ศึกชิงแลนด์สไลด์ภาคใต้ ‘ภูมิใจไทย’ หาญท้าแชมป์ ‘เก่า’ อนาคตรำไร ‘ประชาธิปัตย์’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ศึกชิงแลนด์สไลด์ภาคใต้

‘ภูมิใจไทย’ หาญท้าแชมป์ ‘เก่า’

อนาคตรำไร ‘ประชาธิปัตย์’

 

ช่วงสุดสัปดาห์ 13-14 สิงหาคมที่ผ่านมา เกิดวิวาทะแลกเปลี่ยนโวหาร ‘ราชสีห์-หนู’ กันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย หลังทั้งสองพรรคเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงด้วยการลงพื้นที่เปิดตัวผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่ภาคใต้

พรรคแรกอย่างประชาธิปัตย์นำโดย ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ หัวหน้าพรรคเลือกไปที่จังหวัดสตูลและสงขลา พร้อมประกาศผู้ชิง ส.ส.หน้าใหม่ด้วยคำโปรย “รวมพลัง 30 เลือดใหม่ ทวงปักษ์ใต้คืน” พร้อมประกาศชิงชัย 35-40 เขตจาก 58 เขตของภาคใต้ ส่วนภูมิใจไทยนำโดย ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคเลือกไปที่จังหวัดกระบี่และพังงา

พร้อมคำให้สัมภาษณ์อย่าง ‘ถ่อมตัว’ ของนาง ‘นาที รัชกิจประการ’ เหรัญญิกพรรคและ ‘แม่ทัพภาคใต้’ ว่า “เราขอแค่ 20 บวก” ในโซนภาคใต้

และหากมองลึกลงไปในส่วนพื้นที่จังหวัดติดทะเลอันดามัน ทางฝั่งตะวันตก จากคำให้สัมภาษณ์ของนาย ‘เศรษฐพงษ์ เกี่ยวข้อง’ ส.ส.จังหวัดกระบี่นั้น ภูมิใจไทยมองไปถึงเป้าหมาย ‘แลนด์สไลด์’ ไว้ว่าจะได้ทั้งหมด 11 ที่นั่งในกลุ่ม 6 จังหวัด – ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล จากทั้งหมด 15 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2566

หากย้อนไปอย่างน้อยในช่วง 2 ทศวรรษก่อน การคาดการณ์ผลลัพธ์ทางการเมืองดังกล่าวคงเป็นเรื่องเหนือจินตนาการ เพราะบรรยากาศการเมืองไทยลงหลักชัดเจนว่าพรรคไหนจะครองที่นั่งส่วนใหญ่ของภาคใต้ตอนบน-ตอนกลาง สะท้อนผ่านคำพูดทีเล่นทีจริงอย่าง ‘ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ’ หรือ ‘คนใต้กรีดเลือดออกเป็นสีฟ้า’

 

จากการรวบรวมความคิด-อ่าน ของคนการเมืองและนักวิชาการเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ที่ตั้งต้นจากวิวาทะระหว่างประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย เพื่อชวนมองและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น และส่งผลถึงแนวโน้มผลการเลือกตั้งภายภาคหน้า ว่าภาคใต้จะ ‘เปลี่ยนสี’ เป็นสีใด

“ต้องยอมรับความจริงว่าในการเลือกตั้งเมื่อก่อน พรรคประชาธิปัตย์วิ่งล่วงหน้าไป 30 เมตรแล้ว แต่ในขณะนี้ผมคิดว่าทุกคนออกจากจุดสตาร์ตเท่ากัน” เป็นคำพูดของ ‘นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ’ อดีตแกนนำประชาธิปัตย์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ให้สัมภาษณ์กับ ‘มติชนทีวี’ ในรายการ ‘The Politics’

ในฐานะคนเก่าคนแก่ในพรรค ‘นิพิฏฐ์’ เปรียบเปรยความเปลี่ยนแปลงของประชาธิปัตย์ในวันนี้ว่า “หน้าปกเหมือนกับหนังสือธรรมะ” แต่ด้านในเป็นหนังสือโป๊ พร้อมตั้งคำถามว่า “อุดมการณ์จริงๆ อยู่ตรงไหน เมื่อก่อนสมัยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากเกิดปัญหา ให้ออกก่อนเลย วันนี้ผมไม่เห็นความรับผิดชอบ” พร้อมชี้ว่าตนรู้ว่าปัญหาแท้จริงอยู่ที่ไหน แต่ขอปฏิเสธเอ่ยชื่อตัวบุคคลของพรรค

“คนอย่างผมเป็นนักสู้ที่ถือหอกปลายปืน ไม่ได้ถือตลับแป้ง ไม่ได้ถือกระดาษซับเหงื่อ อย่ามายุ่งกับผม” นิพิฏฐ์ทิ้งท้ายด้วยการเปรียบเปรย แต่หากใครติดตามข่าวสารเห็นท่าทีบุคคลการเมืองได้ฟัง ก็คงจะรู้ว่า ‘เขาพูดถึงใคร’

 

นอกเหนือจากมุมมองจากคนคุ้นเคยแล้ว รศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนบทความวิเคราะห์ในนิตยสารต่างประเทศ ‘The Diplomat’ มองสภาวะขาลงของพรรคประชาธิปัตย์ว่ามาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

หนึ่ง กลุ่มชนชั้นนำรุ่นเก่ากุมอำนาจในพรรคมาอย่างยาวนานทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวรับสถานการณ์ใหม่

ปัจจัยที่สองซึ่งเชื่อมโยงกับข้อแรกคือ พรรคขาดการสร้างผู้นำของพรรครุ่นใหม่ แม้ในอดีตจะเป็นที่รู้กันอย่างดีว่าพรรคประชาธิปัตย์มีโครงสร้างที่ผลิตนักการเมืองรุ่นใหม่อย่างโรงเรียนการเมืองของพรรค หรือโครงการ ‘ยุวประชาธิปัตย์’

‘พรรณชฎา’ ตั้งข้อสังเกตต่อในบทความว่า แม้ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 จะมีการก่อตั้งกลุ่ม ‘นิวเดม – NewDem’ กลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคจำนวน 21 คน นำโดย ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ แต่เมื่อไม่มีสมาชิกคนใดชนะการเลือกตั้งประกอบกับการเปลี่ยนแปลงกลุ่มการเมืองในพรรคหลังผลเลือกตั้งไม่เป็นไปตามคาดส่งผลให้กลุ่มต้องสลายไป

และปัจจัยสุดท้าย ‘พรรณชฎา’ วิเคราะห์ว่าประชาธิปัตย์ไม่มีทิศทางทางการเมืองและนโยบายที่ชัดเจน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคไม่อาจขยายความนิยมทางการเมืองไปนอกจากพื้นที่ที่พรรคได้รับความนิยมอยู่แล้วได้ ในเชิงรายละเอียดด้านนี้

‘พรรณชฎา’ ยกข้อมูลจำนวนสาขาของพรรคประชาธิปัตย์ว่าก่อนหน้ารัฐประหารปี 2557 พรรคมีจำนวนสาขาพรรคมากกว่า 200 แห่ง ขณะที่ปัจจุบันลดลงเหลือจำนวนน้อยกว่า 100 แห่ง และนอกจากสาขาพรรคยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพในการสรรหาผู้ชิงตำแหน่งทางการเมืองหรือแคมเปญทางการเมืองของพรรค ‘พรรณชฎา’ ชี้ว่าสาขาพรรคหลายแห่งจะตื่นตัวเพียงแค่ช่วงเลือกตั้งเท่านั้น

 

ภาพความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในพรรคประชาธิปัตย์แตกต่างอย่างชัดเจนกับ ‘ม้ามืดทางการเมือง’ อย่างภูมิใจไทย ที่ค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่ภาคใต้อันเป็นฐานหลักเดิมของประชาธิปัตย์

แม้ภูมิใจไทยจะได้รับที่นั่ง ส.ส.เขตภาคใต้จำนวน 8 ที่นั่ง หากเทียบกับประชาธิปัตย์ซึ่งอยู่ที่ 22 ที่นั่ง และพลังประชารัฐ 13 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2562 แต่เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตกเป็นของ ‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ นักธุรกิจฝั่งอันดามันและ ส.ส.จากจังหวัดสตูล เขต 1 จากพรรคภูมิใจไทย นั่นทำให้การคุมกระทรวงดังกล่าวเป็นตัวแสดงสำคัญในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของภาคใต้อย่างโซนอันดามัน

และตัวผู้สมัคร ส.ส.พังงา ซึ่งภูมิใจไทยเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมานั้นก็เป็นนักการเมืองในพื้นที่มีฐานเสียงในพื้นที่แข็งแรง ทั้ง ‘อรรถพล ไตรศรี’ อดีตนายก อบจ.พังงาหลายสมัย และ ‘อำนาจ ดำรงพิทยากุล’ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 ก็เป็นสมาชิกสภา อบจ. ของจังหวัดพังงา

อีกข้อสังเกตหนึ่งจากการเปิดตัวผู้ท้าชิง ส.ส.จังหวัดพังงาในครั้งนี้ของภูมิใจไทยนั้น หากย้อนรอยข่าวในหน้าสื่อจะพบว่ามีการเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2564 หรือเกือบ 1 ปีที่แล้ว

ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่บอกว่าพรรคเตรียมพร้อมรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เรียบร้อยแล้วกว่า 200 เขต จากทั้งหมด 400 เขตเลือกตั้ง นั่นแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของพรรคภูมิใจไทยที่ ‘ซุ่มเงียบ’ เตรียมตัวรับการเลือกตั้งครั้งหน้ามาตลอด

 

รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักวิเคราะห์ทางการเมือง วิเคราะห์ถึงอนาคตการเมืองภาพใหญ่จากวันที่ทั้งสองพรรคต่างเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ว่า พรรคภูมิใจไทยนี่เองที่มีความพร้อมมากที่สุด

“พรรคภูมิใจไทยมีจุดแข็งที่ทำงานแล้วมันได้เนื้อได้หนัง ทำแล้วมันสำเร็จ กัญชานี่มันเห็นเลยนะ เท่านี้ก็เอาไปหาเสียงได้ เรื่องที่ประกาศว่าจะเอา ส.ส.ฝั่งอันดามัน 11 คน มันก็มีโอกาส เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เขาทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน มีของมาอวด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ งานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มันไม่ขี้เหร่ แต่มันมีข่าวฉาวเยอะไปหน่อย เรื่องถุงมือยางเอย เรื่องล่วงละเมิด เรื่องที่มีการออกมาแฉสัมพันธ์ระหว่างคนในพรรคอีก มันกลบหมด”

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภูมิใจไทยดูแข็งแรงและมีความพร้อมมากกว่าทั้งประชาธิปัตย์ หรือพลังประชารัฐ คือพรรคไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างภายใน ต่างจากทั้งประชาธิปัตย์ที่ผ่านการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคและผู้บริหาร รวมทั้งมีการ ‘ไหลออก’ ของบุคลากรและอดีต ส.ส.ของพรรค สิ่งนี้เองเป็นภาพที่คล้ายคลึงกันในฟากพรรคพลังประชารัฐ

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจนอกจากเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แล้ว พรรคภูมิใจไทยยังเสนอนโยบายใหม่บนเวทีจังหวัดกระบี่ คือ ‘ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน’ ที่ยกตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นมาเปรียบเทียบว่าประชาชนเลือกได้ว่า 30% ของภาษีที่ต้องจ่ายนั้นจะให้ไปลงจังหวัดไหน

อาจจะมองได้ว่าเป็นการขยายผลแนวทางการพัฒนา ‘พื้นที่’ ตาม ‘โมเดล’ ของภูมิใจไทยที่วางเป็นแนวทางพรรคไว้ชัดเจน หรือแม้แต่ตามที่พรรคฝ่ายค้านได้เปิดประเด็นในการอภิปรายงบประมาณหรือศึกซักฟอกเองก็ดี

นี่จึงเป็นแนวนโยบายที่น่าจับตามองว่าเสียงตอบรับจะเป็นอย่างไร

 

ภายใต้แสง ‘ประชาธิปัตย์’ ที่รำไรในภาคใต้ ต้องยอมรับว่า ‘ภูมิใจไทย’ ได้ขึ้นมาเป็นพรรคที่เป็นตัวละครสำคัญในการเมืองไทยยุคปัจจุบันเรียบร้อยแล้ว

และภาคใต้ หรือทั้งประเทศ จะเปลี่ยนเป็น ‘สี’ อะไรในเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า

คำตอบอยู่ที่ปลายปากกาประชาชน