หลังเลนส์ในดงลึก : “ซาก”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

กลางเดือนสิงหาคม ผืนป่าด้านตะวันตก 18:50 นาฬิกา

ด่านเล็กๆ ซึ่งมีร่องรอยของช้างและกระทิงใช้อยู่เป็นประจำเลาะเลียบมาตามลำห้วยสายเล็กๆ ที่มีน้ำไหลรินๆ ระดับสูงไม่ถึงข้อเท้าแม้ว่าฝนจะทิ้งช่วงไปบ้าง รวมทั้งบริเวณที่เราอยู่นั้น เป็นบริเวณที่เรียกอยู่ในเขต “เงาฝน” คือมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีไม่มากนักและมีฤดูแล้งยาวนานถึง 8 เดือน กระนั้นแถบป่าเบญจพรรณก็เขียวชอุ่มและทางด่านค่อนข้างรกหญ้าสูงเลยหัวเข่า

ในลำห้วยด้านซ้ายมือเราพบซากกวางอายุกว่า 2 ปีช่วงท้องถูกเปิดเครื่องในและเนื้อส่วนหนึ่งโดนกัดกินไปแล้ว จากพุ่มไม่หนาทึบบนเนินใต้ต้นมะค่าด้านขวามือมีเสียงร้องด้วยสำเนียงแปลกๆ

“หมาไนหลบเราไปอยู่บนนั้นครับ” ยิ่งบุญ ซึ่งเดินอยู่ข้างหน้า หยุดหันมาบอกก่อนที่เราจะรีบเดินให้พ้นจากบริเวณนั้น

ผมหันกลับไปมองซากกวาง ช่วงบนลำตัวเปียกชุ่มโชกเลือดแดงเข้มลอยอยู่ในน้ำขังที่เป็นแอ่ง

เมื่อชั่วโมงที่ผ่านมาผมยังเห็นมันเป็นกวางที่มีชีวิต

 

หนึ่งชั่วโมงก่อนหน้า

กวางตัวหนึ่งวิ่งออกมาจากชายป่าวิ่งตัดเข้ามาสู่ที่โล่งที่มีเนื้อที่กว้างราวๆ สนามฟุตบอล ตรงกลางมีแนวหินระเกะระกะ หมาไนสีแดงเข้ม 6-7 ตัววิ่งไล่ตามอย่างกระชั้นชิด กวางวิ่งถึงชายป่าอีกฝั่ง สักครู่มีเสียงร้องโหยหวนอย่างเจ็บปวด หลังจากนั้นมีเสียงกระทืบตีนกับพื้น กวางตัวเมียอีกตัวโผล่ออกมาเดินตามฝูงหมาในไปช้าๆ เสียงโหยหวนดังเป็นช่วงๆ และหยุดไป

สภาพโดยรอบตกอยู่ในความเงียบ จากภาพที่เห็นและเสียงที่ได้ยิน ผมรู้ว่าหมาในฝูงนี้ไล่กวางแม่และลูกมาถึงบริเวณนี้ พวกมันแบ่งกันทำหน้าที่ไล่ต้อน ลูกถูกแยกออกมาส่วนหนึ่งกันตัวแม่ไว้ อีกส่วนไล่ตามตัวลูก เสียงร้องของกวางนั่นคือมันคงถูกรุมกัดจนล้ม หมาไนเชี่ยวชาญ พวกมันไม่มีรูปแบบอันแน่นอนในการเข้าโจมตี

วัวแดงตัวหนึ่งถูกหมาไนไล่ล่า ผมเห็นมันโดนกระชากชิ้นส่วนจากก้นขณะกำลังวิ่ง ขณะอีกตัวกระโดดงับลูกนัยน์ตา ชิ้นส่วนวัวแดงโดนกินก่อนที่มันจะล้ม อีกครั้งหนึ่งผมเห็นหมาไนกระโดดงับบริเวณคอกวางแน่น ใช้วิธีการกัดเส้นเลือดใหญ่แบบเดียวกับเวลาที่เสือลงมือกับเหยื่อ

กวางล้มลงมีเพียงเสียงร้องสั้นๆ ก่อนหมดลมหายใจ ครั้งนี้กวางร้องโหยหวนอยู่นาน มันคงโดนกระชากชิ้นส่วนออกไปก่อน กับหมาไนฝูงนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเห็นการทำงานของพวกมัน สองสัปดาห์ก่อนพวกมันใช้วิธีการเดียวกันคือไล่ต้อนลูกแยกออกจากแม่ กวางล้มลง ฝูงหมาไนใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงกัดกินกระทั่งกวางเหลือเพียงหนังและกระดูกท่อนโตๆ

ในบรรดานักล่าที่มีประสิทธิภาพและทำงานอย่างได้ผลนับได้ว่าหมาไนเป็นมือวางอยู่ในลำดับต้นๆ

 

สองชั่วโมงก่อนหน้า

เก้งหนุ่มสาวสองตัวเดินลุยดงหญ้าเขียวๆ ที่สูงเกือบท่วมตัวเข้ามาอย่างช้าๆ ตัวผู้ซึ่งเขากำลังสวยงามเดินตามมาต้อยๆ ดูเหมือนทั้งคู่ไม่ได้สนใจที่จะตรงเข้าไปถึงแอ่งน้ำเล็กๆ ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุเท่าใดนัก มองจากไกลๆ ผมสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายแห่งความรักของทั้งคู่

เดือนสิงหาคมอาจนับได้ว่าเป็นช่วงฤดูแห่งความรักของเหล่าสัตว์กินพืช หลายวันก่อนเราพบกวางตัวผู้ซึ่งทิ้งเขาเก่าไปแล้ว เขาชุดใหม่กำลังงอก มันคลอเคลียกับตัวเมียไม่ห่าง

ว่ากันตามจริง สำหรับเก้ง กวาง พวกมันนับได้ว่ามีฤดูแห่งความรักได้ตลอดทั้งปี แต่ดูเหมือนพวกมันจะเลือกใช้เวลาตั้งแต่เดือนกันยายน เพราะส่วนใหญ่จะใช้เวลาตั้งท้องนาน 6-8 เดือน นั่นหมายถึงว่าลูกๆ จะเกิดมาในช่วงต้นฤดูแล้งซึ่งอาหารยังอุดมสมบูรณ์ หรือในช่วงฤดูแล้งที่ไฟไหม้ทุ่งหญ้าเกิดระบัดอ่อนๆ

สัตว์ป่านั้นนอกจากจะได้รับการออกแบบร่างกายมาอย่างเหมาะสมกับงานซึ่งได้รับมอบหมายมาแล้ว พวกมันยังได้รับทักษะต่างๆ ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษด้วย

อย่างพวกนกน้ำเช่นกัน หลายชนิดไม่ได้สร้างรังอย่างมิดชิด หลายตัววางไข่บนแพจอกแหน ไข่ของพวกมันจะไม่เป็นสีขาว จะมีสีน้ำตาลหรือไม่ก็มีลายๆ เพื่อพรางสัตว์ผู้ล่า

นอกจากนั้น นก เช่น นกอีแจว นกพริก อีโก้ง รวมทั้งนกเป็ดผี จะเลือกช่วงวางไข่ราวๆ เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ด้วยเหตุผลว่า นี่คือช่วงเวลาที่กลางวันยาวนานของปี พวกมันใช้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ช่วยในการฟักไข่ด้วย

 

เก้งดูจะเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างพบเห็นได้บ่อย โดยสถานภาพของมันคือผู้ควบคุมปริมาณพืชและเป็นทั้งเหยื่อด้วย

เก้งมีประสาทสัมผัสที่ดีทั้งตาและหู โดยเฉพาะจมูกในการรับกลิ่น ปกติพวกมันจะเดินหากินในเวลากลางวัน ขณะกินจะกินอย่างรวดเร็ว ก้มๆ กิน สักครู่เงยหน้าขึ้นสูดกลิ่น

อาหารที่กินจะรีบกลืนเข้าไปเก็บในกระเพาะพัก หลังจากหลบเข้าไปอยู่ในที่คิดปลอดภัยดีจะขย้อนออกมาเคี้ยวอย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วนที่เคี้ยวไม่ได้ คายทิ้งไว้บนพื้น

ด้วยความที่มีประสาทสัมผัสดีโดยเฉพาะการดมกลิ่น สัตว์ป่าอื่นๆ จึงอาศัยเก้งคล้ายเป็นตัวบอกความปลอดภัยในบริเวณนั้น

เมื่อเก้งอยู่ในแหล่งอาหารได้นานๆ สัตว์อื่นๆ รับรู้ได้ว่าไม่มีสัตว์ผู้ล่าอยู่ใกล้ๆ

 

เก้งหนุ่มตัวนั้นใช้เวลาอย่างคุ้มค่า มันขึ้นขี่หลังตัวเมียหลายครั้ง เช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นๆ รวมทั้งเสือ ที่จะใช้เวลากับตัวเมียซึ่งพร้อมรับการผสมพันธุ์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าการผสมจะประสบผลสำเร็จ การแพร่พันธุ์ให้มีเผ่าพันธุ์ดำรงอยู่ต่อไป สำหรับสัตว์ป่าคือสิ่งสำคัญ

บางชนิดคนซึ่งพยายามศึกษาก็ไม่เข้าใจนักว่าทำไมจึงมีวิถีเช่นนั้น อย่างในกรณีปลาเเซลมอนทางฝั่งแปซิฟิกของประเทศสหรัฐอเมริกา พวกมันถือกำเนิดในแหล่งน้ำจืด ว่ายออกไปโตในท้องทะเล หลังจากอายุได้ราวๆ 2 ถึง 5 ปี แล้วแต่ชนิดปลาเหล่านี้จะพากันกลับไปยังถิ่นกำเนิด ฝ่าฟันความยากลำบากและจดจำสายน้ำที่ตัวเองเกิดได้อย่างแม่นยำ เมื่อถึงตัวเมียใช้หางปัดทรายที่ก้นน้ำให้เป็นหลุม จากนั้นแต่ละตัววางไข่ราวๆ 2-3 พันฟอง

ตัวผู้ฉีดน้ำเชื้อ กลบหลุม ครั้นแน่ใจว่าได้สืบทอดเผ่าพันธุ์แล้วพวกมันทั้งหมดก็ตาย

แม้จะยังเคลียคลอกับตัวเมีย แต่กระแสลมอาจเปลี่ยนทิศ เก้งหนุ่มผละจากตัวเมียทันที กระโจนหลบเข้าชายป่าส่งเสียงร้องกระชั้น ทิ้งตัวเมียให้ยืนอย่างงงๆ อยู่ลำพัง

18:45 นาฬิกา เราเดินถึงซากกวาง

ภายในเวลาเพียงสั้นๆ เราพบการเริ่มต้นของชีวิตและการจากไปของชีวิต พบกับความรักและความเศร้าระทม

สิ่งเหล่านี้อยู่ไม่ไกลจากกัน

และเราเดินผ่านมันไปทุกวัน