ชาย VS หญิง ‘ช่วงชิงการนำ’ ยุค Web 3.0/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

ชาย VS หญิง

‘ช่วงชิงการนำ’ ยุค Web 3.0

 

หากเราย้อนกลับไปดูความหมายของ Web 1.0 ซึ่งถือเป็นยุคเริ่มต้นของเครือข่าย internet ยุคแรกนั้น Web 1.0 จะมีลักษณะการทำงานแบบ Broadcasting หรือ One-way Communication (การสื่อสารทางเดียว)

มาจนถึงยุค Web 2.0 หรือห้วงเวลาทองของ e-Commerce และ Social Network ส่วน Web 3.0 หรือ Semantic Web จะมีลักษณะการทำงานในแบบ “เครือข่ายเชิงอรรถศาสตร์” หรือ Semantic Network อาทิ Intelligent Agent หรือ Semantic Search

และ Web 4.0 คือ Symbiotic Web เป็นเว็บไซต์ที่ทำงานแบบ Artificial Intelligence (AI) หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ การทำงานของโปรแกรม Siri ใน iPhone

Semantic-based Knowledge Management จึงเป็นการกรุยทางไปสู่การสร้าง Semantic Search Engine ที่ต่างจากแนวคิด Search Engine ที่เราใช้กันในปัจจุบันอย่าง Google

เพราะ Google เป็นเพียง Text-based Information และ Content-based Information ส่วน Semantic Search Engine นั้นจะเป็น Term-based Information

ความแตกต่างระหว่าง Search Engine เช่น Google กับ Semantic Search Engine สามารถยกตัวอย่างง่ายๆ ได้ว่า ถ้าเป็น Search Engine ธรรมดา เมื่อเราค้นคำว่า “รถยนต์” Search Engine จะไปนำข้อมูลที่มีคำว่า “รถยนต์” มานำเสนอให้เรา

แต่หากเป็น Semantic Search Engine นอกจากจะได้ข้อมูลที่มีคำว่า “รถยนต์” ยังแถม “ยี่ห้อรถยนต์” มาให้เราอีกด้วย เช่น TOYOTA HONDA

ยิ่งถ้าเป็น Symbiotic Web ก็จะยิ่งฉลาดกว่า Semantic Web

เพราะถ้าเป็น Symbiotic Web หากเราค้นหาคำว่า” รถยนต์” นอกจากจะให้ข้อมูลคำว่า “รถยนต์” แล้ว ยังแถม “ยี่ห้อรถยนต์” คือ TOYOTA HONDA และยังพ่วง “มอเตอร์ไซค์” HONDA มาให้เราอีกด้วย

ความแตกต่างระหว่าง Google ซึ่งเป็น Text-based Information และ Content-based Information กับ Semantic Search Engine ซึ่งเป็น Term-based Information เช่น Duck Duck Go

เป็น GAP หรือ “ช่องว่าง” ที่สำคัญ ในรอยต่อระหว่างยุค Web 2.0 กับ Web 3.0

กล่าวคือ Web 2.0 เป็นยุค Social Network ส่วน Web 3.0 หรือ Semantic Web เป็นแนวคิด “เครือข่ายเชิงอรรถศาสตร์” หรือ Semantic Network ที่มี Semantic Search Engine เป็นพระเอก

นอกจาก Duck Duck Go แล้ว Semantic Search Engine หรือ The Future of Search Engine ยังมีอีกหลายตัว อาทิ Kngine Hakia Hakia Evri Powerset Powerset เป็นต้น

ซึ่งนอกจากจะเป็นภาพแสดงแทนรอยต่อระหว่าง Web 2.0 กับ Web 3.0 แล้ว ยังเสมือนกระจกสะท้อนอนาคตที่กำลังขับเคลื่อนจากยุค Web 3.0 ไปยัง Web 4.0 ที่กำลังเดินทางมาถึงอีกด้วย

Web 4.0 คือ Symbiotic Web เป็นเว็บไซต์ที่ทำงานในลักษณะ Artificial Intelligence (AI) หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ การทำงานแบบโปรแกรม Siri ใน iPhone ดังที่กล่าวไป

การเกิดขึ้นของ Web 3.0 จะทำให้ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตมีอิสระในการควบคุมข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนออนไลน์โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทสื่อโซเชียลยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Google Twitter Line Tiktok

ในอีกแง่มุมหนึ่ง Web 3.0 ยังได้ชื่อว่าเป็น Decentralized Internet หรือ “อินเตอร์เน็ตแบบกระจาย”

Decentralized Internet หมายถึง “เครือข่ายอินเตอร์เน็ต” ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางเป็นผู้คอยเก็บข้อมูล แน่นอน “ตัวกลาง” เหล่านั้น ก็คือ “บรรษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่” ดังกล่าว

ดังนั้น Web 3.0 ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด Decentralized Internet จึงเป็นการกีดกันผู้เล่นหลักในโลกอินเตอร์เน็ต คือ Facebook Google Twitter Line Tiktok ให้ออกไปจากวงโคจรนั่นเอง

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งในการเกิดขึ้นของ Web 3.0 ก็คือ Web 3.0 เป็นการออกแบบเพื่อรองรับการมาถึงของเทคโนโลยี Blockchain, Cryptocurrency, NFT (Non-Fungible Token) หรือชิ้นงานศิลปะ Digital ที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain รวมไปถึง Metaverse

นั่นหมายถึง Web 3.0 จะมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นสำหรับสกุลเงิน Digital นั่นเองครับ

 

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตจะก้าวล้ำเพียงใด แต่ข้อถกเถียงหนึ่งซึ่งมีที่มาจากหนังสือ Brotopia : Breaking Up Boys’ Club of Silicon Valley ที่โด่งดังเมื่อปี ค.ศ.2018

ที่กล่าวว่า เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตซึ่งเกิดขึ้นใน Silicon Valley นั้น บรรดาผู้ก่อตั้งบริษัท ICT ทั้งหลาย ล้วนเป็น “เพศชาย”

ข้อถกเถียง ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันกันกลายๆ ระหว่าง “เพศหญิง” กับ “เพศชาย” ในโลกอินเตอร์เน็ต ก็คือการสร้าง Female Internet หรือ “เครือข่ายออนไลน์สำหรับผู้หญิง”

ที่เป็นแนวคิดของ Whitney Wolfe Herd ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์หาคู่ที่ชื่อ Bumble ดังที่ผมเคยเขียนถึงเธอใน “มติชนสุดสัปดาห์” แห่งนี้ ชื่อตอนว่า “Female Internet อุดมคติ Whitney Wolfe Herd เศรษฐีนีเด็กที่สุดในโลก”

การสรรค์สร้าง Female Internet ของ Whitney Wolfe Herd คืออุทิศอินเตอร์เน็ตให้กับเพศหญิง เพื่อขจัดความไม่เสมอภาคจากสภาพสังคมชายเป็นใหญ่

นอกจาก Whitney Wolfe Herd แล้ว ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่มองว่า โลกอินเตอร์เน็ตนั้น ถูกสร้าง และขับเคลื่อนผ่านแว่นของผู้ชาย ดังนั้น การกลั่นกรองทางเทคโนโลยี ย่อม “เอื้อประโยชน์ทางเพศ” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เป้าหมายปลายทาง Female Internet หรือ Web 3.0 ตามแนวคิดของ Whitney Wolfe Herd ก็คือ การสรรค์สร้าง “สังคมอุดมคติ” ที่ชาย-หญิงมี “ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง”

ดังนั้น Web 3.0 จึงดึงดูดบรรดา “ผู้หญิง” ที่เป็นผู้ประกอบการ ผู้นำ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งพวกเธอเชื่อว่า Web 3.0 จะเป็นการเริ่มต้นใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ “ผู้ชาย” ครอบครองอยู่ โดยเปิดโอกาสให้ “ผู้หญิง” เข้ามาร่วมพัฒนากันมากขึ้น

 

การมาถึงของ Web 3.0 จึงกระตุ้นให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งอาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง และผลักดันเทคโนโลยีใหม่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งในยุคเริ่มต้นของ Web 3.0 ให้ได้

Maricris Bonzo หนึ่งในผู้ต้องการมีส่วนร่วมกับวิวัฒนาการอินเตอร์เน็ตในครั้งนี้ โดยเธอและเพื่อนสาวๆ ได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Women in Web 3.0

“Web 3.0 คือการปฏิวัติอินเตอร์เน็ตครั้งใหม่ ที่ทุกแพลตฟอร์ม ทุกองค์กร และทุกคนในวงการ Digital จะร่วมกันเปลี่ยนแปลง” Maricris Bonzo กระชุ่น

เช่นเดียวกับ Jaime Schmidt สาวใหญ่เจ้าของธุรกิจ Startup อีกรายที่มีความสนใจในเรื่องนี้ และได้ร่วมก่อตั้ง BFF ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจุดมุ่งหมายในการให้ผู้หญิง รวมถึงกลุ่มผู้มีรสนิยมทางเพศหลายรูปแบบ (Non-Binary People) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา Web 3.0 มากขึ้น

Jaime Schmidt กล่าวว่า ฉันคิดว่า ทุกวันนี้ผู้หญิงเรามีโอกาสอย่างมากมากมายในแวดวงการเงิน ธุรกิจ ชุมชน การสร้างเครือข่าย ในการผลักดันเรื่องต่างๆ เหลือก็แต่อินเตอร์เน็ตเท่านั้น ที่ผู้หญิงยังมีส่วนร่วมในการควบคุมดูแลค่อนข้างน้อย

สอดคล้องกับ Alex Cavoulacos ผู้ร่วมก่อตั้ง Meta Angels ซึ่งเป็น “ชุมชน NFT” (Non-Fungible Token หรือชิ้นงานศิลปะ Digital ที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain)

โดยผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกจะเข้าร่วมโดยการซื้อ NFT กับทางกลุ่ม โดยทุกๆ ครั้งที่มีการซื้อขาย สมาชิกจะหักเปอร์เซ็นต์จากการขายไปให้ศิลปิน และให้ Meta Angels โดยอัตโนมัติ

รวมถึง Olayinka Odeniran ผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ที่สนใจในแนวคิด Web 3.0 เป็นอย่างมาก

โดยเธอได้ก่อตั้ง Black Women Blockchain Council เพื่อส่งเสริมผู้หญิงผิวดำ ในฐานะ “วิศวกร Blockchain ของ Web 3.0” ให้เข้ามาร่วมกันพัฒนา Web 3.0 หรือ Female Internet

Olayinka Odeniran กล่าวว่า Black Women Blockchain Council ก่อตั้งขึ้นจากการมองเห็นความสามารถของผู้หญิงผิวดำ ในการร่วมสร้างสรรค์ Web 3.0 ที่โปร่งใส

และเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ Black Women Blockchain Council แห่งนี้มีอิสรภาพในหลากหลายด้านมากขึ้นต่อไปในอนาคตนั่นเองครับ