ธงทอง จันทรางศุ | บริวาร

ธงทอง จันทรางศุ

ถึงแม้ว่าในวัยเยาว์ของผม ครอบครัวของเราจะมีสมาชิกเพียงแค่สี่คน คือพ่อแม่ ผมและน้องชาย

แต่ผมก็ยังมีโอกาสได้ซึมซับบรรยากาศของครอบครัวขนาดใหญ่และโบราณซึ่งมีอยู่ทั้งสองฝั่งฟากไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของพ่อหรือแม่ก็ตาม เพราะพ่อของผมมีพี่น้องท้องเดียวกันหกคน ส่วนแม่มีพี่น้องท้องเดียวกันแปดคน

ด้วยขนาดใหญ่ของครอบครัวถึงเพียงนี้ และด้วยความเป็นสังคมไทยแบบโบราณ ขณะที่คุณปู่และคุณตาเป็นข้าราชการ หน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกจำนวนมากจึงตกเป็นของคุณย่าและคุณยายอย่างไม่ต้องสงสัย

และด้วยค่านิยมในครั้งนั้น การที่มีผู้ช่วยทำงานบ้านต่างรุ่นตั้งแต่รุ่นใหญ่ไปจนถึงรุ่นเด็กไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญอะไร และผู้คนหรือบริวารเหล่านั้นเมื่ออยู่ด้วยกันแล้ว ก็อยู่ด้วยกันนานเป็นสิบปีหรืออยู่ด้วยกันจนตลอดชีวิต

ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณย่าและคุณยายทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จในเรื่องของบริวารถึงเพียงนั้น

ผมไม่เคยถามท่านทั้งสองหรอกครับว่าท่านมีเคล็ดลับอย่างไร

แต่ผมก็โตทันพอที่จะได้เห็นรายละเอียดบางอย่างที่น่าจะถือว่าเป็นเคล็ดลับของท่านทั้งสองได้

และเคล็ดลับเหล่านี้ก็ได้ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษรุ่นคุณย่าคุณยายมาสู่รุ่นที่เป็นพ่อแม่หรือลุงป้าน้าอาของผม และอาจจะเป็นได้ว่าเคล็ดลับเหล่านั้นได้อยู่ในดีเอ็นเอและตกทอดมาจนถึงผมโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

แน่นอนครับว่าคนเราจะทำงานอยู่ด้วยกัน อย่างน้อยเรื่องค่าตอบแทนและชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นผู้ช่วยงานบ้านแบบอยู่ด้วยกันเป็นการประจำตามแบบแผนโบราณของเรา ไม่ใช่งานไปเช้าเย็นกลับหรือมาช่วยทำความสะอาดบ้านสัปดาห์ละสองครั้งอย่างยุคสมัยนี้ ค่าตอบแทนและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ก็ต้องสมน้ำสมเนื้อและดูแลกันให้พอเหมาะพอสม

แต่นอกเหนือจากเงินเดือนค่าตอบแทนหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการกินอยู่ทั้งไหนแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีความหมายเป็นอย่างยิ่งและปล่อยให้ขาดแคลนไม่ได้เลย นั่นคือความมีน้ำใจต่อกัน ให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน เจ็บไข้ได้ป่วยก็ช่วยกันรักษาประคับประคอง

เรื่อยไปแม้จนกระทั่งยามมีก็ได้กินด้วยกัน ยามอดก็อดด้วยกัน

ใครจะเชื่อบ้างว่า บริวารวัยเด็กที่คุณยายรับมาเลี้ยงดูเป็นเพื่อนเล่นกับลูกของคุณยายคนหนึ่ง เมื่อเด็กทั้งสองเติบโตขึ้น ความสัมพันธ์อันมีฐานะพิเศษเช่นนี้ก็ตัดไม่ขาด ลูกของคุณยายแต่งงานไปอยู่ที่ไหนก็ตาม “ป้าเล็ก” หรือบริวารผู้มีฐานะพิเศษรายนั้นก็จะติดตามไปอยู่ด้วยเสมอ ไปช่วยเลี้ยงดูลูกของคุณป้าทั้งสามคนตั้งแต่คนใหญ่จนถึงคนเล็ก จนกระทั่งตายจากกันไป

หลานของผมที่เกิดจากลูกชายทั้งสามคนของคุณป้า ก็เห็นว่าป้าเล็กเป็นผู้ใหญ่ที่ควรแก่ความเคารพกราบไหว้ ถึงเวลาตรุษสงกรานต์ พี่ของผมตั้งสามคนก็นำลูกหลานมารดน้ำขอพรจากป้าเล็ก ไม่แตกต่างจากการรดน้ำขอพรจากคุณป้าของผมซึ่งเป็นย่าแท้ๆ ของหลานทุกคน

การรดน้ำขอพรด้วยน้ำอบไทยเพียงไม่กี่หยด ด้วยสบู่สามก้อนหกก้อน พร้อมด้วยผ้าเช็ดตัวใหม่หนึ่งผืน แม้ไม่มากด้วยราคา แต่ผมแน่ใจว่ามากด้วยคุณค่าอันประเมินไม่ได้

 

สมาชิกในครอบครัวผู้มีฐานะพิเศษเช่นนี้อีกรายหนึ่ง ชื่อ “คำแปง” หรือผู้ที่ผมเรียกว่า “ยายแปง”

เธอเป็นพี่เลี้ยงของแม่ผม เป็นสาวเชียงใหม่ ได้มาอยู่กับครอบครัวของคุณตาและคุณยายเมื่อครั้งที่คุณตาไปรับราชการเป็นผู้พิพากษาอยู่ที่เชียงใหม่ และติดตามครอบครัวของเราเรื่อยมาทั้งที่พิษณุโลกและในพระนคร

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า แม่และน้องของแม่อีกสามคนซึ่งเป็นลูกชุดสุดท้ายของคุณตาคุณยาย ได้อยู่ในความดูแลประคบประหงมของยายแปงมาช้านาน

เมื่อวันเวลาผ่านไป แม้คุณยายของผมเสียชีวิตแล้ว ยายแปงก็ยังอยู่ในความดูแลของน้าชายของผมจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

งานปลงศพยายแปงไม่เหงาเลย เพราะสมาชิกของครอบครัวเราทุกคนไม่มีใครขาดหายไปไหน ครอบครัวของเรานี่แหละคือครอบครัวยายแปง

ประสบการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ช่วยงานบ้านแบบในอดีตกับครอบครัวของผมแต่หนหลัง หากมองดูโดยผิวเผิน บางท่านอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องโบร่ำโบราณ เป็นเรื่องของเจ้าขุนมูลนายที่พ้นยุคสมัยแล้ว

ถ้าท่านใดคิดเห็นเช่นนั้นผมก็ไม่ว่ากัน

 

แต่สำหรับตัวผมเอง ถึงแม้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร ฐานะความสัมพันธ์ในครอบครัวกับบริวารแบบเดิมไม่อาจกล่าวได้ว่าดำรงอยู่ในยุคปัจจุบันอย่างเหมือนสนิทแล้วก็ตามที แต่ถ้าเราเลือกคัดสปิริตหรือจิตวิญญาณอะไรบางอย่างของความสัมพันธ์แบบนั้น เช่น การให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การอยู่ด้วยกันแบบร่วมทุกข์ร่วมสุข มาใช้ประโยชน์

เรื่องเหล่านี้ไม่เคยล้าสมัยและจะไม่ล้าสมัยเป็นอันขาด

ในชีวิตของผมที่อายุมากถึงปานนี้แล้ว คงไม่แปลกถ้าจะบอกว่าผมมีบริวารมามากพอสมควร คำว่า “บริวาร” ในที่นี้ อย่าไปนึกว่าต้องมาเคารพกราบไหว้กันแบบดั้งเดิมนะครับ ผมขอใช้คำนี้ในความหมายอย่างกว้าง เพียงแค่ผู้ที่มาช่วยทำงานด้วยกันก็อาจสงเคราะห์อยู่ในความหมายนี้ได้กระมัง

ผมมั่นใจว่าผมไม่เคยใช้ถ้อยคำหยาบคายหักหาญน้ำใจผู้ที่ทำงานร่วมกันกับผม ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งในฐานะใด

เอกสารที่เสนอให้ผมลงนาม ถ้าต้องแก้ไขปรับปรุงบ้าง ผมก็จะเชิญผู้ยกร่างมาพบเพื่อชี้แจง ไม่มีการโยนแฟ้มโครมครามใส่หน้าเป็นอันขาด

เลิกงานหมดเวลาราชการ 4 โมงครึ่งแล้ว ถ้าผมจำเป็นจะอยู่ในที่ทำงานต่อไปเพราะมีงานเร่งรัด ก็ต้องระมัดระวังและคิดถึงหัวอกคนที่ต้องอยู่ปิดสำนักงานให้เรา เพราะเมื่อเขาปิดประตู ปิดไฟ ปิดแอร์แล้ว เขายังต้องขึ้นรถเมล์กลับบ้านไปซื้อแกงถุงที่ปากซอยกลับไปอุ่นกิน ขณะที่เรานั่งรถมีคนขับกลับบ้าน ถึงบ้านก็มีสำหรับคับค้อนตั้งวางไว้แล้ว การนั่งอยู่ในที่ทำงานจนเลยเวลาไปมากพอสมควรจึงต้องคิดถึงคนรอบด้านให้ครบทุกมุมด้วย

การออกปากถามว่ามีอะไรกินแล้วหรือยัง เจ็บไข้ได้ป่วยไหม หยุดลองวีกเอ็นด์นี้จะกลับบ้านต่างจังหวัดอย่างไร

ฝากขนมนี่ไปให้คุณพ่อคุณแม่ที่ต่างจังหวัดหน่อยสิ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรยากเลยไม่ใช่หรือครับ

แม้จนทุกวันนี้ผมเป็นคนอยู่นอกราชการแล้ว แต่ทุกครั้งที่ได้พบหน้ากันกับบรรดาทีมงานที่เคยร่วมงานกันมาแต่ก่อน ความสุขแต่หนหลังก็ยังมีร่องรอยที่เห็นได้ชัด

ผมป่วยเข้าโรงพยาบาลไปรอบล่าสุดเมื่อเดือนก่อน หลายคนได้เป็นห่วงเป็นใยสอบถามข่าวคราวมาด้วยไมตรีที่เป็นความชื่นใจสุขแสนของฝ่ายผม

ก่อนจะปิดท้ายงานเขียนวันนี้ มีเรื่องเล่าแถมไว้หนึ่งเรื่องครับ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีนายกรัฐมนตรีของไทยท่านหนึ่ง มีผู้ช่วยทำงานในระดับผู้ใหญ่จากกระทรวงกระทรวงหนึ่งมาประจำทำการในหน้าที่ช่วยดูแลงานของท่านนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปี

นอกจากพูดจากันในหน้าที่การงานโดยเฉพาะแล้ว

คำน้อยจากท่านนายกรัฐมนตรีที่สอบถามผู้ร่วมงานว่าสุขทุกข์เป็นอย่างไร กินข้าวแล้วหรือยัง ไม่เคยหลุดออกมาจากปากท่านเลยแม้แต่นิดเดียว

ผมซึ่งเป็นแค่คนฟังเรื่องเล่า ได้ฟังแล้วยังรู้สึกซึมไป

คนที่โดนเข้ากับตัวเอง คงซึมลึกซึมกว้างกว่าผมไปอีกเยอะทีเดียว

ไม่รู้ว่าป่านนี้เลิกซึมแล้วหรือยัง