ทำไม ‘หนี้ครัวเรือน’ ไทย จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง?/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ทำไม ‘หนี้ครัวเรือน’ ไทย

จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง?

 

ปัญหาใหญ่โตในระบบเศรษฐกิจของไทยที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมานานก็คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุกคามต่อดีมานด์ภายในประเทศ ซึ่งในที่สุดก็จะกระทบต่อซัพพลายและเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด

ที่น่ากังวลอย่างยิ่งก็คือ ถึงตอนนี้ หนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบหลายปีเข้าให้แล้ว

ตัวเลขล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงให้เห็นว่า มวลหนี้ครัวเรือนทั้งหมดในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2021 พุ่งขึ้นสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แล้ว สูงจนน่าตกใจกลัว

คำถามที่สำคัญก็คือว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

 

หลายคนชี้นิ้วไปที่วิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหนักในช่วงเวลาปีสองปีที่ผ่านมา โดยระบุว่า เศรษฐกิจของไทยขึ้นอยู่กับการส่งออกสินค้าและบริการ การระบาดของโควิดทำร้ายและทำลายส่วนสำคัญดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลง บีบบังคับให้ผู้คนต้องหันไปหาเงินกู้เพื่อเอาชีวิตรอด

แต่เจมส์ กิลด์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการค้า, การเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขียนบทความแสดงความคิดเห็นไว้ใน “เดอะ ดิพโพลแมต” เมื่อ 16 สิงหาคมนี้ว่า โควิดไม่ได้เป็นสาเหตุของการถีบตัวขึ้นสูงของหนี้ครัวเรือนไทย เป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้สภาวะหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงอยู่ก่อนแล้ว เลวร้ายสาหัสยิ่งขึ้นเท่านั้น

เขาชี้ให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือนในไทยอยู่ในระดับสูง คือ 78.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีอยู่ก่อนแล้วในไตรมาสแรกของปี 2019 ก่อนเกิดการระบาด

ก่อนหน้าช่วงเวลานั้น การปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชนไทย สูงจนน่าตกใจคือ เกินกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว

หนี้ครัวเรือนในไทย เริ่มต้น “เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ในช่วงระหว่างปี 2010-2011 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมายืนอยู่ที่ 68 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ในตอนเริ่มต้นปี 2012 แล้วพุ่งทะยานเป็น 81 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสิ้นปี 2015

ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงเวลานั้นเป็นห้วงเวลาที่ค่าเงินบาทอ่อน การส่งออกบูมขนานใหญ่ จนเมื่อถึงปี 2016 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

ไทยขายของได้มากขึ้น รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นมาก แต่ทำไมคนในประเทศกลับเป็นหนี้มากขึ้น?

 

คําตอบของเจมส์ กิลด์ ก็คือ ประสิทธิผลของรายได้ของชาติใดชาติหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับว่า รายได้ที่ได้มาดังกล่าวนั้นมีการ “กระจาย” ออกไปอย่างไร

ปกติเมื่อการส่งออกบูม ตามทฤษฎีแล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ค่าจ้างแรงงาน ย่อมต้องเพิ่มสูงขึ้นเป็นวัฏจักร ทำให้รายได้ที่ได้มาจากการส่งออกกระจายออกไปเพิ่มเป็นเงินในกระเป๋าของแรงงานต่างๆ ที่ทำอยู่ในโรงงานต่างๆ ในภาคการผลิต การส่งออก และการท่องเที่ยว

แต่ในไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น ค่าแรงถูกปรับขึ้นครั้งสุดท้ายในช่วงระหว่างปี 2011-2014 เพราะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก่อนที่จะชะลอต่อเนื่องไปจนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด

ตั้งแต่ช่วงระหว่างไตรมาสสุดท้ายของปี 2015 จนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2017 ค่าจ้างรายเดือนสำหรับแรงงานในโรงงาน เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเพียง 2 เปอร์เซ็นต์

 

แน่นอน มีอีกหลายปัจจัยเข้ามาสมทบ ทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องการขาดการกำกับดูแลที่ดี ไม่มีมาตรฐานการจำหน่ายหนี้, การใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่กระตุ้นให้มีการปล่อยกู้กันมากจนเกินไป และการที่ราคาน้ำมันและพลังงานไฟฟ้า ถูกถ่ายโอนลงมาสู่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่จำเป็นถึงขีดสุด รัฐบาลมักไม่เข้าไปแทรกแซงเรื่องราคาน้ำมันหรือค่าไฟฟ้า

กระนั้นปัญหาหลักและสำคัญที่สุดยังคงเป็นเรื่องของความล้มเหลวในอันที่จะกระจายรายได้อันเป็นผลจากการส่งออกออกไปให้ทั่วถึง ถึงมือของแรงงานและสามัญชนทั้งหลายอยู่ดี

รัฐบาลมักลังเลที่จะจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อนำเงินมาอุดหนุนไม่ให้ราคาสินค้าบริโภคพื้นฐานสูงจนเกินไป ส่งผลให้คนไทยจำเป็นอยู่ดีที่ต้องหันมาพึ่งการกู้หนี้ยืมสินในหลากหลายรูปแบบ

ปัญหาในตอนนี้ก็คือ ทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนนโยบายหันมาเข้มงวดทางการเงินมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนก้อนมหึมาของไทย กลายเป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุเปรี้ยงปร้าง

ในขณะที่ยังมองไม่เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลไทยจะหาทางออกจากปัญหาหนี้นี้ได้อย่างไร