“เจริญ จรัส จรูญ และจารุ” ความงามทางภาษาบนถนน

ปริญญา ตรีน้อยใส
รถรางจอดบน ถนนเจริญกรุง ใกล้เสาไฟฟ้า ภาพจากหนังสือ Siam (1913) โดย Walter Armstrong Graham

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะแย่งพื้นที่ จ๋าจ๊ะ วรรณคดี ของญาดา อารัมภีร แต่อย่างใด เพียงแค่อยากรำพึงรำพันดังๆ ร่วมกับคนสมัยนี้ ที่บ่นเรื่องบ้านเมืองไม่สวยงาม ทั้งสภาพที่ปรากฏ ไปจนถึงชื่อหรือนามถนนที่ใช้เรียกขาน

ทุกวันนี้ นามถนนบางสาย แค่บอกว่า ถนนสายนี้ จาก “บางนา ไป ตราด” จาก “รังสิต ไป นครนายก” หรือไป ปทุมธานี หรือจาก กรุงเทพฯ ไป นนทบุรี

นามถนนบางสายมาจากโครงการดั้งเดิม อย่างเช่น ถนนในโครงการอาคารสงเคราะห์ (ผู้มีรายได้น้อย) แต่ทุกวันนี้ราคาซื้อขายเฉพาะที่ดินต่อตารางวา สูงถึงหลักแสน ผู้คนที่อาศัยอยู่บนถนนสายนี้ น่าจะเป็นผู้สงเคราะห์คนอื่น มากกว่าได้รับการสงเคราะห์

ถนนในโครงการของ สหกรณ์ ก็ไม่รู้ว่าสหกรณ์ไหน เพราะทุกวันนี้มีสหกรณ์เป็นร้อยแห่ง

หรือถนนในโครงการ หมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง คนเจนทั้งหลายเลยคิดว่าเป็นกีฬาประเภทใหม่พุ่งแหลมสีทอง หรือไม่ก็เป็นมหกรรมกีฬาระดับชาติ เฉพาะแหลมทองของไทย

บางถนนแม้นจะโกอินเตอร์ แต่ก็เอาต์ไปแล้ว อย่างถนนบัณฑิตอินเตอร์ทาวน์ หรือแฮปปี้แลนด์ เป็นต้น

ยิ่งกรุงเทพมหานครจัดระบบระเบียบใหม่ เป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 10 แยก 8 แม้จะเอื้อต่อการส่งอาหารและสิ่งของของพนักงานเดลิเวอรี่

แต่ดูจะไม่สร้างสรรค์เสียเลย

 

เมื่อเทียบกับนามถนนในอดีต อย่างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นามถนนสามสายแรกของพระนคร หรือของประเทศไทย คือ ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง และ ถนนเฟื่องนคร นอกจากไพเราะ ต่อเนื่อง คล้องจองกันแล้ว ยังสื่อความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูของพระนคร

หรือหลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ในย่านตรอกซุง บางรัก เนื่องจากสภาพพื้นที่แออัด มีผู้คนอยู่อาศัยและทำการค้าหนาแน่น ในปี พ.ศ.2467 นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย วางผังปรับปรุงพื้นที่ และตัดถนนใหม่สามสาย คือ ถนนเจริญเวียง ถนนจรัสเวียง และ ถนนจรูญเวียง

นามถนนที่ได้รับพระราชทาน ล้วนไพเราะ และมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองเช่นกัน

หลังจากนั้นอีกไม่นาน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พัฒนาเมืองในรูปแบบเดียวกัน คือ ตัดถนนขึ้นใหม่สามสายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ไปย่านวัดดวงแขก ปทุมวัน ในปี พ.ศ.2470 และได้พระราชทานนามถนนว่า ถนนเจริญเมือง และ ถนนจารุเมือง ที่คล้ายคลึงกับถนนใหม่ในรัชกาลก่อน แต่เลือกคำใหม่ให้มีความหมายเดียวกัน รวมทั้งคำนึงถึงการออกเสียง ซึ่งทำให้ถนนจรูญเมือง กลายเป็นถนนจารุเมือง เช่นในปัจจุบัน

เรื่องความงดงามและความมั่งคั่งทางภาษาไทย คงไม่อยู่ในความสนใจคนเจนปัจจุบัน เพราะไม่ใช่กระแส เอ็มบีเอ มังงะ อิเตวอน และคังคุไบ •