เมื่อระหว่างวันที่ 20-27 กันยายนที่ผ่านมา มีมติถอดประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป

ภายหลังจากไอเคโอปลดธงแดง ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นกลุ่มสายการบิน และหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันแรกที่ ตลท. เปิดทำการวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม

หุ้นแอร์เอเชีย ปิดตลาดที่ราคา 6.70 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือ 3.08% จากวันก่อนหน้าหรือวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม ทำราคาสูงสุดระหว่างวันที่ราคา 6.85 บาท และราคาต่ำสุดที่ 6.65 บาท มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 1,168 ล้านบาท

หุ้นนกแอร์ ปิดตลาดที่ราคา 3.60 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.08 บาท หรือ 2.27% จากวันก่อนหน้า ทำราคาสูงสุดระหว่างวันที่ราคา 3.70 บาท และราคาต่ำสุดที่ 3.54 บาท มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 35.35 ล้านบาท

การบินไทย ปิดตลาดที่ราคา 19.10 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 3.24% จากวันก่อนหน้า ทำราคาสูงสุดระหว่างวันที่ราคา 20.10 บาท และราคาต่ำสุดที่ 19.10 บาท มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 908 ล้านบาท

บางกอกแอร์เวย์ส ปิดตลาดที่ราคา 18.80 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือ 1.08% จากวันก่อนหน้า ทำราคาสูงสุดระหว่างวันที่ราคา 19.40 บาท และราคาต่ำสุดที่ 18.80 บาท มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 226 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การติดธงแดงให้กับประเทศไทย กระทบภาพลักษณ์กว่า 2 ปีที่ผ่านมา เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจสายการบินของไทย

รวมถึงการที่ภาครัฐมุ่งเป้าให้อุตสาหกรรมการบินเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันโครงการอีอีซีและเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมาส่งผลให้ธุรกิจสายการบินของไทยมีค่าเสียหายโอกาสที่เกิดขึ้นกว่า 11,300 ล้านบาท

การปลดล็อกธงแดงในครั้งนี้จะยกเลิกการตั้งข้อจำกัดทางการบินที่มีต่อสายการบินของไทย ส่งผลให้สถานการณ์การบินของไทยเติบโตคึกคักยิ่งขึ้น โดยคาดว่าธุรกิจสายการบินของไทยปี 2560 จะมีรายได้ 278,900 ล้านบาท และน่าจะเพิ่มเป็น 294,500 ล้านบาท ในปี 2561 ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับว่าสายการบินของไทยยังติดธงแดง โดยคาดว่าจะคิดเป็นมูลค่าเพียง 1,300 ล้านบาท และ 8,400 ล้านบาท ในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการบิน ยังเหลือปัญหาจากอีก 2 องค์กร คือ สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ เอฟเอเอ และหน่วยงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป หรือ เอียซ่า ที่ลดอันดับประเทศไทยไว้ ยังต้องแก้ปัญหาเพื่อให้ 2 องค์กรนี้ไฟเขียวให้ไทยเข้าบินในสหรัฐและยุโรปได้ตามปกติ

ต้องถือว่ารัฐบาลสามารถสร้างผลงานด้านบวกซึ่งน่าจะสร้างความมั่นใจให้กับรัฐบาลมากขึ้น และอาจส่งผลในทางการเมือง

ล่าสุด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้เมื่อ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้คาดหมายว่า น่าจะมีการปรับปรุงคำสั่ง คสช. 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม เพื่อเปิดช่องให้พรรคการเมืองได้ดำเนินการตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ใหม่

แต่ทางรัฐบาลและ คสช. ยืนยันว่า จะยังไม่มีการปลดล็อก

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามกันต่อไปว่า ภายหลังงานพระราชพิธีสำคัญผ่านพ้นไป รัฐบาลอาจดำเนินการเรื่องนี้ในห้วงปลายปี ก็ยังมีความเป็นไปได้