เจ็ดขั้นบันไดกวี / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

เจ็ดขั้นบันไดกวี

 

เสาร์-จันทร์ 13-15 สิงหาคมนี้ไปร่วมงาน “บันไดกวี” โครงการวรรณกรรมของเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ซึ่งจัดมาปีนี้เป็นปีที่หกหลังจากโดนโควิดเว้นมาสองปี

งานนี้มุ่งส่งเสริมนักเรียนระดับมัธยมปลายกับครูภาษาไทยจากโรงเรียนทั่วประเทศ โดยคัดเลือกตามผลงานที่ส่งให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองตามเกณฑ์มาตรฐาน

“บันไดกวี” จึงมีภาพลักษณ์ให้เห็นขั้นตอนตั้งแต่พื้นฐานที่ตั้งของบันได ขั้น (บันได) และการไต่ขึ้นลง ครบวงจร

ด้วยเห็นว่าบทกวีนั้นเป็นยอดของงานวรรณกรรมทั้งหลาย ผู้รู้เปรียบเทียบว่า กวีนั้นเป็น “มงกุฎวรรณกรรม”

ส่วนตัวเคยกล่าวว่า “บทกวีคือเพชรพลอยของถ้อยคำอันเจียระไนจากผลึกของความคิด”

โดยเฉพาะบทกวีไทยพิเศษคือ ความไพเราะทั้งสำเนียงเสียงอักษร และจังหวะจะโคน ท่วงทำนองแม้อ่านตามปกติไม่ต้องมีทำนองเสนาะก็รับรู้ได้ถึงความไพเราะของบทกวีนั้น

เคยไปอ่านบทกวีของท่านสุนทรภู่จากบทอาขยานในเรื่องพระอภัยมณี “บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว…” เพื่อนกวีในที่ชุมนุมกวีนานาชาตินั้น แม้ฟังไม่ออกยังทักว่าเป็นบทเพลงหรือ ทั้งที่อ่านปกติไม่มีทำนองเสนาะด้วยซ้ำ

เคยฟังเรื่องเล่าว่าท่าน ฟ.ฮีแลร์ แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่อครั้งมาสอนใหม่ๆ ได้ยินเด็กนักเรียนท่องคำประพันธ์จากมูลบทบรรพกิจ ท่านติดใจในความไพเราะจนหัดเรียนหัดแต่ง กระทั่งได้ฝากผลงานเป็นบทกวีให้ชาวอัสสัมชัญไว้จนทุกวันนี้

 

ที่ว่าบทกวีไทยไพเราะเป็นพิเศษตรงสำเนียงเสียงอักษรและจังหวะจะโคน ท่วงทำนองนั้น ยกตัวอย่างบทเพลงปี่พระอภัยมณีสะกดทัพนางละเวงของท่านสุนทรภู่ดังนี้

ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้

ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย

โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย

น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำชื่นอัมพร

หนาวอารมณ์ลมเรื่อย เฉื่อย เฉื่อย ชื่น

ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร

แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน

จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง

ทุกวรรคทุกคำเหมือนจะริบใจไปหมด

อ่านได้ท่องได้ซ้ำไปซ้ำมาไม่เบื่อเลย

ผู้ต้องการแต่งกลอนให้ไพเราะ ขอให้ศึกษาจากกลอนสองบทนี้ของท่านสุนทรภู่ได้เลย

 

ที่ตั้งชื่อ “เจ็ดขั้นบันไดกวี” ไม่หมายจะล้อชื่อ “เซเว่น” หากแต่เผอิญตรงกันพอดี ด้วยความไพเราะของกาพย์กลอนหรือบทกวีไทย ที่สมบูรณ์แบบควรถือเอาเป็นหลักพึงศึกษา เรียนรู้ หากได้ผ่านบันไดเจ็ดขั้นนี้ก็ถือว่าขึ้น “เรือนกวี” ได้แล้ว

ขั้นหนึ่ง อ่านบทกวีดีๆ ให้มาก ขั้นนี้คือพื้นฐานที่เปรียบบันไดไว้กับพื้นรองรับบันไดนั้นด้วย บันไดทั้งอันต้องตั้งอยู่บนพื้นที่มั่นคง ดังนั้น การก้าวขึ้นบันไดขั้นแรกจะต้องเหยียบพื้นให้มั่นด้วย

กาพย์กลอนดีๆ ของไทยนั้นมีทั้งของเก่าของใหม่ พลาดไม่ได้ เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี รามเกียรติ์ จนถึง เราชนะแล้วแม่จ๋า ความเปลี่ยนแปลง ของนายผี หรืออัศนี พลจันทร์ และขอบฟ้าขลิบทอง ของอุชเชนี รวมถึงนักกวีรุ่นใหม่ เช่น ของรินศรัทธา กาญจนวตี หรือน้องลูกหมู

ขั้นสอง รู้สำเนียงเสียงอักษรไทย มาตรฐานห้าเสียงคือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ตลอดจนคำเป็นคำตาย โดยรู้ถึงความหมายและความต่างกัน อันสร้างความเหลื่อมล้ำแห่งสำเนียง

ขั้นสาม รู้จังหวะจะโคนที่กำหนดโดยสระและพื้นเสียงอักษร รวมทั้งลีลาแห่งกลุ่มคำ

ขั้นสี่ หัดแต่ง ลองหมดทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพื่อเข้าใจโครงสร้างฉันทลักษณ์

ขั้นห้า รู้วิธีอ่านบทกวีทั้งแต่ละแบบและในแบบเดียวกันด้วยวิธีที่ไม่เหมือนกัน

ขั้นหก รู้ศิลปะของการใช้คำสัมผัสคำกับสัมผัสใจ และนี้คือความแตกต่างระหว่างคำกลอนกับคำกวี เล่นโวหารก็ว่า คำ “คล้องจอง” กับคำ “คล้องใจ” และดีที่สุดคือ “คล้องจอง-คล้องใจ”

ขั้นเจ็ด ต้องรู้กระบวนการของจิตว่ามีบทบาทอยู่สามลักษณะคือ รู้สึก นึก คิด รู้สึกเป็นปัจจุบัน นึกเป็นอดีต คิดเป็นอนาคต

บทกวีที่ดีต้องมีสามลักษณะนี้เป็นองค์ประกอบและประกอบอย่างมี “ศิลปะ”

 

บทกวีที่ดีจึงเป็นองค์รวมของปัญญา

กลอนท่านสุนทรภู่ดังยกมานี้ประกอบพร้อมทั้งเจ็ดขั้นโดยเฉพาะขั้นที่เจ็ดนี้เป็นองค์รวมของปัญญาโดยแท้

คือให้ทั้งความรู้สึกที่เป็นความไพเราะ งดงามของถ้อยคำและสำเนียง สำคัญคือ ความรู้สึกที่ “อ้างว้างวังเวง”

ให้ทั้งความนึกคือ นึกถึงบ้านเรือนที่พลัดพรากจากมาจนให้ “หนาวอารมณ์” อยู่นี้

ความคิดคือ ทำไมต้องอยู่กันอย่างนี้ ทำศึกสงครามเพื่อจะได้อะไรหรือ มีแต่จะสูญเสีย แล้วจะทำไปทำไม

มนุษย์เรามีค่าอยู่ตรง “เข้าใจ” คือ “เข้าไปในใจ” ตนให้ได้จริงนี้เท่านั้น

บทกวีที่ดีจึงเป็นเสมือน “เรือนใจ” ของเราเองที่ต้องใช้บันไดป่ายปีนขึ้นไปให้ถึง เข้าไปให้ถึง

ใจเราเอง •

 

นั่นแหละ

ใครเคยเห็น เจ้าชายสายลมบ้าง

ไม่มีทางที่จะนึก จะเห็นสม

เมื่อพฤกษาน้อมเศียรลงบังคม

นั่นแหละ เจ้าสายลม ได้ผ่านไป

ความรัก เป็นอย่างไรใครรู้บ้าง

เจ้าเคว้งคว้างจรดล อยู่หนไหน

เมื่อดาวแย้ม เดือนยิ้ม พริ้มละไม

นั่นแหละใจให้กัน นั่นแหละรัก

เคยคำนวณน้ำหนัก น้ำตาไหม

เมื่อหัวใจเจ็บปวด ต้องจมปลัก

แสนสมุทรอสงไขย ทลายทะลัก

นั่นแหละ คือน้ำหนักความปวดร้าว

จากยอดหญ้า จรดยอดพระเจดีย์

จากธุลี ถึงห้วงเวหาหาว

จากแผ่นดิน เลยล่วงถึงดวงดาว

วะวับวาว จักรวาล… นั่นแหละ กวี!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ •