พฤษภารำลึก (15) เมื่อชนชั้นกลาง ‘เท’ ทหาร/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (15)

เมื่อชนชั้นกลาง ‘เท’ ทหาร

 

“กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะต้องมีการแข่งขันอย่างเปิดเผย ผู้ที่ได้รับชัยชนะจะมีสิทธิ์ในการเป็นรัฐบาล ดังนั้น การเลือกตั้งอย่างเสรี และผลที่เกิดขึ้นจะตัดสินว่าใครจะเป็นผู้ปกครอง”

Alfred Stepan (1988)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

บทบาทของชนชั้นกลางในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยเป็นหัวข้อหนึ่งที่นักเรียนรัฐศาสตร์ในสาขาการเมืองเปรียบเทียบจะต้องเรียนรู้เสมอ

นักเรียนในสาขานี้ถูกสอนให้ตระหนักในทางทฤษฎีว่า ชนชั้นกลางเป็นปัจจัยของการสร้างประชาธิปไตย

อันอาจกล่าวได้ว่าสังคมที่ปราศจากชนชั้นกลาง มีชนชั้นสูงจำนวนน้อยนิดเป็นผู้ปกครองอยู่ข้างบน และมีชนชั้นล่างเป็นจำนวนมาก (หรืออาจจะมีมากมหาศาล) แล้ว โอกาสที่จะทำให้การสร้างประชาธิปไตยเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพนั้น อาจเป็นเรื่องยาก

ดังนั้น เราอาจกล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า ตัวแปรหนึ่งที่สำคัญของการสร้างประชาธิปไตยคือ การมีชนชั้นกลางที่เข้มแข็งในสังคม

 

อุดมคติชนชั้นกลาง

สังคมที่มีชนชั้นสูงจำนวนน้อยและชนชั้นล่างจำนวนมากย่อมมีโอกาสที่จะก้าวสู่สถานการณ์ “สงครามชนชั้น” (class warfare) ตามแนวคิดของลัทธิมาร์กซ์ได้ง่าย ทั้งยังอาจนำไปสู่เงื่อนไขของ “การปฏิวัติทางสังคม” อันเป็นผลจากปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นจาก “การต่อสู้ทางชนชั้น”

ในอีกด้านหนึ่งไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับแนวคิดของฝ่ายซ้ายในเรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยสังคมที่มีขนาดของชนชั้นกลางจำนวนน้อย และมีชนชั้นล่างเป็นจำนวนมากนั้น คือภาพสะท้อนถึงภาวะ “ความล้าหลังทางสังคม” ซึ่งมีระดับของการพัฒนาต่ำ

สังคมเช่นนี้มักจะถูกปกครองโดยกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ที่ต้องอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางการเมือง

กองทัพในสังคมที่ล้าหลัง จึงมีบทบาทสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ของบรรดาอภิสิทธิ์ชน และยังมีนัยถึงการเป็นเครื่องมือในการปราบปรามการลุกขึ้นสู้ของประชาชน หรือที่เรามักกล่าวว่า กองทัพในประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่ำ จะมีภารกิจสำคัญในการ “ปราบกบฏ” จากปัญหาการเมืองภายใน ซึ่งในประเทศเช่นนี้ เรายังพบในบางกรณีว่า กองทัพอาจจะสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นผู้ปกครองด้วย

เราเรียกภาวะเช่นนี้ว่า “การเมืองแบบโลกที่สาม” ที่ประชาธิปไตยกลายเป็น “ข้อยกเว้น” และการแทรกแซงของทหารเป็น “กฎ” ดังปรากฏให้เห็นจากการเมืองของประเทศด้อยและ/หรือกำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ

ดังนั้น ในการเรียนรัฐศาสตร์ เรามักจะถูกสอนเสมอว่า สังคมในอุดมคติควรมีรูปลักษณ์เป็น “สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด” ที่ยอดของสี่เหลี่ยมนี้คือ “ชนชั้นบน” ปลายของสี่เหลี่ยมคือ “ชนชั้นล่าง” และส่วนที่ป่องออกตรงกลางคือ “ชนชั้นกลาง” รูปแบบสี่เหลี่ยมเช่นนี้จึงมีความหมายว่า เป็นสังคมที่มีชนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเอื้อให้การเมืองมีเสถียรภาพ แต่สังคมที่มีรูปทรงเป็น “สามเหลี่ยมพีระมิด” นั้น มีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองภายในได้ง่าย เพราะชนชั้นล่างที่มีจำนวนมากอาจไม่พอใจต่อสภาวะทางสังคม และตัดสินใจลุกขึ้นล้มระบอบการปกครองของชนชั้นสูงด้วยการปฏิวัติ

ทฤษฎีเช่นนี้ยังตั้งอยู่บนแนวคิดที่เชื่อว่า การขยายตัวของชนชั้นกลางคือ ภาพสะท้อนถึงการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เพราะการพัฒนาของปัจจัยเช่นนี้เป็นจุดกำเนิดของชนชั้นนี้

ฉะนั้น ชนชั้นกลางที่เติบโตในสังคมที่มีการพัฒนา ยังมีนัยถึงการมีการศึกษา และการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันทำให้คนเหล่านี้เป็นคนที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง และพร้อมที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

ซึ่งบทบาทเช่นนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยในสังคม

มุมมองเช่นนี้ทำให้เกิดการสร้างเป็นทฤษฎีว่า ประเทศมีการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจมากเท่าใด ประเทศก็จะมีจำนวนชนชั้นกลางจำนวนมากเท่านั้น และขณะเดียวกันก็จะมีดัชนีของการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นเช่นกันด้วย การมีส่วนร่วมเช่นนี้จะเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

โลกในอุดมคติของนักเรียนรัฐศาสตร์กับบทบาทที่สวยหรูของชนชั้นกลางนั้น เราจึงมีคำยกย่องว่า ชนชั้นกลางเป็น “แชมเปี้ยนประชาธิปไตย”…

ภาพลักษณ์ทางทฤษฎีของชนชั้นกลาง จึงเป็นความฝันชุดหนึ่งของนักเรียนทางรัฐศาสตร์

แต่ในความเป็นจริง ปัญหาบทบาททางการเมืองของชนชั้นกลางอาจจะไม่ค่อยเป็นไปอุดมคติเท่าใดนัก และในหลายกรณี อาจจะพบด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า ภายใต้เงื่อนไขของสถานการณ์การเมืองบางประการ ชนชั้นกลางอาจดำรงฐานะเป็น “ปีกขวา” ที่พร้อมจะต่อต้าน/ทำลายประชาธิปไตย และมีบทบาทสนับสนุนรัฐประหารได้ไม่ยาก

แต่ในบางสถานการณ์ ชนชั้นนี้ก็อาจเป็นผู้โค่นล้มระบอบทหารร่วมกับกลุ่มพลังทางการเมืองอื่นๆ ในสังคม

ซึ่งสองภาพลักษณ์ของชนชั้นกลางเช่นนี้ ทำให้ต้องพิจารณาบทบาทของชนชั้นกลางภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองหนึ่งๆ มากกว่าจะสวม “แว่นตาอุดมคติ” มอง

 

บทบาทใหม่ของชนชั้นกลาง

ในช่วงหลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นในเวทีโลก เห็นได้ถึงการมาของ “คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม” (The Third Wave of Democracy) ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1) การถดถอยของความชอบธรรมของระบอบอำนาจนิยมเดิม

2) การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีส่วนผลักดันต่อการพัฒนาทางสังคมและการขยายตัวของชนชั้นกลาง

3) การสิ้นสุดของภัยคุกคามเดิม และการยกเลิกการสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมจากรัฐมหาอำนาจภายนอก

ปัจจัยทั้งสามประการนี้ มีส่วนอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางและอนาคตทางการเมืองของประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบทหาร และปัจจัยทั้งสามได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในหลายประเทศ

ดังที่กล่าวแล้วว่า ในมุมมองเช่นนี้ชนชั้นกลางได้แสดงบทบาทเป็นผู้สนับสนุนหลักต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สามนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนโดยเจ้าที่ดิน ชนชั้นชาวนา หรือชนชั้นแรงงาน แต่ดำเนินการโดยชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งบทบาทใหม่เช่นนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อการล้มลงของระบอบอำนาจนิยมและรัฐบาลทหาร

บทบาทในการสนับสนุนประชาธิปไตยเช่นนี้ต่างจากในอดีตอย่างมาก ดังจะเห็นถึงหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจของมุสโสลินีในอิตาลีและฮิตเลอร์ในเยอรมนีคือ ความกลัวคอมมิวนิสต์ของชนชั้นกลางในประเทศทั้งสองหลังการปฏิวัติรัสเซีย และต้องไม่ลืมว่าชนชั้นกลางบราซิลมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนรัฐประหารในปี 2507 ซึ่งชนชั้นกลางในอาร์เจนตินาหรือเปรูก็ไม่ได้แตกต่างกันในฐานะผู้สนับสนุนหลักของระบอบทหาร หรือที่กล่าวในสำนวนของการเมืองละตินอเมริกาว่า ในยุคสงครามเย็นนั้น ชนชั้นกลางจะเดินไป “เคาะประตูหน้าค่าย” และเรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ และอาจจะมีความคล้ายคลึงกับปัญหาในยุโรป คือ ความกลัวต่อการปฏิวัติสังคมนิยมเช่นในคิวบา

แต่เมื่อเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการขยายจำนวนของชนชั้นกลางในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม ชนชั้นนี้เริ่มทิ้ง “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology) และเปิดรับประชาธิปไตย พร้อมกับมีมุมมองที่สนับสนุนการปรองดองและการประนีประนอมมากขึ้น อันส่งผลให้ชนชั้นกลางยอมรับถึงความเป็น “สังคมเปิด” ทั้งในบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจ

การมีชนชั้นกลางมากขึ้นในเชิงปริมาณ นำไปสู่การขยายบทบาททางการเมืองของชนชั้นนี้โดยตรง ประกอบกับการลดระดับของภัยคุกคามด้านความมั่นคงลง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองที่เคยเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ไปสู่การเป็นฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย จนได้รับการยกย่องว่า พวกเขาเป็น “แชมป์เปี้ยนของประชาธิปไตย”

เราอาจกล่าวในบริบทของช่วงปลายยุคสงครามเย็นได้ว่า เมื่อชนชั้นกลางลดความกลัวคอมมิวนิสต์ลง อันเป็นผลจากการลดระดับของภัยคุกคามของสงครามปฏิวัติ พวกเขาก็เริ่มสลัดตัวเองออกจากการพึ่งพาระบอบทหาร

พร้อมกันนั้นพวกเขาในทางการเมืองก็มีความมั่นใจมากขึ้นในขีดความสามารถที่จะทำหน้าที่ผลักดัน “การเมืองของชนชั้นกลาง” ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ไม่ต้องอาศัยการรัฐประหารเช่นในอดีต

ดังจะเห็นบทบาทของชนชั้นกลางในหลายประเทศที่ออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

หรือเป็นดังคำถามของนิตยสาร The Economist ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ว่า “อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อชนชั้นกลางปะทะกับแก๊สน้ำตาที่กรุงโซล?”

และคำตอบคือ “แก๊สน้ำตาแพ้!”

 

เมื่อแก๊สน้ำตาแพ้ ชนชั้นกลางชนะ!

ชัยชนะของชนชั้นกลาง และความพ่ายแพ้ของแก๊สน้ำตาไม่ใช่เกิดแค่ที่เกาหลีใต้เท่านั้น ภาพของชัยชนะนี้ปรากฏในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสเปน บราซิล เปรู เอกวาดอร์… การเมืองมาถึงจุดเปลี่ยนของชนชั้นกลางจากผู้สนับสนุนรัฐประหาร มาเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตย

ตัวแบบของพลังชนชั้นกลางเอเชียในฐานะผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ได้แก่ การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีมาร์กอสในฟิลิปปินส์ในปี 2527 การผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ในปี 2530

การเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านการชุมนุมใหญ่ในไทยในปี 2535

อีกทั้งกรณีของไทยยังเป็นเสมือนกับการยืนยันทางทฤษฎี การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงจากรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ จนถึงรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเสริมสร้างบทบาทของชนชั้นกลาง

การต่อสู้ที่กรุงเทพฯ ถูกยกขึ้นเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของยุคสมัยที่ชนชั้นกลางเป็น “หัวหอก” ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของพลังในการขับเคลื่อน “คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม” ในเวทีโลก

เงื่อนไขใหม่ทางการเมืองเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของกองทัพในการเมือง เพราะองค์กรทหารไม่ได้แตกต่างจากองค์กรและสถาบันทางสังคมอื่นๆ ที่จะได้รับผลจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ข้อสรุปที่เห็นได้จากหลายประเทศในขณะนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจสูง จะสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาสังคม ที่มีชนชั้นกลางในเมืองเป็นพลังสำคัญ ผลที่ตามมาจากปัจจัยดังกล่าวคือ การสร้างแรงกดดันให้ระบอบทหารต้องตัดสินใจยุติบทบาท และยอมเปิดทางให้ระบอบการปกครองของพลเรือนเข้ามาแทน

แต่เราก็คง “ฝันหวาน” ไม่ได้ทั้งหมด เพราะระบอบทหารที่กรุงเทพฯ ฝังแน่นอยู่ในโครงสร้างอำนาจ และยังมีเครือข่ายพันธมิตรในการต่อต้านประชาธิปไตยที่แข็งแรง

ดังนั้น ชัยชนะในปี 2535 จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการพา “ทหารกลับสู่กรมกอง” และไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่า ชนชั้นกลางก็อาจเปลี่ยนใจได้ในอนาคต!