ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คนของโลก |
เผยแพร่ |
กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น เจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 ขโมยซีนในพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโรของบราซิลอย่างหมดจด เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา
ในการรับไม้ต่อที่ทั้งสร้างความประหลาดใจและประทับใจให้แก่คนทั่วโลก นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ วัย 61 ปีของญี่ปุ่น ลงทุนแต่งตัวเป็น “ซูเปอร์มาริโอ” ตัวละครของวิดีโอเกมชื่อดังที่ถือเป็นแมสคอตของบริษัทผู้ผลิตเกมนินเทนโด โผล่ขึ้นมาจากท่อน้ำสีเขียวที่แฟนๆ วิดีโอเกมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ทำไมถึงต้องเป็น “มาริโอ”?
ตัวละครจากการ์ตูนและเกมชื่อดัง ทั้งโดราเอมอน กัปตันซึบาสะ เฮลโหลคิตตี้ และแพคแมน ต่างก็ปรากฏตัวในวิดีโอพรีเซนเตชั่น แต่เห็นได้ชัดว่าไม่มีตัวละครไหนเลยที่เหมาะสมสำหรับการเป็นทูตของญี่ปุ่นในระดับโลกมากไปกว่ามาริโอ ตัวละครช่างประปาหนวดโค้งชาวอิตาลีตัวนี้ ที่เรียกได้ว่าน่าจะเป็นสินค้าส่งออกด้านวัฒนธรรมอันเป็นที่รู้จักดีที่สุดของญี่ปุ่น
ทีมผู้จัดงานโอลิมปิก 2020 ระบุไว้ในแถลงการณ์ว่า ไอเดียในการใช้ซูเปอร์มาริโอเกิดขึ้นระหว่างช่วงการระดมความคิด ขณะที่เจ้าหน้าที่ของนินเทนโดระบุว่าไม่ขัดข้องหากรัฐบาลจะขอยืมตัวละครดังกล่าวไปใช้
ซูเปอร์มาริโอถือเป็นแฟรนไชส์เกมที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของเครื่องแฟมิลีคอมพิวเตอร์หรือแฟมิคอม ซึ่งเป็นเครื่องเล่นเกมคอนโซลยุคแรกๆ ในทศวรรษที่ 1980
ผู้ออกแบบตัวละครมาริโอคือ ชิเงรุ มิยาโมโตะ นักออกแบบวิดีโอเกมชาวญี่ปุ่นที่ต่อมามาริโอกลายเป็นแมสคอตของนินเทนโด
จุดกำเนิดของมาริโอต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1981 ในตอนแรก มิยาโมโตะตั้งชื่อตัวละครดังกล่าวว่า “มิสเตอร์วิดีโอ” และตั้งใจที่จะใช้ตัวละครดังกล่าวในทุกเกมที่เขาเป็นผู้ออกแบบ
แต่เมื่อดองกี้คอง เปิดตัวเป็นเกมอาร์เคดหรือเกมตู้ และกลายเป็นเกมที่ขายดีที่สุดอย่างรวดเร็ว
ตัวละครดังกล่าวที่ถูกใช้เป็นตัวเอกของเกมนี้ได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า “จัมพ์แมน” มีอาชีพเป็นช่างไม้ โดยต้องพยายามช่วยแฟนสาวชื่อ “พอลลีน” จากลิงยักษ์ซึ่งก็คือดองกี้คองนั่นเอง
จัมพ์แมนได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นมาริโอ ในเกมดองกี้คองจูเนียร์ ปี 1982 นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่มาริโอปรากฏตัวในบทบาทผู้ร้าย
ต่อมาในปี 1983 มาริโอกลับมาพร้อมกับลุยจิ น้องชายในเกมอาร์เคด “มาริโอบราเธอร์ส” โดยทั้งคู่ถูกกำหนดให้เป็นช่างประปาชาวอิตาลีที่ต้องต่อสู้กับบรรดาสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่โผล่ขึ้นมาจากท่อประปาในนิวยอร์ก
ในหนังสือชื่อ “เกมโอเวอร์ : ฮาว นินเทนโด คองเคอร์ เดอะ เวิลด์” (Game Over : How Nintendo Conquer the World) เดวิด เชฟฟ์ เขียนไว้ว่า มาริโอ ได้รับการตั้งชื่อตาม มาริโอ เซกาเล เจ้าของสถานที่ที่นินเทนโดสาขาอเมริกาเช่าอยู่ ซึ่งเรียกร้องค่าเช่าย้อนหลังในขณะที่นินเทนโดเพิ่งจะตั้งไข่ในสหรัฐ
ซูเปอร์มาริโอมาถึงในปี 1985 โดยเป็นเกมที่ขายเป็นแพ็กเกจมาพร้อมกับเครื่องแฟมิคอม นับเป็นเกมประเภทเคลื่อนที่ไปทางด้านข้างที่จุดชนวนให้เกิดความนิยมในเกมแนวนี้ที่ตามออกมาเป็นจำนวนมาก
จนถึงปัจจุบัน มีเกมที่มาริโอเป็นตัวละครหลักรวมแล้วมากกว่า 100 เกม ตั้งแต่ดองกี้คอง ไปจนถึงซูเปอร์มาริโอคาร์ต รวมถึงยังมีอีกมากที่มาริโอไปปรากฏตัว ข้อมูลจากบริษัทวิจัยเอ็นพีดีระบุว่า ซูเปอร์มาริโอบราเธอร์ส เป็นแฟรนไชส์วิดีโอเกมที่ขายดีที่สุดในโลก โดยมียอดจำหน่ายมากกว่า 490 ล้านชุดนับตั้งแต่ปี 2538
ความสำเร็จมหาศาลในระดับโลกทำให้มาริโอน่าจะเหมาะสมสำหรับการเป็นทูตทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในงานใหญ่อย่างโตเกียว 2020 ด้วยประการทั้งปวง