สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร/”อนันต์” อันแท้จริง

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————

“อนันต์” อันแท้จริง

————————

ถามใจ ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนนี้อยากให้อะไร”ล้ม”มากสุด

คำตอบ คงออกมาที่ อยากให้เลข 8 ล้มตะแคง มากที่สุด

ล้มตะแคงเพื่อให้ เลข 8 กลายเป็นเครื่องหมาย “อินฟินิตี้” (infinity) อันมีความหมายถึงความเป็นอนันต์ ความไม่มีที่สิ้นสุด

อันสื่อถึง อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้สืบเนื่องต่อไป

ไม่สะดุดล้มด้วยปมปัญหา มาตรา 158 วรรค 4 รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”

ถามว่ามีโอกาสอย่างที่หวังหรือไหม

ก็ต้องบอกว่ามี เพราะดูจากท่าทีของเนติบริกรในฝั่งฟากรัฐบาล ที่ปรึกษานายกฯ อดีตตุลากาลศาลรัฐธรรมนูญ อดีตกรรมาธิการยากร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ต่างขมีขมันช่วยกันชี้ช่อง”รอด”กันอย่างที่เห็นกันใหญ่

และพากันประสานเสียงให้ไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

โดยไม่ต้องนำพากับเจตนารมณ์ที่หลายๆคนในกลุ่มข้างต้นเคยชูธงแกว่งไกวมาแล้วไม่ให้ผู้มีอำนาจใดๆก็ตามอยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปีเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ต้องมีวิจารณญาณ และจิตสำนึกส่วนตัวใดๆ ที่จะสนับสนุนสปิริตนั้น

ซึ่งก็ไม่แปลก ที่จะโยนภาระทั้งหมดไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ด้วยที่ผ่านมานั้น พล.อ.ประยุทธ์ สามารถรอดพ้นคำวินิจัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด

รอดในกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมิติเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

รอดในเรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อ 18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามคำร้องของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค

รอดในกรณีบ้านหลวง โดยเมื่อ 2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 เสียง ไม่ให้ตำแหน่งรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง กรณีพักอาศัยในบ้านรับรองของกองทัพบก

เมื่อ”รอด” มาโดยต่อเนื่องเช่นนี้ หลายคนจึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า ในกรณีอยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปี ก็คงไร้ปัญหา น่าจะรอดอีก

เพียงแต่ การ”รอด”ครั้งนี้ อาจจะไม่เหมือน 3 ครั้งที่ผ่านมา

กล่าวคือแม้ 3 ครั้งที่รอด จะมีการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยอยู่ตามสมควร แต่ก็ไม่ได้มีผลได้ผลเสียทางการเมืองเท่าใดนัก

แต่ครั้งนี้ ถือเป็นห้วงสุดท้าย ที่จะชี้วัด การได้ไปต่อ ไม่ได้ไปต่อ ของพล.อ.ประยุทธ์ ผลได้ผลเสียทางการเมืองจึงสูงยิ่ง

องค์กรที่มีบทบาทเป็น”ผู้ตัดสิน”เรื่อง จำต้องมีหลักอันมั่นคง มีความน่าเชื่อถือสูง

สิ่งที่ อาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ส่งสารไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณี 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงไม่ได้มีเพียงประเด็นทางด้านกฏหมายเท่านั้น หากแต่ได้ แสดงจุดยืนที่พึงพิจารณาอย่างมาก

นั่นก็คือ

“ข้าพเจ้าทั้งหลายซึ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ได้นำเสนอความเห็นทางกฎหมายในเรื่องนี้ด้วยความตั้งใจเพียงประการเดียวคือ ให้ประเทศไทยยึดถือหลักการปกครองโดยกฎหมายให้มากยิ่งกว่าที่ผ่านมา เพราะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองนั้น ไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากฝ่ายตุลาการจะต้องวินิจฉัยตัดสินปัญหาโดยยึดถือตัวบทกฎหมาย และใช้กฎหมายกับทุกฝ่ายอย่างเสมอกัน”

คำว่า”เสมอกัน” จึงน่าจะเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในกรณีนี้ และรวมถึงในทุกกรณี

เป็นภาวะ”อนันต์” ให้ทุกคนทุกฝ่ายในสังคมสามารถยึดถือร่วมกันอย่างแท้จริง