DiaLogic การสังสรรค์สนทนาทางความคิด ของนักสร้างสรรค์ต่างสาขา (จบ) / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

DiaLogic

การสังสรรค์สนทนาทางความคิด

ของนักสร้างสรรค์ต่างสาขา (จบ)

 

เมื่อเดินเข้าไปในห้องแสดงงานหลักของนิทรรศการ DiaLogic โดย สันติ ลอรัชวี และ อโณทัย นิติพน

สิ่งแรกที่เราจะเห็นคืองานวิดีโอจัดวางบนจอโทรทัศน์ นำเสนอเครดิตของผู้ร่วมงานในนิทรรศการครั้งนี้บนโน้ตดนตรีผสานงานกราฟิกดีไซน์อันแปลกตา ที่สันติออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากการแทรกแซงทางเสียงของอโณทัย ด้วยการใช้เส้นสายของบรรทัด 5 เส้น ที่มีจังหวะขึ้นลงคล้ายคลื่นเสียง เป็นตัวกำหนดเสียงโดยไม่จำเป็นต้องมีตัวโน้ตแม้แต่ตัวเดียว

ถัดมาเป็นผลงานดนตรีเชิงทดลองของอโณทัย ที่ได้แรงบันดาลใจจากการแทรกแซงทางภาพของสันติ จนทำให้เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเธอไม่จับเครื่องดนตรีถนัดอย่างเปียโนเลย เธอจะยังสามารถทำงานดนตรีได้ไหม?

โดยอโณทัยหยิบเอาวัตถุรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันมาสร้างเป็นเสียงดนตรี และวางวัตถุเหล่านั้นบนโต๊ะยาวขนาดใหญ่ในห้องแสดงงาน เพื่อให้ผู้ชมลองสร้างเสียงดนตรีขึ้นมาจากชุดคำแนะนำที่เธอวางไว้คู่กับวัตถุเหล่านี้ บนแท่นไม้ติดเครื่องขยายเสียงที่อยู่บนโต๊ะ

เสียงของวัตถุเหล่านี้ยังสามารถนำไปเทียบเสียงกับเปียโนที่วางไว้เคียงข้าง หากในขณะเดียวกันเปียโนตัวที่ว่านี้ก็ยังถูกปรับแต่งแทรกแซงเสียงด้วยการใส่วัตถุกระจุกกระจิกต่างๆ ไว้ในสายเปียโน เพื่อให้เกิดความแปลกแปร่งของเสียงด้วยเช่นกัน

ต่อด้วยผลงานภาพพิมพ์ดิจิทัลของสันติที่ตั้งคำถามในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ โดยได้แรงบันดาลใจจากรหัส CAPTCHA (ชุดตัวอักษรหรือตัวเลขที่สร้างขึ้นแบบสุ่มโดยแสดงเป็นรูปภาพบิดเบี้ยวเพื่อทดสอบผู้ใช้งานว่าเป็นมนุษย์ ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่พยายามเจาะบัญชีที่มีรหัสผ่านป้องกัน) และความพยายามนำเสียงหรือท่วงทำนองมาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงานกราฟิกดีไซน์

สันติจึงออกแบบตัวอักษรขึ้นในรูปแบบรหัส CAPTCHA ด้วยการนำภาพไปสแกนบนเครื่องสแกนเนอร์แล้วขยับภาพเป็นจังหวะเวลาสแกน ราวกับดีเจสแครชแผ่นเสียงเพื่อสร้างเสียงดนตรีใหม่ขึ้นมา ผลลัพธ์ก็คือภาพชุดตัวหนังสืออันบิดเบี้ยว ยึกยือ กระเพื่อมเป็นริ้วๆ ราวกับถูกคลื่นเสียงสั่นสะเทือน จนผู้ชมต้องใช้ความพยายามในการอ่านความหมายในชุดตัวหนังสือเหล่านี้พอประมาณ ชุดตัวหนังสือเหล่านี้ยังถูกนำเสนอในรูปของภาพเคลื่อนไหวในจอวิดีโอจัดวางที่อยู่เคียงข้าง

และในผลงานชุดนี้สันติยังได้ชวน กนกนุช ศิลปวิศกุล มาร่วมทดลองทำงานในลักษณะเดียวกันอีก 2 ชิ้น ด้วยคำว่า “คน” และ “มนุษย์” อีกด้วย

และผลงานภาพพิมพ์ดิจิทัลสองชิ้น ที่เปรียบเสมือนการตกตะกอนทางความคิดตลอดระยะเวลา 50 ปี ในชีวิตของสันติ ที่สรุปด้วยประโยค “Nothing to be done” ด้วยการต่อรองกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ต ที่โดยปกติจะไม่พิมพ์ความว่างเปล่าบนกระดาษ ให้พิมพ์ความว่างเปล่าออกมาบนกระดาษขาวซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง 50 ครั้ง จนกลายเป็นงานภาพพิมพ์สุดมินิมอล ที่ไม่มีอะไรให้เห็นบนกระดาษเลย นอกจากรอยลูกกลิ้งของเครื่องพิมพ์ที่กดทับบนกระดาษ และรอยเส้นทดเพื่อนับจำนวนครั้งของการพิมพ์จากดินสออันเบาบางเลือนรางจนแทบมองไม่เห็น

สิ่งเดียวที่พอจะเป็นหลักฐานของกระบวนการทำงานครั้งนี้ก็คือเสียงการทำงานของเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตที่สันติบันทึกเอาไว้ระหว่างการทำงาน เปิดคลอจากลำโพงหน้าตาเรียบง่ายไร้อารมณ์ที่ติดตั้งอยู่ระหว่างกลางภาพพิมพ์ทั้งสองชิ้นนั่นเอง

เทคนิคการพิมพ์ซ้อนทับที่ว่านี้ยังถูกนำไปต่อยอดในผลงานอีกชุดของสันติ ที่เป็นการจับคู่กันระหว่างงานพิมพ์ดิจิทัลที่ใช้กระบวนการพิมพ์ภาพสีแต่ละชั้นทับซ้อนกันไปครั้งละชั้นจนครบ 50 ครั้ง กับกระบวนการพิมพ์ภาพสีที่ทับซ้อนกันทุกชั้นลงไปในครั้งเดียว เพื่อถาม-ตอบกับตนเองเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างยุคสมัย คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เทคโนโลยีเก่ากับเทคโนโลยีใหม่ คุณค่าของความเพียรพยายามและเวลาอันยาวนานในการทำบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา ในขณะที่เรากลับสามารถทำในสิ่งเดียวกันด้วยความง่ายดายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที (และหลายครั้งอาจได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าด้วย)

กลางห้องแสดงงานหลักยังมีผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ของอโณทัย ที่สร้างบทสนทนากับประวัติศาสตร์ของพื้นที่แสดงงาน ที่เป็นบริษัทจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ ด้วยการตามรอยเก้าอี้รุ่นหนึ่งของบริษัทแห่งนี้ที่ถูกซื้อไปใช้งานในสถานที่ต่างๆ และบันทึกเสียงในสภาพแวดล้อมรอบๆ เก้าอี้ตัวนี้ที่ถูกตั้งวางในสถานที่เหล่านั้น เพื่อนำกลับมาบรรจุไว้ในเก้าอี้รุ่นเดียวกันชนิดเดียวกันจำนวน 3 ตัว จัดวางกลางห้องแสดงงาน

เมื่อผู้ชมนั่งลงบนเก้าอี้เหล่านี้ เสียงจากสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่เก้าอี้ถูกนำไปวางอยู่ก็จะดังขึ้นมาให้ได้ยิน

นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิดีโอจัดวางที่อโณทัยเชื้อเชิญ นาดีส บุญรอด นักดนตรีเครื่องเคาะจังหวะฝีมือฉกาจในวงการดนตรีร่วมสมัยให้มาสร้างเสียงดนตรีขึ้นจากการเคาะเก้าอี้ตัวเดียวกันนี้ด้วยไม้เคาะจังหวะหลากชนิด

ท้ายสุดเป็นผลงานวิดีโอจัดวางที่เป็นเหมือนการรวบรวมชิ้นส่วนของความคิด แรงบันดาลใจ ประสบการณ์ และหลักฐานจากการปะทะสังสรรค์สนทนามาร้อยเรียงเป็นภาพเคลื่อนไหวที่เป็นเหมือนการสรุปรวบยอดแนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้

สันติกล่าวสรุปถึงภาพรวมของนิทรรศการครั้งนี้ของพวกเขาว่า

“โครงรวมๆ ของการทำงานของเราคือการคุยกันนี่แหละ พอเราคุยจบ แยกย้ายกันไปแล้ว เราจะไม่ใช่คนเดิม เหมือนน้ำที่ถูกผสม ไม่ว่าบทสนทนาจะเป็นอะไรก็ตาม เมื่อได้คุยกับใครสักคนหนึ่ง นี่เป็นกระบวนการหลัก คือปล่อยให้แต่ละคนคิด ไตร่ตรอง หรือค้นหา แล้วก็มาเจอกันเพื่อแบ่งปันความคิด แล้วก็แยกย้าย แล้วก็กลับมาเจอกัน บางทีเจอกัน แล้วมีเพื่อนเพิ่ม เพื่อนก็จะป่วนเรา แล้วก็แยกย้าย แล้วก็มาเจอกัน จนกระทั่งหมดเวลา เมื่อหมดเวลา เราสองคนต้องมาไกล่เกลี่ยหรือตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร ถ้าเป็นดนตรี ก็คือ Duration นี้ ถ้าเป็นพื้นที่ ก็คือสเปซนี้ ในเวลานี้ ทุกอย่างจะต้องมีกรอบ มีจุดจบ แล้วเราก็เอาสิ่งที่ได้มาไกล่เกลี่ย สอดรับ หรือขัดแย้งกันก็ได้”

“ตอนที่อาจารย์สันติให้โจทย์ในการทำนิทรรศการนี้ครั้งแรก เราคิดว่าถ้าจะแต่งเพลงให้จะได้ไหม หรือว่าเราจะเขียนเพลงแล้วไปเล่นให้ เราก็คิดว่างานของเราจะอยู่ในพื้นที่แสดงงานอย่างไร ในระยะเวลา 60 วัน หรือ 2 เดือน”

“พออาจารย์สันติพูดว่าได้พรินเตอร์มาเครื่องหนึ่ง แล้วจะใช้พรินเตอร์ตัวนั้นทำงาน เราก็เลยเริ่มคิดว่า ถ้างานแสดงของอาจารย์คือพรินเตอร์ แล้วงานแสดงของเราคืออะไร? ตอนแรกเราคิดถึงเปียโน เพราะเราเกิดมากับมัน เราทำงานกับมันมามาตลอด เราก็เริ่มกลับไปทำอย่างที่อาจารย์สันติเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เรานั่งข้างหน้าเครื่องมือของเรา เราคิดอย่างไร”

“ช่วงนั้นก็หมกมุ่นกับจังหวะการคิด ก่อนที่จะทำงานออกมา หมกมุ่นกับความลังเล แต่พอคุยกับอาจารย์ผ่านไปสามสี่ครั้ง แล้วอาจารย์มาเล่าให้ฟังถึงการทำงานกับฟ้อนต์ที่มีการเคลื่อนที่อยู่บนพรินเตอร์ ว่าอาจารย์มีความเคลื่อนไหวแล้วก็ออกมาเป็นผลงาน เราก็กลับไปคิดว่าเราทำอย่างนั้นบ้างได้ไหม เราก็เริ่มสำรวจความคิดตัวเองใหม่ ก็นึกถึงไมโครโฟน หรือเครื่องบันทึกเสียง การผสมเสียง”

“การทำงานกับ Delay วิถีการทำงานก็เปลี่ยนไป จากที่เมื่อก่อนเครื่องมือของเราคือเปียโน แต่ตอนนี้เครื่องมือของเราคือการหยิบฉวยเวลาและเสียงอีกแบบ เหมือนทุกครั้งที่คุยกันหรืออาจารย์ให้โจทย์กลับไป เราก็จะแตกความคิดออกมาใหม่ สะสมความสนุกขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นจุดที่ Healthy มากสำหรับการทำงานตรงนี้” อโณทัยกล่าวเสริมท้าย

อนึ่ง นิทรรศการ DiaLogic เกิดจากการร่วมงานระหว่างศิลปินและผู้สนับสนุนดังต่อไปนี้ : Canon Thailand I ฉมามาศ แก้วบัวดี I กนกนุช ศิลปวิศวกุล I กิตติพล สรัคคานนท์ I KPP-Antalis (Thailand) I Nutdao Studio I พรนภา อนะหันลิไพบูลย์ I พรหมพิริยะ แพงาม I รวินทญา เสิ่น I สมชาย ตันชรากรณ์ I โซซู I วินัย สัตตะรุจาวงษ์

DiaLogic นิทรรศการดูโอ โดยสันติ ลอรัชวี และอโณทัย นิติพน จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม-30 กันยายน 2022 นี้ งานเปิดนิทรรศการ วันที่ 27 สิงหาคม 2022 (14:00-17:00 น.) ณ Xspace Gallery (Main Hall)

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Xspace Gallery •