8 ปี หรือ อินฟินิตี้/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

8 ปี

หรือ

อินฟินิตี้

 

เลข 8 หากจับนอนตะแคง จะกลายเป็นเครื่องหมาย “อินฟินิตี้” (infinity) อันมีความหมายถึงความเป็นอนันต์ ความไม่มีที่สิ้นสุด

ทั้งเลข 8 และทั้ง “อินฟินิตี้” หากจับโยงไปในทางการเมืองไทยตอนนี้ล้วนต่างมี “นัย” สำคัญ อันน่าพิจารณา

โดยเฉพาะกับการครองตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่หลังเที่ยงคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2565นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แต่งตั้งตัวเองเป็น “นายกรัฐมนตรี” เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ก็จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาครบ 8 ปีบริบูรณ์

ท่ามกลางการถกเถียงทางการเมืองที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่ง เป็นฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่ายังไม่ครบ 8 ปี

เพราะต้องนับตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ 2560

การตีความแบบนี้จะทำให้ “นายกฯ ตู่” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีก 5 ปีจนถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2570 หรือสองสมัยตามรัฐธรรมนูญ 2560

ถือเป็นความพยายาม จับเลข 8 นอนตะแคง เป็นเครื่องหมาย “อินฟินิตี้” อันมีความหมายถึงความเป็นอนันต์ ความไม่มีที่สิ้นสุด แห่งการครองอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

 

แต่กระนั้น อีกฝ่ายก็ได้อ้างมาตรา 158 วรรค 4 รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”

และในบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรค 1 ยังระบุย้ำไว้อีกว่า

“ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่”

นอกจากนี้ ยังอ้างอิงบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561

ได้บันทึกความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานร่างรัฐธรรมนูญ และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน แสดงความเห็นไว้ชัดเจนว่า การนับเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้นับรวมระยะเวลาที่เป็นนายกฯ ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะประกาศใช้นายกฯ ครบ 8 ปี

และยังมีเอกสารอ้างอิงประกอบการใช้รัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ กำกับไว้อีกหนึ่งฉบับ

ชื่อ “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560”

ซึ่งเอกสารฉบับนี้ได้อธิบายถึงจุดมุ่งหมายของมาตรา 158 เรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกิน 8 ปีไว้ในข้อ (2) วรรค 2 ว่า

“…ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากการพ้นตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

ถือเป็นการระบุเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องการให้ใครอยู่ในตำแหน่งนายกฯ รวมกันเกิน 8 ปี

 

กระนั้นแม้จะชัดเจนเช่นไร แต่ดูเหมือนอดีต กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่งตั้งมาโดย คมช.กลับมีท่าทีไม่เห็นพ้อง

แม้กระทั่งนายสุพจน์ที่เคยแสดงจุดยืนว่า การนับเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้นับรวมระยะเวลาที่เป็นนายกฯ ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะประกาศใช้นายกฯ ครบ 8 ปี ก็กลับพลิกท่าที

โดยชี้ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นแค่บันทึกการประชุม ไม่ใช่มติ และตีความได้หลากหลาย ต้องดูตามมาตรา 158 ที่มีหลายวรรคหลายตอน จะเจาะจงตอนใดตอนหนึ่งไม่ได้

ทั้งนี้ ความเห็นของตน ยืนยันไม่ใช่ความนิยมชมชื่นนายกฯ ปัจจุบัน แต่ยึดการตีความตามกฎหมาย และหลักนิติศาสตร์ เห็นว่าการนับวาระนายกฯ ต้องเริ่มตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในปี 2562

นั่นก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ไปต่อ

แต่ก็ออกตัว ท้ายสุดต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

เช่นเดียวกับนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ หนึ่งในอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บอกว่า ทิศทางการตีความวาระของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ไม่เกิน 8 ปีของตนนั้น สอดคล้องกับนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ที่ให้นับเริ่มแรกในวันที่โปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เมื่อปี 2562

นั่นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อได้ไปถึงปี 2570 เช่นกัน

 

ในฝั่งฟากรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ด้อยค่าบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เช่นกัน โดยชี้ว่า มีน้ำหนักในการพิจารณา “บ้าง” แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ผู้ที่พูดถึงจะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีจุดอ่อนที่คนอื่นๆ 10-20 คน ไม่ได้พูดอะไร และก็ไม่ได้เป็นมติ

ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี บอกว่า

ตามหลักกฎหมายแล้ว เรื่องวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรีมีหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ แต่เพียงว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่” ปัญหาคือผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นนับหนึ่งของแปดปีไว้ว่า ให้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่เมื่อใด

จึงเป็นเหยื่ออันโอชะสำหรับนักเล่นเกมที่จะตีความมาตรา 158 วรรคสี่ ให้เป็นไปอย่างที่ตนคิดเพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชน จะครบ 8 ปีตอนไหน ใครจะมาเป็นนายกฯ ไม่มีประโยชน์อะไรกับบ้านเมืองและประชาชนเลย

 

ท่าทีของที่ปรึกษานายกฯ ข้างต้น ดูเหมือนจะตรงข้ามกับท่าทีของอีกฝ่าย

โดยเฉพาะฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ได้นำ 171 รายชื่อ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 2 รวมทั้งขอให้ศาลสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่

โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. ขยายความว่าในคำร้องจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง คือ

1. ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากการทำหน้าที่นายกฯ

2. ขอให้มีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน เนื่องจากอาจส่งผลให้ประเทศเกิดความเสียหายได้

ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้แนบรายละเอียดบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 ในวันที่ 7 กันยายน 2561 ที่มีความเห็นของนายมีชัยและนายสุพจน์ ที่สรุปความได้ว่า “การนับวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ให้นับรวมวาระที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ใช้บังคับด้วย” ไปด้วย

 

นอกจากฝ่ายค้านแล้ว ที่น่าสนใจคือการเคลื่อนไหวของอาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัยชั้นนำ

ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ยืนยันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีมิได้ ซึ่งเป็นเรื่องการควบคุมนายกรัฐมนตรีไม่ให้อยู่ในอำนาจนานเกินไป “จนเกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมือง”

และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มิได้มีการยกเว้นใดๆ ให้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เท่านั้น

ส่วนกรณีหากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่แล้วเสร็จ ก็ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องคือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยด้วย

อาจารย์นิติศาสตร์ทั้ง 51 คน ยังย้ำกับศาลรัฐธรรมนุญว่า

“ข้าพเจ้าทั้งหลายซึ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ได้นำเสนอความเห็นทางกฎหมายในเรื่องนี้ด้วยความตั้งใจเพียงประการเดียวคือ ให้ประเทศไทยยึดถือหลักการปกครองโดยกฎหมายให้มากยิ่งกว่าที่ผ่านมา เพราะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองนั้น ไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากฝ่ายตุลาการจะต้องวินิจฉัยตัดสินปัญหาโดยยึดถือตัวบทกฎหมาย และใช้กฎหมายกับทุกฝ่ายอย่างเสมอกัน”

 

ที่ผ่านมา ต้องยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์เป็น “สายแข็ง” สามารถผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาได้ทุกครั้ง

อาทิ

รอดในกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมิติเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามคำร้องของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค

2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 เสียง ไม่ให้ตำแหน่งรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง กรณีพักอาศัยในบ้านรับรองของกองทัพบก

ส่วนในกรณีการดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร

ซึ่งนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.ได้ออกมาเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาก่อนวันที่ 23 สิงหาคม เพื่อที่จะรักษาการนายกฯ ไปได้อีกร่วม 6 เดือน ซึ่งนอกจากจะได้เป็นประธานเอเปคตามที่ตั้งใจแล้ว ยังสามารถกุมความได้เปรียบในฐานะรัฐบาลได้อีกพอสมควร

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันผ่านโฆษกรัฐบาล ว่าจะไม่มีการยุบสภาอะไรทั้งนั้น

และดูเหมือนว่า ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะเชื่อมั่นอย่างสูงว่า เลข 8 จะนอนตะแคง

เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมาย “อินฟินิตี้” อำนาจเป็นอนันต์ ยาวนานอย่างที่ต้องการ!?!