มองทวนสวนกระแสรัสเซีย : บอริส คาการ์ลิตสกี (1)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

มองทวนสวนกระแสรัสเซีย

: บอริส คาการ์ลิตสกี (1)

Boris Kagarlitsky เป็นคนประเภทค่อนข้างหาได้ยากในรัสเซียปัจจุบัน

ในวัย 64 ปี บอริสไม่เพียงเป็นศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ที่ได้ทำงานวิจัย บริหารและสอนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโก, วิทยาลัยสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์มอสโก, สถาบันสังคมวิทยาแห่งบัณฑิตยสถานรัสเซีย และสถาบันโลกาภิวัตน์ศึกษาและขบวนการทางสังคมเท่านั้น

แต่เขายังเป็นปัญญาชนสาธารณะ ผู้มีหนังสือพิมพ์ออนไลน์และช่อง Youtube ของตัวเองชื่อ Рабкор (หรือ Rabkor แปลว่าสารคนงาน) ไว้เผยแพร่ข้อวิเคราะห์วิจารณ์สังคมการเมืองด้วย

(https://www.youtube.com/channel/UCYDuWqDwzAFG4xrI5uJEWfw)

ที่สำคัญเขาเป็นผู้เห็นต่าง/ฝ่ายค้านทางการเมือง (political dissident) มาตลอดตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาใต้สหภาพโซเวียตจนถึงรัฐบาลปูตินทุกวันนี้ ส่งผลให้ถูกจับติดคุก 3 ครั้งในสมัยประธานาธิบดีเบรสเนฟปี 1982 ประธานาธิบดีเยลต์ซินปี 1993 และประธานาธิบดีปูตินปัจจุบัน

เขาเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาโซเวียตแห่งกรุงมอสโก และร่วมก่อตั้งพรรคแรงงานขึ้นในทศวรรษ 1990 ด้วย

และขณะที่มิตรสหายฝ่ายซ้ายทั้งในรัสเซียและตะวันตกมากมายพากันเลิกราพลิกเปลี่ยนอุดมการณ์และทฤษฎีไปเป็นฝ่ายขวาบ้าง ฝ่ายเขียวบ้าง ฝ่ายประชาธิปไตยล้วนๆ บ้าง ฝ่ายโพสต์โมเดิร์นบ้าง หรือแม้แต่ฝ่ายคริสเตียน แต่บอริสยังคงยืนหยัดเป็นนักทฤษฎีและนักสังคมวิทยามาร์กซิสต์ไม่เปลี่ยนสีแปรธาตุ จนแตกหักแยกทางกับพรรคพวกในวารสาร New Left Review อันโด่งดังของอังกฤษไปเมื่อปี 2000 ค่าที่กองบรรณาธิการประกาศเปลี่ยนแนวทางในโอกาสขึ้นสหัสวรรษใหม่ (ดู https://newleftreview.org/issues/ii1/articles/perry-anderson-renewals; และ https://www.marxists.org/history/etol/newspape/isj2/2000/isj2-088/kagarlitsky.htm)

ทั้งนี้ ลัทธิมาร์กซ์แบบที่บอริสสมาทานไม่ใช่สรรพนิพนธ์ตำราศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกฉวยใช้มาอ้างอิงให้ความชอบธรรมแก่นโยบายอะไรก็ตามแต่ที่ผู้นำเลือกด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่เกี่ยวกันแต่อย่างใดเลย หากเป็นกรอบการคิดซึ่งสามารถเอามาทดสอบได้กับความเป็นจริงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาต่างหาก

(http://kagarlitsky.narod.ru/bio.html)

ในจำนวนหนังสือ 18 เล่มที่บอริสเขียนหรือร่วมเป็นบรรณาธิการ เล่มที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สุดคือ Russia, Ukraine and Contemporary Imperialism (2019) ซึ่งเขาเป็น บก.ร่วม เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บอริสได้ให้สัมภาษณ์ ลอเรน บัลฮอร์น บก.กิตติมศักดิ์ชาวเยอรมันของวารสาร Jacobin โดยชี้ให้เห็นที่มาที่ไปและแง่มุมพิสดารลุ่มลึกนึกไม่ถึงของสงครามรุกรานยูเครนซึ่งเชื่อมโยงกับการเมืองภายในรัสเซียและระบอบปูติน (https://jacobin.com/2022/07/russia-ukraine-war-media-public-apolitical-vladimir-putin)

นับเป็นทรรศนะมองทวนสวนกระแสหลักในรัสเซียที่น่าสนใจ ผมจึงขอนำมาเรียบเรียงเล่าต่อดังนี้ :

 

ลอเรน บัลฮอร์น : ตอนเริ่มรุกรานยูเครน มีรายงานการประท้วงต่อต้านสงครามเยอะมากทั่วรัสเซีย ดูเหมือนมันค่อยเงียบสงบลงนับแต่นั้นและสื่อมวลชนมากรายขึ้นเรื่อยๆ พากันอ้างว่าชาวรัสเซียส่วนใหญ่หนุนหลังปูติน คุณเองอาศัยอยู่ในกรุงมอสโก ผมสงสัยว่าผู้คนรู้สึกยังไงกันบ้างครับ?

บอริส คาการ์ลิตสกี : แรกเริ่มเดิมทีมีการประท้วงกันมากแหละครับ แต่มันถูกบดขยี้ลงอย่างป่าเถื่อนยิ่ง ดังนั้น อย่างน้อยในระดับพื้นผิว การเคลื่อนไหวก็ถูกกดปราบลงไปทางกายภาพ ผู้คนเข้าคุกกันแทบจะทุกวันเลยทีเดียว อย่างเช่น อเล็กไซ กอรินอฟ ก็เพิ่งถูกตัดสินจำคุกเจ็ดปีฐานแถลงต่อต้านสงครามระหว่างการประชุมสภา เทศบาลเขตคราโนเซลสกี้ในกรุงมอสโก (https://www.theguardian.com/world/2022/jul/08/moscow-councillor-jailed-seven-years-criticising-ukraine-war-alexei-gorinov)

มันเป็นวิธีทำให้คนกลัวครับ และมันก็ได้ผลระดับหนึ่ง ชาวรัสเซียไม่น้อยกว่าสี่ล้านคนพากันเดินทางออกจากประเทศไปนับแต่ไอ้สิ่งที่เรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษ” เริ่มต้นขึ้น ส่วนทางยูเครนก็รายงานว่ามีคนราวเจ็ดถึงแปดล้านคนออกจากประเทศไป แต่ราวกึ่งหนึ่งของจำนวนนั้นก็กลับเข้ามาแล้ว ในความหมายนั้น จำนวนคนอพยพจากรัสเซียก็ประมาณพอๆ กับจำนวนคนที่หนีภัยสงครามออกจากยูเครนนั่นเอง ในสภาพที่ไม่มีใครเลยถูกทิ้งระเบิดใส่ที่รัสเซียนี่ คุณคงพอนึกออกว่าท่าทีของสาธารณชนเป็นอย่างไรนะครับ

บัลฮอร์น : งั้นคุณก็ไม่คิดว่าคนรัสเซียส่วนใหญ่สนับสนุนสงครามซีครับ?

คาการ์ลิตสกี : นั่นน่ะเป็นปัญหาทางสังคมวิทยาและการเมืองที่น่าสนใจที่สุดเลยเชียวครับ เพราะเอาเข้าจริงคนรัสเซียทั้งไม่สนับสนุนและก็ไม่ต่อต้านสงคราม พวกเขาไม่มีปฏิกิริยาอะไรต่อสงครามน่ะครับ

แน่ล่ะครับว่าสื่อนิยมทางการเครมลินทั้งหลายพากันตีพิมพ์เผยแพร่โพลสำรวจทัศนคติต่างๆ ออกมา ซึ่งบรรดาแหล่งข่าวตะวันตกและเชียร์ยูเครนก็เอาไปอ้างอิงต่ออีกทีเพื่อพยายามจะพิสูจน์ว่าคนรัสเซียล้วนแต่หนุนปูตินและเป็นพวกฟาสซิสต์กันหมด แต่นั่นน่ะไม่จริงเลยครับ ในฐานะนักสังคมวิทยา ผมยืนยันได้ว่านับแต่เริ่มสงครามมา จำนวนคนรัสเซียที่ยอมตอบคำถามของโพลสำรวจทัศนคติน่ะหล่นฮวบลงไปอยู่ในระดับที่ไม่อาจอ้างเป็นตัวแทนใครได้ทั้งนั้นแหละครับ ก่อนสงครามคนที่ยอมตอบโพลมีไม่ถึง 30% ซึ่งก็ต้องนับว่าต่ำมากแล้ว มาตอนนี้ ถ้าคนยอมตอบสัก 10% นี่ต้องถือว่าสัมฤทธิผลใหญ่หลวงเลยนะครับ ปกติแล้วก็จะตกราว 5 ถึง 7% แค่นั้นเอง

ในจำนวน 5% ที่ตอบนั้น ราว 65 ถึง 70% สนับสนุนสงครามครับ เราตีความข้อมูลทั้งหมดนี้ได้สองแบบ แบบแรก ซึ่งฝ่ายค้านหัวเสรีนิยมส่วนใหญ่เชื่อกันก็คือผู้คนกลัวที่จะตอบนั่นแหละ ผมเองคิดว่ามันไม่เชิงเป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว ในหมู่คน 95% ที่ไม่ยอมตอบ ก็อาจมีจำนวนมากพอควรที่ต่อต้านสงครามแต่ไม่กล้า บอกตรงๆ

อย่างไรก็ตาม ผมสงสัยว่ามันอาจตีความได้แบบที่สอง นั่นคือคนส่วนใหญ่ไม่มีความเห็นอะไรเลยทั้งสิ้น ซึ่งแน่ล่ะครับว่าผมพิสูจน์มันไม่ได้

บัลฮอร์น : หา, ไม่มีความเห็นอะไรเลยหรือครับ?

คาการ์ลิตสกี: นี่อาจทำให้คุณช็อก แต่จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เอง คนรัสเซียส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามีสงครามในยูเครนนะครับ รายการทีวีเรียกมันว่า “ปฏิบัติการพิเศษ” ซึ่งส่อนัยว่ามีกองกำลังพิเศษเข้าปฏิบัติการในขอบเขตจำกัดบางอย่างในที่บางแห่ง มันไม่ได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับการสู้รบจริงๆ ที่ใช้รถถังและปืนใหญ่อะไรเทือกนั้น และทีวีก็ไม่รายงานเรื่องพลเรือนยูเครนบาดเจ็บล้มตายด้วยครับ

นั่นนำมาสู่ประเด็นที่สองที่ผมอยากบอก นั่นคือคนส่วนใหญ่ไม่ดูรายการการเมืองทางทีวี และก็ไม่ดูสื่อฝ่ายค้านทางอินเตอร์เน็ตด้วยนะครับ พวกเขาไม่สนใจไม่ว่าการเมืองประเภทไหนทั้งสิ้น ประดาความคิดเห็นทางการเมืองทั้งแถบทุกเฉดสีรวมทั้งพวกจงรักภักดีต่อรัฐบาลกับฝ่ายค้าน จะฝ่ายซ้ายหรือฟาสซิสต์ เสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม ฯลฯ เป็นตัวแทนประชากรอาจจะราว 15-20% แค่นั้นเอง น่าจะไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำไป ส่วนคนที่เหลือไม่เอาการเมืองโดยสิ้นเชิงครับ

ในแง่หนึ่ง นั่นทำให้ระบอบปกครองได้เปรียบอย่างใหญ่หลวงครับ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของระบอบด้วย ไม่มีใครเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล แต่ก็ไม่มีใครเคลื่อนไหวเข้าข้างรัฐบาลเหมือนกัน นั่นคือเหตุผลที่ทำไมการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิดล้มเหลวไม่เป็นท่า และทำไมประธานาธิบดีปูตินจึงประกาศระดมพลทั่วประเทศไม่ได้

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนประกาศเมื่อวันก่อนว่าเขาต้องการระดมพลหนึ่งล้านคน ทว่า รัสเซียน่ะกะอีแค่สองแสนยังระดมพลไม่ได้เลยเพราะทุกคนเผ่นหนีหมด

 

บัลฮอร์น : สื่ออิสระหลายสำนักในรัสเซียถูกสั่งปิดตั้งแต่เริ่มสงครามมา และตอนนี้อัยการของรัฐก็กำลังเดินเรื่องสั่งห้ามสหภาพนักหนังสือพิมพ์และคนงานสื่ออยู่ เอาเข้าจริงยังมีพื้นที่สาธารณะอะไรเหลืออยู่ในรัสเซียให้พอโต้แย้งถกเถียงกันได้อยู่ไหมครับ?

คาการ์ลิตสกี : มันก็ไม่ถึงกับถูกปิดหมดหรอกนะครับ ทางการพยายามปิดเต็มเหนี่ยวแต่ก็ล้มเหลว ข้อดีของประเทศรัสเซียนี่ก็คือทุกอย่างไม่ว่าอะไรล้วนล้มเหลวหมด นั่นคือเหตุผลที่เราคุยกันขำๆ ว่าลัทธิฟาสซิสต์ไม่มีวันใช้การได้ในรัสเซียหรอก เพราะไม่มีห่าเหวอะไรใช้การได้ที่นี่เลยสักอย่าง

ช่องยูทูบ Rabkor ของเรามีสมาชิกราวเก้าหมื่นคนและถ่ายทอดรายการแทบทุกวัน แต่อย่างช่องยูทูบฝ่ายซ้ายอีกช่องหนึ่งชื่อ Vestnik Buri ก็มีสมาชิกถึงราวสองแสนคน ยังไม่ต้องพูดถึงโครงการสื่อหัวเสรีนิยมทั้งหลายแหล่ ช่องต่างๆ ทางแอพพลิเคชั่น Telegram ก็เป็นที่นิยมกันมาก นั่นแหละครับเป็นแหล่งที่ผมหาข้อมูลข่าวสารได้มากมายและที่ๆ คนเขาโต้แย้งถกเถียงกัน

มือทำวิดีโอบางคนก็อพยพย้ายไปและจริงครับว่าพวกเราที่ยังอยู่ในสนามก็เจอปัญหากัน อย่างผมเองก็ถูกตราหน้าว่าเป็น “สายลับต่างชาติ” เป็นต้น ดังนั้น เวลาผมพูดออกเวทีสาธารณะ ผมก็ต้องสวดท่องสูตรสำเร็จงี่เง่าเรื่องข้อหาว่าผมเป็นสายลับต่างชาติ หรือไม่งั้นผมก็ต้องจ่ายค่าปรับ แต่กระนั้นผู้คนก็ยังหัวเราะเยาะพวกเจ้าหน้าที่ทางการกันครับ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีอีกอย่างเกี่ยวกับรัสเซียเรา พวกเขาขังคน จับคนและปรับคน แต่ผู้คนก็ยังหัวเราะเยาะพวกนั้นอยู่

มันน่าสนใจติดตามนะครับว่ารัฐบาลปูตินจะเอาไงกับอิกอร์ สเตรลคอฟ ผู้มีบทบาทสำคัญโดดเด่นคนหนึ่งในเขตโดเนตสค์เมื่อปี 2014 และเป็นนักจักรวรรดินิยมและทหารนิยมชาวรัสเซียที่ก้าวร้าวยิ่ง (https://www.politico.eu/article/soldier-spy-strelkov-snipes-from-sidelines-at-russias-setbacks-in-ukraine/) หมอนี่เห็นด้วยกับเป้าหมายของ “ปฏิบัติการพิเศษ” ในยูเครน แต่ดันกลายมาเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรัสเซียปากกล้าที่สุด ซึ่งก็เลยเป็นเหตุให้สื่อยูเครนมักเอาคำวิจารณ์ของเขาไปเผยแพร่ต่อ ถ้าเกิดเขาถูกจับขึ้นมา มันจะก่อให้เกิดความโกรธแค้นกันมากในหมู่คนในสังคมผู้สนับสนุนสงครามนั่นแหละครับ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)