ระเบิดที่ชายแดนใต้ บทเรียนและคำถาม ทุนใหญ่กระทบความมั่นคงชุมชน/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

 

ระเบิดที่ชายแดนใต้

บทเรียนและคำถาม

ทุนใหญ่กระทบความมั่นคงชุมชน

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวคราวการระเบิดที่ชายแดนใต้เกือบ 20 จุดเมื่อ 17 สิงหาคม 2565

ตอกย้ำว่า “ความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง เหมือนถ่านที่ติดไฟ เมื่อได้รับออกซิเจน จากลมพัด ก็กลับมาลุกไหม้ได้ตลอดเวลา”

อย่างไรก็แล้วแต่ ก็ขอชื่นชมว่าภาคประชาชนยังไม่ท้อที่จะร่วมขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพต่อไป

ที่แน่ๆ เหตุการณ์ครั้งนี้มีแต่ถูกประณาม เพราะสร้างความเดือดร้อนต่อผู้คน ค้านกับหลักศาสนธรรม และสิทธิมนุษยชน

 

ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สะท้อนต่อเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ว่า

“ไม่ว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นใครที่ก่อเหตุในครั้งนี้และในช่วงเวลาที่ยังเข้าพรรษาอยู่นี้ ข้าพเจ้าขอเชิญชวนผู้คนทั้งปวง ผู้ปฏิเสธความรุนแรง ผู้ไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุความรุนแรงทุกชนิดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพื่องบประมาณหรือเพื่ออะไรก็ตาม ขอให้ช่วยกันประณามผู้ก่อเหตุ เสียงประชาชนทั่วประเทศเท่านั้นที่จะช่วยสนับสนุนปกป้องคุ้มครองให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ปลอดภัยจากความรุนแรงได้”

ในส่วนใครทำอย่างไรนั้นมีการวิเคราะห์มากแล้ว ซึ่งผู้เขียนขอวิเคราะห์เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ที่ถูกจับกระเเสไม่แพ้กันคือสัญญาณทุนนิยมใหญ่นอกพื้นที่กำลังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชุมชน

ซึ่งนักวิเคราะห์สะท้อนว่า “เกิดเหตุลอบวางระเบิดพร้อมกันหลายจุดต่อทุนใหญ่ แม้ไม่เห็นด้วยแต่ไม่ควรมองข้ามข้อสังเกต”

เช่น ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เสนอว่า ควรมาคิดว่าทุนนิยมที่กินรวบทุกพื้นที่ของประเทศไทยนั้นอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้างที่ชายแดนภาคใต้

“เหตุการณ์การโจมตีร้านสะดวกซื้อพร้อมๆ กันในปั๊มน้ำมันทั้งสามจังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ถือว่าเป็นปฏิบัติการครั้งใหญ่ที่สุดที่พุ่งเป้าไปที่สถานที่เอกชน แน่นอนเป้าหมายไม่ใช่คน (แม้ผู้บริสุทธิได้เสียชีวิตหนึ่งราย) เจ้าหน้าที่รัฐ หรือสถานที่ราชการ สถานการณ์จึงเปราะบางและไม่มีข้อสรุปใดๆ ขอให้ทุกคนปลอดภัย”

อัฟนาน อับดุลลอฮ์ สะท้อนว่า

“ทำไมต้องเป็นธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ควรมีคำอธิบายไม่ว่าเหตุการณ์เมื่อคืน (17/8/65) …นัยยะจริงๆ คืออะไร ทำไมพุ่งเป้าไปที่ 2 แบรนด์ดังในเชิงเศรษฐกิจก็น่าสนใจ ในเชิงสังคมก็น่าติดตาม คน 3 จังหวัดใต้จะรู้ดีว่า เวลามีร้านสะดวกซื้อติดแอร์มาอยู่ใกล้บ้าน มันมีผลทางสังคม ทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง”

 

ความเป็นจริงทั่วประเทศไทย ธุรกิจร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังเป็นผลของทุนนิยมนอกพื้นที่ที่ส่งผลต่อร้านชำของชาวบ้าน ทั่วทุกพื้นที่ดั่งที่ผลการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์ทางวิชาการและมันกำลังจะกระทบความมั่นคงของชุมชนในอนาคต สำนักข่าวอิศราเปิดเผยสถิติร้านสะดวกซื้อว่า “จากปี 2557 ถึงปี 2565 ผ่านมา 8 ปี จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดวันนี้ ร้านสะดวกซื้อแบรนด์หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอยู่ราวๆ 200 สาขา บางตำบลมีถึง 3 สาขา โดยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งหมด 33 อำเภอเท่านั้น ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหนึ่งแบรนด์ร้านสะดวกซื้อที่กำลังมาแรงมาก ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เปิดแล้วทั้งสิ้น 64 สาขาในสามจังหวัดชายแดนใต้ แยกเป็นยะลา 20 สาขา, ปัตตานี 25 สาขา และนราธิวาส 19 สาขาเฉพาะอำเภอเมืองปัตตานี มีถึง 12 สาขา สาเหตุที่ขยายสาขาได้เร็ว เพราะมีสาขาใหญ่อยู่ในพื้นที่หลายแห่ง”

อีกทั้งโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจที่นำโดย ศอ.บต.จากจะนะ ถึงสุไหงโก-ลก เบตง และหนองจิก อ้างเพื่อประชาชนแต่กลับเอื้อทุนใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทจากประเทศจีน

จากเหตุผลดังกล่าวในทางวิชาการแล้วจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้กับคนชายแดนใต้มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นปัจจัยเอื้อต่อปัญหาความมั่นคงในที่สุด

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งในมหาวิทยาลัยและองค์กรพัฒนาเอกชนจึงเสนอแนวคิดเศรษฐกิจเกื้อกูล (อ่านเพิ่มเติมใน http://spmcnews.com/?p=42766)

ประสิทธิชัย หนูนวล เลขาธิการมูลนิธิภาคใต้สีเขียว นำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจเกื้อกูล Support Economy โดยเชื่อว่าจะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจภาคใต้ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ระบบเศรษฐกิจผิดเพี้ยนไปไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น โดยพบว่ามีระบบการผูกขาดอยู่ในทุกระบบ ยิ่งพัฒนายิ่งเกิดขึ้น รวยมากขึ้นในกลุ่มคนจำนวนน้อย คนหยิบมือเดียวครอบครองทรัพยากรขนาดใหญ่มากขึ้น ขณะที่คนจำนวนมากมีโอกาสในการครอบครองน้อยลง ประกอบกับปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ทรุดโทรมมากขึ้น เป็นสัญญาณว่าไม่สามารถใช้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบของรัฐเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมอธิบายข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติว่า ภาคใต้มีสถานประกอบการ 310,935 แห่ง ร้อยละ 98 เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก มีฐานการผลิตอุตสาหกรรม รูปแบบส่วนบุคคล ต่างชาติร่วมลงทุนน้อย คนท้องถิ่นเป็นเจ้าของเอง ซึ่งการพัฒนาโดยไม่คำนึงต้นทุนที่มีอยู่เท่ากับทำลายระบบเศรษฐกิจดั้งเดิม”

สินาด ตรีวรรณไชย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สะท้อนว่า “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสังคมส่วนรวม ว่า เศรษฐกิจเพื่อสังคมยึดหลักการแก้ปัญหาสังคม หากจะเกิดเศรษฐกิจเกื้อหนุนก็ต้องการตัวละครในกรอบคิดนี้เพื่อดำเนินการกิจกรรมเพื่อสังคม…ปัญหาสำคัญของภาคใต้ คือความเหลื่อมล้ำของโอกาส เช่น การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทะเลและชายฝั่ง ป่าไม้และแหล่งน้ำ และด้านนโยบายการพัฒนาพื้นที่ เช่น กระบวนการกำหนดนโยบายการกระจายอำนาจ” (แต่กลับรวบอำนาจภายใต้กฎหมายความมั่นคง)

แนวคิดเศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Economy) อาศัย 2 หลักการสำคัญคือ เป้าหมายที่ไม่ใช่กำไรแต่เป็นเป้าหมายที่สังคมต้องการ เพื่อประโยชน์ทางสังคม เช่น เป็นองค์กรที่มาดูแลความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นวิสาหกิจชุมชนที่มาทำธุรกิจเพื่อรักษาแหล่งทรัพยากรของพื้นที่ และสร้างรายได้จากฐานทรัพยากรนั้น เป็นต้น

ด้วยวิธีการแบบนั้นทำให้การจัดการองค์กรเพื่อสังคมแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนธรรม (อ้างอิง https://theactive.net/news/20210731-2/)

สําหรับข้อเสนอจากภาคประชาชนหลังระเบิดนั้น เมื่อ 18 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมปาร์คอินทาวน์ อ.เมือง จ.ปัตตานี คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คพส.) นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้ารคณะพูดคุยสันติสุข พล.ต.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 เปิดประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) อีกครั้ง โดยมีกลุ่มผู้ประสานงานทั้ง 8 กลุ่ม เข้าร่วมกว่า 200 ท่าน (รวมทั้งผู้เขียน)

โดยที่ประชุมได้มีการพูดคุยเรื่องความคืบหน้า การดำเนินการพูดคุย สถานการณ์ภาคใต้ล่าสุด รวมถึงมีการพูดคุยตั้งข้อสังเกต และข้อเสนอในเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดล่าสุดด้วย มีการเสนอเป็นรายจังหวัด ในที่ประชุมยังมีการยื่นหนังสือข้อเสนอจากกลุ่มสมาพันธ์ชาวไทยพุทธ จชต.เสนอเรื่องยุติความรุนแรง และเรื่องการทำงานในพื้นที่ ความถดถอยชาวไทยพุทธ และสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยื่นข้อเสนอด้วย (คือ “เขตการศึกษาทางเลือกและปลอดกัญชา ยาเสพติดและอบายมุขทุกชนิด” อ่านเพิ่มเติมใน https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000026204) ในเวทีนี้มีอย่างน้อยสองคนตัวแทนจากภาคประชาชนและผู้นำศาสนาพุทธขอให้แต่งตั้ง “ตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้สังเกตการณ์ การพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับผู้เห็นต่าง”

และต้องไม่ลืมผู้ได้รับผลกระทบจากทั้งสองฝ่ายให้มีส่วนร่วมบนโต๊ะพูดคุยด้วย